สารตั้งต้นกบฏวังหลวง เมื่อปรีดีอยากกลับแผ่นดินเกิด แต่เหมือนว่า จอมพล ป. ‘ไม่เข้าใจ’

เป็นที่ทราบกันดีว่า การรัฐประหาร พ.ศ. 2490 เป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออำนาจทางการเมืองของนายปรีดี พนมยงค์ และการลี้ภัยของนายปรีดีฯ ก็มิได้มีจุดมุ่งหมายที่จะลี้ภัยอย่างถาวร แต่เป็นการลี้ภัยที่รอโอกาสเหมาะสมที่จะกลับมาดำเนินการทางการเมือง

นายปรีดีฯ พร้อมด้วยนายแช่ม พรหมยงค์, นายสงวน ตุลารักษ์, เรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช และสิบตำรวจโทสิงโต ไทรย้อย ได้เดินทางออกจากสิงคโปร์ในราวปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2491 ไปยังฮ่องกง และไปถึงเซี่ยงไฮ้เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2491 เหตุผลที่นายปรีดีฯ ตัดสินใจเดินทางออกจากสิงคโปร์ เนื่องจากเมื่อรัฐบาลอังกฤษได้ให้คำรับรองรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์แล้ว ฝ่ายรัฐประหารได้กล่าวหานายปรีดีฯ ว่ามีส่วนพัวพันกรณีสวรรคต ดังนั้น การพำนักอยู่ที่สิงคโปร์ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ย่อมสร้างความลำบากใจแก่รัฐบาลอังกฤษ นายปรีดีฯ จึงตัดสินใจเดินทางออกจากสิงคโปร์

จะเห็นได้ว่า ด้วยเงื่อนไขและความตั้งใจเดิมของนายปรีดีฯ นี่เอง ที่นำไปสู่แผนการเดินทางกลับประเทศไทยและการเตรียมการกบฏในเวลาต่อมา

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2491 คณะของนายปรีดีฯ ได้ย้ายไปพักที่เมืองกวางตุ้ง และในเดือนนี้เองที่แผนการเดินทางกลับเมืองไทยได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อเรือเอกชลิต ชัยสิทธิเวช พี่ชายของเรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช ได้ไปเยี่ยมนายปรีดีฯ ที่เมืองจีน ซึ่งสิบตำรวจโทสิงโต ไทรย้อย ผู้ที่อยู่ในเหตุกาณณ์ได้ยื่นยันว่าเป็นการพบกันเพื่อปรึกษาหารือในการเตรียมการกลับประเทศไทย

การเดินทางเข้าประเทศไทยของนายปรีดีฯ เริ่มขึ้นในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2492 นายปรีดีฯ พร้อมด้วยเรือเอกวัชรชัยฯ ร้อยตำรวจตรีสุดจิตร์ (ไม่ทราบนามสกุล) นายลี (ไม่ทราบนามสกุล) สิบตำรวจโทสิงโต ไทรย้อย และชาวจีนอีก 3 คน ได้เดินทางโดยเรือรบอเมริกันใช้เวลาประมาณ 10 วัน ก็เข้าเขตประเทศไทย และได้ทอดสมออยู่นอกเขตเกาะเสม็ด เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492

การที่เรือรบอเมริกันให้ความช่วยเหลือในการเดินทางกลับเมืองไทยของนายปรีดีฯ ครั้งนั้น น่าจะเป็นเพราะภาพพจน์ของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในสายตาของรัฐบาลอเมริกันไม่สู้จะดีนัก เนื่องมาจากการที่ไทยเคยประกาศสงครามกับอเมริกาเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุครัฐบาลจอมพล ป. ดังนั้น รัฐบาลอเมริกันจึงให้ความช่วยเหลือนายปรีดีฯ ซึ่งถือว่าเป็นมิตรที่ดีของอเมริกา

ต่อมา เรือเอกชลิตฯ ในฐานะตัวแทนของนายปรีดีฯ ได้ไปเยี่ยมพลเรือตรีสังวร สุวรรณชีพ ที่บ้านพักวัดเขาบางทราย จังหวัดชลบุรี และได้แจ้งข่าวการเดินทางกลับเมืองไทยของนายปรีดีฯ ว่า …

“น่าสงสารท่านปรีดีฯ ที่อยู่เมืองจีนไม่ได้ อยากกลับเมืองไทยถึงแม้จะต้องต่อสู้กรณีสวรรคตก็ยอม แต่ขออยู่ในความคุ้มครองของนายกพิบูลสงคราม … การมาของท่าน คิดว่าจะมาทางเรือ และขอความคุ้มครองจากคุณทหาร (พลเรือตรีทหาร ขำหิรัญ)”

จะเห็นได้ว่า แผนขั้นแรกของนายปรีดีฯ คือการเดินทางกลับมาต่อสู้คดีกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ดังที่เรือเอกชลิต ชัยสิทธิเวช ได้กล่าวข้างต้น

อย่างไรก็ดี การติดต่อขอสู้คดีกรณีสวรรคตไม่ประสบผลสำเร็จ ดังที่นายปรีดีฯ ได้พยายามติดต่อกับบุคคลในคณะรัฐประหาร คือพลตำรวจตรีเผ่า ศรียานนท์ ซึ่งมีอำนาจมากในขณะนั้น และพันโทละม้าย อุทยานานนท์ โดยผ่านทางนายทวี ตะเวทิกุล ผู้จัดการบริษัทยูไนเต็ดเวอร์ค เพื่อขอหลักประกันความปลอดภัยขณะอยู่ในประเทศไทย แต่การเจรจาก็ประสบกับความล้มเหลว แม้ว่าจอมพล ป.พิบูลสงคราม จะแสดงท่าทีที่เป็นมิตรต่อข่าวการเดินทางกลับของนายปรีดีฯ ดังที่จอมพล ป. ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ว่า …

“หลวงประดิษฐ์จะต้องเปิดประตูตัวเองเข้ามา ซึ่งหมายความว่า ระหว่างนี้ หลวงประดิษฐ์ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการเมืองอยู่ หลวงประดิษฐ์จะต้องแก้ปัญหานี้เสียก่อน คือแก้ที่ศาล ไม่ใช่แก้ที่ผม ผมสั่งยุบศาลไม่ได้

เมื่อบุคคลของคณะรัฐประหารที่ทรงอำนาจและอิทธิพลไม่ยินยอม ก็ย่อมทำให้นายปรีดีฯ ไม่สามารถที่จะไว้วางใจในสถานการณ์ได้ เมื่อแนวทางที่จะกลับมาต่อสู้คดีไม่ได้รับการรับรองจากผู้มีอำนาจในขณะนั้น นายปรีดีฯ จึงต้องดำเนินการตามแนวทางของตนเอง โดยตัดสินใจที่จะใช้กำลังเข้าโค่นล้มรัฐบาลพร้อมๆ กับแสวงหากลุ่มพันธมิตรหลายกลุ่มด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบุคคลบางส่วนของคณะรัฐประหาร ทหารเรือ และอดีตสมาชิกเสรีไทย

การติดต่อกับบุคคลในคณะรัฐประหาร นายปรีดีฯ ได้มอบหมายให้นายทวี ตะเวทิกุล เป็นผู้ประสานงาน โดยให้ติดต่อผ่ายพลตำรวจตรีเผ่า ศรียานนท์ และพันโทละม้าย อุทยานานนท์ ขณะเดียวกันก็เจรจาทาบทามพลตรีสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อีกทางหนึ่ง แต่ก็ได้รับการปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือ และนายทวี ตะเวทิกุล เองก็ได้ห้ามปรามนายปรีดีฯ ให้เลิกล้มความคิดที่จะใช้กำลังกับคณะรัฐประหาร และขอให้เดินทางกลับเมืองจีนว่า …

“… ผมขอห้ามว่าอย่าคิดทำอะไรเลย มันไม่ไหว … หลวงนาวากนก เจ้าผัน และฝ่ายรัฐประหาร เผ่า ละม้าย ผมกินเหล้ากับพวกนี้ทั้งนั้น เขาไม่เอาแน่กับอาจารย์ ปล่อยให้เขาว่ากันไป กลับเมืองจีนดีกว่า”

หลังจากเป็นที่แน่ใจแล้วว่า การเจรจากับคณะรัฐประหารประสบความล้มเหลว นายปรีดีฯ จึงได้ติดต่อกับอดีตสมาชิกเสรีไทย เพื่อวางแผนการยึดอำนาจคืนจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยมอบหมายให้นายทวี ตะเวทิกุล เป็นผู้ประสานงาน ดังนั้น นายทวี ตะเวทิกุล จึงได้นัดพบกับพรรคพวกที่โรงแรมสิริวัฒนา ซึ่งตั้งอยู่ที่ชายทะเล อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี จากบันทึกของนายทองมน สุวรรณกูล ผู้จัดการโรงแรม ทำให้ทราบว่านายทวี ตะเวทิกุล ได้เข้าพักที่โรงแรมสิริวัฒนา เมื่อเวลา 08.00 น. ของวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2492

จากการติดต่อกลุ่มผู้ที่จะให้กำลังสนับสนุนทั้งจากทหารเรือและอดีตสมาชิกเสรีไทย ทำให้นายปรีดีฯ ตัดสินใจเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในวันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 โดยได้นัดหมายกับบรรดาอดีตสมาชิกเสรีไทยให้ไปพร้อมกันเวลา 19.00 น. ณ มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง โดยมีขั้นตอนปฏิบัติดังนี้

  1. การยึดอำนาจครั้งนี้ ใช้แผนการยึดอำนาจแบบใต้ดิน ซึ่งเป็นการรบระหว่างพลพรรคเสรีไทยกับกองทหารประจำการ
  2. ใช้วิธีการแบบ “สายฟ้าแลบ” ยึดสถานที่สำคัญ จับกุมบุคคลสำคัญของทางราชการ ปิดล้อมกองพันต่างๆ และทำการปลดอาวุธเจ้าหน้าที่
  3. ล้มรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม แล้วประกาศแต่งตั้งรัฐบาลใหม่
  4. ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2492 แล้วนำรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2475 มาใช้

เมื่อนายปรีดีฯ ตกลงที่จะดำเนินการตามแผนแล้ว ในเวลา 22.00 น. ของวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 นายปรีดีฯ พร้อมคณะ ซึ่งประกอบด้วยเรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช เรือตรีสุริยะ (ไม่ทราบนามสกุล) ร้อยตำรวจตรีสุดจิตร์ (ไม่ทราบนามสกุล) สิบตำรวจโทสิงโต ไทรย้อย และคนจีนอีก 3 คน ก็ขนหีบห่ออาวุธจากเรือรบอเมริกันลงเรือยนต์แล่นผ่านเกาะลอยไปขึ้นฝั่งที่ศรีราชา โดยมีพลเรือตรีสังวร สุวรรณชีพ และหลวงอรรถกิตติกำจร น้องชายนายปรีดีฯ คอยรับที่ชายฝั่ง เมื่อเวลา 04.00น. ของวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 จากนั้น ทั้งหมดก็ขึ้นรถยนต์ไปพักที่บ้านของพลเรือตรีสังวร สุวรรณชีพ ที่วัดเขาบางทราบ จังหวัดชลบุรี และได้เจรจาเพื่อขอกำลังสนับสนุนจากพลเรือตรีทหาร ขำหิรัญ จากบันทึกของพลเรือตรีสังวร สุวรรณชีพ ได้ระบุว่า พลเรือตรีทหาร ขำหิรัญ ได้เตือนนายปรีดีฯ ว่า …

“ขณะนั้น นายปรีดีฯ ยังไม่พ้นมลทินกรณีสวรรคต และในวงการทั่วไปยังไม่เป็นที่นิยม แม้แต่ทหารเรือส่วนมากก็ยังไม่เลื่อมใสในตัวนายปรีดีฯ”

และพลเรือตรีสังวร สุวรรณชีพ ยังได้ยืนยันเรื่องนี้ว่า …

“เมื่อครั้งรับราชการอยู่เหมือนกัน ผมฟังเรื่องจากเด็ก ส.ห. (สารวัตรทหาร) ซึ่งเจ้าลูกชายของผมมันเล่าให้ฟังว่าสงสารพ่อที่ต้องลำบาก ด้วยการที่ต้องร่วมกับท่านปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเขาทั้งหลายยอมตายสำหรับพ่อ แต่สำหรับท่านปรีดี พนมยงค์แล้ว ก็ขอถอนตัว”

จากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ของสาเหตุกบฏวังหลวงที่เกิดขึ้นข้างต้น จะเห็นได้ว่า ประเด็นสำคัญคือการที่นายปรีดีฯ ต้องการกลับเข้ามาต่อสู้คดีกรณีสวรรคต แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ขออยู่ในความคุ้มครองของนายกพิบูลสงคราม ซึ่งก็ไม่ปรากฏแน่ชัดว่า การอยู่ในความคุ้มครองของนายกพิบูลสงคราม นั้น หมายถึงอะไร ? และจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ได้ตอบปฏิเสธไปว่า “หลวงประดิษฐ์ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการเมืองอยู่ หลวงประดิษฐ์จะต้องแก้ปัญหานี้เสียก่อน คือแก้ที่ศาล ไม่ใช่แก้ที่ผม ผมสั่งยุบศาลไม่ได้

เมื่อผลสุดท้ายแล้ว ข้อเรียกร้องของนายปรีดีฯ ที่ต้องการกลับมาประเทศไทยเพื่อต่อสู้คดีกรณีสวรรคตภายใต้การคุ้มครองของนายกพิบูลสงคราม ถูกปฏิเสธ นายปรีดีฯ จึงตัดสินใจรวบรวมกำลังเข้ายึดอำนาจ กลายเป็นที่มาของเหตุการณ์ “กบฏวังหลวง” อันนำไปสู่ความพ่ายแพ้ที่ทำให้นายปรีดีฯ ต้องลี้ภัยถาวรในฐานะผู้ต้องโทษกบฏ และไม่มีโอกาสกลับประเทศไทยอีกเลย

ที่มา :

[1] กบฏวังหลวงกับสถานะของปรีดี พนมยงค์
[2] ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์
[3] คำให้การในศาลอาญา ของสิบตำรวจโทสิงโต ไทรย้อย คดีหมายเลขดำที่ 942/2492 ความผิดฐานขบถภายในราชอาณาจักร
[4] พลเรือตรีสังวรยุทธกิจ “เกิดมาแล้วต้องเป็นไปตามกรรมคือกฎแห่งกรรม”, อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพฯ, 27 ธันวาคม 2516

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย