‘สวนสราญรมย์’ บันทึกแห่งความทรงจำ ของสวนสาธารณะและสวนสัตว์ที่เก่าแก่ที่สุดของไทย

สวนสราญรมย์” หรือ พระราชอุทยานสราญรมย์สวนหลวง ตั้งอยู่ในเขตอุทยานของพระราชวังสราญรมย์ ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2409 สำหรับเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานารถ (ในหลวงรัชกาลที่ 5)

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสวนพฤกษศาสตร์ในเขตอุทยานของพระราชวังสราญรมย์ ในปี พ.ศ. 2417 แล้วพระราชทานนามว่า “พระราชอุทยานสราญรมย์สวนหลวง” และเปิดเป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจได้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2436 โดยไม่เก็บค่าเข้าชม เปิดทุกวันเสาร์และวันอังคาร ตั้งแต่เวลา 15.00 นาฬิกา จนถึงเวลาย่ำค่ำ

สวนสราญรมย์ เป็นพระราชอุทยานเก่าแก่คู่พระนคร และจากการที่สร้างมาก่อนสวนลุมพินีถึงกว่า 32 ปี สวนสราญรมย์ จึงเรียกได้ว่าเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของไทยก็ไม่ผิดนัก และอีกนัยหนึ่งยังนับว่าเป็นสวนสัตว์ที่เปิดดำเนินการมาก่อนสวนสัตว์ดุสิตถึง 45 ปี

สวนสราญรมย์ มีการจัดแสดงสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าหายากหลากหลายชนิด โดยมีผู้บริจาคมากมาย อาทิเช่น ในช่วงปี พ.ศ. 2436 – 2439 ได้ปรากฏหลักฐานการประกาศรายละเอียดผู้บริจาคสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่าหายาก ให้แก่สวนสราญรมย์นำมาจัดแสดง ลงในราชกิจจานุเบกษา ดังนี้

  • พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ประทาน ไก่ป่า 1 คู่ หมี 1 ตัว นางเก้ง (อีเก้ง) 1 ตัว เสือปลา 1 ตัว
  • พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ประทาน ลิงลม 1 ตัว
  • พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าขจรจรัสวงษ์ ประทาน เสือดาว 1 ตัว
  • พระศรีณรงควิไชย บริจาค นกยูง 3 ตัว ไก่ป่า 1 ตัว
  • พระศรีทิพย์โภช บริจาค มุดสัง (อีเห็น หรือชะมด) 2 ตัว
  • หม่อมหลวงทศทิศ บริจาค ชะนี 1 ตัว
  • หลวงภูวสถานพินิจ บริจาค นกยูง 1 ตัว นกแก้ว 1 ตัว
  • พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าไชยยันตมงคล ประทานนกกุ๊ก 2 ตัว นกเขานอก 2 ตัว
  • หม่อมเจ้าสุบรรณ ประทาน เป็ดเทศ 1 ตัว เป็ดไทย 1 ตัว จระเข้เล็ก 1 ตัว ตะพาบน้ำเล็ก 1 ตัว เต่าเล็ก 7 ตัว
  • เจ้าหมื่นเสมอใจราช บริจาค ลิง 1 ตัว นกยูง 1 ตัว
  • นายพันตรี หลวงฤทธิจักรกำจร บริจาค ปลาไหลเผือก 1 ตัว นกตะกรุม 1 ตัว นาก 1 ตัว
  • นายร้อยโท นายนวม บริจาค นกเป็ดน้ำ 1 ตัว
  • เจ้าหมื่นสรรเพชรภักดี บริจาค นกยูง 1 ตัว
  • คำ บริจาค เต่าใหญ่ 1 ตัว
  • นุ่ม บริจาค ตะพาบน้ำใหญ่ 1 ตัว
  • นายจัน บริจาค ตะพาบน้ำเล็ก 3 ตัว
  • นายแถลงการวิตถกิจ บริจาค เสือปลา 1 ตัว
  • นายเหมือน บริจาค วานร 1 ตัว
  • นายแถบ บริจาค นกเอี้ยง 1 ตัว
  • หม่อมเจ้าพร้อม ประทาน ไก่ฮ่อ 1 ตัว นกหก 1 ตัว นกเขียว 2 ตัว
  • พระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร บริจาค นกยูง 2 ตัว
  • นายจร บริจาค เต่า 1 ตัว ตะพาบน้ำ 2 ตัว
  • นายจ่าง บริจาค ตะพาบน้ำ 1 ตัว
  • นายวัน บริจาค นางเห็น (อีเห็น) 1 ตัว
  • หม่อมเจ้าตุ้ม ประทาน วานร 1 ตัว
  • พระยาสุรศักดิ์มนตรี บริจาค เนื้อ (สมัน) 1 ตัว
  • พระยาวรเดชศักดิวุธ บริจาค เนื้อ (สมัน) 1 ตัว
  • นายแย้ม บริจาค นกกระสา 1ตัว
  • พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค ประทาน นางเก้ง (อีเก้ง) 1 ตัว
  • พระยาอัคนีสราภัย บริจาค จะกวด (ตะกวด) 1 ตัว
  • หลวงศรีสังข์กร บริจาค เม่น 1 ตัว นกยูง 3 ตัว ไก่ฟ้า 1 ตัว
  • นายราชาณัตยานุหาร บริจาค เสือบอง 1 ตัว
  • พระศรีกาฬสมุด บริจาค เสือบอง 1 ตัว
  • หม่อมราชวงศ์สนั่น บริจาคนกยูง 2 ตัว
  • พระทิพย์กำแหงสงคราม บริจาค นกยูง 2 ตัว
  • พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ ประทาน เนื้อสมัน 1 ตัว
  • ขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ บริจาค เต่า 1 ตัว
  • นายนาค บริจาค ไก่ฟ้า 1 ตัว
  • พระยาดัสกรปลาศ บริจาค นกยูง 1 ตัว
  • พระราชประสิทธิ์ บริจาค นกเขาใหญ่ 6 ตัว
  • พระยามหามนตรี บริจาค เหยี่ยว 1 ตัว
  • จีนซ่าน บริจาค กระต่ายเทศ 1 ตัว นกเขาใหญ่ 1 ตัว
  • พระวงวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ ประทาน นกกระเรียน 2 ตัว นกกระทุง 1 ตัว
  • นายเพ็ชรน้อย บริจาค นางโก้ง (นกอีโก้ง) 1 ตัว
  • หลวงอภัยพิจารณ์ บริจาค นกแก้ว 1 ตัว
  • เจ้าอุปราชนครลำปาง บริจาค หมีสุนัข (หมีหมา) 1 ตัว
  • เจ้าราชบุตรนครลำบปาง บริจาค หมีคน 1 ตัว
  • หม่อมราชวงศ์เชย บริจาค นกขมิ้นเหลืองอ่อน 1 ตัว
  • หม่อมราชวงศ์เถาะ บริจาค ลูกเสือดาว 1 ตัว

ในการรับรู้โดยทั่วไป แม้สวนสัตว์ดุสิตจะถือเป็นสวนสัตว์แห่งแรกของประเทศไทย โดยเมื่อแรกเริ่มก่อตั้งสวนสัตว์ดุสิต ในหลวงรัชกาลที่ 8 ได้พระราชทานกวางดาว จากสวนอัมพร และสัตว์บางชนิด เช่น จระเข้ และลิง จากสวนสราญรมย์ มาไว้เป็นประเดิม แต่จะเห็นได้ว่า สวนสัตว์ดุสิตในระยะแรก มีสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่าหายากในปริมาณที่น้อย และความหลากหลายก็น้อยกว่าสวนสราญรมย์เสียอีก และแม้จะเปิดดำเนินการมาก่อนสวนสัตว์ดุสิตถึง 45 ปี แต่สวนสราญรมย์ก็ดูเหมือนถูกละเลยไปจากความทรงจำในฐานะสวนสาธารณะและสวนสัตว์ที่เก่าแก่ที่สุดของไทย

สวนสราญรมย์ เป็นสวนสาธารณะและสวนสัตว์ที่ยังคงดำเนินการเรื่อยมานับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2436 แต่ด้วยความที่มีพื้นที่เพียง 23 ไร่ และพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกออกแบบไว้สำหรับเป็นสวนสาธารณะ จึงทำให้สัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่าหายากนับร้อยๆ ชีวิต อยู่อาศัยกันอย่างแออัด ประกอบกับหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 สโมสรคณะราษฎร ได้เข้าใช้พื้นที่บางสวนของสวนสราญรมย์เป็นพื้นที่ทำการ จึงทำให้สวนสราญรมย์คับแคบลงไปอีก

ด้วยเหตุนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 7 จึงทรงมีพระราชดำริให้ทำนุบำรุง เขาดินวนา ซึ่งเป็นพระราชอุทยานในพระราชวังดุสิตให้กว้างขวาง และได้จัดการย้ายสัตว์ชนิดต่างๆ จากสวนอัมพร และสวนสราญรมย์ มาไว้ที่เขาดินวนา และเปิดให้ประชาชนมาเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2481 และให้เรียกชื่อว่า สวนสัตว์ดุสิต ซึ่งถือได้ว่าเป็นสวนสัตว์แห่งแรกในประเทศไทยในความรับรู้ของคนทั่วไป

ภายในสวนสราญรมย์ ยังเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์พระนางเรือล่ม หรือ อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี โดยในหลวงรัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความอาลัยรักที่มีต่อพระอัครมเหสี และพระราชธิดา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ ผู้สิ้นพระชนม์ในอุบัติเหตุเรือพระที่นั่งล่ม โดยตัวอนุสาวรีย์ทำจากหินอ่อน ประดับคำจารึกที่แสดงถึงความเศร้าโศกเสียใจจากความสูญเสีย

นอกจากนี้ สวนสราญรมย์ ยังมีศาลาสำหรับพักผ่อน และน้ำพุประดับสไตล์ยุโรป ซึ่งเดิมเคยใช้ตกแต่งพระราชอุทยาน แต่ปัจจุบันกลายเป็นโบราณวัตถุทรงคุณค่า ที่มีอายุนับศตวรรษ

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของ สวนสราญรมย์ พระราชอุทยานเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อันล้ำค่า ซึ่งยังคงเปิดให้ประชาชนเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ ดังจะเห็นได้จากเย็นย่ำของทุกๆ วัน จะมีผู้คนเข้ามาออกกำลังกายกันอย่างคึกคัก และมีกิจกรรมผ่อนคลายต่างๆ เช่น การเต้นแอโรบิก รำกระบี่กระบอง รำมวยจีน ไปจนถึงการแสดงดนตรีในสวน ทั้งดนตรีไทย และดนตรีสากล สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปอีกด้วย

อ้างอิง :

[1] แจ้งความเปิดพระราชอุทยานสราญรมย์, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม10 ตอนที่ 20 วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2436 หน้า 237
[2] แจ้งความพระราชอุทยานสราญรมย์, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม10 ตอนที่ 48 วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2436 หน้า 517
[3] แจ้งความพระราชอุทยานสราญรมย์, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม10 ตอนที่ 52 วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2436 หน้า 546
[4] แจ้งความพระราชอุทยานสราญรมย์ เรื่อง มีผู้เอื้อเฟื้อส่งสัตว์ต่างๆ มายังอุทยานฯ, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม11 ตอนที่ 8 วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2437 หน้า 62
[5] แจ้งความพระราชอุทยานสราญรมย์ เรื่อง มีผู้เอื้อเฟื้อส่งสัตว์ต่างๆ มายังอุทยานฯ, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม11 ตอนที่ 13 วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2437 หน้า 103
[6] แจ้งความพระราชอุทยานสราญรมย์ เรื่อง มีผู้เอื้อเฟื้อส่งสัตว์ต่างๆ มายังอุทยานฯ, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม11 ตอนที่ 19 วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2437 หน้า 159
[7] แจ้งความพระราชอุทยานสราญรมย์ เรื่อง มีผู้เอื้อเฟื้อส่งสัตว์ต่างๆ มายังอุทยานฯ, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม11 ตอนที่ 23 วันที่ 2 กันยายน พ.ศ.2437 หน้า 178
[8] แจ้งความพระราชอุทยานสราญรมย์ เรื่อง มีผู้เอื้อเฟื้อส่งสัตว์ต่างๆ มายังอุทยานฯ, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม11 ตอนที่ 25 วันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2437 หน้า 195
[9] แจ้งความพระราชอุทยานสราญรมย์ เรื่อง มีผู้เอื้อเฟื้อส่งสัตว์ต่างๆ มายังอุทยานฯ, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม11 ตอนที่ 27 วันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2437 หน้า 212
[10] แจ้งความพระราชอุทยานสราญรมย์ เรื่อง มีผู้เอื้อเฟื้อส่งสัตว์ต่างๆ มายังอุทยานฯ, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม11 ตอนที่ 30 วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2437 หน้า 233
[11] แจ้งความพระราชอุทยานสราญรมย์ เรื่อง มีผู้เอื้อเฟื้อส่งสัตว์ต่างๆ มายังอุทยานฯ, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม11 ตอนที่ 27 วันที่ 30 กันยายนพ.ศ.2437 หน้า 62
[12] สวนสัตว์ดุสิต : ประวัติความเป็นมา

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า