‘ดินแดนสยามมีอยู่จริง’ คำยืนยันจากประวัติศาสตร์ หักล้างคำกล่าวหา Siam Mapped หนังสือวิชาการเคลือบอคติ

ในการศึกษาทางประวัติศาสตร์ของสยามหรือไทยนั้นเรามักจะคุ้นเคยกันดีถึงกรณีที่สยามต้อง“เสียดินแดน” ในช่วงการล่าอาณานิคมในสมัยรัชกาลที่ 5 ความรู้สึกของการเสียดินแดนนี้ได้ถูกส่งต่อภายในสังคมไทยเรื่อยมาจนกระทั่งคนไทยรู้สึก “สะใจ” ที่ได้ดินแดนคืนมาในภายหลังในช่วงการทำสงครามกับฝรั่งเศสในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นช่วงที่กระแสชาตินิยมได้พุ่งสูงสุด [1] ประเด็นเรื่องดินแดนกับชาตินิยมนี้จึงเป็นสิ่งที่ผูกกันตลอดมา เพราะดินแดนนั้นใช้เป็นการระบุถึงตัวตนรวมไปถึงการต่อสู้เพื่อถิ่นที่อยู่อาศัยของตนได้อย่างชัดเจน

ประเด็นเรื่องดินแดนนี้ต่อมา อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ได้กลับมาตรวจสอบเรื่องนี้อีกครั้งในวิทยานิพนธ์ของเขาและต่อมาได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือที่ชื่อว่า Siam Mapped หรือเวอร์ชันแปลไทยมีชื่อว่า “กำเนิดสยามจากแผนที่: ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ” ซึ่งอาจารย์ธงชัยได้เสนอว่าการเสียดินแดนนั้นเป็นเพียงวาทกรรมเท่านั้น [2] ดังที่อาจารย์ได้กล่าวเอาไว้อย่างเผ็ดร้อนว่า

ประวัติศาสตร์ใหม่ถูกสร้างขึ้นจากวาทกรรมหลงผิดยุคผิดสมัยที่อาศัยภูมิกายากำมะลอ … การใช้สมมติฐานแบบผิดยุคผิดสมัยเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของตัวตนทางกายภาพของสยามและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน … และที่ผิดเหลือเชื่อคือการใช้แผนที่ประวัติศาสตร์แบบ เข้าใจผิดๆว่าด้วยการเสียดินแดนและการปฏิรูปการครอง ตลอดจนแผนที่ที่ผิดยุคผิดสมัยได้มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างและตอกย้ำวาทกรรมใหม่ว่าด้วยอดีตของไทย [3]

สิ่งที่อาจารย์ธงชัยกล่าวถึงนั้นหมายความว่าได้มีการใช้ “แผนที่” ซึ่งเป็นเทคโนโลยียุคใหม่มาเล่าเรื่องย้อนกลับไปถึงการเสียดินแดนเสมือนว่าแผ่นดินสยามเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งหมดและมีรูปแบบการปกครองแบบสมัยใหม่อย่างชัดเจนแล้ว การกระทำเช่นนี้ทำให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความเป็นชาติ ดังนั้นแล้วการเสียดินแดน (ซึ่งอาจารย์ธงชัยได้ยกข้อสังเกตหลายจุด) เป็นเพียงวาทกรรม เพราะความรู้สึกถึงดินแดนและนัยต่อความเป็นชาตินั้นเพิ่งมาเกิดหลังการมีแผนที่สมัยใหม่นั่นเองเพราะสมัยก่อนนั้นการปกครองเป็นการแผ่ขยายจากศูนย์กลางเหมือนแสงเทียนที่จะเข้มที่สุดตรงกลางและอ่อนเมื่อออกไปและไม่ได้มีขอบเขตที่ชัดเจน (และอาจารย์ได้ใช้วิธีวิทยาของ Michel Foucault นักวิชาการชาวฝรั่งเศสในการสืบหาวาทกรรม งานของอาจารย์จึงค่อนข้างสดใหม่ในขณะนั้น)

คำเสนอของอาจารย์ธงชัยได้สร้างแรงกระเพื่อมอย่างมหาศาลจนเกิดกระแส “ตาสว่าง” ขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่องานสายวิพากษ์นั้นเน้นการเปิดให้มีการวิจารณ์ให้มากเพื่อให้เกิดการสร้างความรู้และเผยสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เราก็ควรจะทำหน้าที่เป็นสายวิพากษ์ในการตรวจสอบข้อเสนอของอาจารย์ธงชัยกลับเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสียดินแดนนี้ว่าเป็นเพียงวาทกรรมหนึ่งเท่านั้นจริงหรือไม่

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้มีรูปแบบการปกครองอย่างจักรพรรดิราชซึ่งทำให้การปกครองเป็นลำดับชั้นหรือเจ้านครที่ต่ำกว่าจะขึ้นต่อเจ้านครที่เหนือกว่าเรื่อยไป อย่างไรก็ดีรูปแบบการปกครองของรัฐจารีตทั่วไปนั้นไม่ว่าจะเป็นคริสเตียน อิสลาม รวมไปถึงของสยามเองด้วยนั้นในทางปฏิบัติของ “คติของการปกครอง” นั้นมีการรับรู้ถึงขอบเขตของดินแดนในการใช้อำนาจของตนเสมอ [4] นั่นหมายความว่าแม้การปกครองจะเป็นเสมือนแสงเทียนในสมัยก่อน แต่ก็ไมได้หมายความขอบเขตหรือเขตแดนนั้นจะไม่ปรากฏเลย

เราจะเห็นได้ว่าทั้งพระมหากษัตริย์ไทยและพม่านั้นต่างมีการกำหนดขอบเขตทางอำนาจที่แน่นอน เช่น ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 ที่มีการกล่าวถึงอาณาเขตของรัฐสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหง [5] หรือแม้กระทั่งในโคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรีซึ่งแต่งโดยนายสวนหาดเล็กผู้เป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้นได้ระบุส่วนที่เป็นเขตแดนและดินแดนไว้ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดีแม้เจ้าอภิราชอาจจะไม่รับรู้เขตแดนอย่างชัดเจนก็ไม่ใช่เรื่องแปลก และไม่ใช่เรื่องสำคัญเพราะเป็นหน้าที่ของนายด่านแต่ละพื้นที่ แต่เจ้าอภิราชนั้นรับรู้เสมอว่าเมืองใดคือปลายพระราชอาณาเขต [6] ดังนั้นแล้วการที่อาจารย์ธงชัยกล่าวว่า “ภูมิกายากำมะลอซึ่งไม่เคยดำรงอยู่ในอดีต ได้ถูกทำให้มีตัวตนด้วยการฉายภาพย้อนเวลาไปในอดีต” [7] นั้นจึงน่าจะถูกหักล้างไปได้ในระดับหนึ่ง เพราะเขตแดนและดินแดนนั้นถูกรับรู้จริง และก็มีการจัดทำ “แผนที่โบราณ” ที่ถึงแม้รายละเอียดต่างๆ จะไม่เท่ากับแผนที่สมัยใหม่ แต่ย่อมมีเขตแดนและดินแดนที่อยู่ในการรับรู้แน่นอน [8]

สิ่งที่สามารถยืนยันในเรื่องนี้ได้นั้นอาจเห็นได้จากความขัดแย้งของรัชกาลที่ 1 กับราชวงศ์เต็ยเซินที่สยามได้ตอบเรื่องความไม่ชัดเจนของดินแดนว่า “กษัตริย์ย่อมทราบว่าราชอาณาจักรตนไปจนถึงจุดใดขอให้เจ้าตังเกี๋ย (จักรพรรดิกวางจุง) รักษาพื้นที่ให้ดี” [9] หรือในทางตอนเหนือของประเทศไทยในปัจจุบันคือกรณีพิพาทเรื่องชายแดนระหว่างเชียงใหม่กับระแหงซึ่งมีสาเหตุจากค่าตอไม้สัก ซึ่งมีประเด็นการรุกล้ำอย่างชัดเจนจนทำให้ต้องสร้างเส้นแบ่งเขตแดน [10] ซึ่งย่อมหมายถึงความรู้สึกต่อดินแดนนั้นได้เกิดขึ้นด้วย นั่นหมายความว่าความรู้สึกต่อดินแดนที่มีอย่างซับซ้อนหลายระดับตั้งแต่ศูนย์กลางไปจนถึงเมืองเล็กๆ นั้นได้กลายเป็นสิ่งที่ส่งต่อความรู้เกี่ยวกับเรื่องเขตแดนและดินแดนไปในตัว

ดังนั้นแล้ว “การนำเอาปัจจุบันไปใส่ให้กับอดีตทำให้อดีตเป็นสิ่งที่เรารู้สึกคุ้นเคย” [11] ก็อาจจะไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะสิ่งที่อยู่ในอดีตย่อมตกทอดมาไม่ว่าจะในลักษณะใดก็ตามด้วย เราอาจทำความเข้าใจเรื่องนี้จากพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 5 ที่เขตแดน ดินแดน และความรู้สึกในการเป็นเจ้าของมีอยู่จริง และไม่ได้เกิดขึ้นมาอย่างพรวดพราดเมื่อต้องทำแผนที่ว่า ประสงค์แต่จะรักษาอำนาจ แลที่แผ่นดินอันปู่แลบิดาของเราได้ปกครองสืบๆ กันมาแล้วช้านาน มิให้ร่อยหรอเข้าไป และให้ไพร่บ้านพลเมืองของเราเป็นศุข ตลอดทั่วหน้าจนสุดกำลังที่จะทำได้ [12]

อ้างอิง :

[1] ดาวราย ลิ่มสายหั้ว และสุรชาติ บำรุงสุข, “แนวคิดชาตินิยมไทยกับการเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ.2481-2484),” วารสารการเมืองการปกครอง ปีที่ 6 ฉบับที่ 1 (กันยายน 2558 – กุมภาพันธ์ 2559): 459-483.
[2] ธงชัย วินิจจะกูล, กำเนิดสยามจากแผนที่: ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ, แปลโดย พวงทอง ภวัครพันธุ์, ไอดา อรุณวงศ์, และพงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ (กรุงเทพฯ: อ่าน, 2555).
[3] ธงชัย วินิจจะกูล, กำเนิดสยามจากแผนที่: ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ, แปลโดย พวงทอง ภวัครพันธุ์, ไอดา อรุณวงศ์, และพงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ (กรุงเทพฯ: อ่าน, 2555), หน้า 257.
[4] ฐนพงศ์ ลือขจรชัย, “ระบบเขตแดนรัฐจารีตของสยาม,” ใน iHumanities: เทคโนโลยี สุขภาพ และชีวิต, บรรณาธิการโดยณฐิกา ครองยุทธ (กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2565), หน้า 92.
[5] ฐนพงศ์ ลือขจรชัย, “ระบบเขตแดนรัฐจารีตของสยาม,” ใน iHumanities: เทคโนโลยี สุขภาพ และชีวิต, บรรณาธิการโดยณฐิกา ครองยุทธ (กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2565), หน้า 93.
[6] ฐนพงศ์ ลือขจรชัย, “ระบบเขตแดนรัฐจารีตของสยาม,” ใน iHumanities: เทคโนโลยี สุขภาพ และชีวิต, บรรณาธิการโดยณฐิกา ครองยุทธ (กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2565), หน้า 95.
[7] ธงชัย วินิจจะกูล, กำเนิดสยามจากแผนที่: ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ, แปลโดย พวงทอง ภวัครพันธุ์, ไอดา อรุณวงศ์, และพงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ (กรุงเทพฯ: อ่าน, 2555), หน้า 244.
[8] ดูรายละเอียดใน Santanee Phasuk and Philip Stott, Royal Siamese maps: war and trade in nineteenth century Thailand (Bangkok: River, 2004).
[9] ฐนพงศ์ ลือขจรชัย, “ระบบเขตแดนรัฐจารีตของสยาม,” ใน iHumanities: เทคโนโลยี สุขภาพ และชีวิต, บรรณาธิการโดยณฐิกา ครองยุทธ (กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2565), หน้า 96.
[10] ฐนพงศ์ ลือขจรชัย, “ระบบเขตแดนรัฐจารีตของสยาม,” ใน iHumanities: เทคโนโลยี สุขภาพ และชีวิต, บรรณาธิการโดยณฐิกา ครองยุทธ (กรุงเทพฯ: สยามปริทัศน์, 2565), หน้า 101.
[11] ธงชัย วินิจจะกูล, กำเนิดสยามจากแผนที่: ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ, แปลโดย พวงทอง ภวัครพันธุ์, ไอดา อรุณวงศ์, และพงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ (กรุงเทพฯ: อ่าน, 2555), หน้า 248.
[12] ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย, “ความทุกข์ในพระราชหฤทัยรัชกาลที่ 5 เมื่อสยามต้องเสียดินแดน” ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 38 ฉบับที่ 7 (พฤษภาคม 2560): 34-39.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า