‘รัชกาลที่ 3’ กษัตริย์ผู้ถูกขอให้ครองราชย์ เพราะความสามารถที่ไม่อาจปฏิเสธ

ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์นั้นเป็นช่วงที่ชะตาของพระนครอยู่บนเส้นด้ายอย่างมาก เพราะการศึกยังคงมี แต่ก็ต้องบำรุงรักษาพระนครใหม่ไปพร้อมกับการผนึกให้ราชอาณาจักรยังคงเป็นหนึ่ง ด้วยบริบททางประวัติศาสตร์เช่นนี้เองที่ผู้ใดก็ตามที่จะขึ้นมาครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์นั้นจะต้องได้รับการคัดแล้วคัดอีก และต้องรอบรู้การบริหารราชการแผ่นดินไปจนถึงองค์ความรู้ต่างๆ อย่างครบถ้วน ดังนั้นจึงไม่แปลกหากเราจะพบว่าพระมหากษัตริย์สยามจะทรงพระปรีชาสามารถหลายต่อหลายพระองค์ เพราะความอยู่รอดทั้งปวงของไพร่ฟ้าทุกคนนั้นได้ถูกวางไว้บนบ่าของพระมหากษัตริย์ ประเด็นนี้จึงหาใช่การเขียนประวัติศาสตร์แบบ “ราชาชาตินิยม”แต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี ในช่วงแห่งการสืบราชสมบัติของสยามนี้ มีช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์คือรอยต่อของรัชกาลที่ 2 ไปจนถึงรัชกาลที่ 3 และจากรัชกาลที่ 3 ไปถึงรัชกาลที่ 4 ว่ามีประเด็นในการสืบราชสมบัติซึ่งเรามักจะคุ้นหูกันว่า รัชกาลที่ 4 ทรงมีความชอบธรรมในการครองราชย์มากกว่า เพราะเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ในระดับเจ้าฟ้าที่ประสูติจากพระอัครมเหสีซึ่งเป็นการนับโดยใช้กฎมณเฑียรบาลที่ตราขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แต่อย่างไรก็ดีในยุคก่อนที่จะมีการตรากฎมณเฑียรบาลอย่างเป็นระบบในรัชกาลที่ 6 นั้น หลักเกณฑ์ในกาสืบราชสมบัตินั้น จะต้องดูที่พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือตำแหน่ง “วังหน้า” [1]

ตำแหน่งวังหน้านี้เป็นตำแหน่งที่พระมหากษัตริย์จะทรงโปรดเกล้าฯ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นพระราชโอรสเสมอไป ดังเช่นที่ปรากฏว่าพระเจ้าท้ายสระทรงแต่งตั้งพระอนุชา (พระเจ้าบรมโกษฐ) เป็นพระมหาอุปราช เราจะเห็นธรรมเนียมเช่นนี้สืบต่อมาดังที่รัชกาลที่ 1 ทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราชเป็นพระมหาอุปราช หลังจากที่พระมหาอุปราชทิวงคตได้สามปี พระองค์ก็ได้พระราชทานอุปราชาภิเษกให้แก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เป็นพระมหาอุปราชซึ่งภายหลังพระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 2 นั่นเอง

ในช่วงรัชกาลที่ 2 นั้น พระองค์เคยสถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราช (พระบัณฑูรน้อย) เป็นพระมหาอุปราช แต่เมื่อเสด็จทิวงคตเมื่อ พ.ศ. 2360 พระองค์ก็มิได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้านายพระองค์ใดขึ้นเป็นวังหน้าแทนและปล่อยให้ว่างไป 7 ปีจนสิ้นรัชกาล ด้วยช่องว่างนี้เองที่ทำให้อาจมีผู้นึกขึ้นได้ว่า ช่วงการเปลี่ยนผ่านรัชกาลได้สำเร็จนั้นอาจจะเป็นเพราะมีตระกูลหนึ่งผลักดันหรือเป็นความต้องการราชบัลลังก์ของพระมหากษัตริย์พระองค์ถัดไปอาศัยจังหวะนี้นั่นเอง อย่างไรก็ดีแม้รัชกาลที่ 2 จะไม่ทรงโปรดเกล้าฯ ใครขึ้นแทน แต่การที่ทรงวางพระราชอำนาจทั้งปวงให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์บริหารราชการแผ่นดินจนสิ้นรัชกาล แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพระองค์ตั้งพระราชหฤทัยมอบราชสมบัติให้ แต่ยังไม่ทันโปรดเกล้าฯ ขึ้นก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน และน่าจะเป็นไปได้ว่าพระองค์อาจมีความลังเลในช่วงแรกระหว่างกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์กับเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี ผู้ทรงกำกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงวัง

หลักฐานสำคัญที่ชี้ว่ากรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ทรงดูแลราชการอย่างกว้างขวางนั้น John Crawfurd ทูตอังกฤษที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยามได้กล่าวถึงกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ว่า“พระองค์ทรงแสดงพระปรีชาสามารถให้เป็นที่ประจักษ์ในพระราชภารกิจที่พระองค์ทรงได้รับมอบหมาย เรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสงบสุขของบ้านเมืองหรือการสงคราม การติดต่อกับต่างประเทศหรือกฎระเบียบของบ้านเมือง การกำหนดนโยบายและความยุติธรรม จะเป็นไปตามพระประสงค์ของเจ้านายพระองค์นี้ทั้งสิ้น เรื่องต่างๆ แทบจะไม่มีการนำขึ้นเสนอต่อพระเจ้าแผ่นดิน ยกเว้นในกรณีที่ต้องการความเห็นชอบของพระเจ้าแผ่นดินเป็นขั้นสุดท้าย ตัวแทนของรัฐบาลในระดับรองลงมา ต่างอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้านายพระองค์นี้ทั้งสิ้น และไม่มีอำนาจที่จะปฏิบัติการใดๆ หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากพระองค์” ดังนั้นข้าราชการจึงเข้าเฝ้าพระองค์วันละสองเวลา และการเข้าเฝ้ากรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ก็ทรงปฏิบัติเช่นเดียวกับที่พระเจ้าแผ่นดินทรงกระทำ

ด้วยเหตุนี้พระราชอำนาจและพระบารมีของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์นั้นจึงเกิดขึ้นเพราะความสามารถส่วนพระองค์โดยมิได้เป็นเพราะมีผู้ใดเข้ามาผลักดัน โดยเฉพาะประเด็นการค้าที่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์มีความหลักแหลมอย่างสูง เห็นได้จากการที่พระองค์มีเรือพาณิชย์อยู่ถึง 11-13 ลำ และแม้ระบบการค้าเสรีจะเข้ามาย่ำกราย พระองค์ก็หาวิธีในการผูกขาดบางด้านไว้อย่างแยบยล และทรงบริหารราชการแผ่นดินในทุกด้านตั้งแต่เป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์อยู่ถึง 10 กว่าปี ดังนั้นพระองค์จึงมีพระบารมีก่อนที่ใครจะมาผลักดันดังที่มีคนเชื่อ และด้วยการบริหารแผ่นดินอย่างเต็มด้วยความสามารถนี้เอง จึงเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่ากรมหมื่นเจษฎาบดินทร์คือผู้ที่รัชกาลที่ 2 ทรงจะมอบราชสมบัติให้อยู่แล้ว ซึ่งรัชกาลที่ 4 เองก็มีพระราชวินิจฉัยไปในทางนี้เช่นเดียวกัน

ในช่วงรัชกาลที่ 3 ต่อมาพระองค์ได้สถาปนาพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นศักดิ์พลเทพ ผู้ทรงเคยกำกับการกลาโหมสมัยรัชกาลที่ 2 เป็นวังหน้า แต่ได้เสด็จทิวงคตเมื่อ พ.ศ. 2375 และรัชกาลที่ 3 ก็มิได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดเป็นวังหน้าขึ้น ซึ่งกรณีนี้เองที่ได้เกิดเหตุการณ์คล้ายกับสมัยรัชกาลที่ 2 แต่ในสมัยของรัชกาลที่ 3 นี้มีผู้เล่ากันว่า มีตระกูลหนึ่งมีอำนาจบารมีเหลือล้นและสามารถสนับสนุนผู้ใดก็ได้ขึ้นมาเป็นพระมหากษัตริย์จนกล้าขัดพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 3 ที่ทรงจะมอบราชสมบัติให้กับพระองค์เจ้าอรรณพ พระราชโอรสซึ่งกำกับกรมสังฆการีและธรรมการโดยการ “สึกพระ” ซึ่งบวชถึง 27 พรรษมาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เพราะว่าจะสามารถควบคุมได้ง่ายกว่าเจ้านายพระองค์อื่น และอาจสุ่มเสี่ยงต่อการเสียผลประโยชน์ แต่เรื่องเล่าเช่นนี้เป็นการเล่าอย่างส่งเดชอย่างยิ่ง เพราะทำให้บางตระกูลดูเข้มแข็งเกินความจริง และทำให้ดูเสมือนว่าการสืบราชสมบัติไม่เป็นไปโดยประเพณีอันถูกต้อง

อำนาจของตระกูลนี้มิอาจทัดเทียมได้เลยกับรัชกาลที่ 2 และกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ซึ่งกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์นั้นคือผู้ที่รัชกาลที่ 2 ไว้วางใจให้สำเร็จราชการแทนกว่า 10 ปี และพระองค์ยังร่ำรวยมหาศาลอีกด้วย และเมื่อพิจารณาบริบทที่พระนครต้องการการฟื้นและบำรุง การศึกสงครามยังมีโดยเฉพาะความยุ่งยากทางหัวเมืองในมลายู และการรบกับลาวและญวน ด้วยเหตุนี้การที่รัชกาลที่ 2 ไม่ได้แต่งตั้งพระองค์อย่างเป็นทางการจึงทำให้เหล่าขุนนางและเจ้านายต้องมาลงมติสนับสนุนผู้พร้อมด้วยอำนาจบารมีที่จะต้องปกปักรักษาพระนครเอาไว้แทนที่จะให้รัชกาลที่ 4 ขึ้นก่อนเพราะขณะนั้นพระองค์ยังอ่อนพระชันษาและยังไม่มีความรู้ในงานแผ่นดิน รัชกาลที่ 3 จึงต้องเป็นพระมหากษัตริย์ก่อน

นอกจากนี้การมอบราชสมบัติให้รัชกาลที่ 4 ก็เป็นพระราชประสงค์ของพระองค์เช่นเดียวกัน โดยที่ไม่มีใครบงการอะไรแต่อย่างใด กล่าวคือเป็นสิ่งที่พระองค์มีพระราชดำริมานานแล้ว และเป็นที่รับรู้ในหมู่ข้าราชการและเสนาบดีในราชสำนัก เช่นมีการบันทึกว่า รัชกาลที่ 3 ทรงให้ยืมมงกุฎที่หล่อสำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่องที่จะเป็นพระประธานวัดนางนองมาติดบนนภศูลซึ่งไม่เคยมีแบบอย่างมาก่อน คนในสมัยนั้นจึงพากันสันนิษฐานว่าพระองค์มีพระราชประสงค์ให้คนเห็นว่าเจ้าฟ้า “มงกุฎ” จะเป็นยอดของบ้านเมืองต่อไป และรัชกาลที่ 3 ทรงไม่ตั้งวังหน้าโดยมีพระราชดำริว่าไม่สมควรแก่เจ้านายอื่นนอกจากเจ้าฟ้ามงกุฎ รวมไปถึงการไม่แต่งตั้งพระอัครมเหสี การไม่สถาปนาพระราชโอรสพระองค์ใดให้เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชั้นเอก และไม่เคยให้พระราชโอรสพระองค์ใดดำรงตำแหน่งสำคัญอันแสดงให้เห็นว่าเป็นการตัดปัญหาความวุ่นวายเรื่องสิทธิในการสืบราชบัลลังก์อย่างหมดจด ส่วนคำร่ำลือที่ว่าพระองค์ไม่เคยทรงพระมหาพิชัยมงกุฎตลอดรัชกาลนั้นก็เพราะพระองค์ทรงปฏิบัติตามอย่างสมเด็จพระบรมชนกนาถ

ในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 นั้นพระองค์ได้ตรัสกับพระยาศรีสุริยวงศ์ว่าพระองค์ต้องการตัดสิทธิ์ กรมขุนเดชอดิศร (พระองค์เจ้าชายมั่ง) ผู้กำกับกรมพระอาลักษณ์ กรมขุนพิพิธภูเบนทร์ (พระองค์เจ้าชายพนมวัน) ผู้ทรงกำกับกรมพระคชบาล และเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (เจ้าฟ้าชายจุธามณี) ผู้ทรงกำกับกรมทหารปืนใหญ่ออกจากราชบัลลังก์เพราะมีคุณสมบัติไม่เหมาะสมโดยพระองค์มีพระราชวินิจฉัยว่ารักเล่นสนุกและสติปัญญาไม่หลักแหลม เพราะทรงเห็นตั้งแต่ครั้งบริหารราชการแผ่นดินและการทำสงครามแล้ว ผู้ที่รัชกาลที่ 3 ทรงสนับสนุนมีเพียงแค่วิชรญาณภิกขุ (เจ้าฟ้าชายมงกุฎ) เท่านั้น โดยพระองค์ทรงกล่าวว่า “สติปัญญาพอจะรักษาแผ่นดินได้” แต่ขณะนั้นรัชกาลที่ 4 ยังทรงผนวชอยู่ รัชกาลที่ 3 จึงกล่าวเพื่อเป็นการหยั่งเชิงว่า วชิรญาณภิกขุจะประสงค์ในบัลลังก์หรือไม่ และเป็นการตรัสเป็นนัยให้ทราบกันว่านี่คือพระราชประสงค์ของพระองค์ ซึ่งท้ายที่สุดเราจึงได้รัชกาลที่ 4 นั่นเอง

นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่เล่าสืบต่อกันมาถึงเรื่องการหนีราชภัยของรัชกาลที่ 4 แต่ความจริงแล้วรัชกาลที่ 3 ทรงปกป้องและให้ความยุติธรรมแก่พระอนุชาเสมอมา อีกทั้งยังสนับสนุนในด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม การดำเนินกิจการฝ่ายสงฆ์ตามพระทัยและสมณศักดิ์ตลอดรัชกาล ทั้งสองพระองค์ต่างรักใคร่และไว้วางพระราชหฤทัยกันเสมอแม้จะมีผู้คอยเพ็ดทูลให้ระแวงกันอยู่บ่อยครั้ง รัชกาลที่ 4 ทรงรักนับถือรัชกาลที่ 3 อย่างยิ่งดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาที่รัชกาลที่ 4 มีถึงกรมหลวงวงศาธิราชสนิท เมื่อครั้งท่านเป็นแม่ทัพใหญ่ไปตีเชียงตุงว่า “คิดถึงแต่ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นแลมากกว่าผู้อื่น สิ่งอื่น เป็นความสัตย์จริง เพราะท่านเป็นหัวใจแผ่นดิน ท่านเป็นสุขสบายพระทัยอยู่แล้ว พวกพ้องและที่อยู่อาศัยของฉันที่อยู่ในแผ่นดินของท่านก็จะเป็นปกติอยู่หมด”

อีกประเด็นหนึ่งที่มักมีการกล่าวถึงคือ การห่มจีวรแบบแหวกแบบพระมอญของพระสงฆ์นิกายธรรมยุตนั้นคือเหตุข้อรังเกียจของรัชกาลที่ 3 ต่อรัชกาลที่ 4 และนำไปเป็นเหตุผลในการตัดสิทธิราชบัลลังก์ของรัชกาลที่ 4 นั้นไม่มีความสมเหตุสมผล เนื่องจากการที่ธรรมยุติกนิกายตั้งได้สำเร็จและรุ่งเรืองตลอดรัชกาลก็เพราะรัชกาลที่ 3 ทรงอุปถัมภ์อยู่ หากจะทรงตั้งข้อรังเกียจพระองค์ก็ต้องรังเกียจธรรมยุติกนิกายแทนที่จะตั้งข้อรังเกียจเรื่องการห่มจีวรของพระสงฆ์ นอกจากนี้เมื่อรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดให้รัชกาลที่ 4 เสด็จเข้ามาอยู่วัดบวรนิเวศฯ นั้น พระองค์ทรงระวังมากมิให้รัชกาลที่ 4 โทมนัสน้อยพระราชหฤทัย เช่น โปรดให้แห่ขบวนเหมือนแห่เสด็จพระมหาอุปราชเมื่อแห่เสด็จจากวัดราชาธิวาสตามประเพณีแห่พระราชาคณะไปครองวัด

เราจึงกล่าวสรุปได้ว่า การแต่งตั้งรัชทายาทสืบราชสมบัติคือความต้องการโดยแท้ของพระมหากษัตริย์ที่เห็นได้ในทางปฏิบัติ มิได้มีผู้ใดตระกูลใดบงการอยู่เบื้องหลัง และไม่ใช่การแย่งตัดหน้าสิทธิราชบัลลังก์ของใคร อีกทั้งรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 ก็ทรงไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งข้อเท็จจริงทั้งหมดเป็นการหักล้างความเท็จตามที่ประวัติศาสตร์บอกเล่ามักชอบกล่าวบิดเบือนกัน

อ้างอิง :

[1] เรียบเรียงจาก กฤษณา หงษ์อุเทน, “กรณีพระนั่งเกล้าฯ,” Silpakorn University Journal of Fine Arts Vol.1, No.1 (2556): 57-107.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า