‘พลเอกสำราญ แพทยกุล’ องคมนตรีผู้ถูกใส่ร้าย กรณีเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เหยื่อการบิดเบือนของวิกิพีเดียไทย

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นั้น เป็นโศกนาฏกรรมที่ไม่มีคนไทยคนไหนต้องการที่จะเห็นมันเกิดขึ้นอีก ถึงแม้เหตุการณ์จะผ่านมาเนิ่นนานแต่หลายเรื่องราวก็ยังไม่ได้ถูกให้คำอธิบายอย่างยอมรับร่วมกันได้ อย่างไรก็ดี ภายใต้สภาวะที่ประวัติศาสตร์คลุมเครือเช่นนี้ได้เปิดช่องให้เกิดการโจมตีมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะในวิกิพีเดียซึ่งได้ระบุเรื่องราวเกี่ยวกับ “สำราญ แพทยกุล” ผู้ที่เป็นองคมนตรีว่า

“สำราญ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มนวพล เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2517 มีรหัส นวพล 001 ได้รับโปรดเกล้า ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2518 ดำรงตำแหน่งจนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 สำราญมีความเกี่ยวข้องกับ เหตุการณ์ 6 ตุลา พ.ศ. 2519 ในการสั่งฆ่านักศึกษาและประชาชนอย่างทารุณแและโหดร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย อาจจะถือได้เป็นการกระทำที่ไร้มนุษย์ธรรมป่าเถื่อน และไม่ต่างอะไรกับการกระทำของอมนุษย์ทั้งปวง” [1]

กล่าวคือ เป็นการเชื่อมโยงระหว่างสำราญและในหลวงว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งปราบนักศึกษา โดยข้อความที่รุนแรงนี้เป็นเพียงการอ้างวิดีโอจาก YouTube ซึ่งไม่ควรนับว่าสามารถนำมาสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการได้เลย แต่กลับปรากฏอยู่ในวิกิพีเดียเสียได้ ดังนั้นวันนี้ ฤา จะพาไปทำความเข้าใจทีละประเด็นดังต่อไปนี้

กลุ่มนวพล

กลุ่มนวพลเป็นแนวความคิดของ วัฒนา เขียววิมล ซึ่งได้สร้างความสนใจแก่นายทหาร นายตำรวจ ข้าราชการ และประชาชนชนชั้นนำในช่วงนั้นมาก ทำให้วัฒนาได้ถูกชักนำไปในทางที่จะสร้างเป็นกลุ่มการเมืองขึ้นมา ด้วยการอาศัยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาในเดือน ตุลาคม พ.ศ. 2517 [2] โดยพลเอกสายหยุด เกิดผล ได้ชักชวนให้วัฒนามาร่วมงานด้วยหลังจากได้พูดคุยกันที่วอชิงตัน [3]

อย่างไรก็ดี ทั้งสองกลับมีความเห็นไม่ตรงกันและได้แยกไปคนละทางในการทำงาน โดยต่อมาวัฒนาได้ไปพบกับพลเอกกฤษณ์ สีวะรา ในภายหลัง และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาของพลเอกกฤษณ์ ซึ่งเป็นทั้งผู้บัญชาการทหารบกและผู้อำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ด้วย โดยพลเอกสายหยุดไม่สามารถทำอะไรได้เพราะเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และการแต่งตั้งดังกล่าวก็ไม่ได้มีการสอบถามพลเอกสายหยุดในฐานะที่เป็นเสนาธิการและเป็นผู้นำวัฒนาเข้ามาเลย [4]

จากนั้นวัฒนาก็ดำเนินการไปโดยตัววัฒนาเอง โดยได้รับการสนับสนุนจากบุคคลตามโครงการนวพล แต่เมื่อคนทราบว่าเป็นการแอบแฝงสร้างองค์กรทางการเมืองขึ้นมาโดยใช้อำนาจรัฐ ความนิยมที่สังคมเคยมีก็ลดลงเรื่อย ๆ [5] กลุ่มนวพลนั้นใช้วิธีสงครามจิตวิทยาในการดำเนินการ [6] ดังนั้น กลุ่มนวพลจึงไม่ใช่กลุ่มกองกำลัง และยังปรากฏอีกด้วยว่า “แม้ว่าเมื่อถึงเดือนกันยายน 2518 อิทธิพลของนวพลต่อการเมืองไทยยังมีไม่มากนัก” [7] โดยสมาชิกในการก่อตั้งนั้นมีพลเอกสำราญ แพทยกุลเป็นหนึ่งในสมาชิกด้วย                       

พลเอกสำราญ แพทยกุล

ในช่วงที่มีการจัดตั้งกลุ่มนวพลเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2517 เป็นช่วงเดือนสุดท้ายที่พลเอกสำราญ แพทยกุล ดำรงตำแหน่งรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวคือดำรงตำแหน่งถึงวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2517 โดยลาออกจากตำแหน่งพร้อมกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต่อมาจึงได้มีการประกาศแต่งตั้งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและรองประธานสภานิติแห่งชาติคนใหม่ในวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2517 [8]

ไม่นานหลังจากนั้น รัชกาลที่ 9 ได้ทรงประกาศแต่งตั้งให้พลเอกสำราญ แพทยกุล ดำรงตำแหน่งองคมนตรีเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2518 [9] อย่างไรก็ดี ดังที่กล่าวไปว่า “แม้ว่าเมื่อถึงเดือนกันยายน 2518 อิทธิพลของนวพลต่อการเมืองไทยยังมีไม่มากนัก” ซึ่งห่างจากเดือนธันวาคมอันเป็นเวลาในการแต่งตั้ง 4 เดือนเท่านั้น  จึงอนุมานได้ว่าอิทธิพลของกลุ่มก็น่าจะยังไม่ได้ขยายอะไรมากมายนัก

ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 มาตรา 17 ระบุไว้ว่า “องคมนตรีต้องไม่เป็นสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกผู้แทนราษฎร ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง และต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใดๆ” เมื่อพิจารณาถึงเดือนที่ก่อตั้งกลุ่มนวพลคือเดือนตุลาคมซึ่งสอดคล้องกับการดำรงตำแหน่งเดือนสุดท้ายของพลเอกสำราญ กลุ่มนวพลน่าจะต้องจัดตั้งในช่วงใกล้เคียงกัน เมื่อพลเอกสำราญลาออกจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐอีกต่อไป และยังอนุมานได้ว่าน่าจะลาออกจาก กอ.รมน. ซึ่งอยู่ใต้การกำกับของนายกรัฐมนตรีอีกด้วย มิฉะนั้นจะไม่สามารถดำรงตำแหน่งองคมนตรีได้

นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาซึ่งปรากฏใน ประวัติและผลงาน พลเอก สำราญ แพทยกุล ซึ่งเป็นหนังสืองานศพเมื่อ พ.ศ. 2529 หน้า 79 ระบุว่า “[เมื่อ พ.ศ. 2510] พลเอกสำราญ … ดำเนินนโยบายเดิมคือ การเมืองนำหน้าการทหาร ใช้กลยุทธการประชาสัมพันธ์ … อย่างชนิดตัวถึงตัว โดยประกาศให้ประชาชนในหมู่บ้านมารวมกลุ่มกัน … พูดชักชวนให้เห็นถึงโทษของลัทธิคอมมิวนิสต์ หลังจากที่ท่านพูดเสร็จ จะปรากฏมีผู้กลับใจมามอบตัวครั้งหนึ่งๆ ๗-๘ คนเป็นอย่างน้อย” และท่านสำราญถึงแก่อสัญกรรมในตำแหน่ง ดังนั้นการทำงานที่ต้องใกล้ชิดกับรัชกาลที่ 9 อยู่ตลอดเวลาจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไปนำกองกำลังใดหรือสั่งใครไปปราบปรามนักศึกษา เพราะต้องทำงานในการช่วยเหลือและการโน้มน้าวจิตใจอย่างสม่ำเสมอ

ดังนั้น พลเอกสำราญจึงรับหน้าที่ในการเป็นองคมนตรีเพียงอย่างเดียวตั้งแต่ พ.ศ. 2518 มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ด้วย และไม่มีหลักฐานใดๆ ที่จะยืนยันได้เลยว่าพลเอกสำราญมีส่วนเกี่ยวข้องนอกจากเรื่องการเป็นสมาชิกเท่านั้น และนี่ยังเป็นการใส่ร้ายอย่างไม่มีสิ่งใดยืนยันได้เลย อันสะท้อนให้เห็นถึงการพยายามบิดเบือนประวัติศาสตร์การเมืองที่รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ของความจริง

อ้างอิง :

[1] วิกิพีเดีย หน้า “สำราญ แพทยกุล”
[2] ศิบดี นพประเสริฐ, “อนุรักษนิยมไทยกับนโยบายต่างประเทศ (พ.ศ. 2516 – พ.ศ. 2521),” (วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2560), หน้า 74.
[3] ศิบดี นพประเสริฐ, “อนุรักษนิยมไทยกับนโยบายต่างประเทศ (พ.ศ. 2516 – พ.ศ. 2521),” (วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2560), หน้า 74.
[4] ศิบดี นพประเสริฐ, “อนุรักษนิยมไทยกับนโยบายต่างประเทศ (พ.ศ. 2516 – พ.ศ. 2521),” (วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2560), หน้า 75.
[5] ศิบดี นพประเสริฐ, “อนุรักษนิยมไทยกับนโยบายต่างประเทศ (พ.ศ. 2516 – พ.ศ. 2521),” (วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2560), หน้า 75.
[6] กันตพัฒน์ ชนะบุญ, การเมืองและการปกครองของไทย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2563), หน้า 105-106.
[7] พวงทอง ภวัครพันธุ์, “ไม่มีนวพลใน 6 ตุลา: องค์กรผีของ กอ.รมน.”
[8] ราชกิจจานุเบกษา 18 ตุลาคม 2517 เล่ม 91 ตอนที่ 175 ฉบับพิเศษ หน้า 30.
[9] ราชกิจจานุเบกษา 24 ธันวาคม 2518 เล่ม 92 ตอนที่ 261 ฉบับพิเศษ หน้า 2.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า