“โครงการหลวงเลอตอ” รอยต่อแห่งยุคสมัย และความสำเร็จจากพระราชกรณียกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์

โครงการหลวงเลอตอ” เป็นโครงการหลวงลำดับแรกของในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่มีผลสัมฤทธิ์จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม จากพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา ต่อยอดงานของมูลนิธิโครงการหลวงของล้นเกล้า รัชกาลที่ 9 เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทย

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2552 ตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ถือเป็นพื้นที่ที่มีการลักลอบปลูกฝิ่นแหล่งใหญ่ของประเทศ จากรายงานของสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระบุว่า มีพื้นที่ผลูกฝิ่นเพิ่มขึ้นจาก 204 ไร่เป็น 452.37 ไร่ ในปี 2558 – 2559 ชาวบ้านที่นั่นต่างประสบปัญหาความยากจน การเดินทางยากลำบาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ห่างไกลความเจริญ โดยในแต่ละปีจะมี “ฝิ่น” ถูกผลิตออกจากพื้นที่แห่งนี้เป็นจำนวนมาก

และหากมีการนำฝิ่นเหล่านี้ไป “แปรรูป” ก็จะกลายเป็นเฮโรอีนที่มีมูลค่ามหาศาล

“เลอตอ” คือหมู่บ้านของชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างอมก๋อย แม่ระมาด ท่าสะอาด สามเงา ตัวหมู่บ้านตั้งอยู่บนพื้นที่ภูเขาสูง ห่างไกลและทุรกันดาร เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เลอตอมีชื่อเสียงมากในแง่เป็นแหล่งปลูกฝิ่นหลักของชาวเขา ปราบยังไงก็ไม่หมด เจ้าหน้าที่เข้าปราบที่เลอตอ ชาวบ้านก็จะขยับหนีไปปลูกที่แม่ระมาด แม่สามเงา อมก๋อยแทน เป็นอย่างนี้เรื่อยมา

แม้ในยุค 4.0 จะมีถนนลาดยางเข้าถึงเกือบทุกหมู่บ้าน ทุกตำบลในประเทศไทย แต่สำหรับเลอตอนั้นยังอยู่ในสภาพทุรกันดารอย่างสุดๆ ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง น้ำก็มาจากประปาภูเขา การติดต่อสื่อสารก็แสนยากลำบาก พอ 2 ทุ่มชาวบ้านก็ต้องจุดตะเกียง หรือเทียนไขอยู่ท่ามกลางความมืดมิดที่ปกคลุมและตัดขาดเลอตอ ออกจากโลกภายนอกโดยสิ้นเชิง

จากปัญหาความแร้นแค้นเหล่านี้ ชาวบ้านจึงได้ร้องขอมายังโครงการหลวงให้เข้าไปช่วยเหลือพัฒนา ดูแลปากท้อง ความเป็นอยู่ให้แก่ราษฎรในพื้นที่ เมื่อมูลนิธิโครงการหลวงรับทราบถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ดำเนินการตามรูปแบบและแนวทาง “โครงการหลวงโมเดล” (Royal Project Model) มีการเข้าไปสำรวจเพื่อเก็บข้อมูลที่เป็นจริงในพื้นที่ รวมถึงวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและถูกต้องตามกฎหมาย โดยได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ให้ใช้ประโยชน์พื้นที่ได้

การพัฒนาหมู่บ้านเลอตอในช่วงแรกนั้น เป็นเรื่องยากและต้องต่อสู้กับปัญหานานัปการ เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปให้ความรู้และโน้มน้าวชาวบ้านที่เคยปลูกฝิ่น ให้หันมาปลูกพืชเมืองหนาวแทน เช่น เบบี้ฮ่องเต้ กวางตุ้ง ถั่วแขก กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี คะน้าฮ่องกง ฯลฯ แต่ด้วยสภาพพื้นที่ที่มีความลาดชันเป็นส่วนมาก ลักษณะดินเป็นดินเหนียวปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ อีกทั้งชาวบ้านเคยแต่ทำไร่หมุนเวียนและปลูกฝิ่น โครงการหลวงจึงต้องใช้ทั้งเวลาและความพยายามอย่างมาก ในการให้ความรู้เรื่องการปลูกผักแก่ชาวบ้าน จนกระทั่งเริ่มได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

แต่พอปลูกได้ผลผลิตแล้ว ปัญหาที่ตามมาคือการขนส่ง

ด้วยสภาพที่เป็นพื้นที่ห่างไกล กว่าพืชผักจะส่งไปถึงศูนย์รวมผลิตผลโครงการหลวงที่เชียงใหม่ ก็ต้องใช้เวลาเดินทางนานมาก คิดเป็นระยะทาง 385 กม. ทำให้คุณภาพความสดของผักลดลง โครงการหลวงจึงต้องหันมาคิดทบทวนและเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ หันมาแนะนำชาวบ้านให้ปลูกผลไม้เมืองหนาวเพิ่มเติมจากพืชผัก โดยเฉพาะเสาวรส ที่จะไม่มีปัญหาเรื่องการขนส่งแม้ต้องใช้เวลานาน

นอกจากเสาวรสที่เป็นพืชทำรายได้หลักให้กับชาวบ้านแล้ว เป้าหมายต่อไปคือ การส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกอะโวคาโด แมคคาเดเมีย เกาลัด กาแฟ ลิ้นจี่ พลับ ที่ได้ราคาดีกว่าพืชผัก ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมกว่า 300 ราย โดยผลผลิตหลักได้แก่ กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี คะน้าฮ่องกง เบบี้ฮ่องเต้ กวางตุ้ง ถั่วแขก มะเขือม่วงก้านเขียว ฟักทองญี่ปุ่น ถั่วฝักยาว พริกกะเหรี่ยง แตงกวา เคพกูสเบอร์รี่ สตรอเบอร์รี่ อโวคาโด มะม่วง ลิ้นจี่ กาแฟ โดยผลไม้ไฮไลท์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ “เสาวรส”

ทั้งนี้เป้าหมายหลักของโครงการหลวงคือ พยายามให้ชาวบ้านทำการเกษตรในพื้นที่น้อยๆ แต่ได้ผลผลิตสูง รวมทั้งปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ของดินไปพร้อมๆ กันด้วยการผลิตปุ๋ยหมัก และการปลูกหญ้าแฝก

นับจากวันแรกที่เริ่มต้น “โครงการหลวงโมเดล” ในพื้นที่แห่งนี้ การพัฒนาหมู่บ้านเลอตอก็เดินทางมาสู่ผลสำเร็จ

ปัจจุบันในพื้นที่ดังกล่าว มีการปลูกฝิ่นลดลงกว่า 98% พื้นที่เขาหัวโล้นปรับเปลี่ยนไปสู่พื้นที่สีเขียว และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ ได้จัดทำแปลงทดสอบสาธิตการปลูกพืช และศึกษาการเจริญเติบโตของพืชภายใต้สภาพแวดล้อมบริเวณศูนย์ฯ เพื่อคัดเลือกชนิดพืชที่มีความเหมาะสมส่งเสริมแก่เกษตรกร ภายใต้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ได้แก่ พืชผัก ไม้ผล และกาแฟ จนสามารถสร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีแก่เกษตรกรในพื้นที่

นอกจากนี้ยังสนับสนุนการฟื้นฟู อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมการปลูกป่า ตามแนวพระราชดำริ ให้ชาวบ้านอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุล ภายใต้บริบทของชุมชน ทำให้หมู่บ้านเลอตอเป็นสังคมที่เข้มแข็ง และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

ทั้งหมดนี้คือ “โครงการหลวงเลอตอ” รอยต่อแห่งยุคสมัย ที่สะท้อนให้เห็นถึงพระราชกรณียกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ในการพัฒนาประเทศและช่วยเหลือประชาชน ช่วยเติมเต็มในภาคส่วนที่รัฐยังยื่นมือเข้าไปไม่ถึง ซึ่งได้ปรากฏผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมจับต้องได้มาจนถึงปัจจุบัน