ดร. โชติ คุ้มพันธ์ เหยื่ออยุติธรรม ตอกย้ำอำนาจเผด็จการคณะราษฎร

“รัฐบาลคณะราษฎรเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยในอุดมคติ ที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในการพูด อ่าน เขียน ได้อย่างเสรี และการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2475 เป็นการเปิดฟ้าใหม่ของประเทศไทยให้แจ้งสว่างคาตา”

นี่คือสิ่งที่คนไทยจำนวนหนึ่งเชื่อกันอยู่ในปัจจุบัน และยกให้คณะราษฎรเป็นฮีโร่แห่งประชาธิปไตย

ทั้ง ๆ ที่เรื่องจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย

ทันทีที่คณะราษฎรได้ขึ้นมามีอำนาจ พวกเขาได้เริ่มทำการกวาดล้างผู้เห็นต่าง จากการมองว่าเป็นเสี้ยนหนามในระบอบการปกครองใหม่ เริ่มตั้งแต่พระบรมวงศานุวงศ์ เจ้านาย ขุนนาง ข้าราการ กระทั่งประชาชนทั่วไป ใครก็ตามที่แสดงความเห็นเป็นอื่นจากที่รัฐบาลคณะราษฎรอนุญาตให้พูด ก็จะต้องถูกกำจัดชนิดที่ว่าแม้แต่ลูกเมียก็ไม่ได้มีโอกาสกล่าวคำร่ำลา

ภายหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดชในปี พ.ศ. 2476 รัฐบาลคณะราษฎร ซึ่งมีพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้สร้างเครื่องมือทางการเมืองขึ้นมาชิ้นหนึ่ง คือ “พระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ” ในวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 หรือหลังกบฏบวรเดชจบลงเกือบ 1 เดือน

กฎหมายชิ้นนี้ให้อำนาจแก่รัฐบาลมาก เนื่องจากบทลงโทษในความผิดฐานกบฏแต่เดิมนั้น รัฐบาลมองว่ายังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เพราะยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ยังเห็นต่างและมีความพยายามต่อต้านรัฐบาล แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถกระทำการใด ๆ ได้เนื่องจากความผิดต่าง ๆ ยังไม่ปรากฏ

วิธีการเล่นงานผู้เห็นต่างทางการเมืองด้วยการ “จำกัดสิทธิ์” จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะถึงแม้ว่าความผิดจริง ๆ จะยังไม่เกิดขึ้น แต่หากรัฐบาลเห็นว่าผู้เห็นต่างเหล่านี้ “มีแนวโน้มต่อต้านรัฐบาล” พวกเขาก็สามารถลงดาบผู้เห็นต่างเหล่านั้นได้ในทันที ตามข้อความในพระราชบัญญัติ ความว่า

“มาตรา 3 ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ เป็นปฏิปักษ์ต่อ หรือเพื่อให้ประชาชนเสื่อมความนิยมหรือหวาดหวั่นต่อการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม แม้การกระทำดั่งกล่าวมาแล้วจะเป็นเพียงการคบคิด หรือทำความตกลง หรือจะเตรียมการก็ตาม ท่านว่า ผู้นั้นมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีจนถึงยี่สิบปี หรือปรับตั้งแต่ 500 บาทจนถึง 5,000 บาท หรือทั้งจำทำปรับ”

จะเห็นได้ว่า แค่รัฐบาลเชื่อว่าผู้เห็นต่างเหล่านั้น “ได้คบคิด” ก็ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายฉบับนี้แล้ว และกฎหมายดังกล่าวยังระบุโทษไว้ใน มาตรา 4 ว่า

“เพื่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อเจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยรายงานว่า บุคคลใดดำเนินการอันจะเป็นเหตุให้เกิดความผิดตามมาตรา 3 ข้างต้น ให้กระทรวงมหาดไทยส่งเรื่องให้คณะกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีจะได้แต่งตั้งขึ้นเพื่อไต่สวนวินิจฉัย ถ้าเห็นว่า มีมูล ก็ให้ทำความเห็นเพื่อให้บุคคลนั้นอยู่ภายในเขตต์ที่อันมีกำหนดได้เป็นเวลาไม่เกินสิบปี และให้กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจสั่งการให้เป็นไปตามความเห็นนั้น

เห็นได้ชัดเจนว่า “การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง” เกิดขึ้นครั้งแรกในยุคประชาธิปไตยของคณะราษฎรนี้เอง

และหนึ่งในผู้เคราะห์ร้าย ที่ตกเป็นเหยื่อของเครื่องมือทางการเมืองในยุครุ่งอรุณของประชาธิปไตยนี้คือ ดร. โชติ คุ้มพันธ์ อดีต ส.ส. ประเภทที่ 1 ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็น ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยข้อความในหนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพดร. โชติ บันทึกไว้ว่า

“…ดร.โชติ ได้เห็นว่าการยึดอำนาจของคณะผู้ก่อการ (คณะราษฎร) ได้ทำการโฆษณาไปในทางทำให้คนโง่ มิให้สอนให้ฉลาด แม้แต่รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นตัวบทกฎหมายก็แนะให้คนบูชากราบไหว้อย่างไรเหตุผล จนทำให้ราษฎรในต่างจังหวัดเข้าใจผิดว่ารัฐธรรมนูญเป็นลูกเจ้าคุณพหลฯ เป็นต้น และยิ่งกว่านั้นคณะผู้ก่อการยังตำหนิติเตียนบุคคลในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างรุนแรงโดยหาสาเหตุมิได้ … การกระทำของ ดร.โชติ ดังกล่าวนี้ จึงนำความไม่พอใจมาสู่ผู้ก่อการบางคน โดยหาว่า ดร.โชติ ไม่ร่วมมือแล้วยังตั้งตนเป็นอริอีกด้วย และยิ่งในเวลาต่อมา เมื่อ ดร.โชติ คุ้มพันธ์ ได้ไปปาฐกถา เรื่องหมาดีกว่าคน ก็ยิ่งทำให้ผู้ก่อการโกรธเคืองยิ่งขึ้น โดยแปลเจตนาว่า ดร.โชติ พูดเพื่อกระทบคณะผู้ก่อการ…”

ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์สงครามกลางเมืองขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2476 หรือที่เรียกกันว่า “กบฏบวรเดช” รัฐบาลคณะราษฎรเชื่อว่า ดร. โชติ มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กบฏในครั้งนี้ แต่พวกเขากลับหาหลักฐานผูกมัดตัว ดร.โชติ ไม่ได้ นอกจากความสัมพันธ์กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มกบฏ ได้แก่ พระยาศราภัยพิพัฒ (เลื่อน ศราภัยวานิช) เท่านั้น

ดังนั้น รัฐบาลคณะราษฎรจึงใช้ “พระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ” เป็นเครื่องมือในการกำจัดผู้เห็นต่างอย่างเลือดเย็นที่สุด โดยจะเห็นได้จากข้อความที่บันทึกไว้ในหนังสืออนุสรณ์เล่มเดียวกัน ความว่า…

“…ฉะนั้นในปี พ.ศ. 2477 ดร. โชติ คุ้มพันธ์ ก็ถูกส่งตัวไปกักกันยังไซบีเรียของเมืองไทย คือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีกำหนด 5 ปี ฐานตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญ การถูกกักกันในแม่ฮ่องสอนนับว่ามีความยากลำบากอย่างยิ่ง แต่อาศัยที่ ดร. โชติ เป็นผู้อดทนจึงได้ต่อสู้กับความอดอยากทรมานมาได้โดยไม่ปริปากบ่น … 5 ปีในแดนทรมานที่แม่ฮ่องสอน หาได้ทำความท้อแท้ใจมาสู่ ดร. หนุ่มไม่ ฉะนั้นเมื่อพ้นโทษ เขาจึงยังรักษาอุดมคติเดิมไว้โดยเคร่งครัด…”

น่าแปลกใจที่รัฐบาล ซึ่งอ้างว่าเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย แต่กลับจำกัดสิทธิในการแสดงออกของประชาชนอย่างโหดร้ายทารุณขนาดนี้

ดร. โชติ คุ้มพันธ์ ขณะอยู่ในเขตที่จับกุม อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ดร. โชติ จะรอดพ้นจากข้อหากบฏบวรเดชในครั้งนี้ แต่หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ถูกรัฐบาลจับกุมอีกครั้งในเหตุการณ์กบฏพระยาทรงสุรเดช ในปี พ.ศ. 2481 และได้ถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต โดยต่อมา ดร. โชติ ได้ถูกส่งตัวไปยังคุกนรกเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี และใช้ชีวิตอย่างแสนสาหัสร่วมกับนักโทษการเมืองคนอื่น ๆ จนกระทั่งถูกปล่อยตัวในเวลาต่อมา

นี่คือเรื่องราวของ ดร. โชติ คุ้มพันธ์ หนึ่งในผู้ตกเป็นเหยื่ออำนาจของคณะราษฎร การถูกคุมขังอย่างทรมานเป็นเวลานานถึง 5 ปี จากการถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏโดยไม่มีหลักฐานใด ๆ เป็นสิ่งยืนยันว่ายุคของรัฐบาลคณะราษฎร เป็นยุคที่มีการใช้กฎหมายกำจัดผู้เห็นต่างทางการเมืองอย่างโหดเหี้ยมที่สุด จนแทบไม่น่าเชื่อว่านี่คือรัฐบาลประชาธิปไตยในอุดมคติของกลุ่มม็อบปลดแอก

อ้างอิง :

[1] พระราชบัญญัติจัดการป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2476 ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 50 หน้า 638 วันที่ 12 พฤศจิกายน 2476
[2] หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ดร. โชติ คุ้มพันธ์ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2514

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า