การกล่าวหาว่ารัฐสยามทำลายภาษาถิ่น ตรรกะผิดเพี้ยนจากอคติของ ‘นักวิชาการไร้จรรยาบรรณ’

วันที่ 17 ก.ย. 2565 มีการจัดงานเสวนาวิชาการขึ้นที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งวิทยากรคนสำคัญในวันนั้นได้พูดถึงประเด็นทางประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทย โดยได้ทึกทักเอาเองว่า กระบวนการเปลี่ยนถ่ายจากรัฐเก่าไปสู่รัฐใหม่ของสยาม ในช่วงรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 6 มีความคล้ายคลึงกับที่เกิดขึ้นในจักรวรรดิรัสเซียสมัยพระเจ้าซาร์

นักวิชาการท่านนั้นได้เปรียบเทียบว่า สยามและรัสเซียมีเส้นทางพัฒนาการของรัฐที่คล้ายกันมาก โดยเฉพาะรูปแบบการเป็นประเทศเจ้าจักรวรรดิ ซึ่งรัสเซียได้บังคับให้รัฐต่างๆ ภายใต้การปกครองเปลี่ยนไปใช้ภาษาเดียวกันทั้งอาณาจักร นั่นก็คือ ภาษารัสเซีย โดยให้ใช้เป็นภาษาทางการทั้งการพูด อ่าน และเขียน ส่วนภาษาท้องถิ่นได้ถูกทำให้หายไป ซึ่งกระบวนการนี้ถูกเรียกว่า “Russification” หรือกระบวนการทำให้กลายเป็นรัสเซีย

หลังจากนั้นก็มีนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเชียงใหม่อีกท่านหนึ่ง ได้ออกมาเสนอความเห็นว่า บางทีการพยายามทำลายท้องถิ่นทั้งของสยามและรัสเซีย อาจมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอยู่ก็ได้

ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นการพูดในลักษณะคิดเองเออเองของนักวิชาการทั้งสองท่าน

เพราะตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่หาอ่านได้ทั่วไป เช่น งานขึ้นชื่อชิ้นหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และมีการเอาไปใช้อ้างอิงกันอย่างแพร่หลาย ก็คือผลงานซึ่งเดิมทีเป็นวิทยานิพนธ์ของ ดร.เตช บุนนาค เรื่อง “การปกครองระบบเทศาภิบาลของประเทศสยาม พ.ศ.2435-2458” (The Provincial administration of Siam, 1892 – 1915) ซึ่งเป็นวิทยานิพนธ์ที่เสนอต่อมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ โดยงานชิ้นนี้ได้พูดถึงพัฒนาการของสยามในช่วงต้นรัชกาลที่ 5 ว่าการปฏิรูประบบราชการในเวลานั้น เป็นความจำเป็นอย่างมาก และรัฐสมัยใหม่ทุกรัฐบนโลกเขาก็ทำกัน เพียงแต่ประเทศแรกๆ ที่สยามใช้เป็นแบบอย่างคือ “ประเทศอังกฤษ” ไม่ใช่รัสเซีย

และการที่สยามกับรัสเซียจะบังเอิญมีพัฒนาการของรัฐที่คล้ายกัน ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะเราต่างทราบกันดีอยู่แล้วว่า รัชกาลที่ 5 ทรงได้แบบอย่างการจัดการปกครองของสยามมาจากอังกฤษ ก่อนที่จะนำมา “ผสมผสานกับระบอบกฎหมายแบบยุโรปภาคพื้นทวีป” ส่วนจารีตดั้งเดิม เช่น ประเพณีการปกครองที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ศาสนา และวัฒนธรรม รัชกาลที่ 5 ท่านก็ยังคงรูปแบบของสยามเอาไว้ เพราะท่านมองว่าเป็นเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมที่ควรสงวนไว้

สรุปสั้นๆ ก็คือ รูปแบบการปกครองของสยามในฐานะรัฐชาติสมัยใหม่ในยุคของรัชกาลที่ 5 เป็นการนำแบบอย่างที่เป็นข้อดีของหลายๆ ประเทศ แล้วเอามาปรับใช้ให้เข้ากับสยาม

ส่วนที่บอกว่ารูปแบบพัฒนาการของสยามเหมือนกับรัสเซีย จนถึงปัจจุบันนี้ ยังไม่พบหลักฐานความเกี่ยวข้องระหว่างการจัดการปกครองของสยามกับรัสเซียเลย ไม่ว่าจะในเอกสารที่เกี่ยวข้องกับสยามในสมัยพระเจ้าซาร์ ที่ทางรัสเซียจัดเก็บไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หรือแม้แต่เอกสารที่กรมสมเด็จพระเทพฯ ได้ทรงไปค้นคว้าประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสยามและตะวันออกไกล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 และได้ทรงนำสำเนากลับมาจำนวนมาก ก็ไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ ซึ่งเอกสารเหล่านี้บางส่วนยังได้รับการแปลจากผู้เชี่ยวชาญ และได้รับการตีพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวาระ 100 ปี ความสัมพันธ์สยาม-รัสเซีย อีกด้วย

เป็นที่ชัดเจนว่า “ไม่เคยมีหลักฐานปรากฏอยู่ในเอกสารชั้นต้น” ทั้งของรัสเซียหรือของสยาม ที่ยืนยันได้ถึงพัฒนาการของรัฐสยามที่ได้รับแบบอย่างมาจากรัสเซีย ดังนั้น สมมติฐานเลื่อนลอยที่ว่ารัฐสยามพยายามทำลายภาษาถิ่นโดยเอาวิธีการมาจากรัสเซีย ก็ถูกพิสูจน์แล้วว่าเป็นเรื่องเหลวไหล

นอกจากนี้ อีกประเด็นที่ต้องพูดกันให้ชัดคือ การกล่าวหาว่ารัฐส่วนกลางของสยามพยายามกลืนวัฒนธรรมของท้องถิ่น เช่น เชียงใหม่ อีสาน หรือทางใต้ จากที่มีการพูดไว้ในเวทีการเสวนาวันนั้นว่า “สยามยึดครองหัวเมืองต่างๆ ด้วยการทำลายภาษาถิ่นและบังคับให้ใช้ภาษากลาง ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เจ้ากรุงเทพฯ ใช้ทำลายท้องถิ่น”

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การปฏิรูปไปสู่รัฐสมัยใหม่นั้น มีความเป็นทางการ มีระบบราชการ และประชากรท้องถิ่นในดินแดนสยามช่วงเวลานั้น มีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มากมายทั้ง สยาม ลาว ไทใหญ่ ล้านนา มลายู แขกอินเดีย จีน มอญ พม่า ยังไม่รวมชนเผ่าต่างๆ อีกหลายสิบชนเผ่าที่กระจายอยู่ทุกพื้นที่ ซึ่งแต่ละกลุ่มแต่ละชนเผ่าต่างมีภาษาถิ่นของตัวเองเพื่อสื่อสารกัน ดังนั้น ในระบบราชการสมัยใหม่จึงจำเป็นต้องมีการกำหนด “ภาษากลาง” ให้ใช้ร่วมกันเพื่อติดต่องานราชการหรือสื่อสารเรื่องสำคัญเร่งด่วนต่างๆ

และการกล่าวหาว่ารัฐสยามบังคับให้ใช้ภาษากลางจนทำลายภาษาถิ่น ยิ่งไม่ใช่เรื่องจริง เพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่า ภาษาถิ่นยังคงถูกใช้กันอยู่เรื่อยมา โดยเฉพาะการพูดจาสื่อสาร ส่วนการอ่าน การเขียนจึงจะใช้ภาษากลางร่วมกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นของระบบราชการสมัยใหม่ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

ดังนั้น แนวคิดของนักวิชาการท่านนั้นจึงเป็นตรรกะที่ค่อนข้างผิดเพี้ยนเกินจริง ราวกับว่า หากเริ่มใช้ภาษากลางแล้ว จะทำให้กลับมาพูดภาษาถิ่นไม่ได้อีก

ทั้งนี้ ยังรวมถึงประเพณีวัฒนธรรมพื้นถิ่นต่างๆ ที่เราต่างก็เห็นกันอยู่ว่า ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ วัฒนธรรมท้องถิ่นก็ยังคงถูกรักษาสืบทอดมาถึงปัจจุบัน โดยไม่ได้ถูกกลืนหายไปแต่อย่างใด

ในความเป็นจริงแล้ว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนในท้องถิ่นยังพูดภาษาถิ่นได้ก็คือ “ครอบครัวหรือชุมชน” เช่น ในกรณีที่บางครอบครัวพ่อแม่ไม่พูดภาษาถิ่นกับลูก เมื่อเติบโตขึ้นบุตรหลานรุ่นต่อๆ ไปก็ไม่สามารถพูดหรือฟังภาษาถิ่นออก ซึ่งกรณีเหล่านี้ล้วนเกิดมาจากการปลูกฝังของครอบครัว

อย่าลืมว่า ภาษาถิ่นกำเนิดขึ้นมาก่อนเกิดรัฐชาติ ซึ่งคนที่จะรักษาภาษาถิ่นไว้ได้ก็คือชุมชนหรือคนในท้องถิ่นนั้นๆ ดังนั้น การกล่าวโทษว่าเป็นเพราะรัฐส่วนกลางที่ทำให้ภาษาถิ่นถูกทำลาย จึงเป็นการบิดเบือนที่เต็มไปด้วยอคติ

และที่สำคัญ รัฐสยามเองด้วยซ้ำที่สนับสนุนการใช้ภาษาถิ่น กรณีตัวอย่างชัดๆ คือ ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการออกนโยบายว่า ในเมืองที่มีชาวมลายูมุสลิมอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ปัตตานี สตูล ข้าราชการสยามในเมืองเหล่านี้จะต้องพูดมลายูให้ได้ ใครที่พูดได้ ส่วนกลางก็จะเพิ่มเงินค่าเบี้ยภาษาให้เป็นกรณีพิเศษ

ดังนั้น การกล่าวหาว่ารัฐไทยในสมัยนั้นไม่สนับสนุนภาษาถิ่น ย่อมถือได้ว่าเป็นการ “โกหกทางวิชาการ”

ประการสุดท้าย อยากให้ลองคิดกันดูว่า ถ้านโยบายการสร้างชาติของรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ไม่ดีจริง คณะราษฎรก็คงไม่รับนโยบายนี้มาใช้ต่อหลัง พ.ศ. 2475 เป็นแน่ อย่างที่เราทราบกันดีว่า ในยุคจอมพล ป. นั้น แนวคิดชาตินิยมมีความเข้มข้นมากขนาดไหน

ซึ่งถ้านักวิชาการบางคนพยายามจะโจมตีรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 เรื่องนโยบายการสร้างชาติ แล้วเหตุใดจึงเลี่ยงไม่โจมตีคณะราษฎรด้วย ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องเดียวกัน นี่แสดงให้เห็นว่า นักวิชาการเหล่านี้ก็แค่มีอคติกับเจ้า แต่กับคณะราษฎรกลับทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น

แบบนี้เขาเรียกว่าเป็นพวก “ไม่มีจรรยาบรรณทางวิชาการ” ครับ

อ้างอิง :

[1] เตช บุนนาค. การปกครองระบบเทศาภิบาลของประเทศสยาม พ.ศ.2435-2458. (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) 2548.
[2] 100 ปี ความสัมพันธ์สยาม – รัสเซีย : คำแปลเอกสารประวัติศาสตร์. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) 2540.
[3] พรรณงาม เง่าธรรมสาร. วิกฤตมณฑลปัตตานี 2465 : บทเรียนสมัยรัชกาลที่ 6. (กรุงเทพฯ : โครงการความมั่นคงศึกษา ด้วยความสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย) 2551
[4] Ja Ian Chong. บงการอธิปไตย: การแทรกแซงจากจักรวรรดินิยมตะวันตกกับการก่อรูปของรัฐสยาม. (กรุงเทพ : ILLUMINATIONS) 2565.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า