แนวคิดและความเชื่อที่ก่อให้เกิดเป็นจารีต การสืบราชสันตติวงศ์ในสมัยสุโขทัยและอยุธยา

การสืบราชสันตติวงศ์ในสมัยสุโขทัย

ในสมัยสุโขทัย เมื่อพิจารณาจากหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ปรากฏแนวคิดเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่เป็นผู้ครองนครมีสิทธิเหนืออาณาประชาราษฎร์ทั้งปวง แนวคิดเกี่ยวกับพระราชสถานะเป็นแนวพุทธ คือพระมหากษัตริย์ทรงเป็น “ธรรมราชา”เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่ได้รับอิทธิพลแบบพราหมณ์และแนวคิดจากเขมร ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนเป็นแบบบิดากับบุตร (Paternal Government) ต่อมาในสมัยอยุธยา อิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์เริ่มเข้ามา จึงมีความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์เป็น “สมมติเทพ” คือเป็นพระผู้เป็นเจ้าอวตารมา มีพระราชอำนาจล้นพ้น

สำหรับการเข้าสู่ตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ถึงแม้จะพอมีกฎเกณฑ์ตามกฎมณเฑียรบาล แต่กฎหมายนี้ก็มิได้เป็นหลักประกันให้การสืบราชสันตติวงศ์เป็นไปโดยแน่นอนหรือโดยเรียบร้อย ซึ่งโดยมากการสืบราชสันตติวงศ์จะใช้การช่วงชิงด้วยอำนาจทางทหาร ในเรื่องนี้ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้แสดงความไว้เห็นว่า “หลักการแห่งอำนาจนั้น ย่อมจะต้องเข็งแรงเด็ดเดี่ยวกว่าหลักการแห่งการสืบสายโลหิตเป็นธรรมดา” ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนก็เปลี่ยนแปลงไปเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเจ้ากับข้า แนวคิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์สมัยอยุธยายังรับแนวคิดเทวสิทธิ์หรือเทวราชจากขอมมาใช้ ซึ่งขอมได้ถือคติตามแบบอินเดียมาอีกทอดหนึ่ง ดังปรากฏในพิธีกรรมต่างๆ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษกอัญเชิญพระเจ้ามาสู่องค์กษัตริย์ และยังถือว่าพระมหากษัตริย์เป็น “พระเจ้าอยู่หัว” หรือ “พระพุทธเจ้าอยู่หัว” กล่าวคือเป็น “พระเจ้า” ที่มิใช่มนุษย์แต่สืบเชื้อสายมาจากพระราม และ “อยู่หัว” คือ อยู่เหนือข้าแผ่นดิน และเป็น “เจ้าชีวิต” และเรียกตำแหน่งรัชทายาทเป็น “สมเด็จหน่อพุทธางกูร” หรือ “สมเด็จหน่อพุทธเจ้า” ทั้งนี้ คุณลักษณะความเป็นเทวราชหรือสมมติเทพของพระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยานั้น มีลักษณะที่เด่นชัดกว่าสมัยสุโขทัยมากและเปลี่ยนฐานะจาก “มนุษยราช” เป็น “เทวราช” ขณะเดียวกัน ประชาชนโดยทั่วไปก็ไม่ค่อยจะสนใจในพระชะตากรรมของกษัตริย์ จึงพร้อมจะตกเป็นข้าแผ่นดินของกษัตริย์องค์ไหนก็ได้ และขอให้มีหลักประกันที่จะไม่ถูกกดขี่มากกว่าเดิม

พระมหากษัตริย์ในสมัยสุโขทัยจะสืบทอดตำแหน่งทางการสืบสันตติวงศ์ทางสายโลหิตดังปรากฏหลักฐานตามข้อความในหลักศิลาจารึกด้านที่ 1 ความว่า “…เมื่อชั่วพ่อกู…พ่อกูตาย ยังพี่กู กูพรํ่าบําเรอแก่พ่อกูดั่งบําเรอแก่พ่อกู พี่กูตาย จึงได้เมืองแก่กูทั้งกลม… นอกจากนั้นศิลาจารึกหลักที่สองปรากฏความตอนหนึ่งว่า “…พ่อขุนผาเมืองจึงอภิเษกพ่อขุนบางกลางหาวให้เมืองสุโขทัย ให้ชื่อทั้งชื่อตนแก่พระสหายเรียกชื่อศรีอินทรบดินทราฑิตย์..” อันเป็นลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้แย่งชิงเมืองและมีการราชาภิเษกเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งพระมหากษัตริย์

การสืบราชสันตติวงศ์ในสมัยอยุธยา

การสืบราชสมบัติในสมัยอยุธยา ในทางทฤษฎีจะเป็นไปตามจารีตประเพณีที่ผู้สืบสันตติวงศ์จะเป็นญาติสนิทของพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตและจะต้องเป็นเพศชายเท่านั้น ประกอบกับกฎมณเฑียรบาลที่ตราขึ้นสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ. 2001 (ค.ศ. 1458) ผู้สืบราชสมบัติต้องเป็น “สมเด็จหน่อพุทธเจ้า” หมายความว่าเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ หรือสมเด็จเจ้าฟ้าที่ประสูติแต่พระอัครมเหสี มีผู้ให้ความเห็นว่า อาจเป็นไปได้ ว่ากฎหมายนี้ได้แบบอย่างมาจากระบบโบราณที่ยอมรับเชื้อสายทางมารดาเป็นใหญ่ ซึ่งจะเห็นได้จากตำแหน่งของเจ้าต่างๆ ขึ้นอยู่กับพระมารดาของพระองค์เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามถึงแม้ระบบนี้จะยังคงมีอยู่ แต่ประชาชนก็คงไม่สำนึกถึงการปฏิบัติตามระบบนี้มากนัก และกษัตริย์ก็เช่นกัน ที่ในบางกรณีอาจมอบราชสมบัติแก่พระราชโอรสองค์โปรดไม่ว่าจะมีกำเนิดอย่างไร หรือพระอนุชาพระองค์อื่นซึ่งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้างต้นก็ได้ ถือเป็นพระราชอำนาจสิทธิขาดของพระมหากษัตริย์ แต่หลักการต่างๆ ข้างต้นมักจะล้มเหลว เพราะหลังจากกษัตริย์สวรรคตแล้ว พระราชโอรสต่างก็จะต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงราชสมบัติ

สำหรับแนวคิดเรื่องสิทธิขาดในการสถาปนาผู้สืบสันตติวงศ์ ได้ปรากฏอยู่ในกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 ซึ่งแนวคิดนี้ยังปรากฏมาจนถึงปัจจุบันแต่ได้มีการปรับปรุงให้การเข้าสู่ตำแหน่งมีความชอบด้วยระบอบประชาธิปไตยมากขึ้นภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยการกำหนดให้รัฐสภาเป็นผู้ให้ความเห็นชอบในการสืบราชสันตติวงศ์

อนึ่ง สำหรับการเป็น “ลูกคนโต” ก็มิได้หมายความว่าบุคคลนั้นจะมีสกุลยศในการจัดลำดับชั้นพระบรมวงศานุวงศ์สูงสุดเสมอไป เนื่องจากว่าจะต้องมีการพิจารณาถึงเงื่อนไขเรื่องลำดับชั้นของพระมารดาประกอบด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ที่มิได้มีการเคร่งครัดว่าโอรสองค์โตจะได้สืบราชสมบัติเสมอไป เพราะพระองค์มีพระราชโอรสอีกพระองค์ที่เกิดก่อนหน้าพระเจ้าทองลัน คือ พระศรีเทพาหูราช แต่เหตุที่ราชบัลลังก์ตกแก่พระเจ้าทองลัน เชื่อว่าเป็นเพราะเป็นพระราชโอรสที่ประสูติในเศวตฉัตรกรุงศรีอยุธยาที่เป็น “พระราชกุมารที่เกิดด้วยพระอัครมเหสี คือสมเด็จหน่อพุทธเจ้า” โดยประสูติราว ๆ 2 ปี หลังสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ขึ้นครองราชย์และมีสิทธิเหนือพระราชโอรสองค์อื่น ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการบัญญัติขึ้นชัดเจนในสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่ได้มีการบัญญัติกฎมณเฑียรบาลจัดลำดับชั้นพระบรมวงศานุวงศ์

นอกจากนั้นในบางกรณีการสืบราชสมบัติก็เกิดขึ้นจากการแย่งชิงราชสมบัติและปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ เหตุผลหนึ่งเนื่องมาจากความเชื่อในทางพุทธศาสนาเรื่อง “กรรมบันดาลให้เกิดผล” ทำให้มีความเชื่อที่ว่า “ผู้มีบุญ” ก็อาจเป็นพระมหากษัตริย์ได้ด้วยบุญที่สั่งสมมาจากชาติก่อน ซึ่งผู้มีบุญดังกล่าวมิได้จำกัดอยู่เฉพาะแต่ในตระกูลของพระมหากษัตริย์เท่านั้น และผู้ที่มีบุญบารมีสูงกว่าก็ย่อมสามารถแย่งชิงราชสมบัติได้สำเร็จ

ปัญหายุ่งยากเกี่ยวกับการสืบราชสมบัติสมัยอยุธยาโดยมากจะเกิดในช่วงที่พระมหากษัตริย์สวรรคตโดยที่มิได้เลือกรัชทายาทไว้ หรือพระมหากษัตริย์องค์ใหม่ยังอายุน้อย หรือมีความสามารถไม่มากนัก ทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับ ส่งผลให้เกิดการแย่งชิงราชสมบัติหลายครั้ง โดยเฉพาะตอนกลางและปลายอยุธยา ยกตัวอย่างเช่น สมัยพระเจ้าทองลัน (พ.ศ. 1931) พระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (พ่องั่ว) ถูกพระราเมศวรสำเร็จโทษแล้วขึ้นครองราชย์แทน สำหรับในกรณีของพระราเมศวรนั้น แท้จริงแล้วราชบัลลังก์ควรตกเป็นของพระองค์ในฐานะที่เป็น “หน่อพระพุทธเจ้า” ของสมเด็จพระรามาธิบดี (อู่ทอง) แต่ก็ถูกพระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (พ่องั่ว) แย่งราชบัลลังก์ไป โดยสมเด็จพระราเมศวรต้องรอคอยถึง 18 ปี จนสามารถทำการรัฐประหารทวงราชบัลลังก์กลับคืน หลังจากที่พระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (พ่องั่ว) สวรรคต และมีการอัญเชิญเจ้าทองลันในฐานะที่เป็นราชกุมาร ขณะขึ้นครองราชย์มีพระชนมายุ 15 พรรษา แต่ก็ครองราชย์ได้เพียง 7 วัน ก็ถูกรัฐประหารโดยสมเด็จพระราเมศวรและได้มีการสังหารเจ้าทองลันเสีย โดยได้มีการนำกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสำเร็จโทษเจ้านายมาใช้เป็นครั้งแรก หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 1938 สมเด็จพระราเมศวรเสด็จสวรรคต โดยที่มีโอรสคือสมเด็จพระรามราชาธิราชครองราชย์ต่อ แต่ก็เกิดการรัฐประหารอีกครั้งจากความขัดแย้งกับเสนาบดีผู้ใหญ่ และมีการอัญเชิญสมเด็จพระอินทราชาหรือสมเด็จพระนครอินทราธิราชซึ่งมีฐานะเป็นหลานของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (พ่องั่ว) ขึ้นครองราชย์ต่อ อันเป็นการแย่งชิงราชบัลลังก์กันระหว่างราชวงศ์อู่ทองและราชวงศ์สุพรรณภูมิ

นอกจากนั้นยังมีกรณีอื่นๆ เช่น สมัยพระรัษาธิราช (พ.ศ. 2077) พระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 ถูกพระชัยราชาสำเร็จโทษแล้วขึ้นครองราชย์แทน สมัยพระยอดฟ้า(พ.ศ. 2091) โอรสของสมเด็จพระชัยราชาธิราช ถูกขุนวรวงศาธิราชปลงพระชนม์แล้วตั้งตนเป็นพระมหากษัตริย์ หรือกรณีสมเด็จเจ้าฟ้าไชยและสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา (พ.ศ. 2199)ถูกพระนารายณ์สำเร็จโทษ เป็นต้น ทั้งนี้ ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้มีการบัญญัติ กฎมณเฑียรบาลที่มีเนื้อหาเป็นการจัดลำดับชั้นพระบรมวงศานุวงศ์ ได้ระบุว่าเจ้ามีอยู่ 5 ชั้นด้วยกัน ดังนี้

  1. พระราชโอรสอันเกิดจากพระอัครมเหสีมีฐานันดรศักดิ์เป็น “สมเด็จหน่อพุทธเจ้า” เป็นอันดับสูงสุดในพระบรมวงศานุวงศ์ และมีสิทธิเหนือผู้ใดในการสืบราชสมบัติและต้องอยู่ในเมืองหลวง
  2. พระราชโอรสที่เกิดจากพระอัครชายาที่เรียกว่า “แม่หยัวเมือง” มีฐานันดรศักดิ์เป็น “พระมหาอุปราช” ซึ่งจัดเป็นเจ้าชายชั้นรอง อยู่ลำดับที่สองในการสืบราชสมบัติถัดจากสมเด็จหน่อพุทธเจ้า

    อนึ่ง ตำแหน่ง “อุปราช” ในอินเดียโบราณ หมายถึง ผู้ที่จะเป็นรัชทายาท แต่กรณีของไทยในศตวรรษที่ 15 ตำแหน่งนี้จะหมายถึงเจ้าชายชั้นที่สอง ในศตวรรษต่อมาก็กลับไปมีความหมายดั้งเดิมแบบอินเดีย ซึ่งใช้เรียกเจ้าชายที่เป็นรัชทายาทไม่ว่าจะเป็นโอรสชั้นหนึ่งหรือสอง
  1. พระราชโอรสที่เกิดจากพระมารดา ซึ่งทรงเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าแผ่นดินที่เรียกว่าลูกหลวง มีฐานันดรศักดิ์เป็น “ลูกหลวงเอก” และได้ครองเมืองเอก เช่น เมืองพิษณุโลก สุโขทัย นครราชสีมา เป็นต้น
  2. พระราชโอรสที่เกิดจากเจ้าจอมมารดาที่มีกำเนิดเป็นหลานหลวงคือหลานของพระมหากษัตริย์โดยตรง มีฐานันดรศักดิ์เป็น “ลูกหลวง” ได้ครองเมืองโท เช่น สวรรคโลก สุพรรณบุรี
  3. พระราชโอรสที่เกิดจากพระสนม มีฐานันดรศักดิ์เป็น “พระเยาวราช” เป็นเจ้าผู้น้อยไม่ได้กินเมือง

สำหรับประเพณีการแต่งตั้งเจ้าออกไปครองหัวเมืองต่างๆ ได้มีมาจนกระทั่งใกล้จะถึงปลายศตวรรษที่ 16 จึงมีการยกเลิกประเพณีนี้ เนื่องจากเกิดความยุ่งยากขึ้นในหัวเมืองบ่อยครั้ง ประกอบกับการที่เจ้าพยายามมีอำนาจมากขึ้นในการสืบราชสมบัติเมื่อกษัตริย์สวรรคต

อย่างไรก็ตามกฎมณเฑียรบาลข้างต้น ไม่มีการกล่าวถึงการสืบราชสันตติวงศ์ไว้โดยตรง เพียงแต่เป็นการจัดลำดับชั้นยศเท่านั้น เหตุผลที่กฎมณเฑียรบาลบาลในสมัยอยุธยาไม่ได้กล่าวถึงการสืบราชสันตติวงศ์ไว้โดยตรงก็อาจเป็นเพราะว่า ในสมัยนั้นถือว่าเป็นเรื่องอัปมงคลที่จะกล่าวถึงวาระที่ราชบัลลังก์ว่างลง นอกจากนั้นกฎมณเฑียรบาลนี้ ก็ไม่มีการใช้บังคับอย่างเคร่งครัดในการสืบราชสันตติวงศ์ สุดท้ายในทางความเป็นจริงการสืบราชสันตติวงศ์ก็ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนของขุนนางและผู้กุมอำนาจทางทหารเป็นสำคัญ

อนึ่ง ในจดหมายเหตุของ มองซิเออ เดอ ลาลูแบร์ เอกอัคราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสก็มีการบันทึกถึงการขาดกฎเกณฑ์การสืบราชสันตติวงศ์และทำให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้นในราชอาณาจักร

ต่อมาในช่วงปลายสมัยอยุธยาเกิดกฎเกณฑ์ใหม่ขึ้นมาคือการตั้งตำแหน่ง “สมเด็จพระมหาอุปราช” หรือ “กรมพระราชวังบวรสถานมงคล” มีศักดินาสูงกว่าบุคคลทั้งปวง เป็นรองแค่พระมหากษัตริย์เท่านั้น โดยธรรมเนียมนี้สิ้นสุดลงสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ได้มีการตั้งตำแหน่ง “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร” ขึ้นมาแทน

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวประวัติศาสตร์การสืบราชสันตติวงศ์ในสมัยสุโขทัยและอยุธยา ในบทความต่อไป ฤๅ จะนำเสนอข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์ในสมัยรัตนโกสินทร์ รวมถึงการยกเลิกตำแหน่ง “วังหน้า” และการกำหนดตำแหน่ง “มกุฎราชกุมาร” ในสมัยรัชกาลที่ 5 ไปจนถึงการตรา “พระราชกฤษฎีกาตั้งรัชทายาท” ในสมัยรัชกาลที่ 6 โปรดติดตามอ่าน

ที่มา :

[1] สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, การเมืองการปกครองไทย : พ.ศ. 1762-2500, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพมหานคร: เสมาธรรม, 2548)
[2] เบนจามิน เอ. บัทสัน, อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม, แปลโดย กาญจนี ละอองศรี และคณะ, มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 1 (กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2543)
[3] ปรามินทร์ เครือทอง, “กรุงศรีปฏิวัติ: เจ้าอ้าย เจ้ายี่ เจ้าสาม ในการปฏิวัติ “ตัดหน้า” หรือ “ส้มหล่น”, ศิลปวัฒนธรรม, ปีที่ 32, ฉบับที่ 11
[4] มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์, จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักสยาม, แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร, พิมพ์ครั้งที่ 2 (นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2548)
[5] สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, การเมืองการปกครองไทย : พ.ศ. 1762-2500, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพมหานคร: เสมาธรรม, 2548)
[6] ปรามินทร์ เครือทอง, “กรุงศรีปฏิวัติ : ศึก 2 ราชวงศ์ วงศ์พระรามรบวงศ์พระอินทร์”, ศิลปวัฒนธรรม, ปี ที่ 32, ฉบับที่ 9
[7] ถนอม อนามวัฒน์และคณะ, ประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่สมัยเริ่มแรกจนถึงสิ ้นอยุธยา, ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, พิมพ์ครั้งที่ 3 (กรุงเทพมหานคร: อมรการพิมพ์, 2528)
[8] เสนีย์ ปราโมช, ม.ร.ว., กฎหมายสมัยอยุธยา, คณะกรรมการจัดงานอนุสรณ์อยุธยา, พิมพ์ครั้งที่ 1 (พระนคร: ศิวพร, 2510)

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า