กรุงเทพฯ และท้องถิ่นต้องพึ่งพากัน เพื่อการพัฒนาอย่างเสมอภาค และเท่าเทียมอย่างแท้จริง

การจัดการปกครองไม่ว่าจะในยุคโบราณหรือในยุครัฐสมัยใหม่นั้น ต่างก็มีการแบ่งระดับในการปกครองออกเป็นชั้นๆ เช่น ในอังกฤษในอดีตจะมีการปกครองที่แบ่งออกเป็นแขวง (Shire) และแต่ละแขวงก็จะมีผู้ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งไปปกครอง (Ealdorman) ลักษณะเช่นนี้แทบจะเป็นสิ่งที่ร่วมสมัยของโลกโบราณ สยามในยุคอยุธยาเองก็เช่นเดียวกัน ที่มีการปกครองแบ่งออกเป็นชั้นๆ หรือเป็นหัวเมืองออกไป ดังนั้นรูปแบบการปกครองเช่นนี้ที่มี “ศูนย์กลาง” หนึ่ง ส่งคนไปปกครองส่วนท้องถิ่นหนึ่ง ได้กลายเป็นรากฐานต่อยอดสู่ความเป็นชาติในภายหลัง ซึ่งจะสามารถระบุได้ว่าใครคือ “พวกเรา” หรือใครคือ “พวกเขา” ดังนั้นความเป็นชาติแม้จะเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ แต่ฐานความรู้สึกที่รองรับผ่านรูปแบบการปกครองในอดีตแบบที่มี “ศูนย์กลาง” และ “ท้องถิ่น” จึงเป็นส่วนสำคัญในการเป็นชาติและการเป็นรัฐสมัยใหม่ที่ถูกส่งต่อกันมา [1]

เมื่อเปลี่ยนผ่านเข้าสู่รัฐสมัยใหม่ การบริหารก็เปลี่ยนรูปแบบไปด้วย โดยจากเดิมการเป็น “ศูนย์กลาง” ในลักษณะของราชอาณาจักรและความสัมพันธ์ที่มีความต่างกันมากในเชิงสถานะทางการเมือง ก็เปลี่ยนสู่ “ส่วนกลาง” ในลักษณะที่เป็นรัฐสมัยใหม่และท้องถิ่นที่มีความเป็นเมือง/นคร ที่ได้รับการมองว่าเท่ากันมากขึ้นตามลักษณะของความสัมพันธ์ของระบบราชการแบบใหม่

การรวมท้องถิ่นทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกันเพื่อเป็นประเทศแบบสากลนี้เอง แน่นอนว่าย่อมต้องเกิดการปะทะกันในช่วงเริ่มต้น และผู้ที่มาจาก “ส่วนกลาง” และส่วนท้องถิ่นก็ต้องทำความเข้าใจกันให้ได้ ถ้าหากไม่ราบรื่นการสร้างชาติหรือการสร้างประเทศก็ย่อมเกิดปัญหาซึ่งอาจนำไปสู่ความรุนแรงในวงกว้างได้ ดังนั้นการกระทบกระทั่งนั้นมีโอกาสที่จะจบลงได้และอยู่ด้วยกันได้ดีถ้ากลไกต่างๆ ทั้งในเชิงสังคมและการเมืองถูกใช้ได้ดีพอ

กลไกที่ถูกใช้ประสานความสัมพันธ์ระหว่าง “ส่วนกลาง” กับท้องถิ่นในยุคใหม่นี้มีอยู่หลายเรื่อง โดยหนึ่งในกลไกที่ได้ถูกตั้งเอาไว้คือการคลังท้องถิ่นที่เป็นเครื่องมือที่ยืนยันว่าทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นนั้นต้องพึ่งพากัน อยู่ด้วยกัน และมิอาจแยกจากกันได้ภายใต้ความสัมพันธ์ในระบบราชการแบบใหม่

เราอาจจะคุ้นเคยกับการคลังในระดับชาติหรือการคลังสาธารณะที่เป็นเรื่องรายรับรายจ่ายในภาพรวมของรัฐบาล แต่ลงไปในท้องถิ่นแล้วยังมีการคลังท้องถิ่นอยู่ด้วย ซึ่งหน้าที่การปฏิบัติงานก็เป็นลักษณะเดียวกับการคลังในระดับชาติ กล่าวคือเป็นงบประมาณที่ใช้ในการบริหารท้องถิ่นของตัวเอง ยิ่งมีมากก็ยิ่งสามารถพัฒนาท้องถิ่นได้มาก ซึ่งรายได้การคลังท้องถิ่นมีอยู่สองทาง คือ รายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บได้เอง และอีกส่วนหนึ่งคือรัฐบาลเป็นผู้จัดสรรให้ส่วนท้องถิ่น [2] ดังนั้นในอีกแง่หนึ่ง ท้องถิ่นจะพัฒนาตนเองได้มากเท่าใด ก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพของตนเองด้วย

การคลังของท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เป็นกระบวนการที่ได้เริ่มมานานแล้ว โดยอย่างน้อยที่สุดนั้น เราจะเห็นได้จากพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ซึ่งระบุเอาไว้ในมาตรา 17 ในส่วนหน้าที่ของท้องถิ่น ที่มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนซึ่งครอบคลุมในทุกด้าน จนเรียกได้ว่าการกระจายอำนาจแทบจะไม่มีอะไรให้กระจายอีกแล้ว เพราะให้ไปหมดแล้วนั่นเอง ปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องการกระจายอำนาจ แต่เป็นเรื่องของการไม่มีเครื่องมือในการดำเนินงานที่เพียงพอ ซึ่งเรื่องที่สำคัญก็คือเรื่องรายได้ของส่วนท้องถิ่นเอง

การมีรายได้ของท้องถิ่นที่จัดเก็บเองก็จะทำให้ท้องถิ่นเป็นอิสระ โดยเป้าหมายแรกของสัดส่วนรายได้ของท้องถิ่นต่อรายได้ที่จัดเก็บได้ของรัฐบาลที่ร้อยละ 25 นั้นทำสำเร็จไปแล้ว แต่อีกเป้าหมายหนึ่งที่จะต้องบรรลุให้ถึงร้อยละ 35 นั้นยังทำไม่สำเร็จ โดยรายได้รวมของท้องถิ่นและสัดส่วนต่อรายได้รัฐบาลปีงบประมาณ 2550-2562 แสดงได้ดังนี้ [3]

ที่มา : สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (2558), สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (2562)

จากภาพข้างต้นจะเห็นได้ว่ารายได้ของท้องถิ่นต่อรายได้ของรัฐบาลนั้นมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น แต่ยังไม่เป็นจำนวนมากพอที่จะสามารถยืนอยู่ได้อย่างมั่นคง โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่ารายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังพึ่งพารายได้จากภาษีที่เก็บเองได้นั้น ยังไม่ถึงร้อยละ 10 ของรายได้ท้องถิ่นทั้งหมด [4] ซึ่งส่วนนี้นอกจากการที่ต้องพึ่งส่วนกลางซึ่งบางครั้งอาจก่อให้เกิดปัญหาแล้ว ยังสามารถให้ท้องถิ่นร่วมมือกัน รวมไปถึงเอกชนในพื้นที่เพื่อสามารถสร้างศักยภาพได้ [5]

อย่างไรก็ดีในเมื่อปัจจุบันท้องถิ่นยังจัดเก็บรายได้ไม่เพียงพอ ทำให้รายได้ของท้องถิ่นอาจจะไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้ ดังนั้นอีกแง่หนึ่งการจัดสรรงบประมาณจากส่วนกลางนั้น มีส่วนทำให้สร้างความเจริญเติบโต สร้างความเสมอภาค และความเป็นธรรมทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมให้เกิดขึ้นแก่ท้องถิ่นได้ [6] เพราะมีปัญหาหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงเสมอก็คือ แต่ละท้องถิ่นมีขนาดไม่เท่ากัน และไม่สามารถจัดเก็บภาษีเพื่อความสุขสมบูรณ์ของประชาชนได้อย่างเพียงพอ เช่น จังหวัดเล็กๆ อย่างแม่ฮ่องสอน รายได้ที่จัดสรรลงไปให้คิดเป็นเกือบจะทั้งหมดของรายได้ [7] ดังนั้นการจัดสรรเงินลงไปในท้องถิ่น แม้จะมีปัญหาในหลายๆ ประการ แต่ในเชิงความสัมพันธ์ในสมัยใหม่แล้ว ท้องถิ่นย่อมมีสิทธิ์ได้รับการช่วยเหลือและพัฒนาโดยหน้าที่ของส่วนกลาง เพราะท้องถิ่นและส่วนกลางนั้นเท่าเทียมกันและเป็นส่วนในชาติเดียวกัน

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าการอุดหนุนเงินให้กับ อบต. ทำให้เกิดความเท่าเทียมทางการคลังมากขึ้นเมื่อเทียบกับเทศบาลตำบล [8] และหากเทียบสัดส่วนของส่วนรัฐจัดสรรรายได้ให้ต่อบุคคลแล้ว กรุงเทพฯ จะอยู่ที่ 12,405.82 บาทต่อคน ในขณะที่อมก๋อย (เชียงใหม่) อยู่ที่ 17,491.68 บาทต่อคน หรือหากดูที่จำนวนเงินอุดหนุนต่อบุคคล กรุงเทพฯ จะอยู่ที่ 3,970.83 บาทต่อคน แต่ปัตตานี (มะนังยง) อยู่ที่ 14,307.27 บาทต่อคน จึงน่าจะยืนยันได้ระดับหนึ่งว่า การจัดสรรรายได้นั้นเป็นไปเพื่อความเสมอภาคของการพัฒนาภายใต้ประเทศไทยนี้ กรุงเทพฯ เองก็เป็นเพียงท้องถิ่นหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นกรุงเทพฯ ก็ไม่อาจยืนอยู่โดดเดียวได้ ก็เพราะต้องพึ่งรายได้ของทุกแห่งที่เข้ามารวมที่กองกลาง ก่อนจะแบ่งไปตามท้องถิ่นเช่นเดียวกัน ในแง่กฎหมายแล้ว กรุงเทพฯ เสมอกับทุกจังหวัดทุกประการ และทุกจังหวัดก็เสมอกับกรุงเทพฯ เช่นกัน

ในมุมมองทางการคลังแล้ว ทุกจังหวัดในประเทศไทยนี้จึงเสมอภาคกันทุกประการ และต่างก็ต้องพึ่งพากันภายใต้การพัฒนาในโลกยุคใหม่นี้

อ้างอิง :

[1] ดูตัวอย่างของข้อถกเถียงเรื่องชาติที่เป็นประโยชน์ใน Megan Rancier, “Ancient roots, modern nation-building: Kazakh spirituality and identity in the music of the Turan ensemble,” in Turkic Soundscapes, edited By Razia Sultanova, Megan Rancier (London: Routledge, 2018).
[2] นราธิป ศรีราม, จิรวัฒน์ เมธาสุทธิรัตน์ และอภิชาติ ลิ้มเมธี, “การจัดสรรงบประมาณให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: เสริมสร้างหรือบั่นทอนความอิสระทางการคลังของท้องถิ่น,” วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปีที่ 13 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2560): 194-195.
[3] สุพัฒน์จิตร ลาดบัวขาว, “การคลังท้องถิ่น: สภาพปัญหา และแนวทางแก้ไข,” วารสารรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2563): 195.
[4] นราธิป ศรีราม, จิรวัฒน์ เมธาสุทธิรัตน์ และอภิชาติ ลิ้มเมธี, “การจัดสรรงบประมาณให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: เสริมสร้างหรือบั่นทอนความอิสระทางการคลังของท้องถิ่น,” 208.
[5] ไกรวุฒิ ใจคําปัน, “ความยั่งยืนทางการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: กรณีศึกษาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่,” วารสารสถาบันพระปกเกล้า ปีที่ 19 ฉบับที่ 1 (มกราคม-เมษายน 2564): 82.
[6] นราธิป ศรีราม, จิรวัฒน์ เมธาสุทธิรัตน์ และอภิชาติ ลิ้มเมธี, “การจัดสรรงบประมาณให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น: เสริมสร้างหรือบั่นทอนความอิสระทางการคลังของท้องถิ่น,” 209.
[7] รายงานงบการเงินรวมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 หน้า 39.
[8] ปิยะลักษณ์ พุทธวงศ์, “ความไม่เท่าเทียมกันทางการคลัง ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับตำบล,” วารสารเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีที่ 18 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2557): 99-120.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมา