‘ย่าบาหยัน ตำนาน ร่างทรง’ ประวัติศาสตร์ผีๆ และผีที่ไม่ใช่วิญญาณ

ในช่วงปลายปี พ.ศ 2564 ได้มีการเปิดตัวภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ของค่าย GDH และ โดยการร่วมมือกับโชว์บอกซ์ จากประเทศเกาหลีใต้ อย่าง “ร่างทรง” ( The Medium) ซึ่งเป็นภาพยนตร์แนวสยองขวัญ กำกับโดย บรรจง ปิสัญธนะกูล หรือ โต้ง ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังของประเทศไทย ผู้ที่ผ่านการกำกับภาพยนตร์ชื่อดังมาแล้วหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นแนวโรแมนติก หรือ ระทึก-สยองขวัญ เช่น “ซัตเตอร์ กดติดวิญญาณ ( Shutter )” “สี่แพร่ง”  “ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ ( Heart Attack )” “แฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว ( One Day )”

ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้ นำแสดงโดย นริลญา กุลมงคลเพชร ( มิ้ง ) สวนีย์ อุทุมมา ( ป้านิ่ม ) ยะสะกะ ไชยสร ( ลุงมานิต ) บุญส่ง นาคภู่ ( หมอสันติ ) เป็นต้น ซึ่งหลังจากปล่อยตัวภาพยนตร์ออกฉาย ก็สามารถเรียกเสียงฮือฮาและความสนใจจากผู้ชมได้ไม่น้อย และยังได้รับรางวัลอีกมากมาย เช่น รางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ เป็นต้น

โดยภาพยนตร์ร่างทรงนี้ มีความสมจริงอย่างมากเกี่ยวกับตัวเรื่องที่เสนอให้เห็น จนทำให้คนพื้นที่อย่างผู้เขียนนั้นชื่นชอบและย้อนกลับไปหาดูอีกหลายรอบ อีกทั้งยังมีหลาย ๆ ประเด็นที่ยังไม่เคลียร์ และ ทิ้งขอสงสัยให้ผู้ชมได้ไปขบคิด ถกเถียงกันอย่างประเทืองปัญญา

แต่ถ้าหากเราลองมองนอกจากเรื่องของความสมจริงในตัวของภาพยนตร์ แล้วมองเจาะลึกเข้าไปยังเนื้อหาประเด็นที่ภาพยนตร์ต้องการจะสื่อให้คนดูเห็น มันจะมีการสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรม และ ความเชื่อ ของชาวอีสาน ที่มีอยู่จริง ๆ หลายเรื่อง ด้วยกัน

ประเด็นแรกที่ผู้เขียนอยากจะพูดถึงคือเรื่องของ “ย่าบาหยัน” ย่าบาหยันในร่างทรงนี้เป็นตัวละครที่ถูกสมมุติขึ้น โดยผู้กำกับ ในภาพยนตร์จะเสนอภาพของย่าบาหยัน เป็นผีบรรพบุรุษที่คอยปกปักรักษาคนในพื้นที่มาเนิ่นนานโดยใช้พิธี หรือ บุคคลที่เราอาจคุ้นชินกันว่า “ร่างทรง” ที่คอยรักษาโรคภัยไข้เจ็บ หรือ เรื่องของสิ่งเหนือธรรมชาติที่ทางการแพทย์หาคำตอบหรือรักษาไม่ได้ ของคนในพื้นที่ และ อาจจะรวมไปถึงคนนอกพื้นที่ที่เข้ามาให้รักษาด้วย ซึ่งร่างทรงในภาพยนตร์ “ร่างทรง” นั้นจะมีการสืบทอดผ่านสายเลือดโดย “ย่าบาหยัน” จะเลือกคนที่จะเป็นร่างทรงต่อเฉพาะ ผู้หญิง เท่านั้น ( จะนิยมใช้คนในตระกูลที่เป็นร่างทรงอยู่แล้ว )

เรื่องนี้ก็ไปสอดคล้องกับความเชื่อของชาวอีสาน หากเราได้ไปท่องเที่ยวในแถวภาคอีสาน โดยเฉพาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวบนภูเขา หรือ ตามหมู่บ้านท้องถิ่นต่าง ๆ จะพบว่ามีศาลไม้เล็ก ๆ อาจจะมีการมุงด้วยสังกะสีบ้าง มีเครื่องบูชาต่าง ๆ ธูปเทียน น้ำแดง ฯลฯ ตั้งอยู่ในศาล และบางที่ยังมีการติดป้ายชื่อประกอบอีกด้วย ซึ่งของประเภทนี้ถูกสร้างขึ้นเนื่องในความเชื่อเรื่องผี โดยชาวบ้านในท้องถิ่นที่เชื่อในเรื่องของผี เพื่อเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้าน โดยในแต่ก่อนนั้นคนในท้องถิ่นแถบภาคอีสาน นั้นนับถือในเรื่องของผีบรรพบุรุษ และถือว่า “ผี” คือสิ่งเหนือธรรมชาติที่เป็นสิ่งที่ต้องเคารพ คือที่พึ่งทางใจในสมัยที่เทคโนโลยี หรือ วิทยาศาสตร์ยังไม่เจริญ ที่สิงสถิตอยู่ในทุก ๆ อย่าง

ความเชื่อนี้ไม่ได้มีเพียงในภาคอีสาน แต่อาจจะรวมไปถึงทางภาคเหนือ และภาคกลาง และอาจจะมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ดั่งจะเห็นปรากฏในศิลาจารึกวัดศรีชุม หรือชอบเรียกกันว่า ศิลาจารึกหลักที่ 2 จะมีการเรียก กษัตริย์ของเมืองยโสธรปุระ ( มีการสันนิษฐานว่าคือ กษัตริย์ของนครธม ) ความว่า “ผีฟ้าเจ้าเมืองศรียโสธรปุระ” จะทำให้เราเห็นว่าในจารึกนั้นใช้คำว่า “ผีฟ้า” ก่อนจะเรียกตำแหน่ง เจ้าเมือง และ ชื่อของเมืองนั้น แสดงให้เห็นว่า คนในสมัยโบราณนับถือผีและให้ความหมายของคำว่า “ผี” กว้างกว่าที่เราคิดหรือเข้าใจในสมัยปัจจุบัน และบางทีอาจจะใช้เรียก “กษัตริย์” ในแง่ของสิ่งที่น่าเคารพ ร่างสมมุติของเทพเทวดา ก็เป็นได้ หรือแม้แต่ในยุคสมัยปัจจุบันยังมีการนับถือผีอยู่ เช่น การเสี่ยงทาย เพื่อสร้างแรงกำลังใจในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จ

 ในบางพื้นที่จะมีการใช้เครื่องดนตรีประกอบ และ ขับร้องเป็นทำนองหมอลำที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวอีสาน ที่นิยมเรียกกันว่า “ลำทรง” หรือ “ลำผีฟ้า” เป็นต้น โดยลำทรงจะมี “แคน” ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีสำคัญที่นิยมใช้มากในภาคอีสานเป็นเครื่องดนตรีประกอบระหว่างการขับร้อง และ มีความเชื่อว่า “แคน” เป็นเครื่องดนตรีที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นสื่อกลางสามารถติดต่อกับ “พญาแถน” หรือ ผีบรรพบุรุษ ได้  ( ในภาพยนตร์ร่างทรงก็มีฉากที่ “ป้าน้อย” พา มิ้ง ผู้เป็นลูกสาวไปทำพิธีรับขันธ์ จากหมอผีท่านหนึ่ง โดยมีผู้ที่อยู่ในพิธีเป็นลูกมือ คอยเป่าแคนประกอบการทำพิธี ) อีกทั้งในปัจจุบันก็ยังมีการทำพิธี หรือ ขับร้องหมอลำชนิดนี้อยู่

ประเด็นที่สองคือ การสืบทอดร่างทรงผ่านสายเลือด โดยเลือกเฉพาะผู้หญิงในตระกูล ในส่วนของตรงนี้สอดคล้องกับการสืบทอดร่างทรงของทางผีฟ้า ฯลฯ ในภาคอีสานนั้น ในบางพื้นที่ที่มีการทรง ก็มีการสืบทอดกันในลักษณะนี้ แต่บางพื้นที่ก็มีการสืบทอดโดยผู้ชายด้วย ( จะมาเจาะลึกในบทความถัดไป )

ประเด็นที่สาม การเลี้ยงผี การเลี้ยงผีนั้นมีพบมากในอุษาคเนย์ ( South East Asia ) ไม่เพียงแต่ในภาคอีสานเท่านั้น แต่ยังพบในภาคเหนือ และ ท้องถิ่นอื่น ๆ ด้วย อย่างเช่น ในภาคเหนือก็มีพิธีเลี้ยงบรรพบุรุษ และ พิธีเลี้ยงดง ฯลฯ

โดยในพิธีเลี้ยงดงของคนภาคเหนือนั้น มีจัดขึ้นทุกปีตามท้องถิ่น แต่พิธีเลี้ยงดงที่สำคัญในภาคเหนือ คือพิธีเลี้ยงดง ปู่แสะ ย่าแสะ ซึ่งนับว่าเป็นผีบรรพบุรุษของคนภาคเหนือ ในวันพิธีนั้นจะมีการล้มวัว และ “ร่างทรง” จะเป็นผู้ที่เข้าไปกินเนื้อวัวแบบสด ๆ ซึ่งในฉากแรก ๆ ของภาพยนตร์ร่างทรง จะมีฉากเลี้ยงย่าบาหยัน สันนิษฐานว่าน่าจะได้แรงบรรดาลใจมาจากทางฝั่งการเลี้ยงผีของทางอีสานมากกว่า

ประเด็นที่สี่ ต่อเนื่องจากประเด็นที่สาม สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนสันนิษฐานไปอย่างนั้น เนื่องจากในระหว่างทำพิธีจะมีการ ขับลำในลักษณะคล้าย ๆ กับทำนองเซิ้งบั้งไฟของทางอีสาน และ ลักษณะของพิธีจะคล้ายกับของทางภาคอีสาน อีกทั้งการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ยังใช้ ภาษาอีสานและใช้สถานที่ในภาคอีสาน เป็นหลัก

ประเด็นสุดท้าย คือการเล่นคุณไสยในภาคอีสานนั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณสืบลงมา และมีพบอย่างชัดเจนก็คือสมัยที่ “หมอลำโจทย์แก้แปลถาม” รุ่งเรือง การลำโจทย์แก้แปลถามนี้ จะเป็นการขับร้องเป็นทำนองหมอลำตอบโต้กันระหว่าง สองคน การลำเป็นการถามอีกฝ่าย หากอีกฝ่ายตอบได้ก็ต้องถามกลับ ( คำถามมักเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของศาสนา ) หากมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตอบไม่ได้ ก็จะนับว่าแพ้ และฝ่ายชนะก็จะได้ของรางวัลที่ชาวบ้านนำมาเป็นเดิมพันไว้ ซึ่งจะมีการเดิมพันด้วยสิ่งของต่าง ๆ  เช่น สัตว์ ( วัว , หมู ) เงิน เป็นต้น แต่บางครั้งอีกฝ่ายมีการใช้คุณไสยเสกให้อีกฝ่ายพบกับปัญหาต่าง ๆ ระหว่างลำ จนทำให้เกิดการตอบโต้ต่อไม่ได้แล้วถูกนับว่าแพ้ ยุคสมัยต่อมาจึงมีการลำกลอน “ไหว้ครู” ก่อนจะขึ้นลำเพื่อขอให้เทพเทวดา หรือ ครูอาจารย์มาปกปักรักษาจากการเล่นคุณไสยของอีกฝ่าย ( โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน ) อีกทั้งในปัจจุบันภาคอีสานก็มีคนเปิดสำนักรับทำคุณไสย สอนวิชาอาคมต่าง ๆ  มากมายส่วนหนึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะรับวัฒนธรรมเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติมาจากกัมพูชาด้วย

การเล่นคุณไสยหรือ การเรียน ศึกษาวิชาอาคม นั้นไม่เพียงแต่มีแค่ภาคอีสาน แต่อาจจะรวมถึงทั้งประเทศ และ ต่างประเทศด้วย วิชาอาคมในประเทศไทย หรือ อุษาคเนย์นี้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ อย่างในอุษาคเนย์ก็อาจมีตั้งแต่ก่อนสมัยนครวัด – นครธม สืบทอดกันมาเรื่อย ๆ  ผ่านมาหลายศตวรรษ ไล่ลงมาตั้งแต่ ทวารวดี – ละโว้ – สุโขทัย – อยุทธยา – ธนบุรี – รัตนโกสินทร์ ถึงปัจจุบัน วิชาอาคม การเล่นคุณไสยเหล่านี้ ก็ไม่เคยจางหายจากสังคมของอุษาคเนย์เลย

ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนนั้นเห็นว่า ภาพยนตร์เรื่อง “ร่างทรง” นั้นเป็นภาพยนตร์ที่มีความน่าสนใจอยู่มาก และ น่าชมอย่างมาก ภาพยนตร์เรื่องนี้สามารถให้แง่คิด ความรู้ต่าง ๆ โดยผ่านการแสดงได้ ซึ่งบางทีการได้รับชมภาพยนตร์ ก็สามารถสร้างองค์ความรู้ต่าง ๆ แบบเข้าใจง่าย มากกว่าการเรียน หรือ อ่านหนังสือนาน ๆ เสียอีก

อ้างอิง :

[1] www.komchaddluke.net , “ร่างทรง” ได้รับเลือกเป็นตัวแทนหนังไทยเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ ครั้งที่ 94 , สืบค้นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ 2565
[2] www.thairath.co.th , ร่างทรง เปิดตัวรายได้อันดับ 1 เป็นตัวแทนหนังไทยเสนอชื่อชิงออสการ์ , สืบค้นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ 2565
[3] แมวค้นฅน , www.thissiscat.com , แมวค้นฅน : โต้ง บรรจง , สืบค้นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ 2565
[4] ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร , ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย | จารึกวัดศรีชุม , สืบค้นเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 31 เดือนกรกฎาคม พ.ศ 2565
[5] อึ้งทึ่งเสียว , รายการอึ้งทึ่งเสียว : งานบุญเลี้ยงผี , สืบค้นเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 31 เดือนกรกฎาคม พ.ศ 2565
[6] GDH , เพลงสวดบูชาย่าบาหยัน จากภาพยนตร์ “ร่างทรง” , สืบค้นเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 31 เดือนกรกฎาคม พ.ศ 2565

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า