‘โครงการหลวง’ จุดเริ่มต้นสายสัมพันธ์ของชนเผ่าทางเหนือและรัฐไทย ผ่านความห่วงใยของรัชกาลที่ 9

สภาพการณ์การเมืองไทยหลัง พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา ภัยจากคอมมิวนิสต์ได้ครุกรุ่นและเข้มข้นมากขึ้นทำให้รัฐบาลไทยต้องประสบกับปัญหาในการรับมือกับวิกฤติรอบทิศของชายแดนไทย เนื่องจากเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ไทยมีความหมายต่อการต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างสูง โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงตามบริเวณชายแดนทางภาคเหนือ ที่มีเขตแดนติดอยู่กับพม่าซึ่งเป็นฐานสำคัญของคอมมิวนิสต์

อย่างไรก็ดี จากการที่รัฐบาลมีการใช้อำนาจที่เน้นส่วนกลางอย่างสูงทำให้ในบางครั้งเกิดการละเลยในสิ่งที่อาจจะต้องใส่ใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเข้าใจต่อชนเผ่าทางเหนือ ซึ่งทำให้การตอบสนองและมองพวกเขานั้น อาจเป็นไปด้วยมุมมองที่ไม่ถูกต้อง

ด้วยเหตุนี้เองการเสด็จพระราชดำเนินไปยังชนบทที่ห่างไกลในช่วงที่สถานการณ์การเมืองตึงเครียดนั้นทำให้รัชกาลที่ 9 ได้ทรงแสดงบทบาทในฐานะประมุขและผู้ปกป้องของประเทศ ในขณะเดียวกันยังทำให้พระองค์ทอดพระเนตรเห็นสภาพความเป็นจริงของชนบทไทย ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาโครงการในพระราชดำริต่างๆ ในเวลาต่อมา [1]

เราจะสังเกตเห็นได้ว่ารัชกาลที่ 9 ทรงวิตกกับความปลอดภัยของประเทศอย่างยิ่ง เห็นได้จากการที่พระองค์กับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จเยือนพื้นที่เสี่ยงอันตรายบ่อยครั้งเพื่อเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่ที่ต้องเผชิญหน้ากับคอมมิวนิสต์รวมไปถึงกองโจรต่างๆ [1]

หนึ่งในพระราชกรณียกิจอย่างหนึ่งในการพัฒนาพื้นที่ทางภาคเหนือนั่นก็คือ การยกเลิกการปลูกฝิ่นและนำพืชชนิดอื่นเข้ามาทดแทน อย่างไรก็ดีชนเผ่าพื้นเมืองซึ่งปลูกฝิ่นมาอย่างเนิ่นนาน การจะหักหาญยกเลิกไปทันทีจึงเป็นไปได้ยาก กระบวนการในการทดแทนฝิ่นนี้จึงใช้เวลาอย่างยาวนานและต้องใช้ความร่วมมือจากหลายฝ่าย ถึงแม้รัฐบาลไทยจะเล็งเห็นถึง “ปัญหา” ของชนพื้นเมืองมาตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2503 เป็นต้นมา แต่ด้วยงบประมาณที่ไม่เพียงพอและเจ้าหน้าที่รัฐไม่คุ้นเคยกับพื้นที่สูงทำให้แผนการดำเนินงานประสบกับอุปสรรคมาก [1] ในขณะเดียวกันชนเผ่าพื้นเมืองก็ถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ โดยเห็นได้จากการตั้งหน่วยงานต่างๆ เช่น ศูนย์อำนวยการประสานงานแก้ไขปัญหาชาวเขา และกำจัดการปลูกพืชเสพติดระดับชาติ (ศอ.ชข.) [1] ดังนั้นการพัฒนาถิ่นเหนือของไทยจึงเกิดความลักลั่นอยู่บ้าง เพราะในแง่หนึ่งต้องการจะพัฒนาเพื่อกำจัดภัยคอมมิวนิสต์ แต่อีกแง่หนึ่งก็มองพวกเขาว่าเป็นภัยความมั่นคง ตรงนี้ทำให้เกิดปัญหาอคติทางชาติพันธุ์ในการยอมรับชนเผ่าพื้นเมืองของไทยขึ้น [1] ชนเผ่าพื้นเมืองทางเหนือนี้บางส่วนได้อพยพมาจากปัญหาความรุนแรงในประเทศพม่าเข้ามาสู่ประเทศไทย ซึ่งแม้จะมีปัญหาต่างๆ อยู่บ้างแต่ก็ทำให้พวกเขามีความมั่นคงทางกายและใจมากขึ้น โดยเฉพาะจากบทบาทของรัชกาลที่ 9 [2]

ความลักลั่นของการพัฒนาดังที่ได้กล่าวถูกทำให้ทุเลาลงโดยรัชกาลที่ 9 พร้อมกับความร่วมมือระหว่างองค์กรระหว่างประเทศและหน่วยงานอื่นๆ ในประเทศไทย เพื่อขจัดปัญหาในการปลูกฝิ่นอันเป็นปัญหาเรื่องความเป็นอยู่เชิงวัตถุ [1] ทำให้ต่อมามีการจัดตั้ง “โครงการหลวง” ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งพัฒนาความเป็นอยู่ของชนพื้นเมืองในบริเวณป่าเขา [1] ในขณะเดียวกันพวกเขายังประสบปัญหาหนึ่งที่สำคัญนั่นคือการยอมรับพวกเขาผ่านสัญชาติ ที่ชนพื้นเมืองมักจะไม่ได้รับสัญชาติไทยจากรัฐ ซึ่งรัชกาลที่ 9 ทรงมีบทบาทในการสร้างความเข้าใจในส่วนนี้มากขึ้นแม้จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมดก็ตามดังที่พระองค์มีพระราชดำริว่า

มีชาวแม้วไม่กี่คนเท่านั้นที่เป็นพวกแดง หากเราทำผิดพลาดไป ชาวเขาทั้งเผ่าอาจกลายเป็นพวกแดงและก่อปัญหาไม่สิ้นสุดให้เราต่อไป … การใช้กำลังแก้ปัญหานั้นจะทำให้ไทยทำลายตัวเองอย่างมหันต์ในระยะยาว [1]

ดังนั้นเราจะเห็นแนวทางการพัฒนาใหม่ๆ โดยเฉพาะแนวคิด “ระเบิดจากข้างใน” อันเป็นพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ที่จะเน้นการสร้างความแข็งแกร่งจากภายในชุมชน

ปัญหาอีกประการหนึ่งนอกจากพัฒนาคือปัญหาเรื่องการยอมรับชนเผ่าพื้นเมือง กล่าวคือ มีปัญหาของการไม่ยอมรับพวกเขาโดยสังเกตได้จากปัญหาการไม่ได้รับสัญชาติไทย ปัญหาของชนเผ่าที่อพยพมาจากพม่า เช่น กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงนั้นต้องเผชิญกับความขัดแย้งทางชาติพันธุ์มาโดยตลอด ทำให้พวกเขาเกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและไมได้รับสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐานจากรัฐบาลพม่า [1] การอพยพหนีเข้ามาในประเทศไทยจึงทำให้พวกเขาไม่มีสัญชาติไทย การแก้ปัญหาโดยชั่วคราวของรัชกาลที่ 9 โดยการแจกเหรียญพระราชทานให้กับชนเผ่าโดยทุกเหรียญมีการตอกโค้ดหมายเลขประจำเหรียญทำให้พวกเขาเกิดความมั่นคง ปลอดภัยทางกายใจ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของตัวตนของพวกเขา [1] ดังเรื่องเล่าของ ซาเจ๊ะ หม่อโป๊กู่ อดีตผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์บ้านผาหมีซึ่งได้รับพระราชทานเหรียญนี้เช่นกันได้เล่าว่า [1]

ผมเล่าให้ท่านฟังเรื่องพวกชาวเขาอยู่ยังไง ปลูกฝิ่นมาโดยตลอดตั้งแต่ปู่ย่าตายายและลำบาก ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้นสักอย่างเลย ที่ผมขอคือหนึ่งเรื่องสัญชาติ สมัยนั้นพวกผมไม่มีสัญชาติไปไหนลำบาก ขอสัญชาติได้ไหมพระองค์ท่านบอกว่าไม่เป็นไร จุดนี้จะแก้ปัญหาจะแก้ไขให้ แล้วเสร็จกลับไป ไม่ถึงประมาณ 2 เดือน เอาเหรียญมาพระราชทานแทนบัตรประชาชน หลังจากนั้นเราก็ไปไหนมาไหนได้สะดวก ท่านบอกว่าเหรียญทดแทนบัตรประชาชนมีแล้วให้ดูแลชาวเขา 9 เผ่าด้วยกัน

ถึงแม้จะมีอุปสรรคหลายประการกว่าที่ชนเผ่าเหล่านี้จะได้รับสัญชาติไทย อย่างไรก็ดีภายหลังพวกเขาจะได้รับสิทธิในทางกฎหมายอย่างถูกต้องทำให้สามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ โอกาสทางสวัสดิการ รวมถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในความเป็นมนุษย์ ทำให้ชนเผ่า เช่น กะเหรี่ยง สามารถเลื่อนขั้นสถานะทางสังคมขึ้นไปได้และไม่ได้รู้สึกว่าตนเองเป็นมนุษย์ล่องหนอีกต่อไป[1] ซึ่งในส่วนนี้เราไม่อาจปฏิเสธบทบาทของรัชกาลที่ 9 ในการมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดการปรับความเข้าใจต่อชนเผ่าทางเหนือได้ดังคำบอกเล่าของ มู้ต่านดาอู และ เอเอลีน (นามสมมติ) ชาวกะเหรี่ยงว่า

เขารู้จักในหลวงทางวิทยุ ไม่เคยเห็นแต่ว่ารักรู้สึกอบอุ่น เขาว่า พอตอนกะเหรี่ยงหนีตายไปไทยก็ช่วยหมดรู้สึกว่าในหลวงเขาช่วย ก็รู้ไม่ได้ช่วยแบบตรงๆ แต่ไม่รู้สิมันอุ่นใจ ท่านช่วยให้อยู่ในเมืองไทยได้ [1]

และจากการดำเนินงานของโครงการหลวงจนมาถึง พ.ศ. 2551 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ประเมินว่า โครงการหลวงได้สร้างผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจไปทั้งสิ้นราว 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ [1] และทำให้ประชาชนในชนบทกว่า 7 ล้านคนได้รับประโยชน์ [1]

ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงทำให้ชนเผ่าทางเหนือได้ยอมรับรัฐไทยและอาศัยอยู่ร่วมกันได้มากขึ้นผ่านบทบาทของรัชกาลที่ 9 ผู้ซึ่งเป็นเสมือนบุรุษในตำนาน เช่นในเรื่องเล่าของชาวกะเหรี่ยงที่ว่า

เมื่อพระเจ้าจากไป กะเหรี่ยงกลายเป็นทาสของพม่า กลายเป็นลูกของป่า และลูกหลานของความยากจน กระจัดกระจายอยู่ทุกหนแห่ง คนพม่าใช้แรงงานเขาอย่างหนัก จนเขาล้มตายในป่าหรือไม่ก็มัดเขาไพล่หลัง และตีด้วยแซ่ … สักวันหนึ่งจะมีผู้มากอบกู้ชนเผ่าให้พ้นจากการถูกกดขี่และความยากไร้ เมื่อถึงเวลานั้นแผ่นดินจะร่มเย็น” [1]

อ้างอิง :

[1] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, พระผู้ทรงปกเกล้าฯ ประชาธิปไตย: 60 ปีสิริราชสมบัติกับการเมืองการปกครองไทย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549), หน้า 101.
[2] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, พระผู้ทรงปกเกล้าฯ ประชาธิปไตย: 60 ปีสิริราชสมบัติกับการเมืองการปกครองไทย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549), หน้า 103.
[3] ราญ ฤนาท [Ronald D. Renard], จากฝิ่นสู่เศรษฐกิจพอเพียง: สามทศวรรษแห่งการเดินทาง, แปลโดย อัญชลี สิงหเนตร (เชียงใหม่: สำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม, 2555), หน้า 47-48.
[4] ราญ ฤนาท [Ronald D. Renard], จากฝิ่นสู่เศรษฐกิจพอเพียง: สามทศวรรษแห่งการเดินทาง, แปลโดย อัญชลี สิงหเนตร (เชียงใหม่: สำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม, 2555), หน้า 49.
[5] มุกดาวรรณ ศักดิ์บุญ, “ทบทวนอคติทางชาติพันธุ์ในปริมณฑลรัฐไทย,” ใน ส่องอคติ (1): ความเป็นชาติในภูมิทัศน์อคติไทย, บรรณาธิการโดยนฤพนธ์ ด้วงวิเศษ (กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2565), หน้า 202-203.
[6] สิริภัทร นาคนาม, “การวิเคราะห์เรื่องเล่าความเทิดทูนที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9: การจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของแรงงานกะเหรี่ยงในสภาวะข้ามแดน,” (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวัฒนธรรมมศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, 2562), บทที่ 4.
[7] โรซาเลีย ซอร์ติโน, “ความหลากหลายและการเปลี่ยนแปลงการบริจาคเพื่อการกุศลในประเทศไทย,” บทความแปลโดยเพ็ญ สุวรรณรัตน์ และบรรณาธิการโดยอานันท์ กาญจนพันธุ์ ใน คนไทยใจดี: ทบทวนแนวคิดจิตสาธารณะกับสังคมไทย, หนังสือบรรณาธิการโดยอานันท์ กาญจนพันธุ์ (เชียงใหม่: แผนงานยุทธ์ศาสตร์เป้าหมาย ด้านสังคม คนไทย 4.0 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2565), หน้า 188.
[8] โรซาเลีย ซอร์ติโน, “ความหลากหลายและการเปลี่ยนแปลงการบริจาคเพื่อการกุศลในประเทศไทย,” บทความแปลโดยเพ็ญ สุวรรณรัตน์ และบรรณาธิการโดยอานันท์ กาญจนพันธุ์ ใน คนไทยใจดี: ทบทวนแนวคิดจิตสาธารณะกับสังคมไทย, หนังสือบรรณาธิการโดยอานันท์ กาญจนพันธุ์ (เชียงใหม่: แผนงานยุทธ์ศาสตร์เป้าหมาย ด้านสังคม คนไทย 4.0 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2565), หน้า 188.
[9] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, พระผู้ทรงปกเกล้าฯ ประชาธิปไตย: 60 ปีสิริราชสมบัติกับการเมืองการปกครองไทย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2549), หน้า 158.
[10] สิริภัทร นาคนาม, “การวิเคราะห์การจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของแรงงานกะเหรี่ยงในสภาวะข้ามแดน ผ่านเรื่องเล่าความเทิดทูนที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9,” ใน SOCIETY สังคมแห่งสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา: หนังสือรวมบทความจากโครงการสัมมนาเครือข่ายนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ครั้งที่ 17 ประจำปี 2561, บรรณาธิการโดยจักรพันธ์ ขัดชุ่มแสง (กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2562), หน้า 228.
[11] สิริภัทร นาคนาม, “การวิเคราะห์เรื่องเล่าความเทิดทูนที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9: การจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของแรงงานกะเหรี่ยงในสภาวะข้ามแดน,” (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวัฒนธรรมมศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, 2562), หน้า 70 และ 74-75.
[12] จามรี พระสุนิล, “ย้อนรอยพระบาทที่ยาตรา เรียนรู้สู่ศาสตร์พระราชา,” มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3 (กันยายน – ธันวาคม 2562): 14.
[13] สิริภัทร นาคนาม, “การวิเคราะห์เรื่องเล่าความเทิดทูนที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9: การจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของแรงงานกะเหรี่ยงในสภาวะข้ามแดน,” (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวัฒนธรรมมศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, 2562), หน้า 65.
[14] สิริภัทร นาคนาม, “การวิเคราะห์เรื่องเล่าความเทิดทูนที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9: การจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของแรงงานกะเหรี่ยงในสภาวะข้ามแดน,” (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวัฒนธรรมมศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, 2562), หน้า 73.
[15] The Royal Project Model: Best Practice Alternative Development Approach for Sustainable Economic, Social, and Environmental Development in the highlands, p. 27.
[16] Porphant Ouyyanont, Crown Property Bureau in Thailand and its Role in Political Economy (Singapore: Institute of Southeast Asian Studies, 2015), p. 35.
[17] สิริภัทร นาคนาม, “การวิเคราะห์เรื่องเล่าความเทิดทูนที่มีต่อในหลวงรัชกาลที่ 9: การจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของแรงงานกะเหรี่ยงในสภาวะข้ามแดน,” (วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวัฒนธรรมมศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, 2562), หน้า 37.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r