โสเครตีสสอนลูก ‘อกตัญญู’ ต่อบุพการี คือ ความ ‘อยุติธรรม’

บทความโดย : ไกอุส

โสเครตีส (Socrates) ปราชญ์เมธีชาวกรีกผู้โด่งดังเมื่อราว 400 ปีก่อนคริสตกาล คือบิดาแห่งปรัชญาการเมืองซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มของคนที่สนใจเรื่องรัฐศาสตร์ ปรัชญา และกฎหมาย แต่โสเครตีสไม่ได้มีงานเขียนเป็นของตัวเอง ดังนั้นทุกวันนี้เราจึงเข้าถึงแนวคิดทางปรัชญาการเมืองของเขาผ่านงานเขียนของเพลโต (Plato) ผู้เป็นศิษย์ของโสเครตีสเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำรา Republic ซึ่งว่าด้วย ‘รัฐในอุดมคติ’ อันโด่งดัง

นอกจากเพลโตแล้ว เซโนฟอน (Xenophon) เป็นอีกบุคคลหนึ่งซึ่งเป็นมิตรและรู้จักมักคุ้นกับโสเครตีสเป็นอย่างดี  งานเขียนชิ้นสำคัญเล่มหนึ่งของเซโนฟอนที่ไม่ค่อยมีผู้ใดกล่าวถึงกันบ่อยนัก คือ Memorabilia (การรำลึก) ที่เขาได้อุทิศเนื้อหาแทบทุกหน้าในหนังสือเล่มนี้ให้แก่ความดีของโสเครตีส

งานเขียนของเซโนฟอนมีความแตกต่างจากงานเขียนของเพลโต ในแง่ของการนำเสนอบทสนทนาระหว่างโสเครตีสกับบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ได้เต็มไปด้วยวาจาเผ็ดร้อนและยอกย้อน (irony)ดังเช่นงานเขียนของเพลโตชิ้นสำคัญๆ อาทิ โปรตากอรัส (Protagoras) หรือ กอร์เกียส (Gorgias) และถึงแม้ว่าผลงานของเซโนฟอนจะไม่ได้เป็นงานเขียนที่แพรวพราวไปด้วยการถกเถียงประเด็นปัญหาอย่างถึงใจ แต่เนื้อหาและใจความของงานเขียนนั้นกลับฉายภาพความเป็นโสเครตีสที่ ‘ตรง’ กันกับของเพลโต

ด้วยเหตุนี้ การกล่าวถึงโสเครตีสผ่านทางผลงานของทั้งเพลโตและเซโนฟอน จึงน่าจะเป็นการสะท้อนพฤติกรรมหรือแนวคิดของโสเครตีสได้เป็นอย่างดี ว่าเขามักจะชอบชวนประชาชนในกรุงเอเธนส์มาร่วมถกเถียงคำถามในประเด็นทั่วไปที่แต่ละคนคิดว่ารู้อยู่แล้ว (แต่รู้จริงหรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง)

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในวันนี้ คือ เรื่องที่โสเครตีสสอนลูกชายของเขา คือ แลมโปรคลีส (Lamprocles) ว่า ‘พ่อแม่มีบุญคุณต่อลูกหรือไม่ ?’ ดังที่ปรากฏอยู่ใน Memorabilia (Book 2 Chapter 2) เหตุการณ์เริ่มจากการที่โสเครตีสสังเกตเห็นว่าแลมโปรคลีสลูกชายคนโตของเขาแสดงความโกรธขึ้งต่อมารดา – ซานธิปเป (Xanthippe) เนื่องจากนางนั้นเป็นคนปากร้ายต่อทั้งลูกและสามี หลังจากได้เห็นพฤติกรรมดังกล่าวของลูกชาย โสเครตีสจึงถามขึ้นว่า

‘เจ้าเคยได้ยินเรื่องของคนอกตัญญูหรือไม่ ?’
‘บ่อยมาก’ ลูกชายของเขาตอบ

โสเครตีสจึงถามต่อไปอีกว่า ‘ความอกตัญญูคือความไม่ยุติธรรมอย่างหนึ่งใช่หรือไม่ ?’ ลูกตอบว่า ‘ใช่’ จากนั้นทั้งคู่ก็ได้ข้อสรุปตรงกันว่า ‘การอกตัญญูต่อคนที่เป็นมิตรต่อเราเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม’ ดังนั้น ‘การที่เราได้รับประโยชน์จากคนที่เป็นมิตร (หรือดี) กับเรามากเท่าใด หากเราไม่รับรู้ในประโยชน์ที่เขากระทำให้ ก็ย่อมหมายความว่าเราเป็นคนไม่ยุติธรรมมากขึ้นเท่านั้น’

แล้วโสเครตีสจึงสอนลูกไปตรงๆ ว่า

‘…มีภาระผูกพันอะไรที่เข้มงวดไปกว่าที่บุตรต้องมีต่อบิดามารดาอีกหรือ ? เพราะพวกเขาได้ให้ความเป็นตัวตนแก่บุตร และทำให้พวกเขาอยู่ในสภาพที่สามารถมองเห็นความมหัศจรรย์ทั้งปวงของธรรมชาติ และมีส่วนร่วมในสิ่งดีๆ มากมายที่มีมาก่อนพวกเขาโดยความกรุณาของพระเจ้า… แน่นอนว่าเจ้าคงจะไม่คิดว่าตัณหาชักนำมนุษย์ให้กำเนิดบุตรหรอก ไม่ใช่เลย ความหลงใหลดังกล่าวนั้นอาจตอบสนองได้โดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่ามาก

แต่เมื่อเราเลือกภรรยา เราเลือกสตรีที่มีรูปร่างลักษณะที่อาจคาดหวังได้ว่าจะมีบุตรที่ดีที่สุด มีอารมณ์และนิสัยที่ทำให้เรามั่นใจในความสุขในอนาคต... เป็นภารกิจหลักของสามีที่จะบำรุงรักษาภรรยาของตน และจัดหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ในชีวิตให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ให้แก่บุตรของตน

ในส่วนของภรรยา มีหลายเรื่องที่ต้องกังวลและยุ่งยากในการดูแลรักษาบุตรที่อยู่ในครรภ์ให้รอด ในช่วงนี้มารดาให้ส่วนหนึ่งของอาหารและชีวิตของตนแก่บุตร และหลังจากต้องทนเจ็บปวดอย่างที่สุดขณะเมื่อคลอดแล้ว ก็ให้บุตรดูดนมและเอาใจใส่และรักบุตรสืบมา ทั้งหมดนี้สตรีทำให้ทารกที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ที่น่าสงสาร ทารกที่ปราศจากเหตุผลและไม่รู้จักแม้แต่ผู้ที่ดีต่อตนอย่างเหลือหลาย และไม่สามารถร้องขอสิ่งที่จำเป็นต่างๆ จากนาง เพราะเต็มไปด้วยความห่วงใยในความเป็นอยู่และความสุขของทารก สตรีจึงใช้เวลาทั้งหมด ทั้งกลางวันและกลางคืนดูแลบุตรโดยมิได้คาดหวังแม้แต่น้อยว่าจะได้อะไรตอบแทนสำหรับความเหนื่อยล้าทั้งปวง 

หลังจากนี้เมื่อบุตรถึงวัยสมควรที่จะได้รับการอบรมสั่งสอน บิดาก็จะอบรมสั่งสอนสิ่งที่ดีทั้งปวงที่เขาสามารถทำได้เพื่อประโยชน์ในการใช้ชีวิต และถ้าเขารู้ว่ามีใครอื่นที่สามารถสอนได้ดีกว่า เขาก็จะส่งบุตรไปหาคนนั้นโดยไม่คำนึงถึงค่าใช้จ่าย…’

จะเห็นได้ว่าเหตุผลที่โสเครตีสยกมาทั้งหมด สรุปได้สั้นๆ ว่า การที่พ่อแม่ให้กำเนิดบุตรมานั้น หาใช่กระทำไปด้วยตัณหาหรือไม่มีเหตุผล และเมื่อขณะตั้งท้อง คนเป็นพ่อย่อมต้องบำรุงภรรยาของตนอย่างดีที่สุด และฝ่ายภรรยาเองก็ต้องทำทุกวิถีทางด้วยสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อให้ทารกคลอดและมีชีวิตรอดให้ได้ (ให้ความเป็นตัวตนแก่บุตร) คนเป็นแม่เมื่อคลอดลูกแล้วก็ต้องทำให้ทารกนั้นสามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้ แม้ว่าเด็กคนนั้นในขณะที่ยังเล็กอยู่จะรบกวนชีวิตของนางสักเพียงใด และเมื่อถึงวัยอันควรก็เป็นหน้าที่ของพ่อที่จะต้องให้การศึกษาที่ดีที่สุดแก่ลูก

จากข้อสรุปที่โสเครตีสและลูกชายเห็นพ้องต้องกันว่า ‘การอกตัญญูต่อคนที่เป็นมิตรต่อเราเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม’ และทุกสิ่งที่พ่อแม่กระทำให้ลูกนั้น คือการมอบสิ่งที่ดีที่สุด (ประโยชน์) ให้แก่ลูกของพวกเขาเอง ดังนั้น การไม่แยแสหรือไม่ยี่หระต่อประโยชน์ที่ลูกได้รับจากพ่อแม่ตลอดหลายปี (ที่เป็นทารกหรือเด็กที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้) คือ ‘ความอกตัญญู’ อันเป็นความไม่ยุติธรรมที่จะทำให้เด็กคนนั้นกลายเป็น ‘คนไม่มีคุณธรรม’ ในสังคมกรีก ดังที่โสเครตีส กล่าวสอนแลมโปรคลีสผู้เป็นลูกต่อมาว่า ‘หากผู้ใดไม่เคารพนับถือบิดามารดาของตนแล้ว จะถูกลงโทษสำหรับความอกตัญญูดังกล่าวแน่นอน กฎหมายถือว่าเขาเป็นพวกนอกกฎหมาย และจะไม่อนุญาตให้เขาเข้ารับตำแหน่งใดๆ ในบ้านเมือง’

การถูกตราหน้าว่าเป็นคน ‘อกตัญญู’ ถือเป็นข้อหาที่ร้ายแรงมากในสังคม คนเป็นลูกจะสามารถได้รับสิทธิ์แห่งรัฐได้ต่อเมื่อพ่อของตนยืนยัน ‘ความถูกต้องชอบธรรมของบุตร’ ต่อรัฐแล้วเท่านั้น เปรียบได้ว่าต่อให้เด็กคนนั้นเกิดมา แต่หากคนเป็นพ่อไม่ได้รับรองบุตรอย่างถูกต้องแล้ว เด็กคนนั้นจะเสียสิทธิ์ดังกล่าวไปตั้งแต่เกิด จึงกล่าวได้ว่า หากไม่มีพ่อแม่แล้ว เด็กคนนั้นก็แทบจะไม่ต่างอะไรจากชาวต่างชาติหรือทาสที่ไร้ซึ่งสิทธิ์ใดๆ นอกจากนั้น ‘การอกตัญญู’ ยังถูกตีความอีกด้วยว่าเป็นการกระทำที่ผิดหลักศาสนธรรม ซึ่งเป็นข้อหาที่ร้ายแรงมากในสังคมกรีกด้วยเช่นกัน

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า ความคิดเรื่องความกตัญญูต่อพ่อแม่ หรือ ‘พ่อแม่มีบุญคุณต่อลูก’ ดังนั้นลูกจึงต้องกตัญญูต่อพ่อแม่ซึ่งเป็นผู้มีพระคุณ ตามทัศนะของคนกรีกโบราณเมื่อ2,000 กว่าปีก่อนกับสังคมไทยนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้น ต่างก็เชื่อและเห็นตรงกันอย่างไม่มีผิดเพี้ยน ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า แนวคิดเรื่องความกตัญญูต่อพ่อแม่นี้เป็นหลักการสากลเพราะทั้งโลกฝั่งตะวันตกและตะวันออกต่างเชื่อในเรื่องนี้เหมือนกันหมด จะไปที่ไหนๆ เขาก็เชื่อในหลักการนี้ตรงกันหมด 

แต่ในสังคมไทยปัจจุบัน กลับมีนักวิชาการบางคนพยายามทำลายหลักการดังกล่าว หรือมีการเผยแพร่บางคลิปที่พยายามใช้ตรรกะและเหตุผลที่ไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่โลกยอมรับ มาทำเป็นโฆษณาชวนเชื่อ ‘หลอกสังคม’ ว่า ‘พ่อแม่ไม่ได้มีบุญคุณกับลูก’ หรือ ‘เด็กไม่ได้ขอให้เกิดมา’ ดังนั้น ‘การเลี้ยงลูกคือหน้าที่ของพ่อแม่ และไม่จัดว่าพ่อแม่มีบุญคุณ’ คลิปเหล่านี้เป็นตัวอย่างของการทำคลิป ‘ขยะ’ ที่ปราศจากการใช้ปัญญาและข้อมูลวิชาการ ถือว่าเป็นการทำสื่อที่วางอยู่บน ‘หลักกู’ ไม่ใช่ ‘หลักการ’

นอกจากนี้ เรายังไม่ควรเอาเรื่องความผิดปกติในบางครอบครัวมาเหมารวมกับเรื่องกตัญญูต่อพ่อแม่ทั้งหมด จริงอยู่ที่ว่าอาจจะมีบางครอบครัวที่พ่อแม่กระทำต่อลูกแย่จริงๆ แต่ก็ถือเป็นส่วนน้อยและยังมีลักษณะที่ ‘เป็นข้อยกเว้น’ อันไม่สมควรที่จะนับเอามารวมในข้อสรุป (generalisation) ที่เป็นหลักการสากลได้

อ้างอิง :

[1] เซโนฟอน (แปลโดย สมบัติ จันทรวงศ์) . โสเกรตีสรำลึก (Memorabilia). (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์คบไฟ). 2558.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า