“ฉันหาครูสอนให้ไม่ได้นะ แต่ฉันจะไปสอน” ความทุ่มเทอันยิ่งใหญ่ของ ‘สมเด็จอาจารย์’ ที่ทั่วโลกต่างให้การยกย่อง

ในสมัยก่อนย้อนไป 40 กว่าปีที่แล้ว หลายพื้นที่ในประเทศไทยยังมีปัญหาขาดแคลน “ครู” ที่จะมอบวิชาความรู้ให้แก่นักเรียน นิสิตนักศึกษา ที่จะเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของชาติบ้านเมือง ยิ่งถ้าเป็นโรงเรียน/มหาวิทยาลัยในพื้นที่ห่างไกล แถมยังเป็นการสอนในวิชาเฉพาะด้านอีก เงื่อนไขเหล่านี้ก็ยิ่งทำให้ปัญหาขาดแคลนครูขยายวงกว้างมากขึ้น

เช่นในปี พ.ศ. 2523 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กำลังขาดแคลนอาจารย์สอนวิชาภาษาฝรั่งเศส จนทำให้ ผศ.ดร.อุบลวรรณ โชติวิสิทธิ์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ตัดสินใจเขียนจดหมายกราบทูลสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ให้ทรงช่วย เนื่องจากทรงเป็นนายกสมาคมครูฝรั่งเศสในขณะนั้น

หลังจากนั้นหนึ่งเดือนต่อมา ก็มีจดหมายตอบกลับให้อาจารย์อุบลวรรณเข้าเฝ้าฯ ที่วังสระปทุม จดหมายฉบับนี้นับเป็นความหวังของอาจารย์อุบลวรรณและชาว ม.อ.วิทยาเขตปัตตานีทุกคน ที่จะได้มีอาจารย์มาสอนวิชาภาษาฝรั่งเศสให้กับทางมหาวิทยาลัย จากพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน

และในวันที่เข้าเฝ้าฯ นั้น สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้รับสั่งกับอาจารย์อุบลวรรณว่า “ฉันหาครูสอนให้ไม่ได้นะ แต่ฉันจะไปสอน”

เรื่องนี้สร้างความดีใจให้กับอาจารย์อุบลวรรณอย่างมาก และอาจารย์ได้รีบกลับมาแจ้งข่าวดีนี้ให้กับทางคณบดีเพื่อตระเตรียมการและสถานที่ให้พร้อม เพราะมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในสมัยนั้นยังขาดแคลนสาธารณูปโภคในหลายๆ ด้าน ไม่มีทั้งห้องพัก ไฟดับบ่อย น้ำประปาขุ่น ซึ่งทุกคนก็ได้ช่วยกันซ่อมแซมและทาสีอาคารสโมสรอาจารย์ให้เป็นที่ประทับรับรอง

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2523 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือที่ใครๆ เรียกกันว่า “สมเด็จอาจารย์” ได้เสด็จมายังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และได้ทรงสอนวิชากวีนิพนธ์ฝรั่งเศสแก่นักศึกษาจำนวน 30  คน เป็นเวลากว่าสิบวัน

การสอนของพระองค์นั้นมีความเป็นกันเองมาก โดยทรงใช้วิธีตั้งคำถามแก่ผู้เรียน แล้วให้ทุกคนร่วมกันหาคำตอบ ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้นักศึกษาได้แสดงความคิดเห็นและมีความตื่นตัวในการเรียน ทั้งยังทำให้เกิดการค้นคว้าหาข้อมูลเป็นการบ้านก่อนเข้าเรียนอีกด้วย

และยังมีเรื่องน่าประทับใจอีกเรื่องหนึ่งคือ ต่อมาอาจารย์อุบลวรรณได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาเอกสาขาวรรณคดีฝรั่งเศส แต่ปรากฏว่าอาจารย์ได้ทุนแค่ปีเดียว และไม่สามารถขอทุนต่อได้ เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงทราบ ก็ได้มีรับสั่งแก่อาจารย์ว่า “ไม่ต้องกลับ ให้เรียนต่อจนจบ ที่ให้ทุนไม่ต้องมาคืน แต่ว่าให้กลับมาสอนที่ปัตตานี”

นับเป็นโอกาสสำคัญทางการศึกษาที่อาจารย์อุบลวรรณได้รับจากพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ซึ่งจะเป็นการต่อยอดในการนำความรู้กลับมาสอนนิสิตนักศึกษา และยังเป็นการส่งต่อโอกาสให้กับชาว ม.อ.วิทยาเขตปัตตานีต่อไป

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงได้รับปริญญาตรีวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี มหาวิทยาลัยโลซานน์ และพร้อมกันนั้นทรงศึกษาหลักสูตร “Diplome de Socials” สาขาการศึกษา วรรณคดี ปรัชญา และจิตวิทยา โดยไม่ทรงสอบเพื่อรับปริญญา ทำให้ทรงมีพื้นฐานความรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์ควบคู่กัน

เมื่อเสด็จกลับประเทศไทยในปี พ.ศ. 2493 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงแนะนำให้พระองค์ทรงงานเป็นครู จึงทรงเป็น “สมเด็จอาจารย์” ทรงสอนภาษาฝรั่งเศสในหลายมหาวิทยาลัย และตามเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั่วประเทศ ทั้งด้านการศึกษา การแพทย์ การพยาบาล การสาธารณสุข และการสังคมสงเคราะห์

พระองค์ทรงก่อตั้ง “สมาคมครูภาษาฝรั่งเศสแห่งประเทศไทย” ขึ้นในปี พ.ศ. 2520 และยังทรงเป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาต่างประเทศที่มหาวิทยาลัยต่างๆ อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเฉพาะที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พระองค์ทรงเป็นพระอาจารย์ประจำนานถึง 8 ปี โดยทรงเป็นหัวหน้าภาควิชาภาษาต่างประเทศเอง และทรงเป็นผู้ดูแลและจัดทำหลักสูตรการสอนของอาจารย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ทรงจัดทำหลักสูตรปริญญาตรีสาขาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสสำเร็จ ด้วยการผสมผสานความรู้ด้านภาษาและวรรณคดีให้เข้ากันอย่างเหมาะสม โดยทรงได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น ศาสตราจารย์พิเศษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2521

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงสนับสนุนโครงการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ด้วยทรงเล็งเห็นว่าการแข่งขันระดับนานาชาติจะช่วยพัฒนา และส่งเสริมศักยภาพของนักเรียนให้มีความสามารถทัดเทียมนานาประเทศได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศไทยในระยะยาว พระองค์ทรงประทานทั้งเงินและกำลังใจ ทรงห่วงใยและซักถามผลของการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด

และในปี พ.ศ. 2541 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงประทานเงินส่วนพระองค์เพื่อดำเนินการจัดตั้ง “มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.)” และทรงรับเป็นองค์ประธานมูลนิธิฯ ด้วย โดยมูลนิธิ สอวน. มีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ของนักเรียนทั้งประเทศให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อที่จะได้นักเรียนที่มีความรู้ระดับมาตรฐานสากลมาเข้าร่วมแข่งขันคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันทางวิชาการกับนานาชาติมากขึ้น ซึ่งเป็นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลแบบยั่งยืน

และเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 องค์การยูเนสโกได้ประกาศยกย่อง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นบุคคลสำคัญของโลก พร้อมกับพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เนื่องจากพระองค์ทรงประกอบพระกรณียกิจนานัปการ ทั้งด้านการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ด้านสังคมสงเคราะห์ รวมถึงการแพทย์ การสาธารณสุข และด้านอื่นๆ ทั้งยังทรงยึดมั่นในคุณค่าของมนุษย์และศักยภาพของการพัฒนา เพื่อนำมาซึ่งประโยชน์แก่ประชาชนชาวไทยและสังคมโลก

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า