ความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับ ‘วิกฤตการณ์ ร.ศ.112’ และ ‘เงินถุงแดง’

วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 เป็นเหตุการณ์ความขัดแย้ง ซึ่งฝรั่งเศสได้ล่วงล้ำอธิปไตยของสยาม โดยการนำกองเรือรบปิดปากแม่น้ำเจ้าพระยา และเข้ามาทอดสมออยู่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสในพระนคร เพื่อแสดงแสนยานุภาพ รวมทั้งยื่นข้อเรียกร้องต่างๆ แก่ทางสยาม

เหตุการณ์ความขัดแย้งครั้งนั้นมีความเข้าใจกันต่อๆ มาว่า ฝรั่งเศสได้เรียกร้องให้สยาม “ยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง” และ “ชำระค่าปฏิกรรมสงคราม” ให้แก่ฝรั่งเศสเป็นจำนวนสูงถึง 3 ล้านฟรังก์ โดยที่สยามได้ใช้เงินถุงแดงของในหลวงรัชกาลที่ 3 ในการจ่ายเงินจำนวนนี้ “ทั้งหมด”

แต่ก็มีบางกระแสที่เชื่อว่า เงินที่นำมาจ่ายแก่ฝรั่งเศสนั้น เป็นเงินภาษีจากการปฏิรูประบบต่างๆ ของประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นเงินภาษีจากประชาชนทุกภาคส่วน ไม่ใช่มาจากเงินถุงแดง

หากดูจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างละเอียดแล้ว จะพบว่า ความเชื่อข้างต้นเป็นความเข้าใจที่ “ผิดทั้งหมด” ซึ่งข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเป็นอย่างไร เรามาดูกันเป็นข้อๆ ตามนี้ครับ

ความเข้าใจผิด

ไทยยกดินแดนให้ฝรั่งเศส

ข้อเท็จจริง

การเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ไม่ใช่การที่สยามยกดินแดนให้กับฝรั่งเศส หากแต่ในสนธิสัญญาที่ฝรั่งเศสบังคับให้สยามยอมรับนั้น ตั้งเงื่อนไขให้ “คอเวอนแมนต์สยามยอมสละเสียซึ่งข้ออ้างว่ามีกรรมสิทธิ์ทั้งสิ้นทั่วดินแดน ณ ฝั่งซ้ายฟากตะวันออกแม่น้ำโขง แลในบรรดาเกาะทั้งหลายในแม่น้ำนั้นด้วย”

จึงเท่ากับว่าฝรั่งเศสใช้เล่ห์เหลี่ยมในทางกฎหมาย บังคับเอาดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงซึ่งอยู่ในความปกครองของสยามไป โดยให้สยามยอมรับถึงการไม่มีกรรมสิทธิ์ ซึ่งความหมายว่า ข้อพิพาทระหว่างสยามกับฝรั่งเศสนั้น สยามกลายเป็นฝ่ายรุกรานก่อน

ความเข้าใจผิด

ไทยเสียค่าปฏิกรรมสงคราม 3 ล้านฟรังก์

ข้อเท็จจริง

ฝรั่งเศสได้ยื่นคำขาด ในวันที่ 20 กรกฎาคม ร.ศ.112 จำนวน 6 ข้อ โดยให้เวลาตอบรับภายใน 48 ชั่วโมง คือ

  1. สมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม ยอมรับว่ากรุงอานามและกรุงกัมพูชามีกรรมสิทธิ์อยู่ในดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง
  2. ด่านฝ่ายไทยทั้งหลายที่ตั้งอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงนั้น เลิกถอนไม่ช้าเกินกว่าหนึ่งเดือน
  3. ความพอใจที่ควรจะได้มีแก่เหตุทั้งหลายที่เกิดขึ้น ณ ทุ่งเชียงคำก็ดี ที่เมืองคำม่วนก็ดี แลการที่เข้าตีต่อเรือรบแลทหารของฝรั่งเศสในลำน้ำเจ้าพระยานี้ด้วย
  4. การลงโทษผู้ทำผิด แลการทำขวัญเป็นเงินให้แก่พวกญาติพี่น้องของผู้ตายแลเจ็บยากทั้งหลายนั้น
  5. จำนวนเงินค่าปรับไหม 2 ล้านฟรังก์ ประมาณ 15,000 ชั่ง สำหรับจะได้ใช้ค่าทำขวัญ ให้แก่ฝรั่งเศสทั้งหลายที่ได้รับทุกข์ยากนั้น
  6. การฝากไว้โดยเร็วเป็นเงินเหรียญ จำนวนเงิน 3 ล้านฟรังก์ ประมาณ 22,000 ชั่ง เพื่อจะเป็นประกันในการที่จะใช้ค่าทำขวัญแลปรับไหมนี้ ถ้าฝากเงินไม่ได้ ก็จำนำภาษีอากรในหัวเมืองเสียมเรียบและพระตะบองแทน

ดังนั้น เงินที่สยามจ่ายให้ฝรั่งเศส 3 ล้านฟรังก์ จึงเป็นการจ่ายเงินค้ำประกันสำหรับค่าปฏิกรรมสงคราม เพื่อที่จะระงับข้อพิพาท ส่วนการเรียกร้องค่าปฏิกรรมสงคราม ฝรั่งเศสเรียกร้องเป็นจำนวน 2 ล้านฟรังก์

การจ่ายเงินค้ำประกันเป็นจำนวน 3 ล้านฟรังก์นี้ ในการตอบรับคำขาดทั้ง 6 ข้อ ซึ่งกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการได้ให้คำตอบถึงนายปาวี ลงวันที่ 22 กรกฎาคม ร.ศ.112 ได้มีพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 5 ทักท้วงด้วยว่า …

“เงินจำนวน 3 ล้านฟรังก์นั้น เกินกว่าจำนวนเงินชดใช้ค่าทำขวัญและค่าปรับไหม ดังนั้นถ้าได้พิจารณาให้ละเอียดเป็นรายๆ ตามควรแก่การแล้ว รัฐบาลไทยเชื่อในความยุติธรรมของรัฐบาลฝรั่งเศสว่า จะได้รับเงินจำนวนที่เหลือคืนจากที่ได้จ่ายไปจริงเท่าที่ได้เรียกร้องในกรณีทั้งปวงโดยครบถ้วน”

ความเข้าใจผิด

เชื่อกันว่าเงินที่จ่ายค่าค้ำประกันให้กับฝรั่งเศส 3 ล้านฟรังก์ เป็นเงินถุงแดงสมัยรัชกาลที่ 3 ทั้งหมด

ข้อเท็จจริง

จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ไม่ปรากฎหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าเงินเหรียญที่จ่ายค่าค้ำประกันให้กับฝรั่งเศส 3 ล้านฟรังก์ เป็นเงินถุงแดงสมัยรัชกาลที่ 3 แต่เนื่องจากการเก็บเงินในท้องพระคลังสมัยก่อน จะทำการบรรจุใส่ถุงแดงซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติมาช้านาน ดังนั้น จึงสันนิษฐานได้ว่า เงินที่จ่ายค่าค้ำประกันให้กับฝรั่งเศสเป็นเงินถุงแดง ซึ่งอาจเป็นเงินถุงแดงในสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วยเช่นกัน เพียงแต่ว่าในส่วนนี้ไม่มีหลักฐานที่สามารถยืนยันได้ชัดเจน

และเงินที่นำมาจ่ายให้กับฝรั่งเศสนั้นก็ไม่ได้มาจากเงินถุงแดงทั้งหมด เพียงแต่เป็นการเอาเงินถุงแดงมาสมทบเข้ากับเงินคงคลังของประเทศเพื่อจ่ายให้กับฝรั่งเศส

ความเข้าใจผิด

เงินถุงแดงในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นเงินพระคลังข้างที่ มีอยู่ทั้งสิ้น 40,000 ชั่ง

ข้อเท็จจริง

เงินจำนวน 40,000 ชั่ง ที่ว่านี้ ปรากฎบันทึกในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 3 ซึ่งนิพนธ์โดยเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ได้บันทึกไว้ว่า ก่อนที่ในหลวงรัชกาลที่ 3 จะสวรรคต ได้มีพระราชกระแสรับสั่งว่า เงินในพระคลังสำหรับแผ่นดิน 40,000 ชั่ง (ร.3) ทรงขอไว้เพื่อการพระศาสนา 10,000 ชั่ง ส่วนอีก 30,000 ชั่ง ถวายพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ ซึ่งท่านได้บันทึกด้วยถ้อยคำที่ว่า “เงินในพระคลังสำหรับแผ่นดิน” ดังนั้น เงินดังกล่าวจึงไม่ใช่เงินพระคลังข้างที่

นอกจากนี้ เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 4 ขึ้นครองราชย์แล้ว ได้พบว่าเงินจำนวน 40,000 ชั่งที่รัชกาลที่ 3 ทรงพระราชปรารภนั้น มีอยู่มากกว่านั้นอีก 5,000 ชั่ง และทองคำที่ในหลวงรัชกาลที่ 3 บอกว่ามีอยู่ร้อยชั่ง เมื่อนับจริงปรากฏว่ามีอยู่ถึง 2 ร้อยชั่งเศษ

ความเข้าใจผิด

เงินถุงแดงในสมัยรัชกาลที่ 3 มาจากการค้าสำเภา

ข้อเท็จจริง

ในหลวงรัชกาลที่ 3 เสด็จขึ้นครองราชย์ ในปี พ.ศ. 2367 และหลังจากนั้นอีก 2 ปีต่อมา ในปี พ.ศ. 2369 อังกฤษได้ส่ง เฮนรี เบอร์นี เข้ามาเจรจาทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรี (หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า สนธิสัญญาเบอร์นี) ทำให้สยามเปิดเสรีทางการค้า ยอมให้อังกฤษค้าขายได้โดยตรงกับประชาชน โดยไม่ต้องซื้อขายผ่านพระคลังสินค้า ผลที่ตามมาคือ พระคลังสินค้าได้เลิกการผูกขาดโดยปริยาย และทำให้การค้าสำเภาหลวงเลิกไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ด้วยพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 3 พระองค์ได้ทรงปฏิรูประบบภาษีอากรใหม่ โดยเปิดให้เอกชนประมูลเก็บภาษีแทนรัฐ และเริ่มหันมาเก็บอากรเป็นตัวเงินแทนการส่งส่วยสิ่งของ อีกทั้งยังตั้งภาษีใหม่ 38 ชนิด รวมถึงให้พระคลังสินค้าออกสัมปทานให้เอกชนผูกขาดสินค้าบางชนิดได้

ผลจากการที่สยามต้องเปิดเสรีทางการค้าตามสนธิสัญญาเบอร์นี ทำให้มูลค่าการค้าระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น เมื่อสยามมีมูลค่าการส่งออกมากกว่าการนำเข้า ทำให้เกิดการเกินดุลชำระเงิน เงินตราต่างประเทศจึงเข้ามาแลกเปลี่ยนเงินพดด้วงมากขึ้น ทำให้พระคลังมีเงินเหรียญต่างประเทศสะสมเป็นจำนวนมาก โดยเงินต่างประเทศที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นที่นิยมในยุคนั้น คือ “เงินเหรียญเม็กซิโก” หรือที่คนไทยรู้จักกันคือ “เงินเหรียญนก

เงินเหรียญนกที่สะสมมาตั้งแต่สมัยในหลวงรัชกาลที่ 3 นี้เอง ที่ในเวลาต่อมาได้เข้ามามีส่วนช่วยในวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 โดยรวมสมทบเข้ากับเงินคงคลังของประเทศ เพื่อใช้ในการจ่ายค่าปรับให้กับฝรั่งเศส และทำให้สยามรอดพ้นวิกฤตการณ์ครั้งนั้นมาได้

อ้างอิง :

[1] หนังสือสัญญากรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส แต่วันที่ 3 ตุลาคม ร.ศ.112
[2] กจช. ฝ.18.2/1 สำเนาแปลที่ 8328 นายปาวี กราบทูลกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ ลงวันที่ 20 กรกฎาคม ร.ศ.112
[3] กจช. ฝ.18/7 กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการถึงนายปาวี ลงวันที่ 22 กรกฎาคม ร.ศ.112
[4] พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 3
[5] ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 ภาคปกิณกะส่วนที่สอง ประกาศเรื่องเงินซ่อมแซมพระอารามซึ่งเป็นเงินส่วนพระองค์
[6] หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีระหว่างประเทศอังกฤษและประเทศสยาม จ.ศ.1188

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า