เปิดข้อเท็จจริงกรณี ม.112 ใครก็ฟ้องได้ จริงหรือไม่?

ตามประมวลกฎหมายอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น การดำเนินคดีอาญาจะเกิดขึ้นได้ ต้องมี “ผู้เสียหาย” หรือ “ผู้กล่าวโทษ” บุคคล 2 ประเภทนี้เรียกว่า “บุคคลผู้ริเริ่มกระบวนการและความผิด”

  1. ผู้เสียหายที่แท้จริง คือคนที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง ซึ่งบุคคลนี้มีอำนาจตามกฎหมายในการร้องทุกข์ต่อตำรวจ ให้นำตัวผู้กระทำความผิดต่อตนเองมาดำเนินคดี
  2. ผู้กล่าวโทษ ในทางกฎหมายไม่ถือเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง แต่เป็นเพียงผู้พบเห็นผู้อื่นกระทำความผิด แล้วแจ้งต่อตำรวจเพื่อให้ตำรวจนำตัวบุคคลที่ถูกกล่าวโทษมาดำเนินคดี

ตรงนี้ให้สังเกตว่า การดำเนินคดีอาญาจะเริ่มจาก “มีผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อตำรวจให้ดำเนินคดี” กับ “มีผู้แจ้งตำรวจเพื่อให้สอบสวนดำเนินคดี” ซึ่งสองส่วนนี้จะแตกต่างกัน

สำหรับประเภทของคดีอาญา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  1. ความผิดต่อส่วนตัว (คดีที่ยอมความได้) คือความผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นกับบุคคลบางคนหรือบางกลุ่มเป็นการเฉพาะ จึงมีผู้เสียหายเป็นการเฉพาะ และความผิดต่อส่วนตัวจะเริ่มการดำเนินคดีได้ต่อเมื่อผู้เสียหายไป “ร้องทุกข์” ต่อตำรวจเพื่อร้องขอให้ดำเนินคดี หรือผู้เสียหายอาจยื่นฟ้องคดีต่อศาลเองก็ได้ แต่ถ้าหากผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความ คดีก็ไม่สามารถเริ่มขึ้นได้ ตัวอย่างของความผิดต่อส่วนตัว เช่น ข้อหาทำร้ายร่างกาย ข้อหาข่มขืนกระทำชำเรา ข้อหาฉ้อโกง เป็นต้น
  2. ความผิดต่อแผ่นดิน (อาญาแผ่นดิน) หรือความผิดต่อส่วนรวม (คดีที่ยอมความไม่ได้) คือความผิดที่นอกจากจะทำให้บุคคลบางคนหรือบางกลุ่มได้รับความเสียหายแล้ว ยังก่อให้เกิดความเสียหายกับสังคมโดยรวมด้วย รวมถึงการกระทำที่มีลักษณะรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยในสังคม ความผิดต่อแผ่นดินนี้ ผู้เสียหายอาจไม่ต้องไปแจ้งความเพื่อร้องขอให้ดำเนินคดี แต่ถ้าหากตำรวจทราบเหตุแล้วก็สามารถเริ่มการดำเนินคดีเองได้ หรือถ้าหากประชาชนคนอื่นพบเห็นการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด ก็สามารถเริ่มกระบวนการด้วยการ “กล่าวโทษ” แก่ตำรวจเพื่อให้สืบสวนสอบสวนดำเนินคดีได้ ตัวอย่างความผิดต่อแผ่นดิน เช่น ข้อหาฆ่าคนตาย ข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ ข้อหาลักทรัพย์ เป็นต้น

ข้อหา ม.112 เป็นข้อหาที่อยู่ในหมวดความผิดต่อพระมหากษัตริย์ฯ จัดอยู่ในประเภท “ความผิดต่อแผ่นดิน” เพราะฉะนั้นประชาชนทั่วไปถึงแม้จะไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง แต่ก็สามารถเริ่มกระบวนการดำเนินคดีด้วยการ “กล่าวโทษ” ต่อตำรวจ ว่าพบเห็นบุคคลกระทำความผิดได้ เรียกง่ายๆ ว่า แจ้งตำรวจเพื่อดำเนินคดีนั่นเอง

“การกล่าวโทษ” หรือการแจ้งตำรวจเพื่อดำเนินคดีนี้ จึงมักถูกเรียกต่อๆ กันมาว่า “ใครฟ้องก็ได้” ซึ่งเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว และถูกนำไปบิดเบือนความหมาย เพื่อให้เกิดการเข้าใจผิดว่า คดี ม.112 นั้น สามารถกลั่นแกล้งกันได้ง่าย ใครๆ ก็สามารถยื่นฟ้อง ม.112 ได้ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว สถานะทางกฎหมายของการกล่าวโทษ คือการ “แจ้งตำรวจ” เท่านั้น

ในคดีอาญาแผ่นดิน แม้พนักงานอัยการจะเป็นโจทก์ในคดีก็ตาม แต่ถ้าประชาชนได้รับความเสียหายโดยตรง ก็สามารถแต่งตั้งทนายความของตนเองให้เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ เพื่อใช้สิทธิในการอุทธรณ์-ฎีกา

แต่ยังมีคดีอาญาแผ่นดินบางประเภท ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับการกำหนดหน้าที่ให้ประชาชนปฏิบัติเพื่อความเป็นระเบียบ ความสงบสุข และความปลอดภัยแก่ประชาชน และเป็นความผิดที่ไม่มีผู้ถูกกระทำ หมายความว่าเป็นการกระทำต่อรัฐโดยตรง ซึ่งรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ดังนั้น เอกชนจึงไม่สามารถเป็นโจทก์ฟ้องคดีเหล่านี้ได้ ประชาชนจึงไม่มีอำนาจฟ้องร้องผู้กระทำความผิดได้ ซึ่งความผิด ม.112 จะอยู่ในความผิดประเภทนี้ที่ประชาชนไม่สามารถฟ้องได้ จะทำได้ก็แค่กล่าวโทษหรือแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น

ในส่วนของการแจ้งความ ก็ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะไปแจ้งความได้เลย แต่เราจะต้องมีการแสดงหลักฐานเบื้องต้นให้ตำรวจทราบด้วย ซึ่งการแจ้งความในคดีความผิด ม.112 จะต้องมีการระบุข้อเท็จจริงอย่างน้อย ดังนี้

  1. ชื่อ-สกุล ผู้ก่อเหตุ หากเป็นการหมิ่นฯ โดยใช้ Account ปลอม ทำให้ไม่ทราบ ชื่อ-นามสกุล จริง จะต้องมีการ copy URL ของหน้า Account นั้นๆ ส่งให้ตำรวจประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญในการหาพิกัด IP Address เพื่อหาความเชื่อมโยงกับผู้ก่อเหตุ
  2. ข้อความหมิ่นฯ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในการดำเนินคดี จะต้องถือว่าเป็นข้อความที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย เพราะถ้าไม่เข้าข่าย 3 อย่างนี้ การดำเนินคดี ม.112 ในชั้นศาลก็จะถูกยกฟ้องนั่นเอง
  3. วิธีการรวบรวมสำนวนการสอบสวน จะต้องมีความชัดเจนเป็นระบบ ข้อความหมิ่นฯ ที่เป็นหลักฐานไม่ว่าจะเป็นไฟล์คลิป ไฟล์เสียง รูปภาพ หรือข้อความ ต้องมีการ Download ออกมา แล้วทำการ Print out หน้าเว็บที่แสดงผลออกมาในรูปแบบกระดาษทั้งหน้าในลักษณะที่ติด URL มาด้วย จากหน้าโปรแกรม WEB BROWSER นั้นๆ ทำสำเนาไฟล์ภาพ ไฟล์เสียงลงแผ่น CD หรือ Save ลง USB หรือ CD เพื่อส่งมอบแก่พนักงานสอบสวนด้วย

เมื่อมีการแจ้งความเกิดขึ้นแล้ว โดยปกติการดำเนินคดีในชั้นตำรวจ พนักงานสอบสวนในฐานะเจ้าของสำนวน มีดุลยพินิจอย่างอิสระในการสั่งฟ้อง/ไม่ฟ้องผู้ต้องหา เช่นเดียวกับในชั้นพนักงานอัยการ ที่พนักงานอัยการก็มีดุลยพินิจในการสั่งฟ้อง/ไม่ฟ้องผู้ต้องหาในความผิดที่ถูกกล่าวหาเช่นกัน แต่เนื่องจากความผิด ม.112 เป็นคดีสำคัญ มีประชาชนให้ความสนใจในวงกว้าง การสั่งคดีจะต้องมีความรอบคอบเกินกว่าที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนเพียงคนเดียวจะรับผิดชอบได้

กรณีนี้ จึงมีรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติราชการออกมา เพื่อทำการกลั่นกรอง ไม่ให้เกิดการดำเนินคดีที่มีลักษณะเป็นการกลั่นแกล้งกัน โดยมีระเบียบปฏิบัติแยกออกมาต่างหาก นอกเหนือจากกฎหมายฉบับหลักที่กล่าวไปข้างต้น เช่น

  1. คำสั่ง สตช. ที่ 122/2553 เรื่องแนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่ให้มีคณะกรรมการสำหรับพิจารณาสำนวนการสอบสวน และมีความเห็นเพื่อให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) สั่งการอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับคดี หมายความว่าจากคำสั่ง สตช. ฉบับนี้ พนักงานสอบสวนไม่ได้มีอำนาจในการสั่งคดีความผิด มาตรา 112 ได้โดยตรงอีกต่อไป แต่จะต้องผ่านคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และ ผบ.ตร. อีกถึงสองชั้น
  2. หนังสือเลขที่ อส 0007(อก)/ว 54 ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 เรื่องแนวทางปฏิบัติในการดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ส่งถึงผู้บริหารระดับสูงในสำนักงานอัยการสูงสุดทุกระดับชั้น โดยหนังสือฉบับดังกล่าวระบุว่า การดำเนินคดีอาญา มาตรา 112 เป็นคดีสำคัญ เพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปด้วยความรอบคอบและรัดกุม ต้องนำสำนวนส่งสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาทันที โดยยังไม่ต้องทำความเห็น และให้อัยการสูงสุดเท่านั้นเป็นผู้พิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง

จากระเบียบปฏิบัตินี้ จะเห็นได้ว่า การดำเนินคดี ม.112 ล้วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมาก และหากเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนใช้อำนาจเพื่อกลั่นแกล้งก็ดี หรือใช้อำนาจโดยมิชอบก็ดี ก็อาจโดนดำเนินคดีกลับ ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และในกระบวนการดำเนินคดี ม.112 นั้น ประชาชนจะทำได้แค่แจ้งตำรวจเพื่อดำเนินคดีเท่านั้น ส่วนจะมีการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องนั้น ก็อยู่ที่ดุลยพินิจของพนักงานสอบสวนหรืออัยการ

และที่สำคัญที่สุด ถ้าไม่มีข้อความหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย ที่เราเรียกว่าเป็น “วัตถุแห่งคดี” แล้ว การดำเนินคดี ม.112 ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยสิ้นเชิง ดังนั้นคำว่า “ม.112 ใครฟ้องก็ได้” จึงเป็นคำพูดที่บิดเบือนความหมายไปจนเกินจริง

ที่มา :

[1] ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
[2] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 ( 4 ) – ( 8 ) มาตรา 17 มาตรา 28 มาตรา 120-122 มาตรา 131, 131/1
[3] คำสั่ง สตช. ที่ 122/2553
[4] หนังสือเลขที่ อส 0007(อก)/ว 54

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า