‘ตำนานพื้นบ้าน’ การบอกเล่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ที่มากกว่าแค่เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์

เวลาเราอ่านตำนาน นิทานปรัมปราท้องถิ่น ที่มีการบอกเล่าในแบบมุขปาฐะ หรือการจดบันทึกลงในเอกสารหรือใบลาน เรามักจะพบว่าตำนานเหล่านั้นมักสอดแทรกเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์อยู่บ่อย ๆ

ซึ่งหากเราจะกล่าวว่าตำนานเรื่องนั้นเป็นเรื่องไร้สาระหรือนิทานหลอกเด็กที่คนสมัยก่อนของท้องถิ่นเหล่านั้นแต่งขึ้นมา ไปเสียทั้งหมดเลย ก็ค่อนข้างเป็นความเชื่อที่มองแต่เปลือกภายนอก เพราะถ้าหากเราตัดเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ออกไป แล้วย้อนมองถึงแก่นแท้ สิ่งที่ตำนานเหล่านั้นสื่อในเนื้อหาหรือสอดแทรกเข้ามา ก็มักพบว่านอกจากเรื่องอิทธิฤทธิ์แล้ว ก็ยังมีอีกหลายแง่มุมที่สะท้อนเนื้อหาทั้งในแง่ของ พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มคนในชุมชนดั้งเดิม ความเชื่อ วัฒนธรรม ภูมินามศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ความเป็นอยู่ ฯลฯ ของท้องถิ่นนั้น ๆ ( ผู้เขียนไม่ได้สนับสนุนให้เชื่อเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ว่ามีจริง เพียงแต่พูดถึงข้อเท็จจริงที่นอกเหนือจากเรื่องเหนือธรรมชาติ ที่ตำนานเหล่านั้นสะท้อนให้เราเห็นเพียงเท่านั้น )

ตำนานเหล่านี้บางครั้งก็ยังอธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่าง ๆ โดยมักผูกกับตำนานเรื่องเหนือธรรมชาติ ซึ่งต่อมามีการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในภายหลัง แล้วมีแนวโน้มว่า เนื้อหาบางส่วนที่มีการกล่าวถึงในตำนานนิทานพื้นบ้าน อาจจะมีเค้าโครงจากเรื่องจริงอยู่บ้าง อย่างเช่นตำนานการล่มสลายของโยนก โดยมีการกล่าวถึงเรื่องนี้ในเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่ชื่อ”ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๑” ความว่า

“…ศาสนาพระพุทธเจ้าล่วงไปได้ ๑๐๐๓ ปี พระองค์มหาชัยชนะเป็นกษัตริย์มาได้ปีหนึ่งอายุได้ ๗๐ ปี เดือน ๗ แรม ๗ ค่ำ วันเสาร์ ครั้งนั้นคนทั้งหลายก็พากันไปเที่ยวยังแม่น้ำกุกกุฎนที ได้เห็นปลาตะเพียนเผือกตัวหนึ่ง ใหญ่เท่าต้นตาล ยาวประมาณ ๗ วา แล้วเขาก็พากันไปทุบปลาตัวนั้นตาย แล้วก็พากันลากมาถวายมหากษัตริย์เจ้า พระองค์ก็มีอาชญาให้ตัดเป็นท่อนแจกกันกินทั่วทั้งเวียงนั้นแล ครั้นว่าบริโภคกันเสร็จแล้วดั่งนั้น สุริยอาทิตย์ก็ตกไปแล้ว ก็ได้ยินเสียงเหมือนดั่งแผ่นดินดังสนั่นหวั่นไหว ประดุจดังว่าเวียงโยนกนครหลวงที่นี้จักเกลื่อนจักพังไปนั้นแล แล้วก็หายไปครั้งหนึ่ง ครั้นถึงมัชฌิมยามก็ซ้ำดังมาเป็นคำรบสองแล้วก็หายนั้นแล ถึงปัจฉิมยามก็ซ้ำดังมาอีกเป็นคำรบสาม หนที่สามนี้ดังยิ่งกว่าทุกครั้งทุกคราวที่ได้ยินมาแล้ว กาลนั้นเวียงโยนกนครหลวงที่นั้นก็ยุบจมลงเกิดเป็นหนองอันใหญ่ ยามนั้นคนทั้งหลายอันมีในเวียงที่นั้น มีพระมหากษัตริย์เป็นประธาน ก็วินาศฉิบหายตกไปในน้ำที่นั้นสิ้น…”

สรุปเนื้อเรื่องในเหตุการณ์แบบเข้าใจง่าย ๆ คือ ในยุคหนึ่ง ชาวบ้านในเมืองโยนกได้ไปหาปลาตามวิถีชีวิตของชาวเมืองในแม่น้ำกก แล้วพบกับปลาไหลเผือกต่อมาก็มีการสังหารปลาไหลเผือกและแบ่งให้ทุกครัวเรือน ภายหลังในคืนนั้นเมืองโยนกก็ได้เกิดแผ่นดินไหวและล่มสลายลงไปในใต้น้ำ ( อาจจะตีความได้ว่า ปลาไหลเผือกตัวนี้อาจจะเป็นพญานาค หรือ บริวารของพญานาค เนื่องจากคนในสมัยก่อนนับถือว่าปลาไหลเผือกเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และมักผูกโยงกับเรื่องพญานาคบ่อย ๆ )

ต่อมาในภายหลัง กรมทรัพยากรธรณีมีการเปิดเผยข้อมูลว่า จากการศึกษารอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนแม่จันนั้น เป็นพื้นที่ที่มีพลัง อาจจะเป็นไปได้ว่าเคยมีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในบริเวณนี้ และสอดคล้องกับในตำนานว่าอาณาจักรโยนกได้ล่มสลายลงเพราะเกิดแผ่นดินไหว และในตำนานยังสะท้อนให้เห็นถึงการใช้ชีวิตของชาวเมืองที่มีการออกไปหาปลาจับปลา พอได้ปลาตัวใหญ่มาก็มาแบ่งให้ชาวเมือง

อ่านมาถึงตอนนี้หลาย ๆ ท่านคงนึกถึง นิทานพื้นบ้านอีกเรื่องที่อยู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ เรื่องผาแดงนางไอ่ ที่มีพล็อตเรื่องประมาณว่า

“มีเมืองหนึ่งชื่อว่าเมืองเอกชะธีตา มีพระราชาคือ พญาขอม ในเดือน ๖ มีการจัดงานบุญบั้งไฟในเมืองเอกชะธีตา โดยมีการแข่งขันกันว่า หากบั้งไฟใครขึ้นสู่ฟ้าได้นานที่สุด จะยก “นางไอ่” ( ธิดาพญาขอม ) ให้เป็นคู่ครอง ซึ่งมีหลาย ๆ เมืองเข้าแข่งขัน โดยหนึ่งในนั้นคือ “ท้าวผาแดง” จากเมืองผาโพงเข้าแข่งขันด้วย แต่ปรากฏว่าบั้งไฟของท้าวผาแดงเกิดการระเบิด แต่สุดท้ายท้าวผาแดงกับนางไอ่ ก็ลอบคบหากับนางไอ่ แต่ก็ยังมี “ท้าวพังคี” โอรสของท้าวศรีสุทโธ ซึ่งเป็นพญานาค ได้ยินข่าวว่านางไอ่เป็นหญิงสาวที่สวยงามมาก จึงแปลงกายเป็น “กระฮอกด่อน” ( กระรอกสีขาว ) ไปแอบชมโฉมของนางไอ่ นางไอ่เจอจึงคิดอยากได้ สั่งให้พรานไปจับมา แต่พรานกลับยิงกระรอกจนตาย ก่อนตายท้าวผาแดงได้อธิษฐานให้ตัวเองตัวใหญ่ขึ้นและให้ชาวเมืองกินได้ทั้งเมือง ท้าวศรีสุทโธทราบข่าวว่าโอรสตนเองตาย จึงพิโรธมาก และพาบริวารไปถล่มเมืองเอกชะธีตาจนล่มสลายลง”

ซึ่งพล็อตเรื่องตำนานทั้งสองคล้ายกันมาก จึงอาจสันนิษฐานต่อไปได้ว่า ทั้งสองบริเวณที่เป็นต้นกำเนิดสองตำนานนี้อาจจะมีวัฒนธรรม ความเชื่อ ที่คล้ายคลึง หรือเชื่อมโยงกันได้

ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่านี่เป็นหลักฐานหนึ่งที่แสดงให้เราเห็นว่า ตำนานท้องถิ่นไม่ใช่แค่เรื่องไร้สาระอย่างที่หลาย ๆ คนเข้าใจอย่างแน่นอน หรือแม้แต่เรื่อง พญาคันคากที่ขึ้นไปรบกับแถน แล้วมีการทำสัญญากับแถนว่าจะส่งสัญญาณคือจะจุดบั้งไฟขึ้นไปบนฟ้าเพื่อเป็นสัญญาณให้แถนส่งฝนลงมา ก็แสดงให้เห็นว่าคนในภาคตะวันออกเฉียงใต้ และอาจจะมีบริเวณอื่นด้วย ( นิทานนี้เป็นตำนานของ จังหวัดยโสธร ) สมัยก่อนมีการนับถือ แถน นับถือคางคกเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นสัตว์ที่เรียกฟ้าเรียกฝน ฯลฯ

การบอกเล่าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นผ่านตำนานหรือนิทานพื้นบ้านหลายครั้ง ที่มักผูกโยงกับเรื่องของอิทธิฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ เรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติ ก็อาจจะเนื่องมาจาก คนสมัยก่อนนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติมาก การส่งผ่านข้อมูลลักษณะนี้จึงเป็นการผูกโยงให้เข้าถึงกลุ่มคนได้มากกว่า และอาจเกิดจากอิทธิพลทางศาสนาที่เผยแพร่เข้ามา แล้วมีการผสมผสานกับตำนานท้องถิ่นและวิถีชีวิตจนเกิดเป็นตำนาน นิทานพื้นบ้าน ที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้

สามารถกล่าวโดยสรุปได้ว่า ตำนาน นิทานพื้นบ้าน ฯลฯ เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่งซึ่งสำคัญ และไม่ควรละทิ้ง ต่อการศึกษาพัฒนาการความเป็นมาของชุมชน ความเชื่อ วัฒนธรรม ของชุมชนท้องถิ่น เพราะหากเรามองให้ลึกกว่าเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ ก็มักจะพบอะไรหลาย ๆ เรื่องที่เป็นข้อมูลในการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจท้องถิ่นและชุมชนเหล่านั้นได้มากขึ้นอย่างยิ่ง

อ้างอิง :

[1] หอสมุดแห่งชาติ ชลบุรี , ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 61 พิมพ์เป็นอนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี เจ้าราชบุตร (วงศ์ตวัน ณ เชียงใหม่ ) , สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ 2566
[2] mgronline.com ,”รอยเลื่อนแม่จัน” กับ “โยนกเชียงแสน” ตำนานที่อาจมีอายุมากกว่า 1,800 ปี, สืบค้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ 2566

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า