ไขข้อข้องใจ เพราะเหตุใด ‘คดี ม.112’ จึงฟ้องศาลโลก ‘ไม่ได้’

ในช่วงนี้มีหลายประเด็นในสังคมที่ร้อนแรงอย่างยิ่งและนำไปสู่การถกเถียงอย่างกว้างขวางว่าสิ่งใดควรที่จะทำหรือสิ่งใดไม่สมควรที่จะทำ ประเด็นหนึ่งที่เราควรจะต้องหยิบนำมาพูดและเผยให้ชัดเจนนั่นก็คือว่า ผู้ที่ต้องคดีกฎหมายอาญามาตรา 112 สามารถ “ยื่นฟ้อง” ต่อศาลโลกได้หรือไม่ว่าการแจ้งข้อกล่าวหานี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ศาลโลกหรือพูดกันอย่างถูกต้องคือ ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court; ICC) เป็นกลไลตุลาการที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อที่จะดำเนินคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศที่มีความร้ายแรง ซึ่งความร้ายแรงนี้ได้ถูกแบ่งออกเป็นสี่ประการ คือ [1]

  1. การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Crime of genocide)
  2. อาชญากรรมสงคราม (War crimes)
  3. อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime against humanity)
  4. อาชญากรรมอันเป็นการรุกราน (Crime of aggression)

ดังนั้น จะเห็นได้ว่ารูปแบบของอาชญากรรมที่ถูกกำหนดเอาไว้ใต้ขอบเขตของศาลอาญาระหว่างประเทศนี้ เป็นอาชญากรรมที่เป็นลักษณะที่กินความกว้างและความลึกของความรุนแรง ซึ่งสอดคล้องกับการที่เป็นกลไกในระดับระหว่างประเทศที่อาชญากรรมทั้งสี่ประการนี้สามารถส่งผลร้ายแรงหรือมีความเกี่ยวข้องอยู่ในพรมแดนระหว่างประเทศ ซึ่งมีคดีตัวอย่างในปัจจุบัน เช่น การปกครองของตาลีบันในอัฟกานิสถาน [2] หรือกรณีของ Ali Muhammad Ali Abd-Al-Rahman ที่ถูกตั้งข้อหาอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติจากการที่เขาสนับสนุนรัฐบาลซูดานในการสู้รบกับกลุ่มกบฏดาโฟร์ ซึ่งความร้ายแรงของคดีนี้ที่ศาลอาญาฯ ได้ตั้งไว้คือ การฆาตกรรม 504 กรณี การข่มขืน 20 กรณี และบังคับให้ผู้คนต้องพลัดถิ่นอีก 41,000 คน [3]

คดีที่ขึ้นสู่ศาลอาญาฯ จึงเป็นคดีที่มีความน่ากังวลอย่างมากต่อความเป็นอยู่ของผู้คน ซึ่งความจริงรายละเอียดของคำนิยามต่างๆ ยังมีอีกมาก [4] นอกจากนี้ศาลฯ ยังได้ระบุอย่างชัดเจนว่าศาลฯ จะเข้าไปแทรกแซงในกระบวนการยุติธรรมของประเทศหนึ่งๆ ก็ต่อเมื่อกระบวนการของประเทศนั้นๆ ไม่สามารถเชื่อถือได้เท่านั้น [5]

หลังจากที่ได้ชี้ให้เห็นถึงกระบวนการต่างๆ ของ ศาลอาญาฯ โดยคร่าวแล้ว ก็ต้องนำมาพิจารณาว่าการถูกฟ้องร้องในข้อหา ม.112 นั้นเข้าเกณฑ์ของศาลอาญาระหว่างประเทศหรือไม่?

การพิจารณาคดี ม.112 นั้นสามารถเชื่อถือได้หรือไม่เราสามารถดูได้ที่กระบวนการและผลที่เกิดขึ้น เช่น หนังสือเลขที่ อส 0007(อก)/ว 54 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 เรื่องแนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ส่งถึงผู้บริหารระดับสูงในสำนักงานอัยการสูงสุดทุกระดับชั้น โดยหนังสือฉบับดังกล่าวระบุว่า การดำเนินคดีอาญา มาตรา 112 เป็นคดีสำคัญ เพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปด้วยความรอบคอบและรัดกุม ต้องนำสำนวนส่งสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาทันที โดยยังไม่ต้องทำความเห็น และให้อัยการสูงสุดเท่านั้นเป็นผู้พิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง หรือกรณีการยกฟ้องคดี 112 เองก็ปรากฏอย่างน้อยๆ 4 คดี [6] ดังนั้นเราน่าจะเห็นได้ว่ากระบวนการพิจารณาในคดี 112 สามารถเชื่อถือได้ตามกระบวนการของศาลปกติ และอาจจะเข้มกว่าปกติเสียด้วย

เมื่อเป็นดังนี้แล้ว คือ กระบวนการพิจารณาสามารถเชื่อถือได้ก็ย่อมไม่อาจนำไปสู่อาชญากรรมในระดับใหญ่ได้เลย ฉะนั้นการฟ้องร้องมาตรา 112 จึงไม่เข้าข่ายทั้งขึ้น (กระบวนการพิจารณา) ทั้งล่อง (อาชญากรรมใหญ่) คดีกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงมิได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนตามกฎของศาลอาญาระหว่างประเทศ

ทั้งนี้อาจมีผู้กังวลว่าไทยไม่ยอมให้สัตยาบันกับกฎของศาลอาญาฯ จะทำให้ไทยมีมาตรฐานในระดับสากลในการพิจารณาคดีได้หรือไม่ ทั้งนี้ต้องบอกว่า ไทยได้ลงนามและอยู่ระหว่างการดำเนินการให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีแล้ว แต่ยังไม่มีพันธกรณีปฏิบัติตาม ไทยได้ให้สัตยาบันกับกติกาขององค์การสหประชาชาติไปแล้ว 7 ฉบับ คือ [7]

  1. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR)
  2. กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights: ICESCR)
  3. อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women: CEDAW)
  4. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child: CRC)
  5. อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination: CERD)
  6. อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการกระทำอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT)
  7. อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (Convention on the Rights of the Persons with Disabilities: CRPD)

ดังนั้นในส่วนสำคัญๆ ของสิทธิเสรีภาพแบบสากล ไทยได้ลงนามและให้สัตยาบันอย่างครอบคลุมแล้ว จึงสามารถมั่นใจในความน่าเชื่อถือต่อการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลได้

นอกจากนี้ยังมีคำกล่าวที่กล่าวกันเรื่อยเปื่อยอย่าง “จะพาในหลวงขึ้นศาลโลก” นั้นเป็นคำพูดและความเข้าใจที่ผิด เพราะศาลอาญาระหว่างประเทศนั้น แม้ว่าจะฟ้องผู้นำรัฐบาลหรือประมุขของประเทศ แต่การฟ้องนั้นเป็นการฟ้องผู้ที่มีอำนาจหน้าที่หรือมีอำนาจบริหาร ในเมื่อพระมหากษัตริย์ของไทยไม่มีอำนาจบริหารในการสั่งใครแล้ว ศาลฯ จึงไม่สามารถฟ้องพระมหากษัตริย์ได้เช่นเดียวกัน (สมมติอย่างสุดโต่งว่าเกิดกรณีนี้ขึ้น)

ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับศาลอาญาระหว่างประเทศจึงจบเพียงเท่านี้ และหวังว่าสังคมไทยจะเดินหน้ากันด้วยความจริง

อ้างอิง :

[1] กิตติ ชยางคกุล, “หลักอํานาจเสริมของศาลอาญาระหว่างประเทศกับอาชญากรรมอันเป็นการรุกราน,” วารสารวิชาการมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย ฉบับสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ปีที่ 5 ฉบับที่ 3 (2558): 1-2.
[2] “A year into Taliban rule, ICC prosecutors seek resumed Afghan war crimes probe” จาก Reuters.
[3] “Sudan prosecution indicted Ali Kushayb last year” จาก Dabanga.
[4] รายละเอียดใน William A. Schabas, An Introduction to the International Criminal Court, 4th edition (Cambridge: Cambridge University Press, 2011).
[5] ดูรายละเอียดใน “Understanding the International Criminal Court” (ISBN: 92-9227-365-5) และ Beatriz E Mayans-Hermida and Barbora Holá, “Balancing ‘the International’ and ‘the Domestic’: Sanctions under the ICC Principle of Complementarity,” Journal of International Criminal Justice, Volume 18, Issue 5 (November 2020): 1103-1130.
[6] รวมคดีมาตรา 112 ระลอกใหม่ ที่ศาล “ยกฟ้อง” จาก iLaw.
[7] อนันต์ เพียรวัฒนะกุลชัย, “วัตถุแห่งคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนและการรับรองสิทธิขั้นพื้นฐาน,” วารสารสหศาสตร์ศรีปทุม ชลบุรี ปีที่ 9 ฉบับที่ 1 (2566): 25

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า