เปิดรายละเอียด ‘คดีอากง’ เหยื่อที่ถูกกระทำจากแกนนำทางการเมือง : ตอนที่ 1

กลับบ้านเรานะ ตอนนี้เขาปล่อยตัวลื้อแล้ว”

ป้าอุ๊ กล่าวกับร่างของสามี (อากง) หรือ นายอำพล ตั้งนพกุล ในวันที่เธอเดินทางมารับศพอากงที่เสียชีวิตในเรือนจำ

การเสียชีวิตของ “อากง” หรือ นายอำพล ตั้งนพกุล ชายวัย 62 ปี ผู้ที่ต้องตกเป็นจำเลยคดี ม.112 จากการส่งข้อความ หรือ SMS มีเนื้อหาจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ไปยังมือถือของนาย สมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2553 โดยต่อมา ศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุกรวม 20 ปี

บ้างก็ว่า คำพิพากษา “คดีอากง” นำมาซึ่งความคลางแคลงและข้อสงสัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่ง SMS ด้วยโทรศัพท์รุ่นเก่าราคาถูก ซึ่งชายชรายืนยันว่า “ทำไม่เป็น” ทั้งยังเบอร์โทรศัพท์ของเลขานุการส่วนตัวนายกรัฐมนตรีนั้น คนจนๆ ไม่ได้มีชื่อเสียงอย่างเขาจะไปหามาได้จากไหน อีกทั้งยังไม่นับเรื่องการที่ถูกยัดเยียดให้เป็นพวก “เสื้อแดงฮาร์ดคอร์” อยู่ร่วม “ขบวนการล้มเจ้า” ทั้งที่ตัวแกเองแทบจะไม่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองเลย รายละเอียดข้อเท็จจริงในคดีนี้เป็นอย่างไร ทีมงาน ฤา ได้ทำการรวบรวมมาดังนี้

ที่มาของคดี อากง 112

“คดีอากง” เกิดขึ้นในปี 2553 ช่วงที่มีการสลายชุมนุมคนเสื้อแดง ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ โดยพนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่า นายอำพล ตั้งนพกุล อายุ 61 ปี ได้ส่งข้อความสั้นจำนวน 4 ข้อความ ไปยังหมายเลขโทรศัพท์ของนาย สมเกียรติ ครองวัฒนาสุข เลขานุการส่วนตัวของนาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยข้อความสั้นจะถูกนำเข้าไปที่ Short Message Service Centre จากนั้นก็นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยทุกข้อความเป็นการหมิ่นประมาทและแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว องค์พระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ องค์พระราชินี และรัชทายาท

จำเลย ถูกกล่าวหาว่าใช้โทรศัพท์มือถือ หมายเลข XXX-XXX-XXXX ส่งข้อความอันอาจเป็นการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ และหมิ่นประมาทใส่ความให้ร้ายสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทั้งหมด 4 ครั้งไปยังโทรศัพท์มือถือหมายเลขโทรศัพท์ XXX-XXX-XXXXของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข ขณะดำรงตำแหน่งเลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553

3 สิงหาคม 2553 จำเลย วัย 61 ปี ถูกจับกุมในข้อหากระทำความผิดตามมาตรา 14 (2), (3) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา และคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข (คปค.) ฉบับที่ 41 โดยข้อความดังกล่าวมีลักษณะหยาบคาย เข้าข่ายจาบจ้วง ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ

จำเลยให้การปฏิเสธ ตั้งแต่ชั้นจับกุม โดยกล่าวว่าไม่รู้จักวิธีการส่ง SMS และหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ส่งนั้นก็ไม่ใช่ของตน ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อว่าผู้ส่งข้อความหักซิมการ์ดทิ้งไปแล้ว จึงสืบเบาะแสจากหมายเลขประจำเครื่อง (IMEI)

จำเลยเคยประกอบ อาชีพขับรถส่งของ ปัจจุบันไม่ได้ประกอบอาชีพอะไรแล้วเนื่องจากอายุมากและพูดไม่ถนัด หลังการผ่าตัดมะเร็งใต้ลิ้นตั้งแต่ปี 2550 ทุกวันนี้อาศัยอยู่กับภรรยาในห้องเช่าราคาเดือนละ 1,200 บาท ย่านสำโรง จังหวัดสมุทรปราการ และอยู่ได้ด้วยเงินที่ได้รับจากลูกๆ อีกเล็กน้อย แต่ละวันมีหน้าที่ต้องเลี้ยงหลาน 3-4 คน

นายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข ผู้กล่าวหาในคดีนี้ ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งเลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี แจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมความผิดทางเทคโนโลยี หลังจากได้รับ SMS จากเบอร์โทรศัพท์หมายเลข XXX-XXX-XXXX ที่ส่งมายังเครื่องของตนในวันที่ 9, 11, 12, 22 พฤษภาคม 2553 รวมจำนวน 4 ข้อความ

เนื้อหาของคดี อากง 112

นายอำพล นำสืบว่า เบอร์โทรศัพท์ที่ใช้ส่งข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หมายเลข XXX-XXX-XXXX ไม่ทราบว่าเป็นของผู้ใด ทั้งนี้ ช่วงเดือนเมษายน 2553 จำเลยเคยนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปซ่อม แต่ไม่เคยนำซิมการ์ดหมายเลขอื่นมาใช้กับโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องดังกล่าว ส่วนการแก้ไขหมายเลขประจำเครื่องสามารถทำได้ โดยหมายเลขประจำเครื่อง 10% ไม่เป็นการเฉพาะ ขณะเดียวกันจำเลยรักพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

พยานโจทก์สืบสวนโดยตรวจสอบการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และหมายเลขประจำเครื่องโทรศัพท์ที่ใช้กับซิมการ์ดดังกล่าวไปยังบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ ทำให้ทราบว่าโทรศัพท์หมายเลข 08-1349-3615 เป็นระบบเติมเงินไม่จดทะเบียน ใช้งานกับเครื่องโทรศัพท์หมายเลขประจำเครื่องซึ่งเป็นหมายเลขเดียวกับโทรศัพท์ของนายอำพล และใช้อยู่กับซิมการ์ดหมายเลข 08-5838-4627 ของนายอำพลเช่นกัน ซึ่งเป็นระบบเติมเงินไม่จดทะเบียนในเครือข่ายของบริษัท ทรู มูฟ ทั้งนี้พยานโจทก์ให้ข้อมูลว่าหมายเลขประจำเครื่องไม่สามารถซ้ำกันได้

เจ้าหน้าที่ทั้งสองบริษัท เบิกความว่า ข้อมูลการใช้โทรศัพท์ออกมาจากระบบจัดเก็บข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ของบริษัท นอกจากนี้ข้อมูลทั้งหมดเป็นจราจรทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ทำให้ข้อมูลการใช้บริการโทรศัพท์มีความน่าเชื่อถือและมีน้ำหนักมั่นคง ขณะเดียวกันพยานโจทก์ทั้งหมดระบุว่าหมายเลขประจำเครื่องทั้งหมดไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้

การสืบพยานของโจทก์และจำเลย

พยานโจทก์ปากที่หนึ่ง

นายสมเกียรติฯ เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุ ตนดำรงตำแหน่งเลขานุการส่วนตัวของอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เวลาประมาณ 12.13 น. มีข้อความขนาดสั้นส่งมาที่มือถือหมายเลข 08-1425-5599 ของตน เป็นข้อความที่มีลักษณะหยาบคาย กล่าวถึง พระราชินี ซึ่งพยานได้ถ่ายภาพหน้าจอมือถือเก็บไว้เป็นหลักฐาน โดยหมายเลขผู้ส่งขึ้นว่า +66813493615

นายสมเกียรติฯ ให้การต่อว่ามีข้อความจากหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าวส่งมารวม 4 ครั้ง ทุกครั้งจะกล่าวถึงในหลวงและพระราชินีด้วยถ้อยคำหยาบคาย อาฆาตมาดร้าย ซึ่งตนได้ถ่ายภาพหน้าจอไว้ทุกครั้ง ต่อมาได้แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยมอบหลักฐานภาพถ่ายหน้าจอมือถือ ขณะที่แจ้งนั้น ยังไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของหมายเลขผู้ส่ง ต่อมาได้ทราบว่าตำรวจจับกุมผู้ต้องหาได้ และทราบชื่อว่าเป็นจำเลยในคดีนี้ ทั้งนี้ ตนไม่เคยรู้จักกับจำเลยมาก่อน

พยานตอบคำถามทนายจำเลยถามค้าน ได้ความว่าหมายเลขโทรศัพท์ของนายสมเกียรติเปิดใช้บริการเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ซึ่งหมายเลขนี้ใช้ทั้งในการทำงานและชีวิตส่วนตัว เป็นที่แพร่หลายค่อนข้างมาก เพราะต้องแสดงหมายเลขไว้ให้สำหรับติดต่อกับนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อร้องทุกข์ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงหมายเลขดังกล่าวได้ พบว่าที่ผ่านมามีคนโทรเข้ามาร้องทุกข์เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ก่อนหน้าที่จะได้รับข้อความ นายสมเกียรติฯ ไม่เคยเห็นหมายเลข +66XXXXXXXXX และไม่เคยได้รับการติดต่อจากหมายเลขนี้

ทนายความจำเลยถามต่อ ได้ความว่า นายสมเกียรติฯ เริ่มดำเนินการแจ้งความเมื่อมีการส่งข้อความมาทั้งสิ้น 4 ครั้ง และได้ไปให้การต่อเจ้าหน้าที่ในวันที่ 28 มิถุนายน 2553 ศาลบันทึกให้เพราะเห็นว่าเป็นประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี

พยานโจทก์ปากที่สอง

ร.ต.อ.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย เจ้าหน้าที่สืบสวนและร่วมจับกุมจำเลย

ร.ต.อ.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุ ตนเป็นรองสารวัตรประจำกองบังคับการปราบปรามและเป็นเจ้าหน้าที่สืบสวนจับกุม ผู้กระทำความผิด โดยเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2553 ตนได้รับคำสั่งจาก พ.ต.ท.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ให้สอบสวนคดีที่มีผู้ส่งข้อความขนาดสั้น (sms) ที่มีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเข้ามือถือของเลขานุการนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ร.ต.อ.ศักดิ์ชัยฯ กล่าวว่าตนจำชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ไม่ได้แล้ว อัยการจึงถามว่าหมายเลขนั้นลงท้ายด้วย -XXXX ใช่หรือไม่ เขาจึงตอบว่าจำได้ลางๆ ว่า ใช่

จากนั้นได้มีการเบิกความต่อว่าตนทราบว่าข้อความนั้น เป็นข้อความหมิ่นฯ จากคำสั่งที่ได้รับมา แต่ไม่ได้เห็นข้อความ ตนทราบว่ามีการส่งข้อความมาที่เบอร์ XXX- XXXX -XXXX ของนายสมเกียรติหลายครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม

หลังได้รับคำสั่ง จึงทำการสืบสวนโดยขอข้อมูลจากบริษัท โทเทิล แอคเซส คอมมิวนิเคชั่น (DTAC) จากนั้นได้รับข้อมูลตอบกลับมาว่า หมายเลขที่ใช้ส่งข้อความนั้นระงับการใช้งานไปแล้ว ไม่มีการใช้งานในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ ตนไม่ทราบว่าหมายเลขดังกล่าวใช้งานด้วยระบบเติมเงินหรือจ่ายรายเดือน

นอกจาก นั้นตนยังเป็นคนตรวจสอบหาเลขอีมี่ พบว่าหมายเลขโทรศัพท์นั้นใช้งานกับเครื่องโทรศัพท์ที่มีหมายเลข IMEI 358906000230110 โดยส่ง sms จากบริเวณวัดด่านสำโรง ตามเอกสารข้อมูลการใช้โทรศัพท์ พบว่ามีการส่งต่อเนื่องและมีการหยุดใช้งานไปเหมือนมีการถอดซิมการ์ดออก ตนจึงได้รายงานไปที่ พ.ต.ท.ธีรเดช และ พ.ต.ท.ธีรเดช ได้ส่งเรื่องไปที่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น เพื่อให้ทำการแขวนอีมี่ ซึ่งหมายถึง การนำเลข IMEI ไปตรวจสอบดูว่า ปัจจุบันหมายเลข IMEI ดังกล่าวใช้งานกับหมายเลขโทรศัพท์หมายเลขใดอีกบ้าง จึงทราบว่า หมายเลข IMEI ดังกล่าวใช้กับหมายเลขที่ลงท้ายด้วย -XXXX ของระบบทรู

ร.ต.อ.ศักดิ์ชัย ให้การต่อว่า หลังจากนั้น พ.ต.ท.ธีรเดช จึงประสานงานไปที่บริษัททรูอีกครั้งเพื่อตรวจสอบการใช้งานของหมายเลข -XXXX ทั้งหมด เมื่อได้เอกสารมา ก็วิเคราะห์ข้อมูลและพบว่า ทั้งหมายเลข -XXXX และ -XXXX มีพื้นที่ใช้งานใกล้เคียงกัน โดยได้พบว่าหมายเลข -XXXX มีการจดทะเบียนโดยใช้ชื่อชายคนหนึ่งซึ่งเป็นสามีของนางกรวรรณ บุตรสาวของจำเลย

ต่อจากนั้นตนจึงสืบหาว่าหมายเลขโทรศัพท์ -XXXX ใช้ติดต่อกับหมายเลขโทรศัพท์ใดบ้าง พบว่ามีการติดต่อกับหมายเลขโทรศัพท์ของนางสาวปิยมาศ และนางกรวรรณบุตรของจำเลยเป็นประจำ จึงเชิญนางกรวรรณมาสอบปากคำ และได้รับการยืนยันว่า หมายเลข -XXXX เป็นของจำเลย บ้านของจำเลยอยู่ในซอยวัดด่านสำโรง 2 และเมื่อพบว่าเลข IMEI ตรงกับเครืองที่ใช้ส่งข้อความสั้นด้วยหมายเลข -XXXX จึงเข้าใจว่าเป็นเครื่องเดียวกัน จึงไปตรวจสอบที่บ้านและพบจำเลยอยู่ที่นั่น

ร.ต.อ.ศักดิ์ชัย ให้การต่อว่า บ้านของจำเลยเป็นบ้านเช่า และนางกรวรรณได้ให้ปากคำว่า จำเลยพักอยู่กับนางสาวปิยมาศ บุตรสาวอีกคนหนึ่ง ต่อ มามีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน และขอหมายจับจากศาล และตนเป็นผู้ร่วมจับกุมด้วย โดยในขณะที่จับกุมนั้น ตำรวจเข้าตรวจยึดของกลางได้ 5 ชิ้น มีโทรศัพท์ยี่ห้อ Motorola ที่มีเลข IMEI ตรงกับที่ตรวจสอบ และจำเลยบอกว่าเป็นเจ้าของโทรศัพท์เครื่องนั้น

พยานเบิกความเพิ่มเติมด้วยว่า จำเลยกล่าวในชั้นจับกุมว่า ก่อนหน้านี้โทรศัพท์มือถือเสียและได้เอาไปซ่อมที่อิมพีเรียล สำโรง ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2553

ร.ต.อ.ศักดิ์ชัย ตอบคำถามทนายจำเลยถามค้าน ได้ความว่า ระยะทางระหว่างอิมพีเรียล สำโรง กับบ้านจำเลย อยู่ห่างกันราว 4 กิโลเมตร จากนั้นอัยการโจทก์ได้ถามติง เรื่องตัวเลข IMEI ร.ต.อ.ศักดิ์ชัยให้การว่า ได้แจ้งผู้บังคับบัญชาแล้วว่า ตัวเลข IMEI มีตัวเลขหลักสุดท้ายไม่ตรงกัน อัยการโจทก์ถามอีกว่า ทางบริษัทตอบกลับมาเรื่องเลขอีมี่โดยบอกว่าให้ดูเฉพาะตัวก่อนตัวสุดท้ายใช่ หรือไม่ ร.ต.อ.ศักดิ์ชัยตอบว่า ใช่

พยานโจทก์ปากที่สาม

นายชุมพล พูลเกษม ผู้จัดการฝ่ายกฎหมาย บริษัทดีแทค

นายชุมพลฯ เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุตนเป็นผู้จัดการฝ่ายกฎหมายของ บริษัท โทเทิล แอคเซส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้ร้องขอมายังตนเพื่อดูการใช้งานโทรศัพท์ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2553 ของหมายเลขที่ลงท้ายด้วย -3615 ตนจึงเรียกเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในบริษัทมาตรวจสอบ หลังจากนั้นจึงมีการพิมพ์ข้อมูลออกจากคอมพิวเตอร์แล้วทำเป็นเอกสารหนังสือ ส่งไปยังผู้ร้องขอดังกล่าว

นายชุมพลฯ กล่าวว่า ได้ตรวจสอบดูแล้วพบว่าหมายเลขดังกล่าวมีการติดต่อทาง sms กับหมายเลข -XXXX ในวันที่ 9,11,12,15 และ 22 พฤษภาคม 2553 แต่ไม่ทราบว่าข้อความเป็นอย่างไร ต่อมาในเดือนกรกฎาคม มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาขอตรวจสอบหมายเลขอีมี่ (IMEI)ที่ใช้ร่วมกับหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าว เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นหมายเลข 358906000230110 จากนั้นตนจึงได้รับการติดต่อมาให้การในคดีนี้

นายชุมพลฯ ให้การต่อว่า หมายเลข -XXXX ใช้ระบบเติมเงินของดีแทค จากนั้น ทนายจำเลยถามค้าน นายชุมพลฯ ให้การว่า ครั้งแรกที่ส่งหนังสือถึงตำรวจได้ส่งเฉพาะรายการการใช้โทรศัพท์เท่านั้น ยังไม่มีการแจ้งหมายเลขอีมี่ แต่มีหนังสือขอทราบหมายเลขอีมี่มาในภายหลังจึงได้ส่งข้อมูลกลับไป เมื่อทนายถามถึงความรู้เกี่ยวกับเลขอีมี่ต่อกรณี หากมีการนำเข้าเครื่องโทรศัพท์จากต่างประเทศมาใช้ซ้ำที่เมืองไทยจะกระทำการเปลี่ยนแปลงเลขอีมี่ได้หรือไม่ นายชุมพลฯ ตอบว่า ตนไม่ทราบ

พยานโจทก์ปากที่สี่

นายธรรมนูญ อิ่มทั่ว เจ้าหน้าที่ธุรการ บริษัทดีแทค ผู้ตรวจสอบการใช้งานหมายเลข -XXXX

หลังการสืบพยานปากนายชุมพลฯ เสร็จสิ้น นายธรรมนูญ อิ่มทั่ว เจ้าหน้าที่ธุรการบริษัทดีแทค วัย 36 ปี ขึ้นให้ปากคำ

นายธรรมนูญฯ เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุตนเป็นเจ้าหน้าที่ธุรการของ บริษัท ดีแทค ทำหน้าที่จัดเก็บข้อมูลการใช้โทรศัพท์ไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ โดยตนได้รับหนังสือจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ให้ตรวจข้อมูลการใช้งานในช่วงเดือนพฤษภาคม 2553 ของหมายเลข -XXXX จากนั้นตนได้ร่างหนังสือเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลการใช้งานของหมายเลขดังกล่าว ให้นายชุมพล พูลเกษม ลงลายเซ็นต์ด้วย

นายธรรมนูญฯ กล่าวว่า ไม่มีการตรวจสอบหมายเลขอีมี่ในครั้งแรกที่ได้รับหนังสือจาก ปอท. แต่ครั้งต่อมาเมื่อมีหนังสือมาอีกจึงมีการตรวจสอบ

นายธรรมนูญฯ ให้การว่า ตัวเลขหลักสุดท้ายของอีมี่ไม่มีความสำคัญ เพราะทางบริษัทดีแทคจะใส่เลข 0 ไว้อยู่แล้ว จากนั้น ทนายจำเลยถามค้าน ได้ความว่า นายธรรมนูญฯ รับมอบหมายงานจาก นายชุมพล พูลเกษม และเลขอีมี่มีความสำคัญคือเป็นเลขที่ระบุว่าโทรศัพท์เครื่องนั้นมาจากบริษัท ไหน รุ่นอะไร นอกจากนั้น นายธรรมนูญฯ ยังให้การว่าเลขอีมี่ไม่สามารถทำการแก้ไขได้

พยานโจทก์ปากที่ห้า

นายจักรพันธ์ จุมพลภักดี เจ้าหน้าที่ฝ่ายประสานงานราชการ บริษัท ทรู คอร์เปอเรชั่น

นายจักรพันธ์ฯ ขึ้นเบิกความต่อศาล ได้ความว่า ตนเป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานราชการที่บริษัท ทรู คอร์เปอเรชั่น หรือ truemove ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยตนได้รับมอบหมายจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2553 ให้ตรวจสอบเกี่ยวกับข้อมูลการใช้งานของหมายเลขโทรศัพท์ที่ลงท้ายด้วย -XXXX เมื่อตรวจแล้วพบว่าหมายเลขดังกล่าวเปิดใช้งานเมื่อ 7 มีนาคม 2551 แต่ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ใช้

สิ่งที่ต้องตรวจสอบนั้นได้แก่ รายการการโทรเข้า-ออก เวลาโทร สถานที่ใช้งาน หมายเลขอีมี่ และสถานีที่ใช้ พบว่าหมายเลขอีมี่ เป็น 3589060002311x โดยเลขตัวหลังนี้บางครั้งพบว่าเป็น 0 บางครั้งพบว่าเป็น 2 ซึ่งสาเหตุนั้นเป็นเพราะในระบบฐานข้อมูลและการแสดงผลจะปรากฏเลขท้ายแสดงค่าออกมาไม่ตรงกัน นอกจากนั้นนายจักรพันธ์ฯ ยังกล่าวว่า การแก้ไขเลขอีมี่สำหรับโทรศัพท์นำเข้าเพื่อให้มีเลขอีมี่กลางที่ใช้กับทุกเครื่องในระบบนั้นเป็นระบบเก่า ไม่มีการใช้แล้วในปัจจุบัน เพราะโทรศัพท์รุ่นใหม่ที่ผลิตมาจะใช้ได้ทั่วโลก

ทนายจำเลยถามค้าน นายจักรพันธ์ฯ ให้การว่า เลขอีมี่สามารถทำการแก้ไขได้จากช่างซ่อมมือถือทั่วไป จากนั้นพนักงานอัยการถามติง นายจักรพันธ์ฯ ยืนยันว่าการตรวจสอบเลขอีมี่จะดูแค่ 14 หลักแรกเท่านั้น

พยานโจทก์ปากที่หก

พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจพิสูจน์หลักฐานทางเทคโนโลยี จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์

พ.ต.อ.ศิริพงษ์ เบิกความต่อศาลว่า ตนเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ อาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับคดีนี้ เคยได้รับการอบรมหลักสูตรอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ หลักสูตรการตรวจพิสูจน์หลักฐานทางคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ และขณะเกิดเหตุนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้กำกับการศูนย์ตรวจสอบและวิเคราะห์การ กระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ และตนเป็นผู้ทำหนังสือสอบถามข้อมูลของหมายเลข -XXXX ไปยังบริษัททรูด้วย

ในเดือนพฤษภาคม 2553 ตนได้รับคำสั่งจากผู้บังคับการให้สืบสวนกรณีที่มีคนส่ง sms หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไปที่หมายเลข -XXXX ของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เมื่อตรวจสอบพบว่าหมายเลขของผู้ส่งใช้งานเฉพาะการส่งข้อความเท่านั้น จึงสันนิษฐานว่า ผู้ส่งซื้อซิมการ์ดมาสำหรับใช้ส่ง sms โดยเฉพาะ

พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ให้การเกี่ยวกับเลขอีมี่ว่า หลักท้ายสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ในการตรวจสอบจะดูเฉพาะ 14 หลักแรก และเลขหลักท้ายไม่มีความหมาย ส่วนแต่ละหลักใน 14 หลักแรกของหมายเลขอีมี่นั้นมีความหมาย ดังนี้

6 หลักแรก หมายถึง รหัสประเทศ
2 หลักถัดมา หมายถึง บริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์
6 หลักถัดไป หมายถึง ลำดับของเครื่องยี่ห้อนั้น

พ.ต.อ.ศิริพงษ์ เบิกความต่อว่า เลขอีมี่ซ้ำกันไม่ได้ แต่สามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยช่าง ซึ่งถ้าเปลี่ยนแล้วจะไปเปลี่ยนที่ฐานข้อมูลด้วย

ต่อมาทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ให้การว่า ตนทราบว่ามีโปรแกรมทางอินเทอร์เน็ตที่ใช้สำหรับตรวจสอบเลขอีมี่ โดยใช้เพื่อตรวจดูว่า มีเลขอีมี่ใดอยู่ในสารบบหรือไม่ ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวไม่สามารถใช้ตรวจแบบละเอียดได้ นอกจากนั้นยังยืนยันว่า เลขหลักท้ายทางบริษัทต้องใส่เป็น 0 อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ทนายจำเลยร้องขอให้ศาลอนุญาตให้เปิดโปรแกรมดังกล่าวเพื่อให้พยานทำการพิสูจน์ โดยการตรวจสอบหมายเลขอีมี่โทรศัพท์ตามฟ้องผ่านเว็บไซต์ www.numberingplan.com จากนั้นมีการทดลองใช้โปรแกรมโดย พ.ต.อ.ศิริพงษ์ พบว่าหมายเลขอีมี่ที่ลงท้ายด้วย 6 ซึ่งเป็นหมายเลขอีมี่ของโทรศัพท์มือถือเครื่องที่จำเลยใช้ พบว่าสามารถตรวจสอบพบข้อมูลที่ถูกต้องได้ ส่วนหมายเลขอีมี่ที่ลงท้ายด้วย 0 ตามที่ปรากฏในพยานเอกสารของโจทก์ รวมทั้งเมื่อทดลองกับเลขตัวอื่นๆ พบว่าเว็บไซต์แสดงข้อมูลว่าหมายเลขดังกล่าวไม่มีอยู่ ซึ่งพ.ต.อ.ศิริพงษ์ กล่าวยืนยันว่า ตอนที่ทำการแขวนหมายเลขอีมี่เพื่อทำการตรวจสอบนั้น ใช้เพียง 14 หลักแรกเท่านั้น

นอกจากนี้ พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ให้การว่า ตนไม่ทราบสูตรการคำนวณเฉพาะที่นำตัวเลขอีมี่ 14 หลักแรกมาคำนวนหาตัวเลขอีมี่หลักสุดท้าย ทนายความได้นำสืบสูตรคำนวนดังกล่าวและได้ลองนำหมายเลขอีมี่ 14 หลักแรกตามพยานเอกสารของโจทก์มาคำนวนดูพบว่าตัวเลขหลักสุดท้ายต้องเป็นเลข 6 ไม่ใช่เลข 0 และระหว่างนั้นผู้พิพากษาได้ลองนำสูตรคำนวนดังกล่าวไปทดลองกับโทรศัพท์ มือถือของตนเองด้วย

พยานโจทก์ปากที่เจ็ด

พ.ต.ท.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ พนักงานสืบสวนในคดี

พ.ต.ท.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ เบิกความว่า ตนรับราชการอยู่ที่กองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม เป็นรองผู้กำกับการ ทำหน้าที่สืบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิด และเป็นผู้ร่วมสืบสวนจับกุมในคดีนี้ ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาว่าให้สืบสวนดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยทราบข้อมูลว่ามีข้อความจากหมายเลข -XXXX ส่งข้อความหมิ่นฯ ไปที่หมายเลข -XXXX ซึ่งเป็นของเลขานุการนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในช่วงวันที่ 9-22 พฤษภาคม 2553 จึงทำการสืบสวนร่วมกับ พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา และ ร.ต.อ.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย เมื่อได้ตรวจสอบหมายเลขจึงพบว่าหมายเลขผู้ส่งได้ปิดการใช้งานไปแล้ว จึงตรวจสอบจากหมายเลขอีมี่ โดยได้ส่งไปทำการแขวนอีมี่ พบว่าเลข IMEI 35890600023110 นั้นได้ใช้กับหมายเลขโทรศัพท์ -XXXX ซึ่งเป็นระบบเติมเงิน

พ.ต.ท. ธีรเดช เบิกความอีกว่า การตรวจสอบหมายเลขอีมี่จะดูแค่ 14 หลักเท่านั้น เลขตัวหลังมีค่าฟรี คือไม่มีความหมายอะไร หลังจากนั้นจึงอยากทราบว่าใครเป็นผู้ใช้งานหมายเลขดังกล่าวจึงได้ขอรายงานการใช้ โทรศัพท์ของหมายเลข -XXXX จากบริษัททรู พบว่ามีการติดต่อกับหมายเลข -XXXX อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งสืบทราบภายหลังว่าเป็นหมายเลขโทรศัพท์ของนางกรวรรณ โชติพิชิตชัย จึงขอความร่วมมือกับนางกรวรรณโดยบอกว่า ต้องการสืบสวนเกี่ยวกับคดีอาญา และหมายเลข -XXXX นี้เกี่ยวข้องกับคดีด้วย จากนั้นจึงนัดสอบปากคำนางกรวรรณที่กองกำกับการ 1 เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2553 จากการสอบปากคำได้ความว่าหมายเลข -XXXX เป็นของจำเลย ทั้งนี้ ในการสืบสวนมีการซักถามถึงประวัติส่วนตัวของนางกรวรรณด้วย เช่น มีพี่น้องทั้งหมดกี่คน

พ.ต.ท.ธีรเดช ให้การว่าหมายเลข -XXXX กับ -XXXX มีการใช้งานสลับกัน เมื่อสืบพบว่าที่อยู่อาศัยของจำเลยอยู่ใกล้กับเซลล์ไซต์ที่ใช้ส่งข้อความ จึงจัดทำรายงานการสืบสวน และมอบให้เจ้าพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีขอหมายจับจากศาล และรายงานผู้บังคับบัญชาว่าจะวางแผนการจับกุม ได้ออกหมายค้นและเข้าจับกุมตัวเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไปถึง จำเลยอยู่ในบ้านซึ่งเป็นห้องเช่าเล็กๆ กับภรรยาและเด็กๆ มีการจับกุมโดยแจ้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และทำบันทึกรายงานการจับกุม ซึ่งจำเลยให้การว่า โทรศัพท์มือถือ Motorola สีขาว ซึ่งเป็นของกลางหมายเลขหนึ่งนั้น จำเลยใช้งานนานแล้วและใช้คนเดียว

ตอบคำถามทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.ธีรเดช ให้การว่า ไม่ได้มีแนวทางพิเศษเกี่ยวกับการดำเนินคดีในช่วงที่มีความรุนแรงทางการเมือง นอกจากนั้นแล้วยังให้การว่า มีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับการสอบสวน 15 ปี

นอกจากนี้ พ.ต.ท.ธีรเดช ยังให้การว่า พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา เป็นผู้รวบรวมข้อมูลทั้งสิ้น อันได้แก่ ข้อมูลบันทึกการใช้โทรศัพท์ที่ได้จากบริษัทดีแทคและบริษัททรู ซึ่งเอกสารเหล่านั้นถูกมอบให้แก่ตน จากนั้นเมื่อตนได้ตรวจเอกสารแล้วจึงส่งให้ ร.ต.อ.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย เจ้าหน้าที่สืบสวน

โดยเบิกความต่อว่า ในการตรวจสอบว่าการส่งข้อความสั้นนั้นส่งมาจากพื้นที่ใดไม่ได้ตรวจจากเฉพาะเสาเซลล์ไซต์เท่านั้น แต่ตรวจจากเลข CI ที่ปรากฏในเอกสารรายงานการใช้โทรศัพท์ว่าCI 23672 ซึ่งเป็นเลขที่ระบุให้ทราบว่า มีการส่งข้อความจากบริเวณไหน โดยเลขซีไอดังกล่าวกินพื้นที่ซอยวัดด่านสำโรงตั้งแต่ซอย 14-36 ส่วนพื้นที่การใช้งานของระบบทรูนั้น ตรวจจากเครื่องตรวจคล้ายมือถือ โดย ร.ต.อ.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย จากชุดสืบสวนเป็นผู้ตรวจ ไม่ได้อิงข้อมูลเรื่องเสาเซลล์ไซต์

พยานโจทก์ปากที่แปด

พ.ต.ท.ณรงค์ แม้นเหมือน พนักงานสอบสวนในคดี

พ.ต.ท.ณรงค์ เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุตนเป็นพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข ได้เข้ามาแจ้งความเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2553 ซึ่งแจ้งมาเป็นเอกสารภาพถ่ายหน้าจอมือถือ

เบิกความต่อว่า จากนั้นผู้บังคับการได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อสืบสวนสอบสวน โดยมอบหมายให้ตนเป็นผู้สืบหาพยานหลักฐาน จึงได้รวบรวมหลักฐานและสืบพยานบุคคลร่วมด้วยซึ่งได้แก่ พ.ต.ท.ธีรเดช  ธรรมสุธีร์ ได้ความจาก พ.ต.ท.ธีรเดชว่า ได้ใช้หมายเลขผู้ส่งตรวจหาหมายเลขอีมี่จากบริษัทดีแทค พบว่าเป็นหมายเลข 358906000230110 และสอบถามจากบริษัททรูว่า หมายเลขอีมี่ดังกล่าวใช้งานกับซิมการ์ดหมายเลขใด พบว่าเป็นหมายเลข XXX-XXX-XXXX

พ.ต.ท.ณรงค์ เบิกความว่า ตนได้สืบถาม ร.ต.อ.ศักดิ์ชัย ไกรวีระเดชาชัย พบว่าให้การสอดคล้องกับ พ.ต.ท.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ จึงได้ทำหนังสือไปยังบริษัททรูและบริษัทดีแทคเพื่อขอหลักฐานประกอบ และได้รับเอกสารส่งกลับมา

จากนั้น พ.ต.ท.ณรงค์ กล่าวถึงการทำงานของ พ.ต.ท.ธีรเดช ว่าได้สืบว่าหมายเลข -XXXXติดต่อกับใครบ้าง และพบว่ามีการติดต่อกับหมายเลข -XXXX ของนางกรวรรณ พ.ต.ท.ธีรเดช จึงติดต่อนางกรวรรณนัดให้มาพบเพื่อให้ปากคำประกอบสำนวน นอกจากนั้นยังได้รับความร่วมมือในการตรวจความหมายของถ้อยคำในข้อความว่าหมิ่นหรือไม่ จากผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาสองคน

พ.ต.ท.ณรงค์ เบิกความว่า มีการแจ้งจับกุมจำเลยสองข้อหา คือมาตรา 112 กฎหมายอาญา และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธทุกข้อหา แต่จำเลยให้การว่าเป็นเจ้าของโทรศัพท์จริง มีการสอบสวนจำเลยถึงสามครั้งจากนั้นตนจึงสั่งฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานมัดตัวจำเลยว่าน่าจะมีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิด หรือเป็นผู้กระทำความผิดเอง

ต่อมาทนายจำเลยถามค้าน ได้ความว่า พ.ต.ท.ณรงค์ จำไม่ได้ว่าเครื่องที่ยึดได้เป็นของกลางในขณะจับกุมจำเลยนั้นมีแป้นพิมพ์ภาษาไทยหรือไม่ ทนายความจำเลยถามว่า ระหว่างการจับกุมปรากฎว่าจำเลยเป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวหรือมีทัศนคติต่อต้านสถาบันฯ หรือไม่ พ.ต.ท.ณรงค์ ตอบว่าไม่ปรากฏ แต่ศาลไม่ได้บันทึกลงในสำนวนเพราะเห็นว่าไม่ใช่ประเด็นที่ชี้ขาดในคดี

การสืบพยานจำเลย

พยานจำเลยปากที่หนึ่ง

นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจำเลย

นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญเบิกความว่า ในฐานะทนายความที่ทำคดีนี้ตนได้ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับพยานหลักฐานทาง คอมพิวเตอร์เรื่องการส่งข้อความสั้น และได้ไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคม ทั้งที่เป็นนักวิชาการด้านโทรคมนาคมจากสถาบันเทคโนโลยี และอาจารย์ที่เปิดร้านสอนวิชาซ่อมโทรศัพท์มือถือ แต่ไม่มีพยานผู้เชี่ยวชาญคนใดมาเบิกความเป็นพยานโดยตรงในศาล

จากการศึกษาข้อมูล นางสาวพูนสุขฯ ได้ทราบว่า หมายเลขอีมี่ประจำเครื่องโทรศัพท์นั้นสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย โดยมีอุปกรณ์ Flshbox มีโปรแกรมเฉพาะที่มีขายและมีสอนกันตามโรงเรียนสอนซ่อมโทรศัพท์มือถือทั่วไป สำหรับช่างที่มีความรู้ก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในเวลาประมาณครึ่งชั่วโมงถึง หนึ่งชั่วโมง แต่ต้องแก้ไขให้สัมพันธ์กับหมายเลขที่มีอยู่จริงในระบบ ถ้าหากมีหมายเลขเฉพาะเจาะจงที่ต้องการอยู่แล้วก็สามารถทำได้เลย

นางสาวพูนสุขฯ ได้นำส่งพยานเอกสารต่อศาลสองฉบับ ฉบับแรกเป็นเอกสารจากเว็บไซต์วิกิพีเดีย ที่อธิบายถึงความหมายของหมายเลขอีมี่ อธิบายว่าหมายเลขอีมี่ 10% ไม่มีลักษณะเฉพาะ และความหมายของหมายเลขอีมี่หลักสุดท้าย พร้อมคำแปลภาษาไทย ฉบับที่สองเป็นเอกสารวิชาการที่สอนวิธีการแก้ไขหมายเลขอีมี่ แสดงถึงความหมายของหมายเลขอีมี่หลักสุดท้าย พร้อมสูตรการคำนวนหาหมายเลขอีมี่หลักสุดท้ายด้วย

นางสาวพูนสุขฯ ยังอธิบายต่อถึงเว็บไซต์ numberingplan ที่ใช้ตรวจสอบหมายเลขอีมี่ ซึ่งพยานโจทก์ปากที่หก คือ พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา ได้เบิกความถึงและทดลองเปิดในห้องพิจารณาว่า เว็บไซต์นี่เป็นฐานข้อมูลสามารถวิเคราะห์ได้ว่าหมายเลขอีมี่ที่ถูกต้องคืออะไร แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าหมายเลขอีมี่แต่ละชุดมีจำนวนกี่เครื่อง และถ้าหากหมายเลขหลักสุดท้ายผิดไปจากความจริงก็จะไม่ปรากฏรายละเอียดในฐานข้อมูลให้

ต่อมาอัยการถามค้าน ได้ความว่า บุคคลที่นางสาวพูนสุขอ้างถึงนั้น คนหนึ่งเป็นนักวิชาการด้านโทรคมนาคมในสถาบันการศึกษา อีกคนหนึ่งมีประสบการณ์สอนวิชาการซ่อมโทรศัพท์มือถือและการแก้ไขหมายเลขอีมี่มาหลายปี

จากนั้นอัยการถามถึงเว็บไซต์วิกิพีเดียว่า ใครก็สามารถเข้าไปเขียนได้ ฉะนั้นอาจไม่น่าเชื่อถือ นางสาวพูนสุขฯ ให้การว่าวิกิพีเดียใครเขียนก็ได้ แต่ข้อมูลในวิกิพีเดียนี้ยังมีเอกสารทางวิชาการรับรองไว้ด้วย ตรงนี้เชื่อถือได้

เมื่ออัยการถามต่อว่า ในทางปฏิบัติแล้ว จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหมายเลขอีมี่เพื่ออะไร นางสาวพูนสุขฯ ได้ให้การว่า เมื่อก่อนเวลานำเข้าโทรศัพท์มือถือจากต่างประเทศซึ่งจะมีหมายเลขอีมี่จากต่างประเทศ ทำให้ใช้ในประเทศไทยไม่ได้ ทำให้เจ้าของโทรศัพท์มือถือต้องนำไปเปลี่ยนแปลงเลขอีมี่ ให้เป็นหมายเลขอีมี่กลางก่อน ซึ่งเป็นหมายเลขอีมี่ที่มีโทรศัพท์หลายเครื่องใช้ร่วมกัน และกรณีที่ผู้มีเจตนาจะกระทำความผิดทางอาญาอาจปลอมแปลงหมายเลขอีมี่เพื่อไม่ให้สืบรู้ถึงตัวผู้กระทำความผิดได้

พยานจำเลยปากที่สอง

นายอำพล (สงวนนามสกุล) จำเลยในคดี

นายอำพลฯ เบิกความว่า ตนมีอาชีพเลี้ยงหลาน หลังจากที่หยุดทำงานขับรถส่งของได้นับสิบปีแล้ว จึงทำหน้าที่รับส่งหลานไปโรงเรียน อาศัยอยู่ในห้องเช่าขนาดเล็ก กับภรรยาและหลานๆ โดยบ้านเช่าตั้งอยู่ที่ซอยวัดด่านสำโรง ซอย 17

และยังได้เบิกความต่อไปว่า ตนไม่ได้เป็นผู้ส่งข้อความ นอกจากนั้นแล้วยังไม่เคยรู้จักหมายเลขโทรศัพท์ -XXXX ของนายสมเกียรติ และ หมายเลขโทรศัพท์ -XXXX ของผู้ส่ง จากนั้นเล่าถึงการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ในวันที่จับกุบนั้นมีการยื่นหมายจับมา แล้วตนได้มอบโทรศัพท์ 2 เครื่องแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยการหยิบยื่นให้โดยไม่ได้ถูกบังคับแต่อย่างใด

ที่ผ่านมาตนมักจะไปส่งหลานไปโรงเรียนเป็นประจำ โดยทิ้งโทรศัพท์มือถือไว้ที่บ้านบ้าง พกติดตัวบ้าง บางครั้งเมื่ออยู่ที่บ้านก็ไม่ได้พกโทรศัพท์ติดตัว ซึ่งที่บ้านมีคนเข้าออกอยู่จำนวนหนึ่ง

เมื่อเห็นข้อความที่ถูกฟ้องแล้วรู้สึกเสียใจมาก นายอำพลฯ กล่าวทั้งน้ำตาว่า ตนรักในหลวงและจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเคยไปร่วมลงนามถวายพระพรที่โรงพยาบาลศิริราช และได้เข้าไปเคารพพระศพสมเด็จพระพี่นางฯ ด้วย

ตอบคำถามอัยการถามค้าน นายอำพลฯ ให้การว่า หมายเลขโทรศัพท์ที่ตนใช้นั้นมีอยู่หมายเลขเดียว คือ -XXXX โดยใช้คู่กับโทรศัพท์ Motorola สีขาว

พยานจำเลยปากที่สาม พยานปากสุดท้าย เด็กหญิง เอ (นามสมมติ) หลานสาวของจำเลย

ในการสืบพยานมีนักสังคมสงเคราะห์เป็นผู้ช่วยถามคำถามและดูแลอยู่ข้างเด็กหญิงด้วย

เด็กหญิงเอ วัย 11 ปี เบิกความว่า ตนเป็นหลานสาวของจำเลย อาศัยอยู่ในบ้านเช่าร่วมกับจำเลย โดยคนในครอบครัวประกอบด้วย ตน จำเลย ย่า (ภรรยาจำเลย) และน้องอีก 2 คน รวมเป็น 5 คน

เด็กหญิงเอ ยืนยันว่า จำเลยมักทิ้งโทรศัพท์มือถือไว้ที่บ้านบ่อยครั้งขณะไปส่งตนและน้องๆ ที่โรงเรียน นอกจากนั้นยังให้การว่า จำเลยเคยพาตนไปลงนามถวายพระพรที่โรงพยาบาลศิริราชในช่วงปิดเทอมปี 2552

ตอบคำถามอัยการถามค้าน ได้ความว่า ที่บ้านนอกจากสมาชิกในบ้านแล้วไม่มีคนอื่นเข้าออก ตนไม่เคยเห็นจำเลยส่งข้อความหาใคร นอกจากนั้นแล้ว เวลาที่จำเลยใช้โทรศัพท์โทรหาผู้อื่น จำเลยจะเปิดสมุดจดเบอร์โทรศัพท์ก่อนเสมอ

ทั้งหมดนี้คือรายละเอียดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการพิจารณาคดี ในคดีอากง ซึ่งมีขั้นตอนที่ละเอียดมาก และเป็นสิ่งยืนยันได้ว่า “กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่เครื่องมือที่ใช้กลั่นแกล้งผู้ใด” ตามที่มีกลุ่มการเมืองพยายามบิดเบือนและชี้นำให้เกิดความรู้สึกร่วมไปในทิศทางเช่นนั้น

ในตอนต่อไป ฤๅ จะนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุผลของศาลในคำพิพากษาคดีนี้ และตอบคำถามต่อกรณีที่มีการบิดเบือนว่า การพระราชทานอภัยโทษ คือการบีบรับสารภาพโดยการตัดตอนการค้นหาความจริง รวมถึงเรื่องราวเหตุการณ์ต่อเนื่องภายหลังการเสียชีวิตของอากง ที่มีการกล่าวหาว่าเป็นความบกพร่องในหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ทั้งหมดนี้ สามารถติดตามได้ในบทความต่อไป

[เปิดรายละเอียด ‘คดีอากง’ เหยื่อที่ถูกกระทำจากแกนนำทางการเมือง : ตอนที่ 2]

ที่มา :

[1] สำนวนคดีหมายเลขแดงที่ อ.4726/2554 ระหว่าง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ นายอำพล ตั้งนพกุล จำเลย เรื่อง ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
[2] สำนวนคดีหมายเลขแดงที่ อ.4726/2554 ระหว่าง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ นายอำพล ตั้งนพกุล จำเลย เรื่อง ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
[3] สำนวนคดีหมายเลขแดงที่ อ.4726/2554 ระหว่าง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ นายอำพล ตั้งนพกุล จำเลย เรื่อง ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า