LGBTIQA+ ในปรัชญากรีก ว่าด้วยความรักอันสมบูรณ์แบบที่มนุษย์มีมาตั้งแต่เกิด และการตามหาครึ่งหนึ่งของชีวิตที่หายไป

โดย ไกอุส

ปัจจุบันการเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการยอมรับเพศวิถี (Sexuality) ที่หลากหลายกว่าเพศสภาพ(Gender) ที่มีแค่ ชาย-หญิง คือกระแสการเรียกร้องที่กำลังได้รับความนิยมอย่างยิ่งแม้กระทั่งในไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่าเพศทางเลือกหรือ LGBTIQA+ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระแสเสรีนิยมที่ต้องการเรียกร้องให้เกิดการยอมรับการแสดงออกทางเพศหรือความรักที่หลากหลาย มากกว่าแค่ชาย-หญิงที่มีฐานมาจากเพศสภาพติดตัวมาแต่กำเนิดเท่านั้น

อย่างไรก็ดี แนวคิดที่ว่าการแบ่งแยกเพศสภาพอย่างเด็ดขาดว่าจะต้องมีแต่ ‘ชาย-หญิง’ เท่านั้น น่าเชื่อว่าเป็นอิทธิพลมาจากศาสนาคริสต์-อิสลามที่มีรากฐานมาจากวัฒนธรรมตะวันออกกลาง เพราะในความเป็นจริงแล้ว ในพื้นที่อื่น ๆ ของโลก อาทิ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้สังคมส่วนใหญ่ยอมรับว่าผู้ชายกับผู้หญิงต้องคู่กัน หากแต่การดำรงอยู่ของเพศทางเลือก (กะเทย หรือ บัณเฑาะก์) ก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้ถูกปฏิเสธในสังคมเช่นที่ปรากฏในโลกคริสต์-อิสลาม ยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพศทางเลือกหรือที่รับรู้กันว่าเป็นคนที่มี 2 เพศในคนเดียวกัน (ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง) มักได้รับบทบาทอย่างสูงในสังคมบรรพกาลก่อนเข้ารับศาสนาพุทธ (หรือรับศาสนาพุทธไปแล้วแต่ความเชื่อดั้งเดิมยังมีอิทธิพลอยู่) บางพื้นที่บุคคลผู้มี 2 เพศมักทำหน้าที่เป็นผู้ที่สื่อสารกับผีหรือสิ่งเหนือธรรมชาติ เพราะสังคมเชื่อกันว่าพวกเขาและเธอมีพลังวิเศษสามารถติดต่อกับสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติได้ นั่นทำให้บทบาทของพวกเขาและเธอมีความสำคัญไม่น้อยกว่าชาย-หญิงปกติเลยทีเดียว

บทบาทของเพศทางเลือกหาใช่ได้รับการยอมรับอย่างสูงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น ย้อนกลับไปเมื่อ 2,000 กว่าปีก่อนในสังคมกรีกโบราณ บทบาทของผู้ที่รักเพศเดียวกัน โดยเฉพาะ ‘ชายรักชาย’ ได้รับการยอมรับว่าเป็นความรักที่สูงส่งและบริสุทธ์ ดังที่นักปรัชญากรีกผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง คือ เพลโต (Plato) ได้จดบันทึกบทสนทนาของบรรดาผู้รู้ในกรุงเอเธนส์ในงานเลี้ยงกินดื่ม (Symposium) ครั้งหนึ่งที่ปรากฏว่ามี ‘เซเลป’ มากมายของกรีกรวมตัวกันอยู่ในงานเลี้ยงครั้งนั้น อาทิ โสเครติส อกาธอน อริสโตฟาเนส อิรีไซมาคัส เฟดรัส พอซาเนียส เป็นต้น บุคคลดังเหล่านี้ได้มารวมตัวกันในงานเลี้ยงที่มีอกาธอนเป็นเจ้าภาพที่จัดขึ้นในบ้านของเขาเป็นการส่วนตัว โดยมีหัวข้อสนทนาอันสำคัญคือ ‘ว่าด้วยความรัก’ ทั้งนี้ บทสนทนาเป็นการเปิดให้แต่ละคนนำเสนอมุมมองต่อ ‘ความรัก’ ของตนเป็นอย่างไร บทความนี้จะไม่ขอลงลึกในเรื่องปรัชญาหรือวาทะว่าด้วยความรักของแต่ละคนเป็นอย่างไร หากแต่เมื่อกลับมาพิจารณามุมมองของชาวกรีกต่อแนวคิด ‘ชายรักชาย’ น่าสนใจว่าพวกเขาล้วนยกย่องและยอมรับว่าความรักของเพศเดียวกันนั้นเป็นความรักที่สูงส่ง ดังที่ พอซาเนียส ได้ยกย่องความรักของบุรุษที่รักเพศเดียวกันว่า เป็นผลมาจาก ‘เทพีอโฟรไดท์แห่งสรวงสวรรค์’ เทพองค์นี้ตามตำนานกรีกว่ากันว่าเป็นธิดาของ ‘เทพยูเรนัส’ เป็นตัวแทนของความรักของชายหนุ่มที่มุ่งสนใจและรักในชายหนุ่มด้วยกันที่มีความกล้าหาญและสติปัญญาเป็นเลิศ ความรักชนิดนี้จึง ‘เป็นความรักที่ซื่อสัตย์ พวกเขาจะครองรักกันไปตลอดชีวิต’ ส่วนความรักที่เป็นของคู่ชาย-หญิง เชื่อว่ามาจาก ‘เทพีอโฟรไดท์สามัญ’ (คนละองค์กับองค์ก่อน) ความรักชนิดนี้เกิดมาจากทางกายมิใช่ทางใจเช่นเดียวกับสัตว์ชนิดอื่นทั่วไป เหตุที่ ‘เทพีอโฟรไดท์สามัญ’ ทำให้เกิดความรักระหว่างเพศชาย-หญิง ก็เพราะเทพีพระองค์นี้ถือกำเนิดมาจากการร่วมเพศกันของเทพที่เป็นชาย-หญิงนั่นก็คือระหว่าง ‘เทพซุส’ กับ ‘ไดออน’ ทำให้ ‘เทพีอโฟรไดท์สามัญ’ ได้รับคุณสมบัตินี้ติดตัวมาแล้วจึงแพร่ให้แก่มวลมนุษย์

กล่าวโดยสรุป พอซาเนียสเชื่อว่าความรักระหว่างชายกับชาย เป็น ‘ความรักที่บริสุทธิ์’ เพราะปราศจากเรื่องของกิเลสตัณหา ด้วยเพราะเป็นความรักที่ไม่ได้เกิดมาจากความต้องการเยี่ยงสัตว์อื่น หากแต่เป็นความรักในความกล้าหาญของผู้ชายด้วยกัน อีกทั้งยังเป็นการรักในความมีสติปัญญาความรู้ในสังคมชายล้วนอีกด้วย (ในสังคมกรีกความรู้ถูกสงวนให้กับเพศชายมากกว่า) และเนื่องด้วยเทพีแห่งความรัก นั่นก็คือ ‘อโฟรไดท์’ มีด้วยกันถึง 2 องค์ แต่ละองค์ก็ย่อมบันดาลให้เกิดความรัก 2 ประเภทนี้ต่อมนุษย์นั่นเอง แล้วแต่ผู้ใดจะได้รับคุณสมบัตินี้ไป กระนั้นก็ดี ในความคิดของพอซาเนียส ความรักระหว่างเพศเดียวกันเป็นความรักที่สูงส่งกว่าเพศตรงข้ามในทุก ๆ กรณี การที่พอซาเนียสกล่าวให้ความสำคัญกับความรักระหว่างเพศเดียวกันเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะตามประวัติศาสตร์แล้ว พอซาเนียส กับ อกาธอน (เจ้าของงานเลี้ยง) ทั้ง 2 เป็นคู่รักกัน (ระหว่างชายกับชาย) การให้เหตุผลในความรักของกันและกันมิใช่สิ่งที่เข้าใจได้ยากแต่อย่างใด

นอกจากพอซาเนียสแล้ว อริสโตฟาเนส ผู้มีชื่อเสียงด้านการประพันธ์บทละคร ได้มีท่าทีสนับสนุนแนวคิดความรักระหว่างเพศเดียวกันของพอซาเนียส ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ได้ผิดและมีมาตั้งแต่เทพเจ้าให้กำเนิดมนุษยชาติแล้ว อริสโตฟาเนสเล่าย้อนไปถึงตำนานกำเนิดมนุษย์ที่ว่าดั้งเดิมแล้วมนุษย์มี 3 เพศในคนเดียวกัน คือ เพศชาย เพศหญิง และเพศที่ผสมกันระหว่างชาย-หญิง (เรียกว่า แอนโดรจีนัส) แต่กระนั้น มนุษย์ในเวลานั้นไม่ได้มีหน้าตาเหมือนดั่งเช่นพวกเราในเวลานี้ กล่าวคือ มีลำตัวกลมดั่งผลส้ม มีสี่มือและสี่เท้า มีหัวเดียวแต่มี 2 ใบหน้า 4 หู หากแต่หันหัวไปคนละทาง การเคลื่อนไหวนั้นกระทำด้วยการกลิ้งเป็นลูกกลม ๆ ก็ย่อมได้ และเหตุที่มนุษย์มีรูปกลางกลมนี้ อริสโตฟาเนสให้เหตุผลว่าเพราะมนุษย์เพศชายเป็นบุตรของพระอาทิตย์ เพศหญิงเป็นบุตรีของโลก และพวกที่มี 2 เพศเป็นบุตรของพระจันทร์ ที่มีรูปร่างกลมก็เพราะได้รับคุณสมบัติมาจากพ่อ-แม่ผู้ให้กำเนิดนั่นเอง

ต่อมามนุษย์เหล่านี้เริ่มท้าทายและรบกวนเหล่าทวยเทพ ทำให้ ซุส ผู้เป็นราชาของเหล่าทวยเทพ สั่งลงโทษพวกมนุษย์โดยบันดาลให้เกิดสายฟ้าฟาดฝ่าให้ร่างมนุษย์แต่ละคนแยกเป็น 2 ซีก ชายแยกจากชาย หญิงแยกจากหญิง พวก 2 เพศ (แอนโดรจีนัส) แยกออกเป็นชาย-หญิง การลงโทษของเทพซุสในครั้งนั้น ได้ทิ้งรอยย่นไว้ตรงท้องและสะดือเป็นการย้ำเตือนให้มนุษย์ทุกคนรำลึกถึงรูปร่างเดิมของตน  

ดังนั้น เพื่อให้เหตุผลเกี่ยวกับสาเหตุที่ว่าทำไมพอมีความรักแล้ว มนุษย์แต่ละคนล้วนแล้วแต่ถวิลหาซึ่งกันและกัน นั่นก็เพราะแต่ละคนยังโหยหาซีกเดิมที่หายไปของตน และเมื่อหากันเจอแล้วก็จะกอดกันราวกับจะหลอมรวมเข้ากันอีกครั้งหนึ่ง ในทัศนะของอริสโตฟาเนส ความรักคือการกลับไปสู่สภาวะดั้งเดิมของมนุษย์ที่พวกเขาล้วนมาเติมเต็มกันและกันให้เหมือนดั่งเมื่อครั้นเคยเป็นคน ๆ เดียวกัน

สำหรับคู่รักชาย-หญิงนั้น อริสโตฟาเนสกล่าวว่าเป็นพวก 2 เพศ (แอนโดรจีนัส) ที่ถูกสาปให้แยกจากกัน ส่วนความรักระหว่างชาย-ชาย หรือ หญิง-หญิง ย่อมสื่อว่าแต่เดิมพวกเขาล้วนเป็นมนุษย์ที่มีเพศเดียวกันแต่ถูกพรากจากกัน ด้วยเหตุนี้ ความรักระหว่างเพศเดียวกันจึงไม่ใช่ ‘สิ่งที่ผิดแปลก’ หรือ ‘วิตถาร’ เพราะเป็นธรรมชาติสภาวะดั้งเดิมของมนุษย์ตั้งแต่กำเนิด อีกทั้งไม่ใช่ ‘สิ่งใหม่’ เพราะแต่เดิมนั้นพวกเขาเกิดมาแบบนี้อยู่แล้ว

นอกจากนั้น เพื่อเป็นการบูชาความรักระหว่างเพศเดียวกัน โดยเฉพาะผู้ชายกับผู้ชายให้มากขึ้นไปอีก อริสโตฟาเนสยังให้เหตุผลด้วยว่า ‘ความรักระหว่างชายกับชาย’ เป็นความรักที่ ‘สมบูรณ์ที่สุด’ เพราะพวกเขา ‘สมชาย’ เนื่องจาก ‘มีธรรมชาติดั้งเดิมเป็นเพศชาย’ มากที่สุด อีกทั้งพวกเขา ‘โอบกอดในสิ่งที่เหมือนกับตัวเอง’ จนกล่าวได้ว่า ความรักระหว่างชายกับชาย ‘มีความเป็นชาย’ มากกว่าผู้ชายที่รักผู้หญิงเสียอีก เพื่อยืนยันถึงความสูงส่งดังกล่าว อริสโตฟาเนสยังย้ำด้วยว่า บุรุษสำคัญของกรีกหลายคนจัดว่าเป็นบุคคลที่มีรสนิยมทางเพศแบบนี้

ดังนั้น ในทัศนคติของชาวกรีก นิยามของ ‘ชายแท้’ ก็คือบรรดาผู้ที่มีความรักระหว่างผู้ชายกับผู้ชาย เพราะพวกเขามีความเป็นชายมากกว่าผู้ชายที่รักผู้หญิงปกติทั่วไปเสียอีก เพราะพวกเขาเป็นความรักโดยธรรมชาติตั้งแต่สภาวะดั้งเดิมที่มนุษย์เกิดขึ้น เป็นความรักที่บริสุทธิ์เพราะไม่ได้มุ่งสืบพันธุ์เช่นสัตว์ชนิดอื่น เป็นความรักที่ได้รับมาจากเทพีที่สูงส่งกว่าและบริสุทธิ์กว่า เป็นความรักในความกล้าหาญและรักในความรู้ระหว่างสังคมผู้ชายล้วนด้วยกัน กระทั้งเป็นคุณสมบัติที่บุรุษคนสำคัญพึงจะมี

จึงกล่าวได้ว่าฐานปรัชญากรีกว่าด้วยความรักและเพศวิถีนั้นต่างกับโลกปัจจุบันที่เราคุ้นเคยอย่างมาก การกำหนดให้เพศสภาพมีแค่ชาย-หญิงเท่านั้น เป็นนวัตกรรมในยุคหลังมากหลังจากอิทธิพลของศาสนาคริสต์และอิสลามได้แพร่ในสังคมตะวันตก หากแต่ในตำนานกรีกซึ่งเก่ากว่าศาสนาเหล่านี้นั้น มนุษย์โดยสภาพธรรมชาติมีเพศภาพและเพศวิถีอย่างที่เราเรียกว่า LGBTIQA+

เมื่อเอามุมมองของปรัชญาความรักแบบกรีกมาตัดสิน การที่ใครสักคนไม่ว่าเพศใดจะรักใครก็ตาม ไม่ว่าเขาหรือเธอจะเลือกจะรักใคร (และถูกรักโดยใคร) พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้กระทำผิดหรือก่ออาชญากรรมต่อศีลธรรมหรือละเมิดศาสนธรรมที่ต้องเอาผิดกันอย่างเอาเป็นเอาตายในบางศาสนา ความรักต่อเพศเดียวกันเหล่านี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามศาสนธรรมและตามธรรมชาติ เพราะเทพเจ้าให้คุณสมบัติเหล่านี้มาแก่มนุษย์ตั้งแต่เริ่ม

ดังนั้น LGBTIQA+ จึงเป็นธรรมชาติของมนุษย์ หาใช่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมหรือการกล่อมเกลาทางสังคมไปในทางเสื่อมทรามแต่อย่างใด หากเป็นคุณสมบัติที่ติดตัวเขามาตั้งแต่กำเนิด ดังจะเห็นได้ว่าเด็กหลาย ๆ คนได้แสดงตนเองในเพศวิถีตั้งแต่ยังเล็กยังน้อย พวกเขาและเธอรู้ตัวเองว่าเป็นอะไร และต้องการสำแดงตนอย่างใด นี่จึงเป็นสิ่งที่ตอกย้ำสัจธรรมของปรัชญาความรักของกรีกที่ปรากฏในบทสนทนา Symposium ของเพลโตว่าเป็นสิ่งที่เป็นอมตะ ในเวลานี้ เขาหรือเธอสามารถอ้างได้ว่าความรักเช่นนี้เป็นเพราะคุณสมบัติที่ได้รับมาจากเทพีแห่งความรัก นั่นก็คือ ‘อโฟรไดท์แห่งสรวงสวรรค์’ หรือกระทั่งอ้างได้ว่าเวลานี้ได้ค้นพบกับ‘ครึ่งหนึ่งของชีวิตที่หายไป’ หลังจากที่เทพซุสสาปให้ฟ้าผ่าแยกจากกันครั้งนั้นแล้วก็ได้ และในเมื่อเป็นคุณสมบัติทีได้รับจากเทพเจ้า ใครก็ตามที่อ้างว่าการรักเพศเดียวกันเป็น ‘บาป’ นั้น เชื่อได้ว่าบุคคลนั้นกำลังดูหมิ่นอำนาจของทวยเทพอยู่อย่างมิพักต้องสงสัย

อ้างอิง :

[1] อัคนี มูลเมฆ (แปล). ซิมโพเซียม : ปรัชญาวิวาทะว่าด้วยความรักของเพลโต (Symposium). (กรุงเทพ : ภาพพิมพ์จำกัด). 2565.
[2] THE DIALOGUES OF PLATO VOLUME II THE SYMPOSIUM

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด