จากปลานิล 50 ตัว สู่สัตว์น้ำเศรษฐกิจ “หมื่นล้าน” ที่สำคัญของคนไทย

รู้ไหมว่า “ปลานิล” ที่เราบริโภคกันอยู่ทุกวันนี้ คือสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งเริ่มต้นมาจากโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระราชหฤทัยในการหาสัตว์น้ำที่ให้โปรตีนสูง เพื่อเพาะพันธุ์พระราชทานแจกจ่ายให้กับประชาชนไว้บริโภค

จากปลานิล 50 ตัว ที่สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ได้ทรงจัดส่งเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 ต่อมาพระองค์ได้ทรงทดลองเพาะเลี้ยงในบ่อเลี้ยงสวนจิตรลดา กระทั่งประสบผลสำเร็จ และได้พระราชทานพันธุ์ปลานิลกว่า 1 หมื่นตัว แก่กรมประมง เพื่อนำไปให้สถานีประมงจังหวัดต่าง ๆ ทำการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์แจกจ่ายให้แก่ประชาชนต่อไป

อีกทั้งยังมีการปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิล ให้มีคุณภาพดีขึ้น ตามแนวพระราชดำริด้วยวิธีธรรมชาติ จนกระทั่งปัจจุบัน ปลานิลกลายเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญของคนไทย ให้ผลผลิตเฉลี่ย 2.01 แสนตัน สร้างรายได้ให้แก่ผู้เพาะเลี้ยงกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี

ในปี พ.ศ. 2494 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมประมง นำพันธุ์ปลาหมอเทศ จากปีนัง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย เข้าไปทดลองเลี้ยงในสระน้ำพระที่นั่งอัมพรสถาน กระทั่งประสบผลสำเร็จในการเพาะเลี้ยง

ต่อมาเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพันธุ์ปลาหมอเทศ แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศ นำไปเลี้ยงเผยแพร่ขยายพันธุ์ให้แก่ราษฎรในหมู่บ้านของตน เพื่อจะได้มีอาหารโปรตีนเพิ่มขึ้น การพระราชทานพันธุ์ปลาหมอเทศ จึงนับเป็นโครงการพระราชดำริเริ่มแรก จากการที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีความห่วงใยในโภชนาการของคนไทย และต้องการให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งอาหารโปรตีนได้ในราคาย่อมเยาว์ แต่เนื่องจากปลาหมอเทศมีเนื้อค่อนข้างแข็งและขนาดตัวเล็ก จึงไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าที่ควร

จนกระทั่ง “ปลานิล” สัตว์น้ำเศรษฐกิจสำคัญได้เดินทางเข้ามาถึงประเทศไทย

ปลานิล (Tilapia Nilotica) มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ที่แม่น้ำไนล์ ทวีปแอฟริกา นำเข้าสู่ประเทศไทยครั้งแรกโดยสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่น ซึ่งทรงจัดส่งปลานิลเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2508 จำนวน 50 ตัว เนื่องจากสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ทรงเห็นว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชหฤทัยในการหาสัตว์น้ำที่ให้โปรตีนสูง ในการที่จะเพาะพันธุ์เพื่อพระราชทานแจกจ่ายให้กับประชาชนไว้บริโภค

ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2509 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ ว่า “ปลานิล” โดยทับศัพท์จากชื่อวิทยาศาสตร์ คือ ออกเสียงตามพยางค์ต้นของชื่อพันธุ์ปลา “Nil” จาก “Nilotica” และได้พระราชทานพันธุ์ที่ทรงเพาะเลี้ยงกว่า 1 หมื่นตัว แก่กรมประมง เพื่อนำไปให้สถานีประมงจังหวัดต่าง ๆ เพาะเลี้ยงขยายพันธุ์แจกจ่ายให้ประชาชนนำไปเลี้ยง พร้อมกับปล่อยลงในแหล่งน้ำทั่วไปให้ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติ เพื่อเป็นแหล่งอาหารโปรตีนของชุมชนสำหรับการบริโภคต่อไป

ด้วยลักษณะทางกายภาพของปลานิล ซึ่งคล้ายกับปลาหมอเทศ แต่ตัวใหญ่กว่า ให้เนื้อมากกว่า มีความนุ่ม กลิ่นคาวน้อยกว่า และขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ทำให้เกษตรกรหันมานิยมเลี้ยงปลานิลอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ

ต่อมาในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเล็งเห็นว่า เมื่อปลานิลขยายพันธุ์ไปเรื่อย ๆ อาจส่งผลให้เกิดการกลายพันธุ์ ทำให้สายพันธุ์ด้อยลง มีการขยายพันธุ์ต่ำ และมีขนาดตัวเล็กลง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการรักษาสายพันธุ์แท้ไว้ โดยเพาะขยายพันธุ์ในบ่อเลี้ยงสวนจิตรลดาต่อไป รวมถึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการปรับปรุงคัดเลือกสายพันธุ์ตามวิธีการธรรมชาติ เพื่อให้ได้พันธุ์ปลานิลที่มีคุณลักษณะเด่นกว่ารุ่นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ซึ่งต่อมาได้เกิดเป็น ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา 2 ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา 3 และปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา 4

แม้ว่าปลานิลจะไม่ใช่สัตว์น้ำประจำถิ่น แต่ก็ยังห่างไกลจากลักษณะของสัตว์ต่างถิ่นที่มีพฤติกรรมรุกรานสัตว์พื้นถิ่น (Alien Species) เพราะว่าแม้ปลานิลจะขยายพันธุ์ได้ดี แต่ปลานิลเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ถึงจะมีปริมาณมากเพียงไร ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดสัตว์น้ำอยู่ดี ดังนั้นปลานิลจึงไม่ได้เข้าไปแย่งแหล่งอาหารปลาประจำถิ่นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากแหล่งน้ำแห่งใดที่มีปลานิลมาก ปลานิลในแหล่งน้ำนั้นก็จะถูกล่ามากเช่นกัน ต่างจากปลาดุกบิ๊กอุย ปลาช่อนอเมซอน ปลาซักเกอร์ กุ้งเครย์ฟิช หรือปลาหมอสีคางดำ เป็นต้น ซึ่งมีพฤติกรรมเข้าไปรุกรานสัตว์น้ำประจำถิ่น ถึงขนาดส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศได้

อย่างไรก็ตาม กรมประมงก็ไม่แนะนำให้มีการแพร่พันธุ์ปลานิลเข้าสู่แหล่งน้ำธรรมชาติเพิ่มเติม แม้ว่าปลานิลจะปรับตัวเข้ากับระบบนิเวศมานานแล้วก็ตาม เนื่องจากสัตว์น้ำประจำถิ่นอันเป็นพันธุ์ปลาดั้งเดิมมีปริมาณที่น้อยลงกว่าในอดีตมาก ดังนั้นกรมประมงจึงส่งเสริมให้มีการปล่อยพันธุ์ปลาท้องถิ่นลงแหล่งน้ำธรรมชาติมากกว่า

ปัจจุบันปลานิลเพาะเลี้ยงยังได้รับการปรับปรุงสายพันธุ์ให้ดีขึ้นอีกด้วย เช่น ปลาทับทิบ ที่เป็นการปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิลของบริษัทเอกชน ตามแนวพระราชดำริจากวิธีธรรมชาติ ไม่ใช่การตัดแต่งพันธุกรรม ด้วยการนำปลานิลแดงมาพัฒนาต่อ จนเกิดเป็นสายพันธุ์ที่มีคุณภาพ มีความต้านทานโรคสูง และมีรสชาติที่ดีขึ้น

ในส่วนของมูลค่าทางเศรษฐกิจ ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศไทย มีผลผลิตเฉลี่ย 2.6 ล้านตันต่อปี สร้างมูลค่ากว่า 1.6 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นผลผลิตที่ได้จากการทำประมงเฉลี่ย 1.62 ล้านตันต่อปี มูลค่า 6.6 หมื่นล้านบาท และผลผลิตที่ได้จากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเฉลี่ย 9.86 แสนตันต่อปี มูลค่า 9.32 หมื่นล้านบาท

โดยที่ ปลานิล มีผลผลิตเฉลี่ย 2.01 แสนตัน สร้างรายได้ให้แก่ผู้เพาะเลี้ยงกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี มีผลผลิตคิดเป็นสัดส่วน 1/5 ของผลผลิตสัตว์น้ำที่ได้จากการเพาะเลี้ยง และคิดเป็นสัดส่วน 1/10 ของปริมาณเฉลี่ยผลผลิตสัตว์น้ำทั้งหมดของประเทศไทย

จะเห็นได้ว่า การเพาะเลี้ยงปลานิล เริ่มต้นมาจากโครงการพระราชดำริแรกเริ่มของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีความห่วงใยในโภชนาการของคนไทย และต้องการให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งอาหารโปรตีนได้ในราคาย่อมเยาว์ จนเกิดเป็นการเพาะเลี้ยง ขยายพันธุ์ ตลอดจนพระราชทานพันธุ์ปลานิลให้แก่ประชาชน รวมถึงมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้ดียิ่งขึ้น จนกระทั่ง “ปลานิล” กลายมาเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญ ก่อเกิดอาชีพและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนมาจนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง :

[1] รายงานประมาณการผลผลิตและมูลค่าสัตว์น้ำจากการประมงของประเทศไทย พ.ศ.2564-2566 โดยกลุ่มสถิติการประมง กองนโยบายและแผนพัฒนาการประมง
[2] รายงานสถานการณ์การผลิตและการค้าปลานิลและผลิตภัณฑ์ในปี2563 และแนวโน้มปี 2564 โดย เกวลิน หนูฤทธิ์ กลุ่มเศรษฐกิจการประมง กองนโยบายและแผนพัฒนาการประมง
[3] บทความ โครงการปลานิลพระราชทาน โดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
[4] “ปลานิล” ปลาพระราชทานจากรัชกาลที่ 9 สร้างอาหารแก่คนไทย
[5] ปลานิลไทย : ตลาดขยายตัวทั้งในประเทศและส่งออก

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า