‘ถวายพระเกียรติคืนรัชกาลที่ 7’ แก้ข้อกล่าวหาคณะราษฎร! ‘สถาบันฯ ทำนาบนหลังราษฎร’

การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบเก่าสู่ระบอบใหม่เมื่อ พ.ศ. 2475 นั้น เราจะเห็นคำประกาศของคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ที่ได้กล่าวถึงการบริหารแผ่นดินของระบอบเก่าในเชิงลบอย่างรุนแรง กล่าวคือเป็นการวิจารณ์การทำงานของระบอบเก่าอย่างถึงพริกถึงขิง โดยประกาศฉบับนั้นส่วนหนึ่งได้ระบุว่า

“ปกครองโดยขาดหลักวิชา ปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปตามยถากรรม ดังที่จะเห็นได้จากความตกต่ำในทางเศรษฐกิจและความฝืดเคืองในการทำมาหากินซึ่งพวกราษฎรได้รู้กันอยู่โดยทั่วไปแล้ว รัฐบาลของกษัตริย์เหนือกฎหมายมิสามารถแก้ไขให้ฟื้นขึ้นได้ การที่แก้ไขไม่ได้ก็เพราะรัฐบาลของกษัตริย์มิได้ปกครองประเทศเพื่อราษฎรตามที่รัฐบาลอื่นๆ ได้กระทำกัน รัฐบาลของกษัตริย์ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้าง ข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เหตุฉะนั้น แทนที่จะช่วยราษฎร กลับพากันทำนาบนหลังราษฎร” [1]

นั่นหมายความว่า คณะราษฎรได้ใช้เหตุผลในเชิงเศรษฐกิจที่มีการกดขี่ขูดรีดโดยรัฐบาลในระบอบเก่าเป็นข้อที่ชี้ว่ารัฐบาลเก่าไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งบริบทในขณะนั้น สมัยรัชกาลที่ 7 สยามต้องประสบกับวิกฤตเศรษฐกิจถึงสองครั้ง และได้ใช้เครื่องมือที่มีอย่างเต็มที่เพื่อแก้ไขปัญหาภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ แต่ถึงเช่นนั้นก็ไม่สามารถทัดทานกระแสแห่งความไม่พอใจและความต้องการเปลี่ยนแปลงได้ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในที่สุด

อย่างไรก็ดี คำถามที่ควรต้องมีการสำรวจนั่นก็คือ รัฐบาลในระบอบเก่า “ถือเอาราษฎรเป็นทาส… เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เหตุฉะนั้น แทนที่จะช่วยราษฎร กลับพากันทำนาบนหลังราษฎร” จริงหรือไม่? รวมถึงระบบเศรษฐกิจและระบบการคลังนั้นย่ำแย่จนระบอบเก่าไม่ควรจะได้รับคำชื่นชมใดๆ หรือความจริงแล้วคำกล่าวนี้เป็นเพียงคำที่เขาหลอกลวงเท่านั้น?

ก่อนที่จะเข้าสู่ประเด็นของเศรษฐกิจในสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เราจำเป็นที่จะต้องชี้เสียก่อนว่า ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สยามต้องเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริ่งซึ่งนอกจากเรื่องที่สยามต้องทำการค้าเสรีแล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่พ่วงเข้ามากับสัญญานี้คือ สยามเรียกเก็บภาษีนำเข้าได้ไม่เกินร้อยละ 3 ของมูลค่าการนำเข้า ทำให้สยามเก็บภาษีได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยและมีงบในการพัฒนาเรื่องอื่นๆ น้อยมากจนสยามต้องหาทางหารายได้ทางอื่น ความไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยนี้มีรายงานปรากฏว่า

“รายได้จากภาษีศุลกากรขยายตัวไม่ออกเลย และจำนวนเงินค่าภาษีที่เก็บได้ก็ไม่ได้ส่วนกับความเจริญแห่งการค้าขายของประเทศ ซึ่งได้ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยไปนั้นด้วย พิกัดภาษีขาเข้าอย่างเก่าซึ่งใช้เก็บภาษีบรรดาสินค้าทั้วปวง เว้นแต่เหล้า แอลกอฮอล์ เป็นอัตราตายตัว คือ ร้อยชักสามตามราคาของนั้น นอกจากจะได้เงินเป็นจำนวนน้อยแล้ว ยังไม่เหมาะแก่การ และผิดหลักวิธีการเก็บภาษีที่นิยมกันว่าดียิ่ง กล่าวคือ ที่จะให้เก็บเงินได้มากที่สุด แต่ให้มีความเดือดร้อนแก่การค้าขายน้อยที่สุดนั้นด้วย” [2]

เมื่อเป็นเช่นนั้นสยามจึงมีเครื่องมือในการหารายได้อยู่ไม่กี่ทาง ซึ่งหนึ่งทางนั้นก็คือมาตรการการเก็บภาษีภายในประเทศ ถึงแม้ว่าการค้าขายจะมากขึ้นและมีอิสระทางภาษีมากขึ้นในภายหลัง แต่การเก็บภาษีเพื่อนำไปพัฒนานั้นจำเป็นต้องวางเก็บในประเทศก่อน และได้ถูกส่งต่อมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 7 ซึ่งยังเป็นสภาวะที่ยังไม่ถึงกับมีอธิปไตยทางภาษีที่สมบูรณ์ดี จึงยังคงก้ำๆ กึ่งๆ อยู่ในเรื่องการจัดเก็บภาษีนั่นเอง

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น สยามต้องพบกับวิกฤตเศรษฐกิจถึงสองครั้ง โดยครั้งแรกเป็นวิกฤตเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งมีผลทำให้เกิดความผันผวนในค่าเงินปอนด์และมาตรฐานทองคำ ทำให้สหราชอาณาจักรมหาอำนาจในขณะนั้นและเป็นประเทศที่สยามส่งออกสินค้าไปมากต้องลดการนำเข้า บวกกับการกีดกันทางการค้าที่เกิดขึ้นทั่วโลกในขณะนั้น ทำให้สยามประสบกับปัญหาเศรษฐกิจระลอกแรกอย่างหนัก [3] นั่นหมายความว่า นับตั้งแต่พระองค์ขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 2468 พระองค์ต้องทรงรับภาระในการจัดการกับวิกฤตแทบจะในทันที

โครงสร้างรายรับของสยามช่วง พ.ศ. 2435-2468 มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ด้วยเหตุที่กล่าวไปคือเรื่องภาษีที่ถูกจำกัดไว้ แต่แม้จะมีการเพิ่มภาษีภายหลังก็ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนดังมีรายงานปรากฏว่า “การเพิ่มภาษีในรอบ 10 ปี [หมายถึง พ.ศ. 2459-2469] ไม่ได้มีการผลักภาระภาษีไปสู่ประชาชนที่มีความพอใจในชีวิตความเป็นอยู่ แม้จะมีมาตรฐานการครองชีพในระดับต่ำ” [4] กล่าวคือภาษีเก็บต่ำอยู่แล้ว ต่อให้ขึ้นอีกก็ยังคงต่ำอยู่ ส่วนรายได้จากป่าไม้และเหมืองแร่ก็น้อยมาก และไม่สามารถเพิ่มได้ง่ายๆ เพราะเป็นทรัพยากรที่สูญเสียได้ [5] มาตรการในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของสยามจึงเป็นการตัดงบประมาณหรือเป็นการประหยัดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งบในส่วนของราชสำนักเองก็ได้มีการตัดลดลงอย่างมาก ด้วยความต้องการของรัชกาลที่ 7 ที่ต้องการให้ชนชั้นสูงได้ร่วมลำบากกับประชาชน ดังที่พระองค์มีพระราชดำรัสแก่ทหารในครั้งหนึ่ง หรือการตัดงบประมาณราชสำนักเหลือเพียง 3 ล้านบาท จาก 9 ล้านบาท

Pol d’Aramee ผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศสประจำสยามได้เขียนถึงรัชกาลที่ 7 ว่า “ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญเรื่องเศรษฐกิจการคลังที่ดี โดยมีพระราชดำรัสว่า สำหรับรัฐเล็กๆ ที่ปกครองอยู่นั้น เรื่องงบประมาณที่สมดุล… ส่งผลให้ชาติอยู่ในสถานะที่มีเอกราชโดยแท้จริง… แม้จะต้องแลกกับการเสียความนิยมจากราษฎร” [6] ดังนั้นเราจึงจะเห็นว่ารัชกาลที่ 7 ทรงพยายามดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจแบบอนุรักษนิยมอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะเมื่อสยามต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งที่ 2 คือ The Great Depression เมื่อ พ.ศ. 2472

ในขณะที่กำลังเกิดการถกเถียงในแวดวงชนชั้นนำว่าจะนำมาตรการใดๆ มาเพื่อบรรเทาผลกระทบของประเทศนั้น เหตุการณ์ภายในประเทศเองก็กำลังประสบกับปัญหา กล่าวคือในช่วงนั้นสยามต้องเจอกับปัญหาฝนแล้ง ชาวบ้านบางคนต้องไปขอทานจนรัฐบาลต้องแจกข้าวให้กับชาวนา นอกจากนี้ยังเกิดน้ำท่วมครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 30 ปี [7] เมื่อบวกกับสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ตกต่ำอยู่แล้ว จึงทำให้สถานการณ์ของสยามยิ่งเลวร้ายหนักมากขึ้นไป

อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบอนุรักษนิยมกล่าวคือจะไม่มีการกู้อย่างเกินตัว ไม่ผิดนัดชำระ ตัดรายจ่าย เก็บภาษี และรักษาให้งบสมดุล ทำให้สยามมีสัดส่วนหนี้ที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน กล่าวคือ ไทยมีหนี้คงค้างเมื่อเทียบกับรายได้ประชาชาติเพียงร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับที่อื่นๆ ที่มีมากกว่านี้หลายเท่า เช่น อินโดนีเซียที่มีถึงร้อยละ 47 [8]

ในขณะเดียวกัน สยามนั้นยังมีพื้นที่อีกมากทำให้ประชากรขยายพื้นที่ทำนาและมีผลผลิตส่งออกมากขึ้นแม้ราคาจะตกต่ำลง ส่งผลให้ชาวนาไทยไม่ได้ลำบากมากนัก ทำให้ชาวนาไทยมีผลผลิตสูงมากกว่าชาวนาญี่ปุ่นถึง 2 เท่า ส่งผลให้มีรายได้มากขึ้นตาม นอกจากนี้เกษตรกรของสยามยังมีที่ดินในมือมากกว่าทุกประเทศในเอเชีย หรือผู้เช่านาทำกินนั้นมีอยู่น้อยมาก [9] ดังนั้นชาวนาจึงไม่มีความจำเป็นต้องพยพเข้าเมืองเลย เพราะรายได้ของชาวนาในชนบทสูงกว่าค่าแรงในกรุงเทพฯ เสียอีก เมื่อควบคู่ไปกับการพยายามขยายโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลแล้ว จึงยิ่งกลายเป็นการทำให้ชาวนามีความมั่นคงขึ้น จึงมิต้องแปลกใจเลยว่า ทำไมเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประชาชนในชนบทจึงนิ่งเฉยเป็นส่วนมาก และคนงานไม่เคยบ่นจากการถูกบังคับให้ทำงานมากเกินไป จึงไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายที่อ้างอิงกับองค์การแรงงานระว่างประเทศเลย

ในช่วงของการประสบวิกฤตนี้ เมื่อรัฐบาลได้ขยายโครงสร้างพื้นฐาน ร่วมกับการให้บุกเบิกที่ดินทำกิน ขยายฐานภาษีเพิ่มขึ้น ดำเนินงบดุลพอดีตัวตามนโยบายการคลังแบบอนุรักษนิยม และแก้ไขสนธิสัญญาไม่เป็นธรรม ทำให้สุดท้ายรายได้ของรัฐบาลกลับเพิ่มมากขึ้น และสามารถใช้หนี้ได้ก่อนกำหนด ซึ่งได้มีการรายงานว่า

“ฐานะทางเศรษฐกิจของสยามมีความมั่นคงมาก… การค้าอยู่ในภาวะเกินดุลเป็นจำนวนมาก สถานการณ์เหล่านี้จะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากนโยบายอนุรักษนิยมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า” [10] สอดคล้องกับที่ Pol d’Aramee บันทึกว่า “ช่วงปี 2469-2473 เป็นช่วงปีทองของสยามอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน… 2473-74 เป็นสุดยอดของนโยบายที่รอบคอบและน่ายินดี” [11] การดำเนินโยบายเชิงมหภาคในช่วงแห่งความวุ่นวายนี้ รัฐบาลสามารถนำประเทศฝ่าวิกฤตมาได้ และนาย Baxter ที่ปรึกษากระทรวงการคลังถึงกับกล่าวชมเชยว่า “เป็นการผิดพลาดที่กล่าวว่าเสถียรภาพทางการเงินของประเทศอยู่ในภาวะที่อันตราย” [12]

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ของชาวนาและพ่อค้าในไทยนั้น มีความเป็นหุ้นส่วนกันมากกว่าจะเอาเปรียบกันแบบประเทศเพื่อนบ้าน ดังที่ Milton Osborne นักวิชาการด้านเศรษฐกิจเอเชียได้บันทึกเอาไว้ ผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจของสยามจึงมีน้อยมาก และแม้แต่รัฐบาลหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองก็ยังใช้นโยบายที่รัชกาลที่ 7 ทรงใช้ ซึ่งทำให้ทูตอังกฤษรายงานว่า รัฐบาลใหม่ออกแถลงการณ์เพื่อพยายามแสดงให้เห็นถึงความมั่นคงทางสถานะทางการเงินและนโยบายที่ไม่ได้แตกต่างจากระบอบเก่ามากนัก นั่นก็เท่ากับว่า “ให้ความเคารพยกย่องต่อรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยไม่ได้ตั้งใจ” แถมแถลงการณ์ของรัฐบาลยังกล่าวอีกว่า สภาวะถดถอยในขณะนั้นเกิดขึ้นทั่วโลกและสุดวิสัยของรัชกาลที่ 7 ที่จะควบคุมได้ [13]

ซึ่งถ้าหากรัฐบาลระบอบเก่า “ได้ถือเอาราษฎรเป็นทาส (ซึ่งเรียกว่าไพร่บ้าง ข้าบ้าง) เป็นสัตว์เดียรัจฉาน ไม่นึกว่าเป็นมนุษย์ เหตุฉะนั้น แทนที่จะช่วยราษฎร กลับพากันทำนาบนหลังราษฎร” แล้วด้วยเหตุอันใดรัฐบาลระบอบใหม่จึงกลับดำเนินนโยบายตามแบบระบอบเก่าเกือบจะเป๊ะๆ ? หรือความจริงแล้ว การกดขี่ในคำประกาศของคณะราษฎรนั้นเป็นพียงคำหลอกลวง!?

อ้างอิง :

[1] ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 จากสถาบันปรีดี พนมยงค์.
[2] หจช. รฟท. 2/11. จดหมายเหตุของสภาเผยแผ่พาณิชย์ ใน พอพันธ์ อุยยานนท์, “การแก้ไขสนธิสัญญาเบาริงฯลฯ กับ อธิปไตยทางการคลัง”.
[3] พอพันธ์ อุยยานนท์, เศรษฐกิจไทยสมัยรัชกาลที่ 7: รักษาเสถียรภาพ ปูพื้นฐานการพัฒนา (กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คยไฟ, 2558), หน้า 13-26.
[4] พอพันธ์ อุยยานนท์, เศรษฐกิจไทยสมัยรัชกาลที่ 7, หน้า 49.
[5] พอพันธ์ อุยยานนท์, เศรษฐกิจไทยสมัยรัชกาลที่ 7, หน้า 50.
[6] พอพันธ์ อุยยานนท์, เศรษฐกิจไทยสมัยรัชกาลที่ 7, หน้า 66.
[7] พอพันธ์ อุยยานนท์, เศรษฐกิจไทยสมัยรัชกาลที่ 7, หน้า 38.
[8] พอพันธ์ อุยยานนท์, เศรษฐกิจไทยสมัยรัชกาลที่ 7, หน้า 64.
[9] พอพันธ์ อุยยานนท์, ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจแห่งประเทศไทย (กรุงเพทฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2564), หน้า 74.
[10] พอพันธ์ อุยยานนท์, เศรษฐกิจไทยสมัยรัชกาลที่ 7, หน้า 64.
[11] พอพันธ์ อุยยานนท์, เศรษฐกิจไทยสมัยรัชกาลที่ 7, หน้า 65.
[12] พอพันธ์ อุยยานนท์, เศรษฐกิจไทยสมัยรัชกาลที่ 7, หน้า 74.
[13] เบนจามิน เอ. บัทสัน, อวสานระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม, หน้า 317.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

<