เปิดหลักฐานใหม่ หักล้างความเชื่อ 62 ปี ‘ลังกาสุกะ’ อาจไม่ใช่ ‘ปัตตานี’ อีกต่อไป

บทความโดย : จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี

หากพูดถึงวาทกรรม “ลังกาสุกะคือปัตตานี” ของพอล เวตลีย์ (Pual Wheatley) ที่กลายมาเป็นทฤษฎีอ้างอิงของบรรดานักวิชาการทั้งหลายในปัจจุบัน คงปฏิเสธไม่ได้ที่จะพูดถึงแผนที่ฉบับหนึ่งที่ว่าด้วยการจัดเตรียมกำลังทหารซึ่งปรากฏในเอกสารจีนโบราณ Wu-pei-chih โดยเหมา ยวน-อี้ (Mao Yuan-I) หลานชายของ เหมาคุน (Mao –Kun) เป็นผู้เขียนแผนที่ฉบับนี้ขึ้นในช่วงยุคหลังคริสต์ศตวรรษที่ 17 (ค.ศ.1621-1628) ร่วมกับผู้ชำนาญการรบด้านการป้องกันชายฝั่ง โดยได้นำข้อมูลจากการสำรวจเดินเรือในสมัยราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 ของ ‘เจิ้งเหอ’ นายพลจีนมุสลิม มาประมวลขึ้นมาใหม่เป็นแผนที่ฉบับนี้ ผนวกกับข้อมูลที่ได้รับมาจากเหมาคุนผู้เป็นปู่ของเหมา ยวน-อี้ อีกทอดหนึ่ง [1]

ในแง่ของความน่าเชื่อถือ แม้ว่าข้อมูลดังกล่าวที่ถูกนำมาใช้ประมวลทำแผนที่ จะถูกจำกัดช่วงเวลาอยู่ในคริสต์ศตวรรษที่ 15-16 และได้รับการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรจากการรวบรวมความทรงจำ (เท่าที่พบ) ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 แต่นักวิชาการหลายท่านยังคงเห็นว่าแผนที่ฉบับนี้มีความน่าเชื่อถือพอประมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พอล เวตลีย์ (Pual Wheatley)นักภูมิศาสตร์ชาวอังกฤษผู้สนใจในประวัติศาสตร์คาบสมุทรมลายู และเป็นเจ้าของหนังสือThe Golden Khersonese (พิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1961 – พ.ศ.2504) ซึ่งยังได้รับการยกย่องให้เป็นตำราว่าด้วย “หมุดหมาย” ของ “วาทกรรม ลังกาสุกะคือปัตตานี” จากวงการผู้ศึกษาเมืองโบราณบริเวณคาบสมุทรสยาม-มลายูอีกด้วย

ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่า “อำนาจ/ความรู้” (Power/Knowledge) ว่าด้วยเรื่องลังกาสุกะตั้งอยู่ในปัตตานีของเวตลีย์ ถือเป็นมรดกอย่างปฏิเสธไม่ได้ ดังจะเห็นได้จากงานวิชาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับลังกาสุกะ มักจะต้องอ้างอิงงานของเวตลีย์ราวกับเป็นตำราสำคัญที่จะขาดเสียมิได้ [2] หรือแม้กระทั่งงานวิชาการของหน่วยงานราชการไทยเองก็ตาม โดยเฉพาะกรมที่มีความเกี่ยวข้องกับข้อมูลด้านประวัติศาสตร์โดยตรง ยังพบว่ามีการอ้างอิงข้อมูลลังกาสุกะของเวตลีย์ไปใช้โดยขาดการวิพากษ์ด้านข้อมูลและความน่าเชื่อถืออีกด้วย [3]

ทั้งที่ในเวลานั้น (พ.ศ.2504) เวตลีย์ไม่ได้กล่าวถึงการค้นพบเมืองเก่ายะรัง ในอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานีในหนังสือของเขาแต่อย่างใด เนื่องจาก The Golden Khersonese มุ่งเน้นไปที่การตอบโต้ฝั่งตรงข้ามที่มีความเชื่อว่าลังกาสุกะตั้งอยู่ในรัฐไทรบุรีตามตำนานพื้นเมืองมลายู โดยเวตลีย์อาศัยเพียงแค่ข้อมูลจากเอกสารโบราณและจารึกโบราณมาใช้ระบุพิกัดของลังกาสุกะในหนังสือของเขาเท่านั้น

ในขณะที่ ราวปี พ.ศ. 2498 -2505 เริ่มมีการขุดค้นซากโบราณสถานและโบราณวัตถุบริเวณเมืองเก่ายะรัง โดยมีทั้งการลักลอบขุดและการขุดค้นจากทีมนักวิชาการ [4] ซึ่งการขุดค้นในครั้งนั้น คนท้องถิ่นทราบแต่เพียงว่าเมืองเก่านี้น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับชื่อของตำบล ‘วัด’ ในพื้นที่อำเภอยะรังเท่านั้น หาได้มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องที่ตั้งของเมืองลังกาสุกะแต่อย่างใด เนื่องจากกระแสเรื่อง ‘ลังกาสุกะตั้งอยู่ที่ใด’ ในวงการวิชาการสากลที่เวตลีย์กำลังหมุกมุ่นอยู่นั้น ยังไม่เข้ามาถึงคนในพื้นที่นี้

แม้ว่าช่วงเวลาการขุดค้นดังกล่าว จะอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่หนังสือ The Golden Khersonese ยังคงพิมพ์เผยแพร่อยู่ (พ.ศ.2504) กระนั้นข่าวเรื่องการขุดพบเมืองโบราณที่ยะรัง น่าจะยังคงเป็นเพียงแค่ข่าวท้องถิ่น เพราะถ้าหากข่าวนี้ล่วงรู้ไปถึงหูของเวตลีย์ เชื่อได้ว่าเขาจะไม่ลังเลที่จะบรรจุเรื่องโบราณสถานนี้ลงไปในหนังสืออย่างแน่นอน เพราะมันตรงกับข้อสันนิษฐานของเขาอย่างพอดิบพอดี อีกทั้งข้อมูลจากโบราณคดียังช่วยหนุนข้อมูลจากเอกสารโบราณ และทำให้ข้อเสนอของเขามีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย

ผู้เขียนพบว่าบุคคลในยุคแรก ๆ ที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลจาก The Golden Khersonese เข้ากับเรื่องการขุดค้นเมืองโบราณที่ยะรัง คือ เสนีย์ มะดากะกุล อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้เป็นปัญญาชนท้องถิ่นของจังหวัดปัตตานี เสนีย์กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าลังกาสุกะย่อมตั้งอยู่ในปัตตานีแน่ และบทความดังกล่าวของเขายังได้อ้างถึงข้อมูลลังกาสุกะจากหนังสือ The Golden Khersonese ของเวตลีย์อีกด้วย [5]

ข้อมูลที่สอดประสานกันอย่างน่าอัศจรรย์นี้ ทำให้นักวิชาการจำนวนมากในยุคนั้นและจวบจนถึงทุกวันนี้ต่างลงความเห็นว่า ‘เมืองเก่ายะรัง คือ ลังกาสุกะอย่างแน่นอน’ ซึ่งหากย้อนกลับไปพิจารณาหลักฐานที่เวตลีย์นำมาใช้สนับสนุนทฤษฎีเรื่องลังกาสุกะตั้งอยู่ที่ปัตตานีของเขานั้น จะพบว่าแผนที่ของเหมา ยวน-อี้ ในปรากฏอยู่ใน Wu-pei-chih คือหลักฐาน ‘เด็ด’ ที่เวตลีย์นำมาใช้ชี้ขาดว่าลังกาสุกะ (Lang-his-chia) ตั้งอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำปัตตานี ซึ่งเขาอนุมานว่า Kun-ha-ti ที่ปรากฏอยู่ในแผนที่ Wu-pei-chih นั้น คือ แม่น้ำปัตตานีอย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้น ด้วยตรรกะตามการถอดความและการแปลความแผนที่ Wu-pei-chih ของเวตลีย์แล้ว เมืองลังกาสุกะย่อมต้องตั้งอยู่ที่ปัตตานีในปัจจุบัน (ระหว่างสงขลาและสายบุรี) ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพสมมติฐานของเขา เวตลีย์ได้นำแผนที่ใน Wu-pei-chih มาแปลงเป็นแผนที่สมัยใหม่ พร้อมนำคำแปลภาษาจีนมาประกอบเพื่อยืนยันสมมติฐานของเขาด้วย ซึ่งแผนที่สร้างใหม่ฉบับดังกล่าวได้ระบุว่า ลังกาสุกะตั้งอยู่บริเวณปัตตานี-สงขลาอย่างชัดเจน [6]

แผนที่ Wu-pei-chih ในคริสต์ศตวรรษที่ 17

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนกลับมีความเห็นว่าการทึกทักเอาข้อมูลของเวตลีย์มาใช้ประกอบในงานวิชาการเรื่องเมืองเก่ายะรัง ดังที่นิยมทำกันในปัจจุบันนั้นถือว่าเป็นปัญหา เพราะแท้จริงแล้ว เวตลีย์เองยังไม่ได้ระบุเจาะจงเลยว่าลังกาสุกะตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี แต่ทฤษฎีในยุคหลังนี้เกิดขึ้นมาจากการอนุมานเอาเองของนักวิชาการไทยซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับอะไรเวตลีย์เลย

หากอ่านแผนที่ของเวตลีย์ใน The Golden Khersonese อย่างละเอียดจะพบว่า แม้เขาจะระบุว่าลังกาสุกะน่าจะอยู่เหนือแม่น้ำปัตตานี (ที่เขาทึกทักเอาว่าคือจุดเดียวกันกับ Kun-ha-ti ในแผนที่จีน) แต่เวตลีย์กลับระบุพื้นที่ของลังกาสุกะ อย่างคร่าว ๆ ว่าครอบคลุมบริเวณพื้นที่บริเวณจะนะ-เทพา-ของสงขลา และโคกโพธิ์-หนองจิกของปัตตานีเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้วพื้นที่เหล่านี้อยู่ห่างไกลจากอำเภอยะรัง ซึ่งอยู่ด้านใต้คนละฝั่งกับแม่น้ำปัตตานีลงไปอีก [7]

ถ้าจะกล่าวให้ชัดเจนโดยปราศจากการตีความตามสมัยใหม่ (ว่าลังกาสุกะคือยะรัง) สามารถอนุมานได้เพียงแค่ว่า ในปี พ.ศ.2504 เวตลีย์เข้าใจว่าลังกาสุกะย่อมต้องตั้งอยู่ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งระหว่างปัตตานีตอนเหนือ (โคกโพธิ์-หนองจิก) หรือสงขลาตอนใต้ (จะนะ-เทพา) อันมีจุดหมายตา (Landmark) สำคัญ คือ Kun-ha-ti ซึ่งเขาฟันธงแน่นอนว่าคือ ‘แม่น้ำปัตตานี’

เมื่อ Kun-ha-ti ไม่ใช่แม่น้ำปัตตานี แต่คือท่าเรือโบราณแถบโคกโพธิ์

ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่า การเชื่อต่อ ๆ กันมาในสมมติฐานของเวตลีย์ที่ตีความ/แปลความว่า Kun-ha-ti ในแผนที่ Wu-pei-chih คือ ‘แม่น้ำปัตตานี’ นั้น ถือเป็นการผูกขาดข้อสรุปทางวิชาการไว้กับเวตลีย์เพียงคนเดียว โดยเมื่อไม่นานนี้มีกลุ่มผู้สันทัดด้านภาษาจีนโบราณจำนวนหนึ่งช่วยผู้เขียนถอดความแผนที่ Wu-pei-chih ใหม่เพื่อตรวจสอบความถูกต้องในสมมติฐานของเวตลีย์ จนผู้เขียนพบว่าการถอดความอ่านแผนที่ของเวตลีย์นั้น ‘ไม่ถูกต้อง’ และทำให้เวตลีย์ ‘อ่านและเข้าใจแผนที่ Wu-pei-chih ผิด’ มาโดยตลอด จนส่งผลกระทบถึงการกำหนดที่ตั้งของลังกาสุกะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีความว่า Kun-ha-ti คือ ‘แม่น้ำปัตตานี’ นั้น ผู้ถอดความภาษาจีนท่านหนึ่งแนะนำกับผู้เขียนว่า昆下池港 (Kūnxiàchígǎng) ควรต้องถอดความว่า ‘ท่าเรืออ่าวควน’ เพราะ ควน-คุน (Kun) เป็นคำเฉพาะ ไม่ใช่คำในภาษาจีน ซึ่งพ้องกับคำว่า ‘ควน’ ที่แปลว่า เนินหรือโคกในภาษาไทยปักษ์ใต้และภาษามลายู

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันกลับไม่ปรากฏตำแหน่งที่แน่ชัดของท่าเรือดังกล่าวตามที่มีในแผนที่ Wu-pei-chih (ปัตตานีตอนบน-สงขลาตอนใต้) แต่ ‘ท่าเรืออ่าวควน’ หรือ ‘ควน’ กลับไปปรากฏอยู่ในแผนที่ของ James Low ซึ่งเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 (ค.ศ.1822 – พ.ศ.2365) โดยในแผนที่ฉบับดังกล่าวมีคำว่า  ‘Pakklaong Khoonnor’ อยู่ใต้พื้นที่เมืองเทพาและเหนือเมืองหนองจิก (Nang Cheek) ของปัตตานี [8] จึงอาจเชื่อได้ว่า ‘Pakklaong Khoonnor/n’ คือจุดเดียวกันกับ ‘ท่าเรืออ่าวควน’ ในแผนที่ Wu-pei-chih ซึ่งควรจะออกเสียงว่า ‘ปากคลองควนนอ’ หรือไม่

การปรากฏขึ้นของชื่อเฉพาะอย่าง ‘ควน’ (โคก/เนิน) เหมือนกัน ย่อมมิพักต้องสงสัยว่าคือจุดเดียวกัน ส่วนจะออกเสียงอย่างไร หรือระบุว่าคือสถานที่ใดในปัจจุบันนั้นย่อมให้คำตอบยาก แต่หากจะระบุตำแหน่งให้แคบที่สุด ผู้เขียนค่อนข้างมั่นใจว่าน่าจะเป็นพื้นที่ระหว่างอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา กับอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานีในปัจจุบัน ซึ่งในอดีตน่าจะเป็นพื้นที่ที่น้ำทะเลเข้าถึง อีกทั้งยังปรากฏชื่อบ้านนามเมืองที่สอดคล้องกันอยู่ อาทิ บ้านท่าเรือ ซึ่งแม้จะเป็นพื้นที่ห่างไกลทะเลแต่กลับมีชื่อสอดคล้องกับนัยของตำแหน่ง ‘ท่าเรืออ่าวควน’ (โคก) ในแผนที่ Wu-pei-chih และแผนที่ของ James Low เป็นอย่างมาก ผู้เขียนในฐานะเป็นคนในพื้นที่ จึงเชื่อมั่นว่าสมมติฐานของผู้เขียนในเรื่องนี้ถูกต้องและแม่นยำกว่าสมมติฐานของเวตเลย์

แผนที่ของ James Low ในสมัยรัชกาลที่ 3 (ค.ศ.1822 – พ.ศ.2365) ปรากฏคำว่า ‘Pakklaong Khoonnor’ ใต้พื้นที่เมืองเทพาและเหนือเมืองหนองจิก

หากจะแก้ไขแผนที่ของเวตลีย์ให้ถูกต้องตามที่ควรจะเป็น เราควรต้องยก ‘ท่าเรืออ่าวควน’ ให้มาอยู่ตรงพื้นที่ของอำเภอโคกโพธิ์ ไม่ใช่แม่น้ำปัตตานี ซึ่งจะส่งผลให้ ‘ลังกาสุกะ’ ในแผนที่Wu-pei-chih ขยับไกลออกจากแม่น้ำปัตตานีรวมถึงเมืองโบราณยะรังมากขึ้นไปอีก และทำให้เมืองโบราณยะรังซึ่งถ้าตีความตามแผนที่ Wu-pei-chih แล้ว ย่อมไม่สามารถเป็นลังกาสุกะได้อย่างเด็ดขาดอีกด้วย เพราะหนทางห่างไกลกันมาก

ในทางกลับกันพื้นที่ที่สามารถเป็นลังกาสุกะได้มากที่สุด คือ สงขลาตอนล่าง ไม่ว่าจะเป็นจะนะ เทพา นาทวี หรือสะบ้าย้อย ที่สามารถตัดตรงเข้าไปจากพื้นที่เหนือ ‘ท่าเรืออ่าวควน’ แต่ทั้งนี้ผู้เขียนเชื่อว่าแผนที่จีนฉบับนี้ไม่ได้บอกแหล่งที่ตั้งของเมืองดังเช่นที่ระบุถึงที่ตั้งของสงขลาหรือสายบุรี เหตุเพราะเมืองพวกนี้อยู่ติดทะเลอยู่แล้ว กลับกันผู้เขียนเชื่อว่าเรายังสามารถ ‘อ่าน’ แผนที่จีนได้อีกวิธี โดยการระบุเส้นทางการเข้าถึง (access) เมืองเหล่านั้นจากการเทียบจอดเรือตรงนี้แล้วเดินทางลึกเข้าไปในแผ่นดินอีก

ตามเอกสารตำนานความทรงจำเท่าที่พบนั้น ล้วนระบุตรงกันว่าลังกาสุกะไม่ใช่เมืองที่อยู่ติดกับทะเล [9] กล่าวคือ หากจะเข้าถึงเมืองลังกาสุกะได้ ต้องเดินทางลึกเข้าไปในแผ่นดิน  ด้วยเหตุนี้ แผนที่จีนฉบับนี้จึงบอกแค่เพียงว่าสามารถเดินทางเข้าถึงลังกาสุกะได้โดยผ่านทางจุดนี้เท่านั้น แต่ไม่ได้ระบุว่าเมืองตั้งอยู่ ‘ตรงนั้น’ แต่อย่างใด และหากสมมติฐานของผู้เขียนถูกต้อง ที่ตั้งของลังกาสุกะย่อมหนีไม่พ้นบริเวณรัฐไทรบุรีในปัจจุบัน โดยผู้เขียนใช้ ‘ฮิกายัต มะโรง มหาวังสา’ (Hiyakat Merong Mahawangsa) ซึ่งเป็นบันทึกความทรงจำของราชสำนักไทรบุรี ที่กล่าวถึงเมืองลังกาสุกะว่าเป็นเมืองโบราณก่อนตั้งไทรบุรีในเวลาต่อมา [10] เป็นหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรอ้างอิงสมมติฐานของผู้เขียน

ท้ายสุดนี้ การแก้ไขให้จุดการเข้าถึงลังกาสุกะมีความถูกต้องตามหลักวิชาการ จากเดิมที่เข้าใจผิด ๆ ตามเวตลีย์กันมาตลอดว่า ท่าเรืออ่าวควน อยู่ที่แม่น้ำปัตตานี โดยแก้ไขใหม่เป็นแถบบริเวณอำเภอโคกโพธิ์ หรือปัตตานีตอนเหนือ ซึ่งพื้นที่นี้ตั้งอยู่ห่างไกลจากเมืองเก่ายะรัง อย่างน้อยก็ช่วยทำให้สมมติฐานที่ว่าเมืองเก่ายะรังคือลังกาสุกะนั้น มีน้ำหนักน้อยลงไปด้วย

อ้างอิง :

[1] Pual Wheatley. The Golden Khersonese. Pp. 91.
[2] โปรดดูการอ้างถึงประเด็นนี้ ใน ครองชัย หัตถา. ประวัติศาสตร์ปัตตานีสมัยอาณาจักรโบราณถึงการปกครอง 7 หัวเมือง (2552) ; เสนีย์ มะดากะกุล “ประวัติศาสตร์ปัตตานีโบราณ ราชอาณาจักรลังกาสุกะอยู่ที่ไหน” ใน วารสาร รูสะมีแล ประจำเดือนมีนาคม-เมษายน พ.ศ. 2517 (2517) ; “วิกฤตการณ์ปัตตานี” : หนังสือรายงาน 10 ปี สมาคมยุวชนมุสลิมแห่งประเทศไทย (2519) และ อารีฟิน บินจิ และคณะ “ปาตานี : ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู” (2550) เป็นต้น.
[3] กรมศิลปากร สำนักที่ 11. พัฒนาการทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้. (2565).
[4] แลหลังเมืองตานี. หน้า 18.
[5] วิกฤตการณ์ปัตตานี : หนังสือรายงาน 10 ปี สมาคมยุวชนมุสลิมแห่งประเทศไทย (2519) หน้า 3-5.
[6] Pual Wheatley. The Golden Khersonese. Pp. 257-258.
[7] Pual Wheatley. The Golden Khersonese. Pp. 257.
[8] แผนที่ฉบับนี้โพสต์ในเฟสบุ๊คของ ‘Jana Igunma’ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566.
[9] โปรดดูการกล่าวถึงว่าลังกาสุกะมีที่ตั้งห่างไกลจากทะเล ใน Hiyakat Merong Mahawangsa. Journal of the Malayan Branch of the Royal Asiatic Society Vol. 16, No. 2 (131) (December 1938). ; ตำนานเมืองไทรบุรีและเมืองปัตตานี พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายวิจิตร นะมาตร์ ณ เมรุวัดวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507. และ ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์. ตำนานมะโรง มหาวงศ์. (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์โนวเลจ) 2550. และ พงศาวดารอยุธยา ฉบับวัน วลิต ใน กรมศิลปากร. รวมบันทึกประวัติศาสตร์อยุธยาของฟาน ฟวิต (วัน วลิต). (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร). 2548. หน้า 175.
[10] ตำนานเมืองไทรบุรีและเมืองปัตตานี พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายวิจิตร นะมาตร์ ณ เมรุวัดวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2507. และ ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์. ตำนานมะโรง มหาวงศ์. (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์โนวเลจ) 2550

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า