เส้นทาง 36 ปี ‘ดอยตุง’ ถอนโคนรากฝิ่นด้วยรายได้ จนถูกยกเป็นต้นแบบระดับโลก ภายใต้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง

หากเราลองเดินเข้าไปในห้างสรรพสินค้าสักแห่งและเดินตรงดิ่งเข้าไปในชั้นวางขายกาแฟ เราจะพบกับผลิตภัณฑ์มากมายหลายเจ้าให้เราได้รับไปบริโภค กาแฟหลากหลายแบรนด์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีที่มาแตกต่างกันไป แต่หนึ่งในกาแฟหลายๆ เจ้าที่วางอยู่บนชั้นนั้นมี “กาแฟดอยตุง” ที่แอบซ่อนอยู่ซึ่งเป็นหนึ่งในความพยายามอันยาวนานกว่า 36 ปีในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนชายขอบทางเหนือ และความพยายามนี้ต้องย้อนกลับไปไกลถึงช่วงต้น พ.ศ. 2500 ที่ยาเสพติดอย่างฝิ่นได้แพร่ระบาดอย่างน่ากังวล

ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2500 [1] ณ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำซึ่งประกอบไปด้วยชายแดนของลาว พม่า และไทยนั้น เต็มไปด้วยการปลูกฝิ่นและสิ่งผิดกฎหมายอื่นๆ เช่น เฮโรอีน ก็มาจากบริเวณนี้เป็นส่วนใหญ่ และได้ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อจีนได้กำจัดการผลิตฝิ่นอย่างหักดิบทำให้ประเทศอื่นๆ กลายเป็นผู้ผลิตแทนจีน และประเทศไทยก็ได้กลายเป็นผู้ผลิตฝิ่นรายใหญ่ที่สุดของโลกรายหนึ่งหลังจากนั้น

การปลูกฝิ่นในทางตอนเหนือของไทยชนกลุ่มน้อยจะเป็นผู้ที่ปลูกมาก เช่น ชนกลุ่มอาข่า ซึ่งรัฐบาลไทยมองชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ว่าเป็นกลุ่มที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของไทย เพราะนอกจากเรื่องการปลูกฝิ่นยังมีเรื่องผิดกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วย ดังนั้นจึงเกิดความพยายามในการกำจัดการปลูกฝิ่นซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ที่สุดก่อน ความพยายามนั้นเริ่มในสมัยของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ใช้กฎหมายปราบปรามอย่างรุนแรง แต่ต่อมารัฐบาลก็เข้าใจว่าการใช้กำลังปราบปรามนั้นไม่ได้ผลทำให้ต้องควานหาทางกันใหม่ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ และเชื่อว่าแนวทางนี้จะได้ผลมากกว่าการปราบปรามอย่างเด็ดขาด

แนวทางการพัฒนาแบบ “ระเบิดจากข้างใน” นี้มาก่อนที่องค์การสหประชาชาติจะกล่าวถึงแนวทางการพัฒนาที่ให้เน้นใช้วิธีการที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ในการแก้ไขปัญหานับสิบปี ซึ่งวิธีของการพัฒนาคุณชีวิตนี้ไม่ใช่เป็นส่วนย่อยของประเด็นใหญ่อย่างการควบคุมยาเสพติด แต่เป็นหัวข้อใหญ่ในการพัฒนาอีกรูปแบบขึ้นมา ซึ่งเกี่ยวข้องไปถึงการนับรวมชนเผ่ากลุ่มน้อยให้เข้ามาอยู่ใน “ชาติไทย” อีกด้วย ซึ่งพัฒนาการในช่วงต่างๆ สามารถแบ่งได้ดังนี้

I. ความพยายามช่วงทศวรรษ 2500

ในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่เป็นปัญหานี้ แม้ว่าอัตราการปลูกฝิ่นจะสูงแต่ชนกลุ่มน้อยที่ปลูกจะได้รับส่วนแบ่งน้อยมากเพราะคนกลางจะเป็นคนรับเงินไปหมด ดังนั้นชนกลุ่มน้อยจะมีชีวิตที่ยากจน นอกจากยากจนแล้วพวกเขายังไม่มีสถานะทางกฎหมายที่ถูกต้องและยังอยู่ในที่ดินที่มีปัญหาเรื่องกรรมสิทธิ์อีกด้วย การกู้ยืมเงินของพวกเขาจึงไปตกอยู่ที่ผู้มีอิทธิพลในท้องที่ และอาจต้องจ่ายคืนผ่านการปลูกฝิ่น เมื่อคุณภาพชีวิตของพวกเขาตกต่ำ การจัดการเกษตรกรรมอื่นๆ ก็เป็นวิธีที่ลดต้นทุนด้วย เช่น การเผา แต่พวกเขาไม่มีทางเลือกที่มากมายในเงื่อนไขชีวิตในตอนนั้น

II. สู่การลดการพึ่งพาฝิ่น

รัฐบาลไทยในขณะนั้นรับรู้ปัญหาของการปลูกฝิ่นและให้หน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานทำงานร่วมกัน โดยหลังจากที่ได้เข้าใจว่าการปราบปรามไม่ช่วยอะไรแล้วต่อมารัฐบาลจึงได้ร่วมมือกับ UN ในการแก้ไขปัญหา ซึ่งผลการศึกษาของ UN ในขณะนั้นพบว่ามีการปลูกฝิ่นถึง 1.85 หมื่นเฮกตาร์ ผลผลิตที่ 145 ตัน จึงทำให้รัฐบาลยอมรับความช่วยเหลือซึ่งต้องเป็นความร่วมมือขนาดใหญ่ในการจัดการกับปัญหานี้ วิธีในการแก้ไขปัญหานี้คือการทดแทนการปลูกฝิ่นผ่านแนวคิดที่มีส่วนร่วมของชนกลุ่มน้อยอันเป็นแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงสนับสนุน

ในช่วง พ.ศ. 2512 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้ก่อตั้งมูลนิธิโครงการหลวงขึ้นเพื่อค้นหาพืชที่จะมาทดแทนฝิ่น ซึ่งมูลนิธิได้มีบทบาทอย่างดีในการถ่ายทอดความรู้ให้กับหน่วยงานรัฐไทยที่ไม่มีความเข้าใจในบริบทชีวิตของคนชายขอบเท่าใดนัก ซึ่งมูลนิธิโครงการหลวงได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับ UN ในการออกมาตรการลดการปลูกฝิ่นโดยได้ลองพืชหลายชนิด แต่ไม่พบว่ามีอะไรที่เข้ามาทดแทนฝิ่นได้เลยด้วยเหตุผลในเชิงเทคนิคในขณะนั้น ดังนั้นแนวทางจึงได้เริ่มเปลี่ยน กล่าวคือแทนที่จะโฟกัสไปที่แคบๆ อย่างการหาอะไรมาทดแทนฝิ่น ก็มุ่งเข้าสู่การพัฒนาชีวิตโดยภาพรวม ดังนั้นจึงมีการทำโปรเจ็คต์ระยะยาวขึ้นใหม่และได้รับการสนับสนุนจากหลากหลายประเทศ ซึ่งการพัฒนาโดยภาพรวมนี้รวมไปถึงการพัฒนาการศึกษา การสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ การเพิ่มคุณภาพของสุขภาพ ซึ่งจะทำให้เกิดแนวทางพัฒนารูปแบบใหม่ที่ต่อยอดจากความรู้และประสบการณ์เดิม

III. การพัฒนาอย่างสมดุล

การแก้ไขปัญหาที่อาจจะดูเล็กน้อยอย่างการปลูกฝิ่นนั้น ได้พัฒนาไปสู่การแก้ไขในภาพใหญ่ เพราะการควบคุมการปลูกอย่างเดียวนั้นไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้น โดยในช่วง พ.ศ. 2530 แม้การแก้ไขจะยังไม่ถึงที่สุด แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่ได้ผลเลย เพราะในขณะนั้นมีหลายโปรเจกต์ที่ถูกเข็นออกมาและช่วยแก้ปัญหาได้จริง ซึ่งเครื่องยืนยันความสำเร็จก็คือ ต่อมา UN ได้ลบชื่อประเทศไทยออกจากรายชื่อประเทศที่ปลูกฝิ่นที่สำคัญออกไป ซึ่งความสำเร็จในช่วงนี้ได้รับการผลักดันอย่างดีที่สุดจาก “ดอยตุง”

โครงการดอยตุงภายใต้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงนั้น เป็นการพัฒนาในระยะยาวที่จะเปลี่ยนชีวิตที่อยู่บนความไม่แน่นอนและผิดกฎหมาย สู่ชีวิตที่ถูกกฎหมายและมีเกียรติ ดังนั้นโครงการนี้จึงไปไกลกว่าการต่อต้านยาเสพติดซึ่งเน้นการปฏิบัติการบนพื้นที่ชายแดนของไทยพม่า (โครงการอื่นๆ จะทำไปตามแต่ละบริบทนั้นๆ เช่น โครงการหลวงจะทำที่เชียงใหม่) ที่มาของการตั้งโครงการดอยตุงนี้ เกิดขึ้นเมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงตระหนักว่า ปัญหาที่พบนั้นจำเป็นต้องแก้ไขตั้งแต่ฐานราก ดังนั้นการจัดการของโครงการจึงเน้นไปที่การทำให้คนชายขอบสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง และยังอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ การทำงานนี้มูลนิธิได้สนับสนุนให้มีการเชื่อมโยง 35 หน่วยงาน 6 กระทรวง และองค์กรเอกชนมาร่วมกันพัฒนา ซึ่งการปฏิบัติงานนี้เป็นแผนงานที่เริ่มในช่วง พ.ศ. 2530 และมีเฟสต่างๆ ดังนี้

ช่วง 6 ปีแรก (2531-2536) จะเน้นไปที่การเข้าใจปัญหาของท้องถิ่นอย่างแท้จริง แต่ก็ต้องสร้างความมั่นใจในชีวิตของชนกลุ่มน้อยในด้านกฎหมายอย่างถูกต้องไปพร้อมกันด้วย คือการออกเอกสารให้ว่าไม่ใช่คนที่อพยพมาใหม่และจะได้รับสัญชาติไทยในอนาคต ในช่วงนี้ได้มีการออกการพัฒนาต่างๆ ซึ่งจะเข้าไปช่วยในการปรับชีวิต เช่น การบำบัดการติดยาเสพติด การพัฒนาความต้องการขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะการฝึกอาชีพ เพื่อปูทางไปสู่การมีชีวิตที่ดีขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งฝิ่น

ช่วง 9 ปีถัดมา (2537-2545) มีการสร้างรายได้ระยะยาวให้ใหม่ โดยการนำกาแฟอาราบิก้าและเมคคาดาเมียเข้ามาให้ปลูก รวมไปถึงให้ชนกลุ่มน้อยมีส่วนร่วมผ่านการร่วมวางแผนการใช้ทรัพยากรด้วย ในช่วงนี้ทำให้กลุ่มชนกลุ่มน้อยมีศักยภาพมากขึ้น และมีการหนุนงานหัตถการของชนกลุ่มน้อยเพิ่ม นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวซึ่งช่วยเพิ่มรายได้ให้อีกทาง

ยุคปัจจุบัน (2546-ปัจจุบัน) เป็นช่วงที่เน้นไปที่การยกระดับคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้นไปอีก โดยเมื่อชนกลุ่มน้อยสามารถมีชีวิตที่ยั่งยืนได้แล้ว มูลนิธิจะถอยออกจากการช่วยเหลือ แต่ก่อนที่จะถอยนั้นจะต้องเตรียมการให้คนรุ่นต่อๆ ไปสามารถเป็นผู้นำได้ โดยร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในการร่วมพัฒนา โดยในปัจจุบันคนรุ่นถัดๆ มาบนดอยตุงนั้น มีบทบาทในการบริหารจัดการพื้นที่มากขึ้น และมีส่วนร่วมในการปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ถ้าหากเปรียบเทียบโครงการดอยตุงกับโครงการพัฒนาอื่นๆ ความจริงแล้วมีสาระสำคัญที่เหมือนกัน แต่ปรับรูปแบบให้เข้ากับบริบทต่างๆ เท่านั้น และตอนนี้ดอยตุงก็ประสบความสำเร็จอย่างที่ไม่อาจปฏิเสธได้

ความสำเร็จของดอยตุง

นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2530 จนถึงปัจจุบัน โครงการดอยตุงประสบความสำเร็จอย่างมากในการพัฒนา โดยความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นมีดังนี้

  • ไม่มีการปลูกฝิ่นอีกต่อไป
  • รายได้ต่อครัวเรือนบนดอยตุงเพิ่มขึ้น 20 เท่า จากราว 24,000 บาทในปี 2531 สู่ราว 560,000 บาทในปี 2559
  • ธุรกิจในแบรนด์ดอยตุงสร้างรายได้ราว 533 ล้านบาทต่อปี ทำให้ดอยตุงมีความยั่งยืน
  • ประชากรชนกลุ่มน้อยจากที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ในตอนนี้จำนวนที่จบในระดับปริญญาตรีและสูงกว่ามีอยู่ร้อยละ 12.6 และทำงานในการนำชุมชนได้อย่างดี
  • โครงการบำบัดผู้ติดยาเสพติดได้ช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยกว่า 500 คน และมีอัตราการกลับไปเสพยาเพียงร้อยละ 15
  • พื้นที่ป่าไม้จากที่เหลือเพียงร้อยละ 28 ได้ฟื้นฟูกลับมาที่ร้อยละ 86.8 และสามารถอยู่อาศัยได้
  • ชนกลุ่มน้อยบนดอยตุงยังคงสามารถสืบสานวัฒนธรรมของตนได้ ในขณะที่อยู่ร่วมกับโลกาภิวัฒน์ไปด้วย
  • หลายๆ คนบนดอยตุงจากที่เป็นผู้ปลูกฝิ่นอย่างผิดกฎหมาย ในปัจจุบันกลายเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจอย่างถูกต้องและยั่งยืน
  • ในปี 2546 องค์การสหประชาชาติได้รับรองโครงการดอยตุงว่าเป็นตัวอย่างการพัฒนาที่ดีที่สุดในโลกตัวอย่างหนึ่ง

ความสำเร็จของดอยตุงนั้นได้ยืนยันว่าการพัฒนาคุณภาพชีวิตสามารถทำสำเร็จได้แม้ว่าจะต้องใช้ระยะเวลา ความสำเร็จนี้ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างไทยกับเยอรมนี และองค์การระหว่างประเทศในการช่วยเหลือประเทศอื่นๆ ผ่านการถ่ายทอดประสบการณ์ในการพัฒนา ซึ่งต้องใช้ความจริงจังและความร่วมมืออย่างสูง วิธีการของไทยได้ถูกใช้แล้วในหลายประเทศ เช่น พม่า อัฟกานิสถาน และอินโดนีเซีย แต่วิธีการของดอยตุงนั้นเป็นวิธีการพัฒนาในชนบทในขณะที่โลกปัจจุบันนั้นมีความทันสมัยและมีบริบทที่แตกต่างอย่างมาก ถึงอย่างนั้นก็ตาม ประสบการณ์ของดอยตุงก็น่าจะสามารถนำไปปรับใช้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตในภาพรวม เพื่อลดปัญหาในด้านต่างๆ อย่างครบองค์ ดอยตุงจึงเป็นสิ่งล้ำค่าที่สุดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมอบไว้ให้คนไทยรักษาต่อไป

อ้างอิง :

[1] สรุปจาก M. L. Dispanadda Diskul, Ramrada Ninnad, Andrea Skinner and Visit-orn Rajatanarvin, “Development Not Drug Control: The Evolution of Counter Narcotic Efforts in Thailand,” Journal of Illicit Economies and Development 1, 1 (2019): 80–88.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า