มุมมองสองด้านของ ‘อดัม สมิธ’ เมื่อผลประโยชน์และจริยธรรมดำรงอยู่ร่วมกันในโลกทุนนิยม

อดัม สมิธ ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่และเป็นบิดาแห่งทุนนิยม [1] ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่าสมิธ ได้ผลิตผลงานอันยิ่งใหญ่ขึ้นมาชิ้นหนึ่งในปี ค.ศ. 1776 ก็คือ An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations หรือที่เรารู้จักกันโดยทั่วไปว่า Wealth of Nations อันเป็นตำราศักดิ์สิทธิ์ของการศึกษาระบบทุนนิยมและส่งให้เขาขึ้นสู่จุดสูงสุดของวงการเศรษฐศาสตร์การเมือง โดยในหนังสือเล่มนี้สมิธใช้เวลาเขียนกว่า 17 ปี เป้าหมายของหนังสือเล่มนี้คือ การเสนอทางออกหรือหนทางในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจที่จะเข้ามาทดแทนระบบพาณิชนิยม (Mercantilism) และ ฟิซิโอแครต (Psysiocrat) ซึ่งกำลังเสื่อมและไม่อาจตอบสนองต่อบริบทใหม่ของอังกฤษที่กำลังเกิดขึ้นในยุคที่อุตสาหกรรมกำลังเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว

ในหนังสือ Wealth of Nations ซึ่งตีพิมพ์ออกมาเป็น 5 เล่ม สมิธได้ศึกษาระบบต่างๆ อย่างลึกซึ้ง แต่โดยหลักๆ แล้วหนังสือของเขาได้ชี้ว่าการกระจายตัวของความมั่งคั่งมิได้เกิดจากพลังปาฏิหาริย์ แต่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีที่ทำให้คนในประเทศมีระดับความมั่งคั่งที่แตกต่างกัน นอกจากนี้เขายังได้พัฒนาแนวคิดเรื่องการแบ่งงานกันทำซึ่งทำให้เศรษฐกิจดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแนวความคิดเรื่องมนุษย์เป็นผู้เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว แต่ความเห็นแก่ตัวนี้ได้นำไปสู่การแข่งขันและทำให้ทุกคนเจริญเติบโตไปด้วยกัน ซึ่งการนำเสนอสิ่งใหม่ของเขาได้ถูกถกเถียงอย่างกว้างขวางและบางครั้งก็ถูกเสียดสีด้วย [2]

ประเด็นหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงเสมอมาก็คือว่า สมิธสนับสนุนให้กลไกตลาดทำงานโดยที่รัฐบาลแทรกแซงตลาดให้น้อยที่สุด และการที่มนุษย์เป็นผู้เห็นแก่ตัวนี้ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรืองในที่สุด จึงไม่จำเป็นจะต้องเข้าใจมนุษย์ว่ามีศีลธรรมใดๆ ที่จะช่วยเหลือกันเลย ดังที่เขากล่าวว่า “ไม่ใช่เป็นเพราะความใจดีของพ่อค้าเนื้อ หรือคนอบขนมปังที่ทำให้เรามีอาหารเย็นกิน แต่เป็นเพราะความเห็นแก่ตัวของพวกเขา เราเชื่อมต่อตัวเรากับคนอื่นมิได้ด้วยความรู้สึกของการเป็นมนุษย์ แต่เป็นความรู้สึกของการรักตัวเอง และเรามิได้พูดคุยกับพวกเขาเพราะเราต้องการสิ่งใดที่จำเป็น แต่ความได้เปรียบหรือความชำนาญของพวกเขาคืออะไร” [3]

แต่ในขณะเดียวกันที่หลายๆ คนเชื่อว่า กลไกตลาดและความเห็นแก่ตัวจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้นเองโดยไม่ต้องนึกถึงประเด็นด้านศีลธรรมว่าเราควรจะช่วยใครผ่านสวัสดิการหรือไม่ ขณะเดียวกันสมิธยังได้กล่าวไว้ในอีกงานหนึ่งของเขา คือ The Theory of Moral Sentiments ว่า “ไม่ว่าคนคนหนึ่งจะเห็นแก่ตัวเพียงใด แต่ในธรรมชาติของเขาก็ยังเห็นแก่ผู้อื่นอยู่ด้วย และมีความสุขหากได้เห็นอีกคนหนึ่งมีชีวิตที่ดี โดยที่เขาไม่ได้อะไรเลยนอกจากเห็นเขามีความสุข” [4]

ปัญหานี้จึงนำไปสู่ปัญหาที่เรียกกว่า Das Adam Smith Problem ว่าสรุปแล้วมนุษย์เห็นแก่ตัวจริงหรือไม่ การเห็นแก่ตัวทำให้รุ่งเรืองจริงหรือไม่ และสรุปแล้วกลไกตลาดควรจะทำหน้าที่อย่างไร สิ่งนี้เป็นประเด็นที่นักวิชาการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง [5] จึงนำไปสู่ข้อถกเถียงอันสำคัญนั่นก็คือ พื้นที่ทางเศรษฐกิจที่จะต้องปะทะกับพื้นที่ทางสังคม

ใน Sentiments สมิธได้กล่าวว่าในสถานการณ์ที่ต่างกัน สถานการณ์หนึ่งผลประโยชน์ส่วนตัวจะมาก่อน แต่อีกสถานการณ์หนึ่งมนุษย์สามารถที่จะทำอะไรโดยมีแรงผลักดันทางศีลธรรมได้ เมื่อพิจารณาแยกดูสถานการณ์อย่างกว้างๆ แล้ว เขาจึงเสนอว่า จะต้องแยกความแตกต่างระหว่างพื้นที่ของเศรษฐศาสตร์ที่สามารถศึกษาอย่างเป็นระบบ และพื้นที่ของศีลธรรมออกจากกัน ดังนั้นผลประโยชน์ส่วนตัวที่สมิธกล่าวถึงนั้นเป็นสิ่งที่อยู่ในทางเศรษฐศาสตร์ (Wealth of Nations) ส่วนศีลธรรมนั้นคือประเด็นในทางสังคมอันเกี่ยวข้องกับจริยธรรมของการดำรงอยู่ร่วมกัน (The Theory of Moral Sentiments) [6]

แต่ถึงเช่นนั้น สมิธก็ยังเสนอว่าพฤติกรรมของมนุษย์ถูกกระตุ้นด้วยหกอย่าง คือ การรักตนเอง การเห็นอกเห็นใจ การอยากเป็นอิสระ ความอยากทำสิ่งที่ถูกต้อง ความขยัน และความโน้มเอียงที่จะติดต่อซื้อขายกัน [7] แต่การแยกพื้นที่ขาดกันนั้น สมิธน่าจะเข้าใจว่าความเป็นจริงอาจจะทำไม่ได้ เพราะการเห็นแก่ตัวอาจจะทำให้ทุกอย่างพังทลายได้ ดังนั้นเขาจึงตำหนิผลประโยชน์ของพ่อค้าและผู้มีอำนาจโดยไม่ให้ผลประโยชน์พวกเขาอยู่เหนือสวัสดิภาพของชาติ ดังนั้นความเห็นแก่ตัวไม่ได้ทำงานเดี่ยวๆ แต่ทำงานร่วมกับความเห็นอกเห็นใจในขณะเดียวกัน

หากเราลองดูเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมของ David Laibson และ John A. List เขาได้ระบุหลักการหกข้อเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมว่า

  1. คนจะพยายามเลือกตัวเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุด แต่บางครั้งอาจจะไม่ได้ตามหวัง
  2. คนคิดคำนวณระหว่างสถานการณ์ที่กำลังเผชิญและสถานการณ์ที่อยากให้เป็น
  3. คนมีปัญหาเรื่องการควบคุมตัวเอง
  4. แม้ว่าเราจะสนใจเรื่องผลตอบแทนเชิงวัตถุ แต่เราก็สนใจการกระทำ ความตั้งใจ และผลตอบแทนต่อคนอื่นด้วย
  5. บางครั้งการแลกเปลี่ยนในตลาดทำให้ปัจจัยเรื่องจิตวิทยาไม่สำคัญ แต่เรื่องจิตวิทยาหลายครั้งสำคัญแม้กระทั้งในตลาด
  6. การจำกัดตัวเลือกของคนอาจทำให้เขาหลีกเลี่ยงเรื่องอคติไปได้ แต่ก็ไม่ใช่เสมอไป

เมื่อเป็นดังนั้นแล้ว กลไกตลาดนั้นใช้เรื่องความเห็นแก่ตัวทำงานบนฐานของผลประโยชน์ส่วนรวมด้วยเช่นกัน สมิธเองเขาเข้าใจดีว่าผลตอบแทนเชิงวัตถุจะทำให้มนุษย์สร้างหรือพัฒนาอะไรได้มากมาย แต่ในขณะเดียวกันก็อาจจะสร้างผลกระทบอะไรขึ้นมาด้วย ดังนั้นเราอาจกล่าวได้ว่าในขณะที่ Wealth of Nations เล็งที่การสร้างผลประโยชน์ในวงกว้างสู่ภายนอก Moral Sentiments นั้นก็ต้องการควบคุมพฤติกรรมจากภายในภายใต้ผลประโยชน์นี้

กลไกตลาดและทุนนิยมจึงสามารถมีหัวใจได้ไม่แพ้ระบบสังคมนิยมและอื่นๆ

อ้างอิง :

[1] G. R. Bassiry and Marc Jones, “Adam Smith and the Ethics of Contemporary Capitalism,” Journal of Business Ethics Vol. 12, No. 8 (Aug. 1993): 621-627.
[2] John McMurray, “Capitalism’s ‘Founding Father’ Often Quoted, Frequently Misconstrued”.
[3] Glasgow Edition of the Works and Correspondence Vol. 2a An Inquiry Into the Nature and Causes of the Wealth of Nations, Vol. 1, pp. 72-73.
[4] The Theory of Moral Sentiments, Section 1: Of the Sense of Propriety, chapter 1: Of Sympathy.
[5] Leonidas Montes, “Das Adam Smith Problem: Its Origins, the Stages of the Current Debate, and One Implication for Our Understanding of Sympathy,” Journal of the History of Economic Thought , Volume 25 , Issue 1 (March 2003): 63-90.
[6] Doğan Göçmen, The Adam Smith Problem: Human Nature and Society in The Theory of Moral Sentiments and The Wealth of Nations (London: I.B. Tauris & Co., 2007), p. 9.
[7] V. B. Singh, “Adam Smith’s Theory of Economic Development,” Science & Society, Vol. 23, No. 2 (Spring, 1959): 109.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า