‘ไทย’ เสี่ยง ‘เสียเอกราช!’ จากสงครามล่าอาณานิคมยุคใหม่ ในศตวรรษที่ 21 ที่เราแทบไม่รู้ตัว

ในอดีตการล่าอาณานิคมหรือเมืองขึ้น (Colonisation) เป็นการกระทำของชาติมหาอำนาจทางทะเลและเทคโนโลยีทางทหาร โดยเฉพาะประเทศตะวันตกเช่น อังกฤษ สเปน ฝรั่งเศส หรือฮอลันดา ลัทธิล่าอาณานิคมเกิดขึ้นจากการเติบโตของระบบพาณิชย์นิยมที่บรรดาเหล่าประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ ได้ตั้งบรรษัทค้าขายขึ้นในนามรัฐบาลร่วมกับเอกชน

ในระยะแรกพื้นที่อาณานิคมอาจเป็นเพียงค่ายพักสินค้าและกองเรือชั่วคราว ชาวยุโรปไม่ได้มีจุดประสงค์จะไปตั้งถิ่นที่อยู่ถาวร ต่อมาก็ได้เกิดแนวคิดย้ายพลเมืองของตนไปยังดินแดนใหม่เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกในยุโรปนั้นเริ่มน้อยลง สภาวะการแสวงหา ‘โลกใหม่’ ของชาวยุโรป ทำให้เกิด ‘การเมือง’ ที่ต้องเข้าเกี่ยวพันกับชนพื้นเมืองเดิมในประเทศที่ตนไปตั้งอาณานิคม

แรก ๆ ก็ไม่ได้มีปัญหากระทบกระทั่งเท่าใด แต่เมื่อต่อมาประชากรคนขาวกลับมากขึ้น ทำให้มีการกระทบกระทั่งกันระหว่างพวกเขากับชนพื้นเมืองเดิม ท้ายที่สุด รัฐบาลเจ้าอาณานิคมก็ได้เห็นชอบในการ ‘ยึด’ เอาดินแดนเหล่านั้นมาเป็นอาณานิคมโดยสมบูรณ์ และมีการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่นี้โดยถาวร

ชาวยุโรปได้สถาปนารัฐบาลอาณานิคมขึ้นเพื่อปกครองพวกเขาด้วยกันรวมถึงชนพื้นเมือง กระนั้น อำนาจในการปกครอง อำนาจบริหารการจัดการ กระทั่งถึงการบริหารทรัพยากรล้วนตกอยู่ภายใต้การตัดสินใจของคนขาว มีการอ้างการกระทำเพื่อ ‘ความศิวิไลซ์’ และ ‘สิทธิมนุษยชน’ เพื่อถือสิทธิอำนาจเด็ดขาดเข้าไปจัดกิจการของชาวพื้นเมืองที่พวกเขาเห็นว่า‘ล้าหลัง’ และยัง ‘ป่าเถื่อน’ (savage)

รูปแบบการปกครองของชาวตะวันตกเช่นนี้แพร่ไปทั่วโลก ในทุก ๆ ทวีปที่กองกำลังของพวกเขาไปถึงก็มักตกเป็นส่วนหนึ่งของ ‘อาณานิคม’ เหล่านี้ ว่ากันว่าความรุ่มรวยของจักรวรรดิอังกฤษนั้น แผ่ไพศาลกระทั่งถูกเรียกว่า ‘ดินแดนที่อาทิตย์ไม่เคยตกดิน’ เพราะเนื่องจากขณะที่เรากำลังมองดูพระอาทิตย์ตกที่อังกฤษ ในเวลาเดียวกันนั้นออสเตรเลียหรืออินเดียก็เป็นเวลากลางวันพอดี ไม่ว่าจะเดินทางขึ้นเหนือหรือลงใต้ภายใต้แผนที่ชี้เขตแดนของอาณาจักรนี้ ก็ย่อมพบว่าเป็นดินแดนที่ ‘ความเป็นอังกฤษ’ แผ่ไปถึงโดยทั่วกัน

ทั้งนี้ แนวคิดอาณานิคมแบบดั้งเดิม (traditional) คือการเข้าไปมีอิทธิพล ‘โดยตรง’ (directly) ต่อกิจการภายในของประเทศเมืองขึ้น ทั้งระบบกฎหมาย การปกครอง ลัทธิธรรมเนียม/ศาสนา กระทั่งถึงการจัดรูปแบบการศึกษา เหล่านี้ล้วนอาศัยระบบที่อิงแอบมาจากประเทศแม่ในยุโรปทั้งสิ้น เป้าหมายสำคัญของรัฐบาลอาณานิคมคือการจัดสรรทรัพยากร ทั้งการแปรรูปหรือซื้อขายเพื่อเปลี่ยนเป็นตัวเงิน แล้วส่งเอาความมั่งคั่งเหล่านี้กลับไปยังประเทศแม่ ด้วยเหตุนี้ ระบอบอาณานิคมก่อนคริศตวรรษที่ 20 นั้น จึงเป็นระบอบที่มีโครงสร้างชัดเจน มองเห็นได้ง่าย และทำไปเพื่อผลประโยชน์ในการขูดรีดและแย่งชิงทรัพยากรจากประเทศผู้ตกอยู่ภายใต้การปกครองเป็นสำคัญ [1] [2] [3]

แม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศขนาดเล็กไม่กี่ประเทศที่รอดพ้นมาจากการล่าอาณานิคมโดยเฉพาะอังกฤษ (ทางใต้-ทางเหนือ) และฝรั่งเศส (อีสาน-ตะวันออก) อย่างไรก็ดี ในช่วงรัชกาลที่ 5 จนถึงต้นรัชกาลที่ 8 ประเทศไทยกลับต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต (extraterritoriality) หรือเอกราชทางการศาลให้แก่ประเทศตะวันตกโดยปริยาย กล่าวคือ ศาลไทยไม่มีอำนาจตัดสินคดีความชาวต่างประเทศที่ทำผิดในราชอาณาจักร (แม้เราจะมีเอกราชทางอธิปไตยสมบูรณ์) เพราะเนื่องจากชาติตะวันตกไม่ยอมรับกฎหมายไทยโดยอ้างว่า ‘ไม่ศิวิไลซ์’ การดำเนินแก้ไขระบบกฎหมายให้เป็นอย่างอารยะจึงเริ่มกระทำมาตั้งแต่ช่วงรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา จนแล้วเสร็จในประเด็นใหญ่ ๆ ในช่วงปลายรัชกาลที่ 6 อย่างไรก็ดี กว่าที่บรรดาประเทศมหาอำนาจต่าง ๆ จะยอมรับและบอกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตก็ล่วงไปในช่วง พ.ศ. 2481-82 ซึ่งเป็นสมัยรัฐบาลคณะราษฎรแล้ว [4]

จะเห็นได้ว่าสำหรับประเทศไทย เอกราชสมบูรณ์เป็นสิ่งที่คณะราษฎรให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก แม้จะมีแนวคิดที่สุดโต่งในบางเรื่อง แต่บรรดาคณะราษฎรเองก็กลับไม่ยอมให้ประเทศชาติต้องถูกลิดรอนอำนาจอธิปไตยไป ไม่ว่าจะโดยทางตรงและทางอ้อม กระทั่งในช่วงญี่ปุ่นบุกไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นก็พยายามอย่างเต็มที่ให้ไทยสามารถรักษาอำนาจอธิปไตยไว้ให้ได้ แม้ว่าบางส่วนปฏิเสธไม่ได้ว่าญี่ปุ่นนั้นใช้กำลังบีบบังคับเพื่อให้ไทยเข้าร่วมข้างอักษะของตนร่วมกับเยอรมัน กระนั้นก็ดี หลังจากสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยเกือบจะกลายเป็นประเทศแพ้สงคราม แต่กระนั้นด้วยไหวพริบของบรรดาเสรีไทยและหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชเป็นสำคัญ ไทยก็รอดพ้นจากการตกเป็น ‘เมืองขึ้น’ ของอังกฤษไปได้อีกครั้งโดยการประกาศว่าการตัดสินของจอมพล ป. ในการเข้าร่วมกับญี่ปุ่นนั้นเป็นโมฆะ แม้ว่าตอนแรกปรีดี พนมยงค์ เกือบจะทำให้ไทยต้องตกเป็นรัฐอารักขาของอังกฤษแล้วก็ตามแต่โชคก็ยังอยู่ข้างไทย เราเลยรอดมาได้ [5]

ปัจจุบัน แนวโน้มที่ประเทศมหาอำนาจจะกลับไปใช้รูปแบบระบอบอาณานิคมแบบเก่านั้นย่อมเป็นไปไม่ได้เสียแล้ว ไม่มีธรรมเนียมระหว่างประเทศข้อใดอนุญาตให้ประเทศหนึ่งประเทศใดเข้าไปแทรกแซงหรือมีอิทธิพลเหนืออำนาจอธิปไตยของประเทศอื่น เนื่องจากการถือหลักทุกประเทศไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ย่อมมีความเท่าเทียมกัน (เฉพาะในหลักการทั่วไป แต่ในทางปฏิบัตินั้นการเมืองระหว่างประเทศมีลักษณะไม่เท่าเทียม) อย่างไรก็ดี ตั้งแต่สงครามเย็นเป็นต้นมาจะเห็นได้ว่าสงครามในลักษณะเดียวกับสงครามโลกครั้งที่ 1-2 ที่มีการเผชิญหน้ากันของฝ่ายต่าง ๆ อย่างเปิดเผยนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากแล้วในอนาคตอันใกล้

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าสงครามแย่งชิงและครอบครองความเป็นใหญ่ (hegemony) จะหายไป เหล่าประเทศมหาอำนาจต่างได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการแทรกแซงทางการเมืองประเทศอื่นมาในลักษณะอื่นที่แนบเนียนกว่าแทนโดยไม่เข้าไปมีบทบาทโดยตรงอย่างโจ่งแจ้ง ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าในช่วงหลังสงครามเย็นเป็นมา ‘ลูกพี่’ ของค่ายต่าง ๆ ได้แทรกแซงประเทศเล็ก ๆ เพื่อนำมาเป็นบริวารทางการเมืองระหว่างประเทศ เราเรียกสิ่งนี้ว่า ‘สงครามตัวแทน’ (proxy war)

สงครามตัวแทนนี้ก็มีในหลายลักษณะ ทั้งที่เป็นสงครามที่มีการปะทะกันจริง ๆ เช่นที่เกิดขึ้นในโลกอาหรับและตะวันออกกลาง กระทั่ง ‘สงครามทางความคิด’ ที่เหล่า ‘ลูกพี่’ ในฐานะประเทศมหาอำนาจ ต่างใช้อิทธิพลหรือเครือข่ายในการแทรกแซงการเมืองของเหล่าประเทศอื่น ๆ เพื่อนำมาเป็นรัฐบริวาร (client state) ของตนเอง

สำหรับประเทศไทย เราได้ตกเป็นสนามในการแย่งชิงความเป็นใหญ่นี้มานานนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้บางครั้งเราจะเอนเอียงจนเรียกได้ว่าตกเป็นรัฐบริวารของมหาอำนาจอยู่บ้างในบางช่วง เช่น ปี 2500 จนถึง 2519 เป็นต้นมา ช่วงเวลานั้นเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องเลือกสักทาง ว่าจะอยู่ ‘ค่าย’ ไหน ระหว่างเสรีประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์ หากไม่เลือกข้างแล้วจะมีแต่ความย่อยยับเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศพื้นบ้านเราเป็นแน่ นั่นเป็นสถานการณ์บีบบังคับที่เข้าใจได้ หากแต่หลังจากอิทธิพลของโลกคอมมิวนิสต์เสื่อมถอยลง ไทยก็สามารถดำเนินนโยบายอิสระได้อีกครั้ง [6]

กระนั้นก็ดี ปัจจุบันแม้ภัยคอมมิวนิสต์จะจบลงไปแล้ว หากแต่ประเทศมหาอำนาจตะวันตกต่างก็รู้ดีว่าการมีอำนาจ (influence) เหนือประเทศขนาดเล็กที่ตนมองว่าเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางความมั่นคงและเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพื้นที่ที่ใกล้ชิดกับประเทศจีน ที่พวกเขามองว่าเป็นทั้งคู่แข่งด้านเศรษฐกิจและการเมือง จากการประท้วงที่ฮ่องกงที่ประทุขึ้นในช่วง 2562-2563 เห็นได้ชัดว่าสงครามตัวแทนได้กลับมาสู่พื้นที่นี้อีกครั้ง มีการสนับสนุนและออกนอกหน้าอย่างเปิดเผยต่อความขัดแย้งภายในประเทศระหว่างพลเมืองฮ่องกงบางส่วนกับรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ (ก้งฉานตั๋ง) เหล่าประเทศมหาอำนาจแม้นไม่ได้สนับสนุนกำลังอาวุธและทหารอีกต่อไป แต่พวกเขากลับดำเนินการแทรกแซงการเมืองในฮ่องกงผ่าน ‘คำแนะนำ’ ในการเคลื่อนไหวให้แก่แกนนำของม็อบพลเมืองฮ่องกง ซึ่งประเด็นนี้ทำให้รัฐบาลจีนไม่พอใจมาก เพราะถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นโดยตรง และเป็นการกระทำที่ละเมิดข้อปฏิบัติระหว่างประเทศอย่างชัดแจ้ง [7]

คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวด้วยว่า ความขัดแย้งในภูมิภาคนี้ ตั้งแต่ฮ่องกงจนถึงประเทศไทยในห้วงเวลาเดียวกันคือ 2562-2563 ล้วนเป็นส่วนขยายของ ‘สงครามทางความคิด’ ที่มีชาติมหาอำนาจเป็นผู้ชักใยความขัดแย้งนี้อยู่เบื้องหลัง ทั้งรูปแบบ ข้อเรียกร้อง การประท้วง จนถึงการประกาศตนว่าเป็นพันธมิตรซึ่งกันและกัน (ที่ชัดเจนคือการปรากฏตัวของพันธมิตรชานม) การต่อต้านรัฐบาลท้องถิ่นที่เกิดเป็นกระแสเดียวกันตั้งแต่ ฮ่องกง ไทย พม่า ลาว และมาเลเซีย กลายเป็นสิ่งที่นักสังเกตการณ์การเมืองระหว่างประเทศสามารถจับสังเกตได้ไม่ยากถึงอาการ ‘ลุกลี้ลุกลน’ ของผู้แทนมหาอำนาจบางประเทศ ที่กระโดดเข้าไปมีส่วนร่วมในความขัดแย้งอย่างเต็มที่ ทั้งในลักษณะของผู้ให้คำปรึกษา คำแนะนำและผู้สนับสนุน แม้จะไม่ประกาศตัวในที่สาธารณะก็ตาม

การกระทำเหล่านี้ของประเทศมหาอำนาจในปัจจุบัน เป็นการละเมิดหลักอธิปไตยของประเทศอื่น ๆ อย่างชัดแจ้ง การแทรกแซงอธิปไตยแม้จะโดยทางตรงและทางอ้อมเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ชัดเจนว่า ประเทศมหาอำนาจเหล่านี้หาได้เคารพในข้อตกลงระหว่างประเทศขั้นพื้นฐานเลย พวกเขายังมองถึงสภาวะ ‘กึ่งอาณานิคม’ คือความปรารถนาที่จะเข้าไปควบคุมหรือมีอำนาจเหนือประเทศอื่น ๆ ด้วยข้ออ้างถึงความเป็นคุณค่าสากล (universal values) ที่ได้รับการประกอบสร้างจากมาตรฐานของสังคมและความคิดของตะวันตกเท่านั้น อาทิ ข้ออ้างถึงประชาธิปไตยหรือมนุษยชน ว่าประเทศอื่น ๆ นั้นไร้ซึ่งสิ่งนี้ การล่าอาณานิคมแบบใหม่คือการบังคับให้ทุกชาติในโลกมีโลกทัศน์แบบตะวันตก และการส่งออกคุณค่าสากลเหล่านี้ก็ถูกบงการโดยประเทศมหาอำนาจเหล่านั้นแทบทั้งสิ้น เช่น ข้ออ้างในเรื่องการสนับสนุนกระบวนการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย (democratisation) ซึ่งทำให้ตัวแทนของประเทศเหล่านี้สามารถอ้างและกล่าวประณามประเทศอื่น ๆ ได้อย่างเปิดเผยว่าไม่ได้ดำเนินไปตามครรลองของคุณค่าสากล (ที่พวกเขากำหนดเอง) ดังกล่าว

ดังนั้น ประเทศไทยในปัจจุบันก็หาใช่ข้อยกเว้นของรูปแบบที่เรียกว่า ‘สภาวะกึ่งอาณานิคม’ ดังเช่นตัวอย่างการโจมตีของคนบางกลุ่มที่มีความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกว่า ไทยเป็นรัฐบริวารของ ‘จีน’ การปลดแอกไทยจากจีนจึงเป็นความชอบธรรมที่จะต้องทำให้ได้ ทั้งที่จริงแล้ว ไทยเพิ่งจะมีความสัมพันธ์กับจีนเมื่อไม่นานมานี้ กล่าวคือ ไทยติดต่อกับจีน (ใหม่) เป็นทางการครั้งแรกหลังปี 2518 เป็นต้นมา และเพิ่งจะเจริญไมตรีเต็มที่ในช่วงต้น 2530 เป็นต้นมา และการที่ไทยมีภูมิรัฐศาสตร์ติดต่อกับประเทศจีน ตามมองแบบมุมมองสัจนิยม (realism) เราก็ต้องมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศใกล้เคียงเป็นธรรมดาเพราะย่อมกระทบถึงผลประโยชน์และความมั่นคงมากกว่าประเทศที่ตั้งอยู่ห่างไกล อีกทั้งปัจจุบันไทยก็ได้ขยับไปมองถึงประเทศทางตะวันออกโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศอินเดีย ซึ่งประกาศตัวถึงความเป็นกลางในความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐ ฉะนั้น กระทรวงการต่างประเทศไทยพยายามรักษาความเป็นกลางและการมีนโยบายเป็นของตัวเอง นี่เป็นนโยบายอันเป็นหัวใจสำคัญของการต่างประเทศของไทยมาตั้งแต่ก่อตั้งกระทรวงในช่วงรัชกาลที่ 5

ด้วยเหตุนี้ เจตนารมณ์ในการพิทักษ์เอกราชสมบูรณ์และการรักษาไว้ซึ่งอธิปไตยของชาติที่จะมิยอมให้ชาติใดมาทำการแทรกแซงหรือมีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง การล่าอาณานิคมทางความคิดโดยการอ้างหลักคุณค่าสากล อย่างไรเสียนั่นก็คือการล่าอาณานิคมในยุคสมัยใหม่ที่แนบเนียนมากขึ้น ปัจจุบันทุกประเทศล้วนปฏิเสธหลักการเข้าไปแทรกแซงการเมืองของประเทศใด ๆ ซึ่งโดยลำพังแล้วประเทศมหาอำนาจไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงโดยตรงได้ ยกเว้นเสียแต่จะมี‘นายหน้า’ (agents) อันเป็นคนในชาติที่เห็นผลประโยชน์ของตนเองมากกว่าผลประโยชน์ของชาติ รับบทเป็น ‘นายหน้าผู้ขายชาติ’ ที่สุดท้ายมักเสวยสุขอย่างสำราญบนความทุกข์ยากของคนที่เหลือ เราจะยอมให้อนาคตของชาติตกอยู่ภายใต้กำมือของคนจำพวกนี้ละหรือ ?

อ้างอิง :

[1] Lawrence James. (1994). The rise and fall of the British Empire. Great Britain : Abacus Book.
[2] Brian Lapping. (1989). End of empire. London : Paladin.
[3] John Bowle. (1977). The imperial achievement : the rise and transformation of the British Empire. Great Britain : Pelican Book.
[4] ดิเรก ชัยนาม. การสิ้นสุดแห่งสภาพนอกอาณาเขตต์ในกรุงสยาม. ที่ระลึกในการฌาปนกิจศพ นายเสียง พนมยงค์ ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 2 พฤศจิกายน 2479.
[5] พีระ เจริญวัฒนนุกูล. ปาฏิหาริย์นั้นมีจริง : ความบังเอิญของไทยในการเอาตัวรอดจากอังกฤษหลังสงครามโลกครั้งที่สอง. (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์). 2566.
[6] สุรพงษ์ ชัยนาม. นโยบายของไทยต่อลาว : นโยบายต่างประเทศไทยต่อประเทศเพื่อนบ้านในยุคสงครามเย็น. (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สยาม). 2559.
[7] Fact Sheet: U.S. Interference in Hong Kong Affairs and Support for Anti-China, Destabilizing Forces

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r