ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากประเทศไทยต่อชาวกัมพูชา บนความเจ็บปวดที่เขมรแดงฝากไว้ให้คนไทย

บทความโดย : ข้าวปั้น

หากย้อนกลับไปครึ่งศตวรรษ เราจะพบความเจ็บปวดอย่างสุดแสนที่เขมรฝากไว้กับผืนแผ่นดินไทย ขณะเดียวกันกลับพบความช่วยเหลืออันยิ่งใหญ่ที่ประเทศไทยได้ให้แก่ชาวกัมพูชา กล่าวคือ เมื่อโลกเคลื่อนสู่สภาวะสงครามเย็น กัมพูชา (กลุ่มเขมรแดง) ถือว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจที่เข้ามาก่อสงคราม สร้างความวุ่นวาย/เสียหายให้กับราษฎรไทยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา จนชาวบ้านหลายพันครัวเรือนต้องอพยพละทิ้งถิ่นฐานไปอยู่ ณ พื้นที่อื่น

โดยในเดือนมกราคม-สิงหาคม พ.ศ. 2520 มีรายงานว่าทหารเขมรแดงบุกรุกเข้ามาในดินแดนไทยมากกว่า 400 ครั้ง และได้สร้างวีรกรรมอันเลวร้ายซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้รัฐบาลไทยต้องตัดสินใจส่งกองกำลังทหารขึ้นประจำหน้าแนวชายแดนแทนตำรวจตระเวนชายแดน คือ เหตุการณ์สังหารโหด 3 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองดอ บ้านกกค้อ และบ้านน้อยป่าไร่ ในอำเภอตาพระยา จังหวัดปราจีนบุรี (ปัจจุบันคือจังหวัดสระแก้ว) โดยในคืนวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2520 เวลา 22.00 น. ได้มีทหารเขมรแดงนับร้อยนายถืออาวุธสงครามเที่ยวไล่กราดยิงใส่บ้านเรือนและชาวบ้านบ้านหนองดอที่กำลังนอนหลับผักผ่อน พร้อมเผาทำลายบ้านเรือนจนวอดวายเสียหายหลายหลัง ซึ่งหมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ห่างจากแนวเขตแดนไทยกัมพูชาเพียงไม่กี่ร้อยเมตร

การกระทำดังกล่าวส่งผลให้ชาวบ้านจำนวน 1 ใน 3 หรือ 21 ราย (จาก 64 คน) เสียชีวิตลงทันที ทั้งผู้หญิงบางรายยังถูกข่มขืนและถูกทำร้ายอย่างทารุณ  เท่านั้นยังไม่พอ ทหารเขมรแดงบางส่วนยังได้เดินหน้าสร้างความเสียหายแก่บ้านกกค้อและบ้านน้อยป่าไร่ที่อยู่ใกล้เคียงต่อไป โดยให้เหตุผลว่า สามชุมชนนี้อยู่ภายใต้ดินแดนของกัมพูชาแต่ถูกไทยยึดเอาไป

ภาพเหตุการณ์บ้านน้อยป่าไร่เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2520

ขณะเดียวกันสถานการณ์การเมืองภายในกัมพูชาก็ต้องเผชิญกับความหายนะ ภายหลังจากพลพตและกลุ่มเขมรแดงยึดอำนาจจากรัฐบาลลอน นอล และทำการปกครองประเทศ พร้อมประกาศดำเนินนโยบายคอมมิวนิสต์แบบสุดโต่ง ยกเลิกเงินตรา หยุดพัฒนาเทคโนโลยี มุ่งสู่การทำเกษตรกรรมเต็มรูปแบบ และเริ่มปฏิบัติการกวาดต้อนผู้คนที่อยู่ในเมืองหลวงและเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะเหล่าชนชั้นนำ กุฎุมพี เช่น ข้าราชการ เชื้อพระวงศ์ ผู้มีการศึกษา ถูกส่งไปทำการเกษตรและใช้แรงงานในพื้นที่ชนบท

การตัดสินใจที่ผิดพลาดผสมกับการทรมานที่สุดแสนจะป่าเถื่อน ส่งผลให้ราษฎรกัมพูชากว่าสองล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 7 ของประชากรทั้งประเทศต้องเสียชีวิตลงจากการทำงานหนัก ไม่มียารักษา และได้รับอาหารน้อยกว่าความจำเป็น โดยยาสึโกะ นะอิโต ชาวญี่ปุ่นที่ได้ย้ายมาอยู่กับสามีนักการทูตที่กัมพูชาและเป็นหนึ่งผู้โชคร้ายในเหตุการณ์ครั้งนั้นได้บันทึกชีวิตที่สุดแสนเจ็บปวดของเธอไว้ในหนังสือ “4 ปี นรกในเขมรแดง” ไว้ว่า เธอต้องสูญเสียสามีและลูกอีกสองคน และต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากจากการทำงานหนัก และอาหารที่ถูกแจกจ่ายเพียงข้าวสาร 1 กระป๋องนมสำหรับ 4 คน ต่อหนึ่งวัน ซ้ำร้ายบางวันได้รับการแจกจ่ายเป็นเพียงข้าวต้มใส ๆ เพียงหนึ่งถ้วย (เรียกว่าน้ำข้าวจะเหมาะสมกว่า) จนชาวบ้านต้องเอาตัวรอดด้วยการจับสัตว์ทุกชนิดที่พอหาได้ ไม่ว่าจะเป็น งู หนูนา กบ เขียด หรือแม้กระทั่ง แมงป่อง กิ้งกือ เพื่อกินประทังชีวิต

ความโหดร้ายที่เกิดขึ้นในยุคเขมรแดงเป็นสาเหตุให้ในปี พ.ศ. 2518 เริ่มมีผู้อพยพชาวเขมรหนีตายข้ามเส้นเขตแดนมาอยู่ในพื้นที่ชายแดนไทยจำนวน 17,000 คน และเพิ่มมาเป็น 137,000  คนในปี พ.ศ. 2522 (บางสำนักข่าวคาดว่ามีมากถึง 200,000 คน) โดยชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ที่หลุดพ้นข้ามเขตแดนมาต่างมีสภาพอิดโรยและหิวโหย จึงได้นำทองคำ เงินดอลลาร์ และของมีค่าที่ซุกซ่อนติดตัวมาแลกเปลี่ยนอาหาร ยารักษาโรคกับราษฎรไทย ขณะเดียวกันก็ได้สร้างปัญหาสุขภาวะมากมาย จนนำไปสู่การเกิดอหิวาตกโรค นอกจากนี้ทหารเขมรแดงที่ไล่ล่าผู้อพยพตามมายังได้ฝังทุ่นระเบิดจำนวนมากไว้ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อป้องกันชาวเขมรอพยพออกนอกประเทศ ต่อมาทุ่นระเบิดเหล่านั้นก็กลายเป็นมรดกสงครามที่คอยสร้างความเสียหายให้กับประชาชนชาวไทย

แม้ว่าประเทศไทยจะผ่านความทรงจำอันแสนข่มขื่นจากกระทำของกองกำลังเขมรแดง แต่ด้วยความมีมนุษยธรรม และการร้องขอจากนายพอล ฮาร์คลิง ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR ที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะระดมเงินช่วยเหนือจากนานาประเทศเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของไทย รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ จึงได้มีนโยบายเปิดพื้นที่ชายแดนเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยชาวเขมร อย่างไรก็ตามรัฐบาลไทยยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายราว 8,750,000 บาทต่อปี  และในรายงานของกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2523 ได้ระบุว่ารัฐบาลไทยได้สนับสนุนความช่วยเหลือให้แก่ผู้อพยพชาวกัมพูชามากถึง 20,955,500 บาทในปีเดียว

จากนโยบายการเปิดพื้นที่ชายแดน ส่งผลให้ในดินแดนของไทยมีการตั้งศูนย์อพยพมากมายตั้งแต่เขตจังหวัดศรีสะเกษไล่ลงมาถึงจังหวัดตราด รวมแล้วประมาณ 18 ค่าย (ตามแผนที่) และหนึ่งในค่ายที่คนทั่วไปคุ้นหูมากที่สุดคือ ไซต์ทู (Site 2) หรือค่ายอพยพหนองจาน (Nong Chan Camp) ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลโคกสูง อำเภอตาพระยา จังหวัดปราจีนบุรี (ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ตำบลโคกสูง อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว) โดยมีจำนวนผู้ลี้ภัยประมาณ 30,000 คน กระทั่งในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2523 รัฐบาลเวียดนามได้ส่งกองกำลังทหารกว่าสองกองร้อย บุกเข้าเผาทำลายค่ายหนองจานเพื่อไล่ทำลายพวกเขมรแดงที่แฝงเข้ามาอาศัยอยู่ในฝั่งไทย จนนำไปสู่เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างทหารไทยกับทหารเวียดนามที่ยืดเยื้อถึง 3 วัน ณ บริเวณบ้านโนนหมากมุ่น ต่อมาเหตุการณ์ดังกล่าวได้ถูกกล่าวขานในนาม “ยุทธการโนนหมากมุ่น”

เมื่อค่ายหนองจาน (ไซต์ทู) ถูกตีแตก เจ้าหน้าที่ทหารไทยจึงได้เข้าช่วยเหลือและนำชาวเขมรส่วนหนึ่งย้ายไปยังค่ายอ่างศิลา หรือ ไซต์ทรี (Site 3) และอีกส่วนได้สร้างศูนย์อพยพชั่วคราวแห่งใหม่ คือ ค่ายหนองเสม็ด (Ning Samet Camp) หรือที่ชาวเขมรเรียกว่าค่ายริดสะเลน โดยเลือกเอาบริเวณปราสาทสด๊กก๊อกธมเป็นที่ตั้งค่าย ซึ่งในปัจจุบันปราสาทแห่งนี้ถูกยกฐานะให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์แห่งที่ 11 ของประเทศไทย แต่เนื่องจากในอดีตเคยถูกใช้เป็นศูนย์อพยพทำให้ตัวโบราณสถานได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก เนื่องจากชาวเขมรได้ทำการขุดหลุมรอบตัวปราสาทเพื่อใช้รองน้ำฝนสำหรับอุปโภค บริโภค และนำศิลาแลงจากตัวปราสาทมาใช้เป็นก้อนเส้าในการก่อไฟประกอบอาหาร

จากการช่วยเหลือของรัฐบาลไทยและสหประชาชาติ นิตยสาร Far Eastern Economic Review (FEER) รายงานว่าผู้อพยพที่อยู่ในค่ายหนองเสม็ดมีสุขภาพค่อนข้างแข็งแรง ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ และได้รับการตรวจร่างกายอยู่สม่ำเสมอ ต่อมาเมื่อเหตุการณ์ความรุนแรงเริ่มสงบลง ผู้อพยพชาวกัมพูชาบางส่วนได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยส่งตัวไปยังประเทศที่สาม และอีกหลายชีวิตได้เดินทางกลับสู่มาตุภูมิอย่างปลอดภัย โดยผู้อพยพกลุ่มสุดท้ายที่ถูกส่งตัวกลับกัมพูชา ในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2536 มีทั้งหมด 199 ชีวิต ซึ่งลี้ภัยอยู่ที่ศูนย์อพยพเขาอีด่าง อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว เมื่อผู้อพยพหวนกลับสู่ภูมิลำเนา ศูนย์พักพิงและค่ายต่าง ๆ ก็เริ่มทยอยปิดตัวลง เป็นอันสิ้นสุดมหากาพย์ความช่วยเหลือของรัฐบาลไทยที่มีต่อชาวกัมพูชาร่วม 20 ปี

ภาพผู้อพยพชาวเขมร
อ้างอิง :

[1] Ablin, D. A., & Hood, M. (1990). Revival: The Cambodian Agony (1990). New York: M.E.
[2] Mastro, T. D., & Coninx, R. (1988). The management of tuberculosis in refugees along the thai-kampuchean border. journal Tubercle, 69(2), 95-103.
[3] Terry, F. (2002). Condemned to Repeat?: The Paradox of Humanitarian Action. united states: cornell University.
[4] ขจัดภัย บุรุษพฒัน์.(2528).สถานการณ์ชายแดนไทยกัมพูชา:ผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ. ใน ประณต นันทิยะกุล (บรรณาธิการ).จิตวิทยาความมั่นคง. (หน้า 346-392). กรุงเทพฯ: เจ้าพระยาการพิมพ์.
[5] ผู้ลี้ภัยจากอินโดจีน. ใน ประณต นันทิยะกุล (บรรณาธิการ). จิตวิทยาความ มั่นคง.(หน้า 356-387).กรุงเทพฯ: เจ้าพระยาการพิมพ์.
[6] โครงการทับทิมสยาม จังหวัดสระแก้ว. [ม.ป.ป.]. ประวัติความเป็นมาของโครงการทับทิมสยาม 08 อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้ว. จาก http://www.sakaeo.go.th /royalproject/page45.html
[7] เดวิด แซนเลอร์. (2546). ประวัติศาสตร์กัมพูชา. (พรรณงาม เง่าธรรมสาร และคณะ, ผู้แปล). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตาราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
[8] ประสิทธิ์ แสงรุ่งเรือง. (ม.ป.ป.) ฆ่าโหด คนไทย 30 คน บ้านบ้านกกค้อ, บ้านหนองดอ, บ้านน้อยป่าไร่ 28มกราคม 2520.กรุงเทพฯ: อีสเทอร์นแมสคอมมูนิเคชั่น เชียร์วิซสุริยวงศ์.
[9] พวงทอง ภวัครพันธุ์. (2552). สงคราม การค้า และชาตินิยมในความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา. สมุทรปราการ: มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย.
[10] พัชรี ลิ้มโภคา. (2528). นโยบายของไทยต่อปัญหาผู้อพยพชาวกัมพูชาสมัยรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์. วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
[11] พิษณุวัฒน์ ยาพรม. (2564). การจัดการชายแดนไทย-กัมพูชาของรัฐไทยเหนือพื้นที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาลุ่มน้ำโขงศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
[12] ยาสึโกะ นะอิโต. (2551). 4 ปีนรกในเขมร. (ผุสดี นาวาวิจิต, ผู้แปล : มกุฎ อรฤดี, บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ผีเสื้อ.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r