ANZAC Day วันทหารผ่านศึกออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ประวัติศาสตร์กองทัพที่เริ่มต้นด้วยความพ่ายแพ้ย่อยยับ แต่ได้รับการสดุดีอย่างยิ่งใหญ่

บทความโดย กุญชร เชี่ยววารี

ในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ทุก ๆ วันที่ 25 เมษายน คือวันแอนแซกเดย์ (ANZAC Day) โดยคำ ANZAC ย่อมาจากคำ Australian and New Zealand Army Corps หรือกองพลผสมออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ วันแอนแซก จัดว่าเป็นวันระลึกถึงทหารผ่านศึกของออสเตรเลียนิวซีแลนด์

ในวันนี้ ถือเป็นวันหยุดราชการของประเทศทั้ง 2 เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าร่วมในพิธีการรำลึกของรัฐ มีการจัดพิธีวางพวงมาลัยสดุดีเหล่าทหารผ่านศึกทั้งที่ล่วงลับไปแล้ว และยังมีชีวิตอยู่ มีการจัดขบวนพาเหรดเฉลิมฉลองในแต่ละเมือง โดยส่วนสำคัญของขบวนคือการเชิญอดีตทหารผ่านศึกเข้าร่วม เพื่อยกย่องเชิดชูวีรกรรมของพวกเขาในอดีตนั่นเอง

ในบรรดาทหารผ่านศึกที่ได้รับการยกย่องในขบวน ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นอดีตทหารสัญชาติออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ขอเพียงเป็นอดีตทหารที่เคยร่วมรบเคียงข้างออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ก็จะได้รับเกียรตินี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งในบรรดาชาติที่ได้รับเกียรตินี้นั้น มีคนไทยด้วยเหมือนกัน เนื่องจากไทยเคยร่วมรบกับออสเตรเลียในสงครามเวียดนาม และติมอร์

วันแอนแซก มีคำขวัญประจำว่า “รุ่งอรุณแห่งการรบที่กาลิโปลี” (Gallipoli Dawn Service) เนื่องจากวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1915 (พ.ศ. 2458) นั้นเป็นวันที่กองพลออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ยกพลขึ้นบกเพื่อยึดคาบสมุทรกาลิโปลี ซึ่งในเวลานั้นอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมาน เป็นปฏิบัติการทางทหารครั้งแรกของกองพลออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์

ปฏิบัติการในครั้งนั้น เป็นส่วนหนึ่งของ “การทัพกาลิโปลี” (Gallipoli campaign) ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งในการรบครั้งนี้เป็นการปะทะกันโดยตรงระหว่างอังกฤษ-ฝรั่งเศส จากฝ่ายสัมพันธมิตร (Allied) และจักรวรรดิออตโตมาน จากฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers)

ออสเตรเลียส่งทหารเข้าร่วม 50,000 นาย และนิวซีแลนด์ 15,000 นาย ในนามกองพลออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ภายใต้การบังคับบัญชาของแม่ทัพอังกฤษ พลโท เซอร์วิลเลียม เบิร์ดวูด เริ่มปฏิบัติการครั้งแรกด้วยการยกพลขึ้นบกที่แหลมเฮลเลส และเซดดุลบาเฮียร์ ในคาบสมุทรกาลิโปลี ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศตุรกี

อย่างไรก็ดี การทัพกาลิโปลีนั้น จบลงด้วยโศกนาฏกรรมของฝ่ายสัมพันธมิตร เนื่องจากฝ่ายออตโตมานและเยอรมันสืบทราบแผนปฏิบัติการได้ล่วงหน้า และมีการเตรียมการรับมือฝ่ายสัมพันธมิตรเอาไว้เป็นอย่างดี ที่ตั้งของฝ่ายสัมพันธมิตรถูกยิงถล่มอย่างหนักด้วยปืนใหญ่ แม้ฝ่ายสัมพันธมิตรพยายามจะแก้ไขสถานการณ์ด้วย “ปฏิบัติการรุกเดือนสิงหาคม” แต่ก็ล้มเหลวลงอย่างสิ้นเชิง

ความล้มเหลวของการทัพนำมาซึ่งปฏิบัติการถอนตัว ทำให้การทัพกาลิโปลีปิดฉากลงในวันที่ 9 มกราคม ปีถัดมา โดยฝ่ายสัมพันธมิตรเสียชีวิตทั้งหมด 56,707 นาย, บาดเจ็บ 123,598 นาย และถูกจับเป็นเชลย 7,654 นาย โดยในจำนวนนี้ ทหารออสเตรเลียเสียชีวิต 8,709 นาย บาดเจ็บ 19,441 นาย และทหารนิวซีแลนด์ เสียชีวิต 2,721 นาย และบาดเจ็บ 4,752 นาย

ถึงแม้ปฏิบัติการในครั้งนี้จะจบลงแบบ “แพ้ย่อยยับ” แต่ในปัจจุบันทั้งชาวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ยังคงจัดงานเฉลิมฉลองเพื่อการระลึกถึงวีรกรรมของเหล่าบรรพบุรุษทหารหาญของพวกเขาอย่างยิ่งใหญ่เป็นประจำอยู่ทุกปี หลังงานพาเหรด ประชาชนจะพากันไปดื่มกินตามท้องถนน ร้องเพลงประจำชาติ และเพลงที่เกี่ยวข้องกับวันแอนแซก

หากถามพวกเขาว่า ทั้ง ๆ ที่แพ้ย่อยยับขนาดนี้ ทำไมถึงยังเฉลิมฉลองกันทุกปี พวกเขาจะตอบว่า “มันไม่สำคัญว่าจะแพ้หรือชนะ เพราะเหล่าทหารผ่านศึกล้วนแต่เป็นผู้เสียสละ ไปรบเพื่อปกป้องประเทศชาติ เพื่อลูกหลานอย่างพวกเรา”

เนื่องในวันนี้ วันทหารผ่านศึกของออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ฤา ขอร่วมสดุดีในวีรกรรมของทหารผ่านศึกทุกนาย ทุกชาติ ทุกศาสนา ไม่ว่าที่ล่วงลับไปแล้ว หรือยังมีชีวิตอยู่ก็ดี ขอสดุดีในความกล้าหาญ และความเสียสละของพวกท่าน ที่กระทำเพื่อประเทศชาติ เพื่อนพ้อง และลูกหลานของทุกนาย