‘สุพรรณแล้วไง ?’ วาทกรรมเหยียดคนต่างจังหวัดของนักการเมืองเมื่อวานซืน

จากที่มีนักการเมืองซึ่งเสนอตัวจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากพรรค ๆ หนึ่ง ได้พูดจาดูหมิ่นเหยียดหยามจังหวัดสุพรรณบุรีว่า

“กังวลนะครับ ว่าประเทศไทยจะกลายเป็นจังหวัดสุพรรณบุรีไป”

คำกล่าวเช่นนี้แม้แต่ปุถุชนทั่วไปก็ตีความได้ว่า เป็นวาจาที่ไม่ควรหลุดออกมาจากปากของหัวหน้าพรรคการเมืองระดับชาติ ยิ่งเป็นหนึ่งในแคนดิแดต (ว่าที่ผู้ชิง) ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว คำพูดในลักษณะด้อยค่าจังหวัดอื่นเช่นนี้ ไม่สมควรที่จะหลุดออกมา ไม่ควรแม้แต่จะคิดในสมองเลยทีเดียว

หากจะให้วิเคราะห์ว่าเหตุใดนักการเมืองที่มีพื้นฐานมาจากชนชั้นกลางในเมืองหลวง (กรุงเทพฯ) มีคุณวุฒิการศึกษารับรองจากมหาวิทยาลัยระดับชาติและระดับโลกจึงมีทัศนคติแง่ลบต่อคนต่างจังหวัดเช่นนี้ ก็เป็นการวิเคราะห์ที่ไม่เหนือบ่ากว่าแรง เพราะหากใครติดตามยุทธศาสตร์ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ (2566) จะเห็นว่า พรรคการเมืองที่นักการเมืองผู้นี้สังกัดพยายามอย่างมากที่จะกวาดคะแนนจากระบบปาร์ตี้ลิสต์ (แบบสัดส่วน) ความหวังที่จะได้ผู้แทนราษฎรจากระบบแบ่งเขตนั้นแทบจะเรือนรางเต็มที เพราะสนามในระดับแบ่งเขต โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ชนบทอันกว้างใหญ่และมีประชากรทั้งประเทศรวมกันหนาแน่นกว่าในกรุงเทพฯ นั้น เป็นที่ประจักษ์ว่าคะแนนเสียงของพรรค ๆ นี้ซึ่งส่วนมากเน้นแต่เสียงของชนชั้นกลางในเขตเมือง เช่น กรุงเทพฯ ส่วนประชาชนในชนบทซึ่งมีจำนวนมากและกว้างขวางกว่าย่อมไม่ได้เห็นพรรคของเขาในสายตาอยู่แล้ว

ด้วยความรู้สึกที่ว่าพรรคของตนนั้นไม่สามารถเอาชนะใจคนชนบทได้แน่ (เพราะชนบทเป็นสนามของพรรคใหญ่ 3-4 พรรค) ทำให้คุณค่าและเสียงของคนชนบทไม่ใช่สิ่งที่นักการเมืองพวกนี้ปรารถนา จากความคาดหวังที่ต้องการจะเป็นรัฐบาลให้ได้ (กองเชียร์พรรคนี้ก็ดูมั่นใจหนักหนาราวกับว่าจะได้ตั้งรัฐบาลแน่ ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยเลือกตั้งนายกฯ ทางตรงไม่ได้ ยังต้องไปเสนอชื่อกันในรัฐสภาอีก) การได้รับข้อมูลจากแบบสำรวจออนไลน์ว่าคะแนนนิยมของพรรคตนนั้นกำลังพุ่งทะยานขึ้น อาจทำให้เกิดความรู้สึกกระหยิ่มใจมิใช่น้อยจนกล้าที่จะดูถูกว่าวัฒนธรรมทางการเมืองของคนชนบทนั้น ‘มิพึงปรารถนา’ มิฉะนั้นจะใช้คำว่า ‘กังวล’ ไปทำไม

ถ้ามีชาวบ้านสุบรรณนั่งอยู่ตรงนั้น เขาคงจะยกมือขึ้นแล้วถามว่า “พื้นที่ชนบทมีอะไรให้ท่านว่าที่นายกฯ เป็นกังวลใจเล่าครับ ก็ในเมื่อเสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์ และ ส.ส.ที่สำคัญที่สุดคือ ส.ส.แบบแบ่งเขตไม่ใช่หรือครับ ส.ส.แบบนี้ใกล้ชิดประชาชนที่สุด เข้าใจประชาชนที่สุดเพราะเป็นคนในพื้นที่ แต่พวกท่าน… ว่าที่นายก ที่ผ่านมาพวกท่านเล่นทางลัดมาตลอด เพราะลงแต่ระบบปาร์ตี้ลิสต์ ที่พรรคจะจิ้มเอาใครลงก็ได้ ทำไมครับ… ถ้าท่านมั่นใจในตัวท่านว่าเก่งจริง พร้อมเป็นนายกฯ เหตุใดท่านจึงไม่กล้ามาลงสนามแบ่งเขตให้รู้แล้วรู้รอดไปเลยเล่าครับ ?”

เหตุที่สุพรรณบุรีกลายเป็นพื้นที่รับบาปไป เพราะมีอัตลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่นชัดเจนมาก งานวิจัยของ Yoshinori Nishizaki (2011) เรื่อง ‘Political Authority and Provincial Identity in Thailand : The Making of Banharn-buri’ ได้กล่าวถึงที่มาว่าเหตุใดสุพรรณบุรี จากจังหวัดที่แม้จะใกล้กรุงเทพฯ แต่ความเจริญก็ไม่เคยไปถึง แต่ไฉนต่อมาจึงกลายเป็น ‘จังหวัดบรรหารบุรี’ ของบรรหาร ศิลปอาชา (เสียชีวิต 2559) แม้ว่าพรรคชาติไทยจะลงเลือกตั้งกี่ครั้ง ก็ชนะถล่มทลายทุกครั้งไปจนเรียกได้ว่าเป็นพรรคของชาวสุพรรณไปแล้วก็ได้

Nishizaki ให้คำอธิบายว่า ตามประวัติศาสตร์แล้วในอดีตสุพรรณบุรีเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญไม่แพ้อยุธยาและกรุงเทพฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยอยุธยา จากราชวงศ์อู่ทองจนถึงสมรภูมิดอนเจดีย์ ที่พระนเรศวรได้ทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชของหงสาวดีจนได้รับชัยชนะ ความภาคภูมิใจของชาวสุพรรณต่ออดีตของพวกเขาจึงเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสำนึกในบ้านเกิดอยู่เสมอ แต่ต่อมาในภายหลังจังหวัดแห่งนี้กลับถูก ‘เพิกเฉย’ จากชนชั้นนำที่กรุงเทพฯ ในขณะที่กรุงเทพฯ เจริญขึ้นเรื่อย ๆ แต่ถนนดี ๆ สักเส้นในจังหวัดสุพรรณก็ไม่มี กระทั่งถึงยุคที่บรรหารลืมตาดูโลกจนเป็นวัยหนุ่มแล้ว ซึ่งเขาก็เล่าว่าในช่วงแรกที่เขาเดินทางจากสุพรรณมากรุงเทพฯ นั้นก็ต้องอาศัยทางเรือเป็นหลัก ถนนหนทางในอดีตนั้นเป็นสิ่งที่ชาวบ้านทำกันเอง ทางราชการในเวลานั้นก็ไม่ได้นำพาเพราะอ้างว่า ‘งบไม่เพียงพอ’

นอกจากความทรงจำเรื่องการเป็น ‘บ้านนอก’ แล้ว คนสุพรรณในเวลานั้นยังถูกตราหน้าว่าเป็น ‘เมืองโจร’ ด้วย เนื่องจากช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาสุพรรณก็บังเกิดชุมโจรผู้ร้ายขึ้นมาเป็นข่าวดังครึกโครมทั่วประเทศ เช่น เสือฝ้าย เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ความทรงจำต่ออดีตของคนสุพรรณจึงเป็นความทรงจำร่วม (collective memories) และมองเห็นว่ารัฐส่วนกลางนั้นไม่แยแสอะไรพวกเขาเลย

แต่หลังจากที่บรรหาร ศิลปอาชา เริ่มได้รับความไว้วางใจจากคนสุพรรณ การพัฒนาต่าง ๆ ก็หลั่งไหลมาในลักษณะที่พลิกโฉมหน้าจังหวัดไปเลย ทุกวันนี้ไม่มีคนไทยคนไหนกล้าปฏิเสธได้ว่า ‘จังหวัดสุพรรณบุรีมีถนนที่ดีที่สุดในประเทศไทย’ การมีโรงเรียนกีฬาที่มีชื่อเสียง กระทั่งการพัฒนาในเขตชนบทที่แต่ก่อนนั้นไม่ได้รับการเหลียวแล แต่การเป็น ส.ส. ของพรรคชาติไทย ที่นำโดยบรรหารในฐานะ ‘หล่งจู๊’ (ผู้ควบคุมดูแล) ท้ายที่สุดชาวบ้านสุพรรณบุรีได้สลัดภาพจำอดีตที่แสนขมขื่นเหล่านั้นทิ้งไป การเป็นชาวสุพรรณไม่ใช่ความน่าอับอายเช่นในอดีตอีกต่อไป นั่นเพราะการบริหารงานของบรรหารนั้น ทำให้ข้าราชภายในจังหวัดต้อง ‘แอคทีฟ’ ตลอดเวลา และประชาชนสามารถส่งจดหมายหรือเดินเข้ามาร้องเรียนพฤติกรรมของข้าราชการต่อบรรหารโดยตรง

ด้วยการเป็นคนสุพรรณพื้นถิ่นทำให้นักการเมืองเช่นบรรหารรู้ถึงปัญหาของพื้นที่เขาดี และเมื่อมีอำนาจทางการเมือง เขาก็ย่อมจัดสรรผลประโยชน์แก่พื้นที่ของเขาอย่างถูกต้อง นี่คือยุทธศาสตร์ทางการเมืองชั้นลายครามของนักการเมืองระดับชาติที่มาจากท้องถิ่น ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกใจว่าย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อน เหตุใดพรรคชาติไทยของบรรหารจึงชนะเลือกตั้งในพื้นที่อย่างถล่มทลาย นั่นก็เพราะนักการเมืองแบบแบ่งเขตย่อมรู้จักธรรมชาติของพื้นที่และความต้องการของประชาชนได้ดีกว่านักการเมืองแบบสัดส่วนที่มุ่งเน้นแต่งานระดับนโยบายพรรคเท่านั้น

แต่การที่มีว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกฯ ที่พื้นเพเป็นเพียง ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ (สัดส่วน) ไม่เคยลงพื้นที่เลือกตั้งแบบแบ่งเขตจริง แต่กลับมีวาจาดูหมิ่นชนบทว่าเป็นการเมืองที่ไม่พึงประสงค์ นักการเมืองที่มีฐานเป็นชนชั้นกลางเมืองหลวงมีสิทธิ์อะไรมาพูดว่าเป็นกังวลชาวชนบท ? การกล่าวเช่นนี้เป็นการมองคนนอกกรุงเทพฯ ว่าไม่ใช่คนเมืองทั่วไป มองว่าเขาเป็น ‘คนอื่น’ (The Others) เป็นการมองด้วยจิตใจที่ไม่มีความเท่าเทียม

นี่สะท้อนว่านโยบายที่สนับสนุน ‘คนเท่ากัน’ ของพรรคนี้ เป็นได้แค่ลมปาก เพราะโดยเนื้อแท้แล้ว นักการเมืองพวกนี้อาจไม่ได้ศรัทธากับหลักการนี้เลย เพียงแต่ใช้วาทศิลป์มาสมอ้างให้ตัวเองดูดี และคนอื่นดูแย่เท่านั้น

กระนั้น เมื่อ ‘คำพูดเป็นนาย กายเป็นบ่าว’ แล้ว แม้ต่อมาจะมีความพยายามในการแก้ตัวข้อกล่าวหานี้ แต่ก็นับว่าเป็นการสายเกินไป เนื่องด้วยวาจาดูหมิ่นเหยียดหยามประชาชนนับเป็นข้อหาฉกรรจ์ คงแต่มีแต่บรรดาสาวกที่มีจิตใจมืดบอดเท่านั้นที่ยังจะศรัทธากับนักการเมืองพรรค์นี้อยู่ อนิจจา หวังใจให้พวกเขาเหล่านี้ ‘ตาสว่าง’ ขึ้นในเร็ววันเทอญ

อ้างอิง :

[1] Yoshinori Nishizaki (2011). ‘Political Authority and Provincial Identity in Thailand : The Making of Banharn-buri’.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า