‘ม.112 มีปัญหา’ คำโกหกของกลุ่มการเมือง มุ่งปลุกระดมความรุนแรงเพื่อล้มล้างการปกครอง

จากกรณีที่พรรคก้าวไกลแถลงนโยบายด้านการเมืองเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2565 โดยหนึ่งในข้อเสนอนโยบายของพรรคก้าวไกลคือ เสนอแก้ไข ม.112 โดยลดโทษจำคุก ย้ายออกจากหมวดความมั่นคง ให้สำนักพระราชวังเท่านั้นที่เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ และกำหนดให้มีเหตุยกเว้นความผิด เหตุยกเว้นโทษ ในกรณีวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ

หลังจากนั้น ปรากฏว่าตลอดทั้งสัปดาห์มีหัวหน้าพรรค แกนนำพรรค และโฆษกพรรคต่างๆ ออกมาแสดงท่าทีขึงขัง และยืนยันว่า จะไม่แก้ไข ม.112 พร้อมประกาศว่าจะไม่ร่วมทำงานกับพรรคการเมืองที่เสนอแก้ไข ม.112 เด็ดขาด พร้อมยกเหตุผลว่า ม.112 ไม่ได้มีปัญหา ประเทศอื่นเขาก็มีประเทศเรามีก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ขนาดคนธรรมดายังมีกฎหมายคุ้มครองเลย ซึ่งถ้าเราไม่ทำผิดจะไปกลัวอะไร

ต่อมาได้มีนักการเมืองอดีตสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นขาประจำในการออกมาเรียกร้องให้ยกเลิก ม.112 ได้ออกมาพูดว่า ม.112 มีปัญหาทั้งในตัวบทกฎหมาย มีเบื้องหลังและมีการบังคับใช้เพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว ปัญหาน่าจะอยู่ที่ตัวคนพูดมากกว่า ที่ออกมาย้ำคิดย้ำทำแต่เรื่องเดิมๆ แบบพูดความจริงไม่หมด แล้วบิดเบือนภาพให้คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับ ม.112

ซึ่ง ฤๅ จะนำมาอธิบายเป็นข้อๆ ว่าสิ่งที่นักการเมืองคนนี้พูดเกี่ยวกับ ม.112 มีอะไรบ้าง บิดเบือนยังไง และข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเป็นยังไง

ข้อมูลบิดเบือน : ม.112 อยู่ในหมวดของความมั่นคงในราชอาณาจักร ทำให้แนวทางการวินิจฉัยคดีเป็นเรื่องของการควบคุมอาชญากรรมมากกว่าการรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน นำไปสู่ทิศทางที่มักไม่ให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว หรือมีการเรียกหลักประกันชนิดที่สูงมาก

ข้อเท็จจริง : เหตุที่แนวทางวินิจฉัยคดีเป็นเรื่องของการควบคุมอาชญากรรมนั้น เนื่องจากมูลเหตุของการแก้ไข ม.112 นั้น มาจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นมีการยุยงปลุกปั่น และเผยแพร่ชุดข้อความเท็จ จนนำมาซึ่งเหตุการณ์นองเลือดนั่นเอง การตัดวงจรเสรีภาพในการเผยแพร่ข้อความเท็จจึงไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับประเด็นของเสรีภาพทางวิชาการที่รัฐธรรมนูญรับรอง

ส่วนประเด็นที่ว่า เป็นการนำไปสู่ทิศทางที่มักไม่ให้มีการปล่อยชั่วคราวนั้นก็ไม่เป็นความจริง คดี ม.112 ส่วนมาก ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวเสมอ แต่อาจจะมีบางกรณีที่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องมาจากพฤติการณ์ของคดีที่ศาลนำมากำหนดเป็นข้อเท็จจริงประกอบดุลยพินิจ ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติของกระบวนการกฎหมายอยู่แล้ว

ข้อมูลบิดเบือน : ม.112 มีอัตราโทษที่สูงเกินไป เรียกได้ว่าเป็นอัตราโทษหมิ่นประมาทที่สูงที่สุดในโลก ไม่มีที่ไหนสูงเท่านี้อีกแล้ว ที่สำคัญคือ ใครก็สามารถแจ้งดำเนินคดีได้ อีกทั้งเจ้าหน้าที่มักไม่ยอมใช้ดุลพินิจ แต่เลือกที่จะสั่งฟ้องก่อนเลย ทำให้มีการกลั่นแกล้งกันทั้งในทางส่วนตัวและในทางการเมือง

ข้อเท็จจริง : เนื่องจาก ม.112 เป็นบทบัญญัติที่ว่าด้วยการคุ้มครองตำแหน่งประมุขของประเทศ ไม่ใช่การคุ้มครองตัวบุคคล การกำหนดอัตราโทษจะต้องสัมพันธ์กับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ตำแหน่งประมุขของประเทศคือหัวใจหลักของการปกครอง ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐต้องให้ความสำคัญอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น การออกมาบอกแค่ว่า “เป็นอัตราโทษหมิ่นประมาทที่สูงที่สุด” เป็นการพูดความจริงไม่หมด

ส่วนการเปิดโอกาสให้ใครก็สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้นั้น สิทธิตามกฎหมายของผู้กล่าวโทษนั้นเป็นเพียงการส่งมอบคดีหรือแจ้งเบาะแสให้แก่ตำรวจเท่านั้น แต่การทำสำนวนของเจ้าหน้าที่จะต้องมีความละเอียดกว่าคดีทั่วๆ ไป ต้องมีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดีขึ้นมาร่วมพิจารณาด้วย และต้องมีพยานหลักฐานชัดเจนจึงจะสรุปสำนวนสั่งฟ้องได้ ซึ่งหากมีการแจ้งความกล่าวโทษโดยไม่มีมูลก็อาจถูกฟ้องกลับได้

ข้อมูลบิดเบือน : กฎหมายคุ้มครองประมุขแห่งรัฐของต่างประเทศเขาก็มี แต่กฎหมายของประเทศเหล่านั้นแตกต่างจาก ม.112 อย่างสิ้นเชิง บางประเทศมีกฎหมายความผิดเกี่ยวกับหมิ่นพระมหากษัตริย์ แต่ก็ไม่เคยนำมาใช้หรือไม่นำมาใช้นานแล้ว บางประเทศอาจนำมาใช้เป็นครั้งคราว แต่ก็เพียงลงโทษปรับ และทุกประเทศที่มีกฎหมายลักษณะนี้ล้วนแล้วแต่กำหนดโทษต่ำกว่า ม.112 มาก และทิศทางแนวโน้มก็มีแต่จะยกเลิกโทษนี้

ข้อเท็จจริง : ในประเด็นนี้ เราไม่สามารถพิจารณาง่ายๆ เพียงแค่ว่าหากประเทศอื่นไม่ได้ใช้กฎหมายหมิ่นประมาทประมุขแห่งรัฐ ประเทศไทยก็ต้องยกเลิก ม.112 ตามไปด้วย ข้อเท็จจริงปรากฎชัดเจนว่าสภาพสังคมของแต่ละประเทศนั้นมีความแตกต่างกัน บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดๆ ก็ย่อมแตกต่างกันไปด้วย และสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนอีกประการหนึ่งก็คือ บริบทการใช้ ม.112ในประเทศไทยนั้น โดยมากไม่ใช่เป็นการจับกุมบุคคลที่เห็นต่าง แต่ในทางกลับกัน เป็นการใช้กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่บริภาษด่าทอผู้อื่นอย่างสนุกปาก โดยปราศจากความรับผิดชอบนั่นเอง

ข้อมูลบิดเบือน : ถึงไม่มี ม.112 ก็ยังมีกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาคุ้มครองอยู่ดี และการที่จะฟ้องหรือไม่ฟ้องใคร ก็ควรเป็นเรื่องส่วนตัว ให้แต่ละคนไปพิจารณากันเอง พูดง่ายๆ คือให้คู่กรณีไปฟ้องร้องกันเอง

ข้อเท็จจริง : คำกล่าวที่ว่าแม้จะไม่มี ม.112 แล้ว แต่ยังมีกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมคุ้มครองอยู่ดี การฟ้องหรือไม่ฟ้องใครควรเป็นเรื่องส่วนตัว คำกล่าวเช่นนี้ “เป็นจริงเพียงครึ่งเดียว” โดยข้อพิจารณาคือ บุคคลธรรมดาไม่ได้มีสถานะเป็นประมุขของรัฐที่อยู่เหนือการเมือง กฎหมายหมิ่นประมาทนั้นจะมุ่งคุ้มครองชื่อเสียงของบุคคลธรรมดา ซึ่งแตกต่างจาก ม.112 ที่มุ่งคุ้มครองประมุขของรัฐซึ่งเป็นหัวใจหลักของระบอบการปกครอง

สำหรับการเสนอให้ยกเลิก ม.112 แล้วใช้กฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาแทน เป็นข้อเสนอที่แยบคายและชั่วร้าย เนื่องจากเป็นข้อเสนอที่ส่งผลโดยตรงต่อปริมาณความผิดที่มากขึ้น และดึงสำนักพระราชวังที่เป็นหน่วยงานตัวแทนสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับประชาชน ซึ่งเป็นการบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ หากมีการหมิ่นประมาทสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วให้สำนักพระราชวังเป็นผู้มีอำนาจร้องทุกข์กล่าวโทษแต่ผู้เดียว คดีความก็จะยิ่งรกศาล ความล่าช้าในแต่ละคดีจะยิ่งมีมากขึ้น เพราะการดำเนินคดีแต่ละคดี อย่างน้อยต้องใช้ระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี หรือมากกว่า สำนักพระราชวังมีภารกิจหลักที่สำคัญจะต้องถวายงานแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ หากนำบุคลากรของสำนักพระราชวังมาดำเนินการด้านคดีความแทนการทำงานตามภารกิจหลัก ก็จะยิ่งเป็นการสร้างปัญหามากกว่าการแก้ปัญหานั่นเอง

ข้อมูลบิดเบือน : ในช่วงไม่กี่ปีมานี้มีคนโดนคดี ม.112 กันตั้ง 200 กว่าคน มีเด็กและเยาวชนถูกดำเนินคดีตั้ง 17 คน แบบนี้ถือว่า ม.112 เป็นกฎหมายที่มีปัญหา และสมควรต้องถูกแก้ไข

ข้อเท็จจริง : นิตินโยบายของสังคมหนึ่งๆ นั้น ขึ้นอยู่กับสิ่งที่สังคมนั้นให้คุณค่า ข้อเสนอที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายใดๆ โดยปกติย่อมสามารถกระทำได้ โดยการถกเถียงถึงข้อดีข้อเสียกันอย่างอารยชน แต่ในทางกลับกัน การรณรงค์แก้ไขยกเลิก ม.112 ในประเทศไทย ล้วนแล้วแต่มีลักษณะที่เป็นการยุยงปลุกปั่น เผยแพร่ความเท็จให้เด็กและเยาวชนหลงเข้าใจผิด และยืมมือเด็กๆ เหล่านั้นเป็นด่านหน้า เพื่อสังเวยความต้องการทางการเมืองของตนเอง

โปรดสังเกตว่ากลุ่มบุคคลที่โดนคดี ม.112 นั้น ส่วนมากเป็นเด็กและเยาวชนที่มีความคิดทางการเมืองรุนแรง โดยพวกเขาเหล่านั้นถูกทำให้เชื่อว่า สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เบื้องหลังความวุ่นวายทางการเมืองของประเทศไทยในหลายๆ เหตุการณ์ ทั้งๆ ที่เรื่องซึ่งพวกเขาได้รับการบอกเล่ามานั้น ล้วนเป็นความเท็จทั้งสิ้น

ทั้งหมดนี้คือข้อเท็จจริงของ ม.112 ที่มีพรรคการเมืองและนักวิชาการ (เพียงบางส่วน) พยายามบิดเบือนมาโดยตลอด ซึ่งความต้องการยกเลิก ม.112 ของพวกเขาเป็นเพียงความต้องการของคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่โปรดขอให้พิจารณาด้วยว่ายังมีอาจารย์ นักวิชาการ ประชาชน หรือแม้กระทั่ง ส.ส.จากพรรคการเมืองต่างๆ อีกจำนวนมาก ที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอในการแก้ไขหรือยกเลิก ม.112 ซึ่งหากจะว่าไปการรณรงค์แก้ไขหรือยกเลิก ม.112 ก็มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยนิติราษฎร์ จนมาถึงทุกวันนี้ ก็ไม่เห็นวี่แววที่สังคมส่วนใหญ่จะเห็นด้วยสักที

และข้อเท็จจริงที่ชัดเจนที่สุดอีกประการหนึ่งก็คือ แนวทางการขอแก้ไขหรือยกเลิก ม.112 ของคนบางกลุ่มในปัจจุบัน มีเจตนาแอบซ่อนการปลุกระดมความรุนแรงเอาไว้ โดยมีจุดประสงค์ในการมุ่งร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และนำไปสู่สิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้ก่อนหน้านี้คือ การล้มล้างระบอบการปกครอง

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า