ความคงไว้ซึ่งเกียรติ ของทายาทพระเจ้าตากสิน ในราชวงศ์จักรี

ปัจจุบันมีนักบิดเบือนประวัติศาสตร์ พยายามสร้างเรื่องกล่าวหาในหลวง ร.1 ว่า การปราบการจลาจลภายในกรุงธนบุรีแล้วปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ของพระองค์ คือแผนการยึดอำนาจพระเจ้าตาก

หากเราพิจารณากันตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แล้ว การที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช “เสียพระจริต” นั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงให้ความเห็นว่า พระเจ้าตากไม่ถึงกับเป็นบ้าวิกลจริตจนถึงขั้นขาดสติสัมปชัญญะ หากแต่แค่พระราชหฤทัยแปรปรวนและโทษะรุนแรง ซึ่งในปัจจุบันก็คือ อาการโรคซึมเศร้า หรืออาการทางจิตประสาทที่มีความสุดขั้วรุนแรงนั่นเอง

ดังนั้นพระอาการของพระเจ้าตากสิน จึงส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของกรุงธนบุรี เพราะบรรดาประชาชน ขุนนาง แม้กระทั่งสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ก็ยังได้รับการลงโทษอย่างไม่เป็นธรรมจากพระอาการของพระเจ้าตากสิน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนั้นได้เกิดกบฏนำโดยพระยาสรรค์ และกรมขุนอนุรักษ์สงคราม (เจ้ารามลักษณ์) ซึ่งเป็นพระนัดดาของพระเจ้าตากสินเอง ทำให้ในหลวง ร.1 ต้องสะสางความวุ่นวายนี้ให้เด็ดขาด เพื่อไม่ให้เกิดการนองเลือดขึ้น

เมื่อในหลวง ร.1 ได้เข้ามาปราบปรามการจลาจลในกรุงธนบุรี และปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว พระองค์ทรงลงพระราชอาญาเพียงพระเจ้าตากสิน กับ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ (สมเด็จเจ้าฟ้าจุ้ย) ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์โตของพระเจ้าตากสินเท่านั้น

ส่วนพระราชโอรสพระราชธิดาพระองค์อื่น ๆ ของพระเจ้าตากสิน ในหลวง ร.1 ทรงชุบเลี้ยงไว้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ กรมขุนกษัตรานุชิต (เจ้าฟ้าเหม็น) ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของในหลวง ร.1 รวมถึงพระพงษ์นรินทร์ (เจ้าฟ้าทัศพงศ์) พระราชโอรสลำดับที่ 4 ของพระเจ้าตาก และพระอินทร์อภัย (เจ้าฟ้าทัศไภย) พระราชโอรสลำดับที่ 14 ของพระเจ้าตาก โดยเฉพาะสองพระองค์หลัง ในหลวง ร.1 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นถึงแพทย์หลวงประจำพระองค์เลยทีเดียว แสดงให้เห็นว่าทรงไว้วางพระราชหฤทัยจนถึงขนาดฝากให้ดูแลพระพลานมัยได้

ภายหลัง เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ กรมขุนกษัตรานุชิต (เจ้าฟ้าเหม็น) กับเจ้าพระยาพลเทพ (นายบุนนาค บ้านแม่ลา) ได้คิดก่อการกบฏในสมัยรัชกาลที่ 2 เจ้าฟ้าเหม็นกับบุตรชายจึงได้ถูกลงพระราชอาญา ทั้งนี้ก็เป็นไปเพื่อป้องกันประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

สำหรับเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ (สมเด็จเจ้าฟ้าจุ้ย) หากยอมรับใช้ราชการ ในหลวง ร.1 ก็อาจจะทรงพระเมตตาให้เป็นขุนนางคนสำคัญอย่างแน่นอน เพราะว่าโอรสพระองค์หนึ่งของสมเด็จเจ้าฟ้าจุ้ย คือ เจ้าชายทองอิน ก็ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็น พระยากลาโหมราชเสนา ในตำแหน่งสมุหพระกลาโหมฝ่ายวังหน้าด้วยซ้ำ

ทว่าต่อมาเจ้าชายทองอิน ได้รับพระราชอาญาโทษประหารชีวิต เพราะมีความผิดฐานคบชู้กับเจ้าจอมมารดาวันทา ซึ่งเป็นเจ้าจอมหม่อมห้ามในวังหน้า

แต่ถึงอย่างไร บุตรของเจ้าชายทองอิน ก็ยังคงได้เข้ารับราชการในตำแหน่งที่ใหญ่โต เช่น บุตรชายลำดับที่ 4 ชื่อ “สุข” ต่อมาได้เป็น เจ้าพระยายมราช เสนาบดีพระนครบาล ซึ่งต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ทายาทของท่านก็ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า “สินศุข”

นอกจากนี้บุตรชายลำดับที่ 5 ของเจ้าชายทองอิน คือ “คุณชายนุด” แม้จะไม่ได้รับราชการ และบุตรชายของคุณชายนุด ที่ชื่อว่า “นายเสงี่ยม” จะไม่ได้รับราชการเช่นกัน แต่ว่าบุตรของนายเสงี่ยม ซึ่งมีศักดิเป็นหลานปู่ของคุณชายนุด ชื่อ “อุ่ม” ก็ได้ถวายตัวเป็นทหารรักษาพระองค์ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

และต่อมา “นายอุ่ม” ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นสมุหราชองครักษ์ของในหลวง ร.6 และได้รับพระราชทานนามสกุล “อินทรโยธิน” ในฐานะที่ท่านเป็นทายาทสายตรงของ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ (สมเด็จเจ้าฟ้าจุ้ย) และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

ต่อมาในหลวง ร.7 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ “นายอุ่ม” เป็นสมุหราชองครักษ์อีกเช่นกัน และได้รับตำแหน่งเป็นองคมนตรี (ตำแหน่งของสมาชิกสภานิติบัญญัติ) พร้อมทั้งพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน

เมื่อในหลวง ร.7 ทรงสละราชสมบัติ และในหลวง ร.8 ทรงขึ้นครองราชย์ในขณะยังทรงพระเยาว์ ทางฝ่ายรัฐบาลก็ได้รับคำแนะนำจากพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ ให้เลือกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน เป็นสมาชิกคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกด้วย

จะเห็นได้ว่า บุตรหลานซึ่งเป็นทายาทสายตรงหรือสายอ้อมของพระเจ้าตากสิน ต่างได้รับการให้เกียรติและได้เข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินแทบทั้งสิ้น และพระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรี ต่างมีความเคารพนับถือพระเจ้าตากสินกันทุกพระองค์ โดยเฉพาะในสมัย ร.5 เมื่อเจ้าพระยาทิพากรวงศ์เขียนพระราชพงศาวดารแล้วไปล้อเลียนพระเจ้าตากสินเสีย ๆ หาย ๆ ในหลวง ร.5 ทรงกริ้วเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จาก บันทึกรับสั่งของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ประทานให้กับหม่อมราชวงศ์ สุมนชาติ สวัสดิกุล ความว่า…

“เจ้าพระยาทิพากรวงศ์เคยเขียนเรื่องล้อว่าไว้เป็นเสีย ๆ หาย ๆ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงอ่านระหว่างทางรถไฟจากบางกอกน้อยไปพระปฐมเจดีย์ กริ้วมากไม่พอพระราชหฤทัยเลย ตรัสว่าขุนหลวงตากเป็นคนทำคุณให้แก่ประเทศ ในส่วนบ้าไม่ควรเอาเข้ามาถือ กษัตริย์ในราชวงศ์จักรีนี้ทุกพระองค์นับถือขุนหลวงตากเสมอ ไม่ควรที่ใครจะลบหลู่บุญคุญ ฉะนั้นการเขียนเรื่องล้ออย่างนี้ ไม่ชอบด้วยพระราชนิยม”

ในสมัยรัชกาลที่ 9 พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินถวายราชสักการะพระบรมราชานุสรณ์พระเจ้าตากสินที่วงเวียนใหญ่เป็นประจำ ต่อมาเมื่อไม่อาจเสด็จพระราชดำเนินมาถวายราชสักการะได้ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ในหลวง ร.10 เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เป็นผู้แทนพระองค์เสด็จมาถวายราชสักการะ ณ พระบรมราชานุสรณ์ ที่วงเวียนใหญ่เป็นประจำทุกปี และเมื่อในหลวง ร.10 ขึ้นครองราชย์แล้ว ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินมาถวายราชสักการะด้วยพระองค์เองตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง :

[1] บันทึกรับสั่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทาน หม่อมราชวงศ์ สุมนชาติ สวัสดิกุล
[2] กรมศิลปากร. (2560). จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี และพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พิมพ์ครั้งที่ 7. ม.ป.ท. : เอดิสัน เพรส โพรดักส์.
[3] นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2548). การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี. พิมพ์ครั้งที่ 8. กรุงเทพฯ : มติชน.
[4] ประวัติ พนะท่านพลเอก อุ่ม พิชเยนทรโยธิน ผู้สำเหร็ดราชการแทนพระองค์ เรียบเรียงโดย (หลวง) วิจิตรวาทการ, 183 หน้า, พระนคร, โรงพิมพ์ไทยขเสม, 2485. (พิมพ์แจกเปนที่ระลึกในงานพระราชเพลิงสพ พลเอก อุ่ม พิชเยนทรโยธิน ผู้สำเหร็ดราชการแทนพระองค์นะ เมรุวัดเทพสิริทราวาส).
[5] “ลำดับสกุลเก่าบางสกุล ภาคที่ 4 สกุลเชื้อสายพระราชวงศ์กรุงธนบุรี”, ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิง หม่อมราชวงศ์อรุณ วรพงศ์พิพัฒน์ ท.จ.ว. ณ วัดเทพศิรินทราวาส, พ.ศ.2481.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า