“พระราชกรณียกิจในแผ่นดินไทย” บทบาทพระมหากษัตริย์ในประเทศกำลังพัฒนา ที่เหนือไปกว่าแค่ทำงานการกุศล
“ในหลวงทรงงานมาเป็นสิบ ๆ ปี ทำไมประชาชนยังอดอยากยากจนอยู่”
“พระราชกรณียกิจของในหลวง คือการสร้างฐานอำนาจและแย่งผลงานของรัฐบาล”
หลายคนคงเคยได้ยินประโยคเหล่านี้โชยแว่วมาบ่อย ๆ ตามกลิ่นการชุมนุมของม็อบปลดแอก นัยว่าแท้จริงแล้วพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือโฆษณาชวนเชื่อที่ถูกจัดฉากปั้นแต่งขึ้น หรือที่หลายคนกำลังด้อยค่ากันอย่างสนุกปากว่า “Propaganda”
ซึ่งพวกเขาคงไม่เคยรู้เลยว่า พระราชกรณียกิจที่กระทำโดยพระมหากษัตริย์ เป็นการดำเนินการตามจารีตประเพณีของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นการดำเนินการที่ช่วย “อุดรอยรั่วโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการไว้”
นั่นหมายความว่า ผู้ที่กำลังด้อยค่าสถาบันฯ ด้วยประโยคข้างต้น ไม่มีความเข้าใจเลยว่าการบริหารบ้านเมืองเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนรวมถึงพวกเขาเองนั้น เป็นหน้าที่หลักของฝ่ายรัฐบาล และไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของคำว่า “พระราชกรณียกิจ” เลย
ความหมายของพระราชกรณียกิจ
พระราชกรณียกิจ (Royal duties) หมายถึง “กิจอันพึงกระทำของพระเจ้าแผ่นดิน” เป็นพระราชอำนาจอย่างหนึ่งที่ไม่ได้มีบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หรือปรากฏชัดเจนอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใด
แต่พระราชกรณียกิจนี้ เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของพระมหากษัตริย์ที่ดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐ (Head of state) ซึ่งโดยธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว มีการยอมรับว่ามีพระราชอำนาจลักษณะนี้อยู่ และพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้แสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้ อาทิเช่น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการหลวง ที่พระองค์ทรงริเริ่มทำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 และต่อยอดมาจนถึงปัจจุบัน
ในส่วนของบทบาท และพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์นั้น เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบระหว่าง ประเทศอังกฤษกับประเทศไทย สามารถอธิบายโดยยกตัวอย่างได้ 3 ประเด็นคือ
- พระราชฐานะ โดยทั่วไปแล้วไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ความแตกต่างกันที่เห็นได้ชัดก็คือ ในประเทศอังกฤษมีแนวคิดว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของฝ่ายบริหาร (Queen in Parliament) แต่แนวคิดดังกล่าวนี้ไม่ปรากฏในประเทศไทย
- พระราชอำนาจ โดยทั่วไปแล้วจะมีลักษณะของการใช้พระราชอำนาจที่คล้ายคลึงกัน แต่จะมีส่วนที่แตกต่างกันในเนื้อหา คือ ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่พระมหากษัตริย์อังกฤษ จะทรงลงมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากขึ้น สาเหตุเพราะ หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว มีแนวโน้มที่จะไม่มีพรรคการเมืองใดได้ที่นั่งในสภาสามัญเกินกึ่งหนึ่ง ทำให้อำนาจในการตัดสินใจเลือกผู้ที่จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ตกอยู่ที่องค์พระมหากษัตริย์ ในขณะที่พระมหากษัตริย์ไทยนั้นทรงดำรงพระองค์อยู่เหนือการเมือง โดยจะทรงลงมาแก้ไขสถานการณ์วิกฤติของประเทศ ก็ต่อเมื่อรัฐบาลที่มีหน้าที่บริหารประเทศ ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ได้แล้วเท่านั้น
- บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน สถาบันพระมหากษัตริย์อังกฤษ เพิ่งจะเริ่มมีบทบาทในทางสังคมใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ทรงถือปฏิบัติมายาวนานเกินกว่ากึ่งศตวรรษแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้พระราชอำนาจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประชาชน โดยทรงริเริ่มโครงการพระราชดำริ โครงการหลวงต่าง ๆ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 เพื่อช่วยให้ราษฎรมีอยู่มีกิน
ดังนั้น พระราชกรณียกิจที่กระทำโดยพระมหากษัตริย์ จึงถือเป็นการดำเนินการตามจารีตประเพณีของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
และพระราชกรณียกิจ “ไม่ใช่” การสร้างฐานอำนาจหรือแย่งผลงานของรัฐบาล
เพราะรัฐบาลถูกเลือกตั้งเข้ามาแล้วจากไปตามวาระ แต่สถาบันพระหากษัตริย์ยังคงอยู่ ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่สถาบันพระมหากษัตริย์จะทำงานเพื่อแย่งผลงานจากรัฐบาล ตรงกันข้าม พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ กลับเป็นการดำเนินการที่ “อุดรอยรั่วโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลที่ได้ดำเนินการไว้”
แต่ทั้งนี้ ในส่วนของพระราชกรณียกิจที่เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์นั้น จะได้ผลจริงจังมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการ คือ
- ราษฎรยอมรับต่อการใช้พระราชอำนาจหรือไม่
- พระบารมีของพระมหากษัตริย์มีมากน้อยเพียงใด โดยขึ้นอยู่กับความยืนยาวแห่งรัชสมัยและพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติด้วย
- ประการสุดท้าย คือท่าทีของรัฐบาล ณ เวลานั้น ๆ ว่ามีการส่งเสริม สนับสนุน และกำหนดนโยบายให้สอดรับกับพระราชกรณียกิจหรือไม่
จะเห็นได้ว่า พระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์ คือ กิจอันพึงกระทำของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงปฏิบัติมาตลอดช่วงรัชสมัยของพระองค์
และโลกไม่ได้มีด้านเดียว หากลองมองดูด้วยใจที่เปิดกว้าง จะพบว่ามีประชาชนเป็นจำนวนมากได้รับโอกาส และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากพระราชกรณียกิจของพระองค์ จากการทรงงานมาอย่างหนักนับสิบ ๆ ปีของในหลวงรัชกาลที่ 9 สิ่งเหล่านี้ล้วนปรากฏเป็น “รูปธรรม” ที่สัมผัสได้
ไม่ใช่การโฆษณาชวนเชื่อดังที่หลายคนกล่าวหาแต่อย่างใด
นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมในปี พ.ศ. 2550 องค์การสหประชาชาติจึงถวาย ‘รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์’ หรือ UNDP Human Development Lifetime Achievement Award) ให้แก่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะสหประชาชาติเล็งเห็นว่าพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนามนุษย์ จึงสมควรแก่การยกย่องเฉลิมพระเกียรติในพระปรีชาสามารถในด้านนี้เป็นกรณีพิเศษ
ทั้งหมดนี้ย่อมเป็นคำตอบที่ชัดเจน ว่าทำไมประเทศไทยจึงต้องมีสถาบันพระมหากษัตริย์ ดำรงอยู่คู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ที่มา :
[1] เจษฎา พรไชยา, พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามกฎหมายและธรรมเนียมปฏิบัติทางรัฐธรรมนูญ : ศึกษาเปรียบเทียบประเทศอังกฤษและประเทศไทย, วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[2] ธงทอง จันทรางศุ พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ, วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[3] The Queen’s role in Government