ในเรื่องเสรีภาพนี้ก็มีผู้เข้าใจผิดหรือแกล้งทำเป็นเข้าใจผิดอยู่เป็นอันมาก…

จากกรณีนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 ว่าไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าห้องสอบเนื่องจากแต่ง ‘ไปรเวท’ เข้าสอบ ซึ่งผิดกฎระเบียบของทางมหาวิทยาลัย โดยทางนักศึกษาอ้างว่ากฎระเบียบเหล่านั้นเป็นระเบียบที่สิ้นสภาพไปแล้ว และการกระทำของทางคณะถือเป็นการริดรอน สิทธิ เสรีภาพ ของนักศึกษา ซึ่งเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมประเทศชาติถึงไม่เจริญสักที

เสรีภาพคือสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ทุกคนสามารถทำอะไรก็ได้ตามความพอใจ … หากอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวเพียงลำพัง

แต่เมื่ออยู่ร่วมกันในสังคม เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เสรีภาพจำเป็นต้องมีกรอบขอบเขต ทั้งในแง่ขอบเขตทางกฎหมาย ทางกฎระเบียบ หรือแม้แต่จรรยาบรรณ หรือความเหมาะสมอันเป็นมาตรฐานที่พึงยอมรับกันในสังคม นี่คือเสรีภาพของผู้มีอารยะในประเทศที่เจริญแล้ว ซึ่งมีหลายคนที่ยังเข้าใจผิดหรือแกล้งทำเป็นไม่รู้ในความหมายที่ถูกต้องของเสรีภาพ ดังเช่นที่อดีต “ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง” เคยกล่าวเอาไว้ว่า …

“ในเรื่องเสรีภาพนี้ก็มีผู้เข้าใจผิดหรือแกล้งทำเป็นเข้าใจผิดอยู่เป็นอันมาก เสรีภาพไม่ได้หมายความว่า มนุษย์จะทำอะไรได้ทุกอย่างตามความพอใจ ถ้าทำเช่นนั้นก็กลายเป็นอนาคิสต์ คือ การไม่มีรัฐบาล เสรีภาพจึงต้องมีระเบียบ เสรีภาพต้องอยู่ในวงเขตของกฎหมายและศีลธรรม มนุษย์เรามีเสรีภาพจะทำอะไรได้ แต่ต้องไม่เป็นการประทุษร้ายเสียหายแก่ผู้อื่น หรือไม่ทำให้เกิดความระส่ำระส่ายในบ้านเมือง”

ปรีดี พนมยงค์, 27 มิถุนายน 2477