‘กบฏผู้มีบุญ’ ฉบับข้อเท็จจริง หลอกประชาชนด้วยการให้ร้ายรัฐ เพื่อสบช่องโกยประโยชน์ส่วนตัว

ช่วงทศวรรษของ พ.ศ. 2440 ได้มีผู้พบลายแทงทางภาคอีสานของสยามได้ระบุเอาไว้ว่า “จะเกิดเภทภัยใหญ่หลวง เงินทองทั้งปวงจะกลายเป็นกรวดทรายไปหมด ก้อนกรวดในหินแลงจะกลับเป็นเงินทอง หมูก็จะกลายเป็นยักษ์ขึ้นกินคน แล้วท้าวธัมมิกราชผีบุญ (คือผู้มีบุญ) จะมาเป็นใหญ่ในโลกนี้ ใครอยากจะพ้นภัยก็ให้คัดลอดหรือบอกความลายแทงให้รู้กันต่อๆ ไป ใครอยากจะมั่งมีก็ให้เก็บกรวดหินแลงรวบรวมไว้ให้ท้าวธัมมิกราชชุบเป็นเงินทอง ถ้ากลัวตายก็ให้ฆ่าหมูเสีย… อย่าให้ทันมันกลายเป็นยักษ์” [1]

คำจากลายแทงด้านบนนั้น ได้เป็นจุดเริ่มต้นของการก่อเกิดปรากฏการณ์ที่สำคัญในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นสมัยใหม่ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ทรงต้องคิดหาวิธีในการบำรุงบ้านเมืองใหม่ให้ทุกๆ ภูมิภาคสามารถเกิดการพัฒนาและมีระดับของการใช้ชีวิตที่ไม่ลำบากยากแค้น ซึ่งในท้ายที่สุดพระองค์ก็สามารถหาวิธีการทำได้สำเร็จ แต่ในช่วงของการเกิด “กบฎผู้มีบุญ” นั้น เป็นช่วงที่มีความน่าศึกษาในแง่ที่ว่า นอกจากมีต้นสายปลายเหตุอย่างไรแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตก็สามารถถูกนำมาใช้ในปัจจุบันเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างได้ด้วย

กบฎผู้มีบุญนี้เกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2444 ไปจนถึง พ.ศ. 2445 โดยเป็นการเกิดขึ้นในหลายแห่งในช่วงระยะเวลาที่ใกล้เคียงกันในมณฑลอีสานก่อนที่จะขยายไปสู่มณฑลอุดรและมณฑลนครราชสีมา (มณฑลอีสานประกอบไปด้วย อุบลราชธานี จำปาศักดิ์ ขุขันธ์ สุรินทร์ และร้อยเอ็ด) ซึ่งการเกิดขึ้นของผู้มีบุญนี้ ในภายหลังปรากฏว่ามีการเกิดขึ้นนับร้อยคน [2] โดยในช่วงแรกๆ ที่เกิดข่าวลือเรื่องภัยใหญ่และจะมีผู้มีบุญเข้ามาช่วยราษฎรนั้น กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลอีสานทรงทราบลายแทงนี้แล้ว แต่ทรงไม่ได้ให้น้ำหนักอะไรมากนัก เพราะทรงคาดว่าเป็นวิธีการหากินด้วยการหลอกลวงราษฎร [3]

อย่างไรก็ดี เมื่อไม่สามารถจับผู้มีบุญคนหนึ่งได้สำเร็จทำให้ผู้มีบุญเกิดกำเริบ และสั่งให้รวบรวมผู้คนและอาวุธเตรียมยกเข้าไปตีเมืองอุบล หากใครไม่ยอมร่วมด้วยก็ให้ฆ่าทิ้ง ดังนั้นความรุนแรงและการมีกองกำลังนี้ จึงทำให้ผู้มีบุญได้ยกระดับขึ้นไปเป็นกบฏ เพราะเป้าประสงค์ในตอนนั้นคือบุกเข้าไป “ตีเมือง” ดังจะเห็นได้ว่าอ้ายมั่นองค์สาตรทองซึ่งอ้างว่าเป็นผู้มีบุญผู้หนึ่ง มีพรรคพวกรวม 1,000 คน จากโขงเจียมเข้าปล้นและเผาเมืองเขมราฐในอุบลราชธานี[4] ความรุนแรงที่ขยายไปไกลนี้ หากจะกล่าวว่าราษฎรเขลาแต่เพียงปัจจัยเดียวคงไม่เพียงพอในการอธิบายเหตุการณ์ได้ทั้งหมดอย่างแน่นอน และเราคงไม่อาจกล่าวได้ว่า ผู้มีบุญไม่ได้มีการกระทำที่เป็นอันตรายหรือเป็นการกระทำที่ไม่ได้ต้องการมีอำนาจ เพราะเมื่อมีนักวิชาการกล่าวว่าผู้มีบุญต้องการปลดแอกทั้งจากไทย ลาว และฝรั่งเศสเพื่อตั้งการปกครองที่เป็นอิสระ ก็หนีไม่พ้นที่ผู้มีบุญ (อย่างน้อยบางส่วน) ก็มีเป้าหมายทางการเมืองด้วยเช่นกัน

ในบริบทโดยรวมของสยามในขณะนั้น ทางภาคอีสานกำลังอยู่ในสภาวะยุ่งเหยิงที่สยามต้องละทิ้งพระตะบองและเสียมราฐ และต้องอยู่ห่างจากแม่น้ำโขงเป็นระยะ 25 กิโลเมตร และแม้แต่ในระยะ 25 กิโลเมตรนี้ ข้าราชการไทยก็ไร้อำนาจในการเก็บภาษี (ด้วยข้อตกลงกับฝรั่งเศส) ดังนั้นเมื่อประกอบกับคำทำนายหรือข่าวลือที่ว่าเจ้าเก่าหมดอำนาจ กรุงฯ จะเสียแก่ฝรั่ง ทำให้เกิดการแพร่กระจายออกไป และเป็นช่องให้บุคคลสามารถใช้โอกาสนี้ก่อจลาจลได้ บางกรณียังประโยชน์ให้แก่ต่างประเทศในทางอ้อมด้วย เช่น ท้าวติดท้าวฮูผู้มีบุญของศรีสะเกษที่ได้กำลังทางเขมรของฝรั่งเศสมาอุดหนุน [5] ซึ่งปัจจัยนี้เป็นเรื่องการระหว่างประเทศ แต่ก็ยังมีเรื่องภายในประเทศที่รัชกาลที่ 5 ทรงดำเนินการเปลี่ยนแปลงวิธีในการปกครองอยู่ด้วย

ในช่วงของการเปลี่ยนวิธีการปกครองนั้น รัฐบาลในช่วงเริ่มต้นไม่ได้ลบการปกครองในระบอบเดิมของพื้นเมืองออกไป เพียงแต่จะพัฒนาสวัสดิภาพขึ้นเท่านั้น เช่น กรณีของกรมหลวงพิชิตปรีชากร ที่ได้สั่งห้ามไม่ให้เจ้าหมู่เก็บส่วยไพร่โดยไม่มีการกำหนดอัตรา และไม่มีใบเสร็จให้เป็นคู่มือกับผู้เสียเงิน [6] ต่อมาได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเก็บเงินค่าราชการใหม่ รวมไปถึงวิธีการปกครองซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่บางส่วนไม่พอใจเพราะทำให้รายได้และช่องทางทำมาหากินเดิมๆ นั้นหายไป [7] ดังจะเห็นได้ว่า ผู้มีบุญบางคนเป็นถึงขุนหมื่นขุนพันหรือทนาย ดังนั้นมิใช่มีเพียงระดับ “ชาวบ้าน” เท่านั้นที่อ้างตนเป็นผู้มีบุญ

อย่างไรก็ดี การเสียผลประโยชน์ที่เคยมีก็เรื่องหนึ่ง แต่สภาวะที่ราษฎรมีปัญหาจริงในชีวิตก็เรื่องหนึ่ง กล่าวคือสภาพการมีชีวิตของราษฎรอีสานเป็นไปด้วยความยากลำบาก และมักจะถูกโกงเงิน และระบบตุลาการก็มักจะทำงานได้ไม่ค่อยจะดีนัก ดังนั้นเมื่อชีวิตแร้นแค้นอยู่แล้วยังต้องมาเจอการโกงของเจ้าหน้าที่ จึงทำให้ราษฎรยอมที่จะหันหลังให้กับการปกครองแบบใหม่ไปสู่ผู้มีบุญที่สัญญาว่าจะเข้ามาช่วยเหลือ [8] ดังนั้นภายหลังเมื่อกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์จัดการกับผู้มีบุญคนสำคัญๆ ได้แล้ว ก็ได้มีการปล่อยพรรคพวกและภาคทัณฑ์ไปมากเพราะคนเหล่านั้นเป็นเพียงปลายเหตุ จะมีก็แต่ผู้ที่หลอกลวงราษฎรให้ถวายเงินทองเพื่อนำมาใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว และกล่าวหาให้ร้ายรัฐบาลเท่านั้นที่ต้องโทษประหารชีวิต [9] และถึงแม้จะได้ชัยชนะทางทหาร แต่รัฐบาลก็ได้ตระหนักว่า หากชีวิตของชาวอีสานยังแร้นแค้นอยู่ก็ยังคงเกิดปัญหาอีกได้ ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการให้แก้ไขปัญหานี้และพัฒนาภาคอีสานนับแต่นั้นมา เช่น ส่งเสริมอุตสาหกรรมทอผ้าไหม เพื่อให้อีสานไม่ถูกละเลยอีกต่อไป [10]

ทั้งนี้เห็นได้ว่า เมื่อมีผู้อ้างตัวว่าเป็นผู้มีบุญจำนวนมาก ก็ทำให้เกิดความไม่มีเอกภาพขึ้น แต่นอกจากประเด็นความไม่มีเอกภาพแล้ว การอ้างตัวเป็นผู้มีบุญนั้น “คุ้มค่า” พอที่จะอ้าง กล่าวคือคนนับร้อยได้อ้างว่าเป็นผู้มีบุญ แสดงว่าสิ่งที่ได้นั้นมากกว่าสิ่งที่พวกเขาคิดว่าจะเสียไป นั่นก็คือได้เงินทองจากชาวบ้าน หรือถ้าหากทางการจะมาจับ ก็ยังมีโอกาสที่จะหนีรอดได้ดังปรากฏว่าองค์มั่นได้รับการเลี้ยงดูอย่างอิ่มหมีโดยได้ข้ามฟากหนีไปทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงภายหลังการรบกับเจ้าหน้าที่ [11] ซึ่งเป้าหมายปลายสุดของผู้มีบุญเหล่านี้ คงมิใช่เป็นการสู้ไปเรื่อยๆ แล้วให้ราษฎรถวายเงินถวายทองหรือเลี้ยงดูไปวันๆ เท่านั้น แต่อาจถึงกระทั่ง “เพื่อหวังจะได้กลับสู่ระบบเก่าอีก” [12] อย่างไรก็ดี ผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้มีบุญก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีอยู่จริง และอาจไม่ได้มีอะไรไปมากกว่าการทำเพื่อตนเอง เช่น กรณีของผู้มีบุญบ้านหนองบักแก้วที่อ้างว่าจะช่วยปกป้องภัยพิบัตินั้น เมื่อพบหญิงสาวที่สวยงามถูกใจก็จะนำพวงมาลัยไปคล้องคอ ซึ่งฝ่ายหญิงต่างก็พากันแย่งเป็นคนโปรด ส่วนฝ่ายบิดามารดาหรือกระทั่งสามีของหญิงสาวก็ยินดีเสียด้วย [13] บางคนถึงกับสารภาพว่าได้อ่านนิยาย เช่น สังศิลปชัย มาจนทำให้เคลิบเคลิ้มไป เราจึงควรแยกให้ชัดเจนระหว่างปัญหาที่มีกับผลประโยชน์ของผู้แอบอ้างว่าเป็นผู้มีบุญ

ทั้งนี้ อาจมีผู้ตั้งข้อสงสัยได้ว่า สยามได้ทำการขูดรีดคนภาคอีสาน ประเด็นนี้ก็ควรกล่าวเช่นกันว่า ระบบการเปลี่ยนผ่านใดๆ ย่อมมีปัญหาในช่วงเริ่มต้น และดังที่ได้เห็นว่ารัชกาลที่ 5 ได้ทรงพยายามแก้ไขให้การปฏิรูปสามารถดำเนินไปได้ด้วยดี ดังนั้นเราจึงไม่สามารถตีให้ปัญหาทุกปัญหาเป็นเรื่องของการขูดรีดได้ เพราะการเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ไม่ได้มีเหตุผลเชิงเศรษฐกิจเท่านั้น โดยเฉพาะในช่วง พ.ศ. 2435-2447 ที่รัฐบาลมีเงินรายได้เพิ่มจาก 15 ล้านเป็น 46 ล้านบาท โดยมิได้เพิ่มภาษีใหม่ขึ้น แต่เป็นภาษีบางอย่างที่ล้าสมัยถูกยกเลิกไปแล้วเสียด้วยซ้ำ [14] ซึ่งกรมพระยาดำรงราชานุภาพเองก็ได้แนะนำว่า “ถ้าไปเปลี่ยนการภาษีอากรเก็บไปเป็นอย่างอื่น เก็บก็ยาก ราษฎรก็จะรู้สึกเดือดร้อน และเงินก็จะไม่ได้มากกว่าอย่างเก็บส่วยทุกวันนี้ แต่จะจัดส่งข้าหลวงสรรพากรออกไปประจำมณฑล ตรวจจัดการวิธีเก็บให้ดีขึ้น” [15] การเก็บภาษีส่วนต่างๆ เองก็ยังมีการผ่อนผันเป็นพิเศษตลอด ประเด็นการขูดรีดนั้นจึงฟังไม่ได้ความมากนัก ดังนั้นหาก “เงินก็จะไม่ได้มากกว่าอย่างเก็บส่วยทุกวันนี้” แล้ว หากคิดอย่างมีเหตุมีผลแล้วคือ เงินไม่ได้เพิ่มขึ้นและไม่ได้มีการเก็บเพิ่มมากนัก แต่รัฐบาลก็ยังนับรวมอีสานเข้าไว้เป็นไทย เพราะการจะรวมใครไว้ด้วยกันนั้นไม่ใช่เรื่องของการขูดรีดหรือแสวงหาผลประโยชน์ แต่เป็นเรื่องประวัติศาสตร์และความรู้สึกผูกพันที่มีร่วมกันมากกว่า

ทั้งหมดนี้คือข้อเท็จจริงของกรณีผู้มีบุญอีสาน ที่มีคนบางกลุ่มในปัจจุบันนำประวัติศาสตร์มาบิดเบือนแล้วสร้างความเข้าใจผิดๆ ให้กับสังคม

อ้างอิง :

[1] เตช บุนนาค, ขบถ ร.ศ. 121, พิมพ์ครั้งที่ 5 (กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2566), หน้า 12.
[2] เตช บุนนาค, ขบถ ร.ศ. 121, หน้า 13.
[3] เติม วิภาคย์พจนกิจ, ประวัติศาสตร์อีสาน, พิมพ์ครั้งที่ 5 (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2557), หน้า 449.
[4] เตช บุนนาค, ขบถ ร.ศ. 121, หน้า 13.
[5] เตช บุนนาค, ขบถ ร.ศ. 121, หน้า 14.
[6] เตช บุนนาค, ขบถ ร.ศ. 121, หน้า 15.
[7] สมมาตร์ ผลเกิด, “กบฏผีบุญ:  กระจกสะท้อนสังคมไทย,” วารสารวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (มกราคม – มิถุนายน 2552): 21.
[8] เตช บุนนาค, ขบถ ร.ศ. 121, หน้า 15-16.
[9] เติม วิภาคย์พจนกิจ, ประวัติศาสตร์อีสาน, หน้า 458.
[10] เตช บุนนาค, ขบถ ร.ศ. 121, หน้า 18.
[11] เติม วิภาคย์พจนกิจ, ประวัติศาสตร์อีสาน, หน้า 450 และ 455.
[12] กําพล ศรีโท, “กบฏผู้มีบุญในภาคอีสาน พ.ศ.2444-2445,” วารสาร มจร สังคมศาสตร์ปริทรรศน์ ปีที่ 12 ฉบับที่ 1 (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2566): A-11.
[13] เติม วิภาคย์พจนกิจ, ประวัติศาสตร์อีสาน, หน้า 462-166.
[14] พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล, “การใช้จ่ายเงินแผ่นดิน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2453-68),” (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2517), หน้า 27.
[15] อุราลักษณ์ สิถิรบุตร, “มณฑลอีสานและความสำคัญในทางประวัติศาสตร์,” (วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2526), หน้า 137.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้ง