ตีแผ่หนังสือ Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand : EP 1

ว่าด้วยความเบื้องต้น เกี่ยวกับประเด็นและการนำเสนอ

หลังจากที่ทีมงาน ฤา ได้อ่านหนังสือ Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand ของ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และได้ทำการสอบทาน ชำระเอกสาร รวมถึงวิเคราะห์ประเด็นในหนังสือจากทั้งบทความที่เกี่ยวข้อง และหนังสือเล่มอื่นๆ จนเป็นที่แน่ชัดว่า เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ เป็นการต่อยอดมาจากบทความเรื่อง Desperately seeking Marylene ของปวินฯ เอง ซึ่งเคยเผยแพร่ลงเว็บไซต์ New Mandala เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2012 โดยบทความนั้น มีเนื้อหากล่าวถึงหญิงชาวสวิสคนหนึ่ง ที่ชื่อ มารีลีน เฟอร์รารี

ซึ่ง มารีลีน เฟอร์รารี ได้เคยถูกพูดถึงในหนังสือ “กงจักรปีศาจ” (The Devil’s Discus) ของ เรย์นี ครูเกอร์ (Rayne Kruger) ในฐานะเป็นพระสหายที่ในหลวง ร.8 ทรงหลงรัก และนำไปสู่การสรุปของหนังสือว่าในหลวง ร.8 ปลงพระชนม์พระองค์เองเนื่องจากไม่สมหวังในความรัก

และปวินฯ ก็ได้นำเรื่องของ มารีลีน เฟอร์รารี มาขยายความเพิ่มเติมในหนังสือของเขาว่าเธอมีบทบาทในชีวิตของในหลวง ร.8 อย่างไร รวมทั้งพูดถึงการที่เธอเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในครอบครัวมหิดลอีกด้วย

ปวินฯ ได้ทำการสืบค้นเอกสารชั้นต้นจาก Lausanne archives ไม่ว่าจะเป็นสำมะโนครัว ทั้ง Swiss immigration records และ Swiss church record ที่เป็นระบบสืบค้นประวัติสำมะโนครัวพลเมือง ซึ่งระบบนี้ เป็นระบบสำมะโนครัวแบบเดิม ก่อนที่ระบบแบบปัจจุบันจะเกิดขึ้น ปวินฯ ได้สืบค้นความมีตัวตนของมารีลีน โดยการอ้างอิงจากเอกสารชั้นต้นต่างๆ จนได้ความว่า “มารีลีน เฟอร์รารี มีตัวตนอยู่จริง”

ประเด็นหลักที่หนังสือของปวินฯ พยายามจะอธิบายคือ ความสัมพันธ์ระหว่างมารีลีนกับในหลวง ร.8 แต่มีข้อสังเกตที่เห็นได้ชัดเจนคือ หากเราย้อนกลับไปอ่านหนังสือ “กงจักรปีศาจ” ของ Rayne Kruger จะพบว่า หนังสือทั้งสองเล่มมีเนื้อเรื่องคล้ายกันนั่นเอง ซึ่งปวินฯ มักอ้างเนื้อหาจากหนังสือกงจักรปีศาจอยู่หลายต่อหลายครั้ง

ทั้งๆ ที่กงจักรปีศาจ ไม่มีการอ้างอิงทางวิชาการแม้แต่จุดเดียว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเชี่ยวชาญในด้านประวัติศาสตร์และวิชาการของผู้เขียนอย่าง Rayne Kruger ก็ได้ถูกตั้งคำถามเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของหนังสือกงจักรปีศาจ ไม่ได้อยู่ที่ใครเป็นคนเขียน แต่อยู่ที่เนื้อหาว่ามีความถูกต้อง ครบถ้วน และเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน

หากเราจัดประเภทหนังสือของปวินฯ ว่าเป็น “นวนิยายเชิงประวัติศาสตร์” ก็คงไม่มีประเด็นอะไร แต่หากเราจัดประเภทให้เป็น “หนังสือประวัติศาสตร์” หรือ “วิชาการ” หนังสือเล่มนี้จะต้องมีการอ้างอิงที่น่าเชื่อถือด้วย ไม่ใช่เพียงแต่อ้างอิงมาจากหนังสือที่ไม่มีการอ้างอิงต่อๆ กันมาเท่านั้น

จริงอยู่ที่ Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand มีการสืบค้นความมีตัวตนของ มารีลีน เฟอร์รารี ด้วยการยืนยันจากเอกสารชั้นต้นที่น่าเชื่อถือ แต่อย่างไรก็ตาม ความมีตัวตนจริงของมารีลินนั้น “เป็นคนละประเด็นกัน” กับเรื่องที่ว่ามารีลีนมีความสัมพันธ์ในทางชู้สาวกับในหลวง ร.8 จริงหรือไม่ ซึ่งประเด็นความสัมพันธ์ที่ว่านี้ ปวินฯ ก็มักอ้างอิงมาจากหนังสือกงจักรปีศาจ และอีกส่วนหนึ่งก็เป็นการเขียนโดยอาศัย “คำบอกเล่า” ทั้งสิ้น

ผู้อ่านจึงควรต้องแยกแยะประเด็นอย่างระมัดระวัง ว่าความมีตัวตนจริงของมารีลีน เป็นคนละเรื่องกับกรณีที่ในหลวง ร.8 มีเรื่องทะเลาะกับสมเด็จย่าจริงหรือไม่ ซึ่งประเด็นการทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว ถือเป็นเรื่องภายในครอบครัว โดยสามัญสำนึกทั่วไป บุคคลภายนอกจะมีโอกาสรู้ได้อย่างไร ว่าเกิดความขัดแย้งขึ้นจริงหรือไม่ ด้วยเหตุผลอะไร และบุคคลที่มีโอกาสได้ล่วงรู้ความขัดแย้งเหล่านั้น รู้ได้อย่างไร เรื่องเหล่านี้เป็นประเด็นที่จะต้องมีการอ้างอิงให้ชัดเจนด้วย ไม่ใช่การกล่าวอ้างจากกงจักรปีศาจ ซึ่งเป็นหนังสือที่เขียนขึ้นมาลอยๆ เท่านั้น

จากปกและชื่อเรื่องของหนังสือเล่มนี้ ผู้อ่านหลายท่านคงคาดหวังเอาไว้ว่าปวินฯ จะนำเสนอมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับกรณีสวรรคตของในหลวง ร.8 แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปวินฯ กลับแทบไม่ได้นำเสนอมุมมองใหม่ๆ แต่ประการใดเลย นอกจากเรื่องราวส่วนพระองค์ที่เจาะลึกไปถึงบทสนทนาในครอบครัว และค่อนไปทางเรื่องราวซุบซิบเสียด้วย การบอกเล่าเรื่องราวในหนังสือประวัติศาสตร์นิพนธ์เล่มนี้ จึงไม่สามารถระบุสถานะผู้แต่งได้ว่า ระหว่างความเป็น “นักวิชาการ” กับ “นักเขียนนิยายรัก” ผู้เขียนต้องการให้ตนเองมีภาพลักษณ์อย่างไรกันแน่

สำหรับกรณีสวรรคตนั้น หนึ่งในข้อโต้แย้งสำคัญที่สามารถนำไปสู่การคลี่คลายคดีได้ คือ เหตุผลทางนิติวิทยาศาสตร์ของนายแพทย์สุด แสงวิเชียร โดยหมอสุดฯ และทีมแพทย์ส่วนใหญ่ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศที่ร่วมชันสูตรพระบรมศพ ได้วินิจฉัยว่าในหลวง ร.8 ถูกลอบปลงพระชนม์ ซึ่งคำว่าลอบปลงพระชนม์ ถ้าจะพูดกันให้เข้าใจง่ายๆ คือการที่พระองค์ถูกฆาตกรรมนั่นเอง และการถูกฆาตกรรมนั้น ก็เป็นการวินิจฉัยที่ชัดเจนด้วยหลักทางการแพทย์อยู่แล้ว ว่าไม่ใช่การถูกบุคคลอื่นทำปืนลั่นใส่ และไม่ใช่การปลงพระองค์เอง (ฆ่าตัวตาย) แต่ปวินฯ กลับนำข้อสันนิษฐานเรื่องการปลงพระชนม์เอง ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานในหนังสือกงจักรปีศาจมาใช้อ้างอิงในหนังสือเล่มนี้ด้วย (โดยเป็นแค่การนำเสนอจากหลายๆ ข้อสันนิษฐาน และการสันนิษฐานสาเหตุการสวรรคตก็ไม่ใช่ประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้)

การโต้แย้งถึงสาเหตุการสวรรคต ไม่ว่าจะเป็นกรณีมีบุคคลอื่นทำปืนลั่นใส่ด้วยอุบัติเหตุ หรือการปลงพระชนม์เองก็ตาม จะต้องโต้แย้งด้วยเหตุผลทางการแพทย์ ที่สามารถอธิบายถึงลักษณะท่าทางของการนอนขณะสวรรคต ตำแหน่งมือที่ถือปืน ปากบาดแผล หรือเขม่าดินปืน แต่ทั้งหนังสือกงจักรปีศาจ และหนังสือ Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand ไม่มีการอ้างถึงเหตุผลทางการแพทย์เลย แต่กลับไปอ้างถึงความขัดแย้งภายนอก ไม่ว่าจะเป็นความวุ่นวายนอกวัง หรือการปรับตัวของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้สามารถหาอ่านได้จากแหล่งข้อมูลอื่นอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องการปรับตัวของสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงปี พ.ศ. 2475-2500 นั้น ได้มีการค้นคว้าจนแต่งเป็นหนังสือออกมาหลายเล่มแล้ว ซึ่งไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่อะไร

ในอีกทางหนึ่ง แม้จะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในครอบครัวมหิดลจริง แต่สุดท้ายความขัดแย้งนี้ ก็ไม่ได้ทำลายน้ำหนักข้อสันนิษฐานทางการแพทย์ได้เลย นั่นหมายความว่า ต่อให้มี หรือไม่มีความขัดแย้งในครอบครัว การสวรรคตของในหลวง ร.8 ก็ไม่ได้เกิดจากการปลงพระชนม์พระองค์เองอยู่ดี

ในเบื้องต้นนี้ เราได้เห็นภาพรวมแล้วว่าหนังสือ Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand มีการสืบค้นข้อมูลจริงเฉพาะกรณีการมีตัวตนของ มารีลีน เฟอร์รารี ซึ่ง “เป็นคนละประเด็นกัน” กับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมารีลีนกับในหลวง ร.8 ที่ปวินฯ อ้างอิงมาจากหนังสือกงจักรปีศาจอีกที และข้อสันนิษฐานที่ว่าในหลวง ร.8 ปลงพระชนม์เอง หรือปืนลั่นโดยอุบัติเหตุจากบุคคลอื่น ก็มีน้ำหนักน้อยมาก เมื่อเทียบกับเหตุผลทางการแพทย์ของนายแพทย์สุด แสงวิเชียร ที่ให้น้ำหนักไปที่การถูกลอบปลงพระชนม์

ดังนั้น จึงเกิดเป็นคำถามตามมาว่า หนังสือ Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand ควรจัดอยู่ในประเภท “หนังสือวิชาการ” หรือ “นวนิยายเชิงประวัติศาสตร์” มากกว่ากัน

ในตอนต่อไป ทีมงาน ฤา จะวิเคราะห์หนังสือ Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand โดยละเอียดให้ผู้อ่านได้พิจารณา

ที่มา :

Love and Death of King Ananda Mahidol of Thailand : ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า