ทำความเข้าใจกับจุดกำเนิดอารยธรรมในภูมิภาคอุษาคเนย์ เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด สู่ประชาคมโลกอย่างยั่งยืน

เป็นคำถามที่ถกเถียงกันมายาวนานว่าคนไทยลอกวัฒนธรรมเขมร หรือเขมรลอกวัฒนธรรมไทย เนื่องจากต่างฝ่ายต่างล้วนอ้างอิงที่มาคนละจุดกัน ดังนั้น เพื่อการทำความเข้าใจถึงวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมของทั้งชาวไทย, ชาวกัมพูชา และทั้งผืนแผ่นดินอุษาคเนย์ เราควรทำความเข้าใจถึง “จุดกำเนิดวัฒนธรรม” ของภูมิภาคนี้กันก่อน

จากหลักฐานการค้นคว้าทางโบราณคดี พบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่บางคนนิยมเรียกว่า อุษาคเนย์ มาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์แล้ว ย้อนได้ไกลถึง 1.5 ล้านปีก่อน ซึ่งมนุษย์ในยุคนี้ มีการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานตลอดเวลา มีลักษณะการอยู่อาศัยแบบรวมกลุ่มกัน และปกครองกันในลักษณะชนเผ่า และเริ่มวิวัฒนาการสู่สังคมเกษตรกรรม ก่อนจะพัฒนาระบบการค้าขายระหว่างกันในภูมิภาคและนอกภูมิภาคขึ้น

ภายใต้ความเจริญทางการค้าทั้งทางบกและทางทะเลสมัยโบราณ ทำให้เกิดเส้นทางการค้าขาย เชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคอุษาคเนย์-เอเชียใต้-เอเชียกลาง-แอฟริกาตะวันออกขึ้นในช่วง 1,500 ปีก่อนคริสตกาล และความเติบโตทางวัฒนธรรมของอินเดีย ทำให้อินเดียแผ่ขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรมขึ้น

ในยุคสมัยโบราณ แนวคิด “ประชาชาติ” และ “ชาตินิยม” ยังไม่แข็งแรง การยอมรับการแทรกแซงทางวัฒนธรรมของชนชาติที่มีอารยธรรมสูงกว่าถือเป็นเรื่องปกติของยุคสมัยนั้น แม้ในเอเชียตะวันออกเอง สมัยนั้น ทั้งชนชาติญี่ปุ่นและเกาหลี ล้วนแต่ยินดีต่อการแทรกแซงทางวัฒนธรรมของจีน

ชนชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็เป็นเช่นเดียวกัน

ถึงแม้ว่าหลักฐานการเข้ามาสร้างอารยธรรมของอินเดียในภูมิภาคอุษาคเนย์จะยังไม่ชัดเจน บ้างก็ว่าเกิดขึ้นจากการเดินทางของพ่อค้าชาวอินเดีย ในคริสต์ศตวรรษที่ 1 มายังดินแดนที่ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของเวียดนามแล้วแต่งงานกับลูกสาวหัวหน้าเผ่า และได้รับการยกย่องขึ้นเป็นหัวหน้าเผ่า

บ้างก็ว่า ผู้ที่มาเป็นชนชั้นวรรณะกษัตริย์ (นักรบ) หรือพราหมณ์ ซึ่งเป็นชนชั้นที่มีความรู้ด้านการบริหารการปกครองประเทศในรูปแบบอาณาจักร ซึ่งเป็นรูปแบบที่สูงกว่าแบบชนเผ่าที่ใช้กันในภูมิภาคอุษาคเนย์ในสมัยนั้น

แต่ไม่ว่าจุดเริ่มต้นจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่นี่คือจุดเริ่มต้นของ “อาณาจักรฟูนาน” อาณาจักรแรกของภูมิภาคอุษาคเนย์

เราอาจกล่าวได้ว่า อารยธรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเรา มาจากกระแส “ภารตภิวัฒน์” (Indianization) และภารตภิวัฒน์นำมาซึ่งวัฒนธรรม, อารยธรรม, ศาสนา, สถาปัตยกรรม และวิศวกรรม ตลอดจนองค์ความรู้จากอินเดีย ซึ่งทั้งหมดนี้ คือรากฐานของอารยธรรมของภูมิภาคอุษาคเนย์ และมีผลกระทบจวบจนปัจจุบัน

นอกจากนี้ อินเดียในเวลานั้น มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าชนเผ่าในภูมิภาคมาก อีกทั้งยังมีจำนวนประชากรที่มากกว่า การเข้ามาของอารยธรรมอินเดีย ผ่าน “การแต่งงานทางการเมือง” ระหว่างชาวอินเดีย และชนชั้นสูงของชนเผ่า ทำให้ทั้งความมั่งคั่ง และจำนวนประชากรของชนเผ่าสูงขึ้นกว่าเดิมอย่างรวดเร็ว ทำให้ขนาดดินแดนในปกครองแผ่ขยายออกจนกว้าง ครอบคลุมพื้นที่กัมพูชา, เวียดนามตอนใต้, ลาว และภาคกลางของประเทศไทยในปัจจุบัน

(ขนาดพื้นที่ใต้อิทธิพลของฟูนาน ในปัจจุบันยังเป็นที่ถกเถียงกัน)

และถึงแม้ว่าในเวลาต่อมาอาณาจักรฟูนานจะล่มสลายลง และถูกแทนที่โดยอาณาจักรอื่นในเวลาต่อมาจนกระทั่งในปัจจุบัน แต่สิ่งที่ยังคงเป็นรากเหง้าทางวัฒนธรรมของภูมิภาคนี้อยู่นั้น ยังคงเป็นวัฒนธรรมอินเดียอยู่ดี

กาลเวลาหมุนเวียนผ่านไป หลังอาณาจักรฟูนานล่มสลายลง และถูกแทนที่ด้วยอาณาจักรต่าง ๆ เช่น แขมร์, สุโขทัย, พุกาม, ล้านช้าง, ล้านนา และอยุธยา

อาณาจักรใหม่เหล่านี้ เริ่มเป็นอิสระจากการครอบงำจากอินเดีย และเริ่มสรรค์สร้างวัฒนธรรมใหม่ที่เป็นในรูปแบบของตนเองขึ้น พัฒนาปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ และความเชื่อดั้งเดิมของตนเอง ในบางอาณาจักร สร้างภาษาของตนเองขึ้นใหม่ เช่นภาษาไทย

นอกจากนี้อิทธิพลจากภายนอก ผ่านการค้า เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ตัวอย่างเช่น ถ้วยชามเบญจรงค์ของไทย ที่มีวิวัฒนาการมาจากเครื่องเคลือบของจีน

หรืออาหารไทย ที่รับเอาวิธีการปรุงเครื่องเทศอย่างเปอร์เซีย เข้ามาผสมผสานกับเครื่องเทศจากทั่วโลกที่เข้ามาค้าขายกับไทย และวัตถุดิบท้องถิ่น จนกลายมาเป็นอาหารไทยที่ลือชื่อไปทั่วโลกในปัจจุบัน

หรือขนมไทย ที่พัฒนามาจากวิธีการทำขนมอย่างโปรตุเกส เข้ามาผสมผสานกับความวิจิตรของคนไทย จนกลายเป็นขนมไทยนั่นเอง

ความวิจิตรของศิลปวัฒนธรรมของแต่ละอาณาจักรในภูมิภาคอุษาคเนย์ มีปัจจัยมาจากความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความมั่งมีของประเทศ ทำให้มีทรัพยากรมากเพียงพอที่จะเลี้ยงดูสนับสนุนช่างศิลป์แขนงต่าง ๆ

นอกจากนี้ อิทธิพลทางการเมืองของแต่ละประเทศ ส่งผลต่อการยอมรับวัฒนธรรมของตนในประเทศใต้อิทธิพล ในช่วงเวลาที่อาณาจักรแขมร์เรืองอำนาจ อาณาจักรอื่นโดยรอบ จึงยอมรับวัฒนธรรมจากแขมร์

และเช่นกัน อาณาจักรอังกอร์ ซึ่งครอบครองพื้นที่กัมพูชาในปัจจุบัน ต่อจากแขมร์ และอ่อนแอกว่าอยุธยา ตกอยู่ใต้อิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอยุธยา ซึ่งเข้มแข็งมากกว่าด้วยเช่นกัน

นี่ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเลย เพราะดั้งเดิมแล้ว ชนชาวอุษาคเนย์ ยอมรับการแทรงแซงทางวัฒนธรรมจากอาณาจักรที่มีความเข้มแข็งกว่าเป็นทุนเดิมนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ภายใต้การเกิดขึ้นของแนวคิด “ประชาชาติ” และ “ชาตินิยม” ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเนื่องมาจากการได้รับอิสระของชาติต่าง ๆ ที่เคยเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก (ยกเว้นในประเทศไทย ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในรัชกาลที่ 6)

กระแสชาตินิยมที่สืบเนื่องจากยุคสมัยนี้ มุ่งเน้นการสร้างความภาคภูมิใจในชาติและชนชาติของตนเองอย่างมาก จนในบางกรณีกลายเป็น “ชาตินิยมสุดโต่ง” หรือ “ชาตินิยมตกขอบ” สร้างความภาคภูมิใจในชาติมากจนเกิดความรู้สึกเหยียดหยามชนชาติอื่นนั่นเอง

ปัจจุบัน โลกเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 กระแสโลกเปลี่ยนไปสู่ความเป็น “ประชาคมโลก” (Global Community) มากขึ้น นำไปสู่แนวคิด “ชาตินิยมสมัยใหม่” ที่ให้ความสำคัญกับความภาคภูมิใจในชนชาติของตนเอง พร้อม ๆ กับการให้เกียรติชนชาติอื่นมากขึ้น

คนไทยผู้รักชาติอย่างเราเองก็ควรจะเปลี่ยนแปลงตนเองให้เข้ากับกระแสโลกสมัยใหม่ด้วยเช่นกัน ดังนั้น การทำความเข้าใจกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชนชาติตนเอง และเพื่อนพี่น้องชาวอุษาคเนย์จึงเป็นสิ่งสำคัญ

ไม่ว่าไทยจะลอกเขมร หรือเขมรลอกไทยก็ล้วนแต่ไม่สำคัญ ต่างล้วนแต่มีจุดกำเนิดเดียวกัน และควรจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ร่วมกัน เพื่อความเป็นเพื่อนพ้องพี่น้องประชาคมอาเซียน และประชาคมโลกไปด้วยกัน

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า