เปิดรายละเอียด ‘คดีอากง’ เหยื่อที่ถูกกระทำจากแกนนำทางการเมือง : ตอนที่ 2

บทความนี้ ฤๅ จะนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุผลของศาลในคำพิพากษาคดี “อากง” หรือ นายอำพล ตั้งนพกุล ชายวัย 62 ปี ผู้ตกเป็นจำเลยคดี ม.112 จากการส่ง SMS ที่มีเนื้อหาดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อปี 2553 และตอบคำถามต่อกรณีที่มีการบิดเบือนว่า การพระราชทานอภัยโทษ คือการบีบรับสารภาพโดยการตัดตอนการค้นหาความจริง รวมถึงเรื่องราวเหตุการณ์ต่อเนื่องภายหลังการเสียชีวิตของอากง ที่มีการกล่าวหาว่าเป็นความบกพร่องในหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์

เหตุผลของศาลในคำพิพากษา

ในส่วนที่ศาลได้ให้เหตุผลไว้ในคำพิพากษานั้น ในประเด็นที่จำเลยอ้างว่า หมายเลขประจำเครื่องโทรศัพท์สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้นั้น เมื่อพิจารณาสถานที่และเวลา พบว่าหมายเลข XX-XXXX-XXXX กับหมายเลข XX-XXXX-XXXX ถูกส่งสัญญาณโดยสถานีย่อยบริเวณซอยวัดด่านสำโรง 12 ซึ่งเป็นย่านเดียวกับที่จำเลยพัก โดยมีการสับเปลี่ยนระหว่าง 2 หมายเลข รวม 12 ครั้ง เมื่อจำเลยรับว่าเป็นผู้ใช้โทรศัพท์เครื่องดังกล่าวผู้เดียว จึงเป็นการยากที่บุคคลอื่นจะนำโทรศัพท์ไปส่งข้อความได้ และเวลาการใช้งานใกล้เคียงกันกับเวลาที่มีการส่งข้อความทั้ง 4 ครั้ง โดยแต่ละหมายเลขมีระยะเวลาห่างกัน 10 นาที ซึ่งนานพอที่จะเปลี่ยนซิมการ์ดใส่โทรศัพท์เพื่อกระทำผิดในคดีนี้

ส่วนที่จำเลยนำสืบอ้างว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องดังกล่าวชำรุดและนำไปซ่อม ทำให้สงสัยได้ว่ามีผู้นำโทรศัพท์ของจำเลยไปใช้ในช่วงเวลาที่ซ่อมหรือร้านซ่อมโทรศัพท์อาจแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือขโมยหมายเลขประจำเครื่อง แต่จากคำเบิกความของตำรวจว่าจำเลยไม่สามารถจดจำร้านซ่อมโทรศัพท์ได้ ทั้งนี้หากจำเลยนำโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องดังกล่าวไปซ่อมจริงตามที่เบิกความ น่าจะจำร้านซ่อมโทรศัพท์ได้ มิฉะนั้นคงจะไปรับโทรศัพท์คืนไม่ได้

สำหรับประเด็นจำเลยนำสืบอ้างว่า 10% ของหมายเลขประจำเครื่องไม่เป็นการเฉพาะหรือซ้ำกัน ศาลเห็นว่าเอกสารดังกล่าวมาจากระบบการสืบค้นข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตโดยไม่มีผู้รับรองความถูกต้องของเอกสารดังกล่าว จึงไม่อาจตรวจสอบความถูกต้องได้ว่าข้อมูลดังกล่าวน่าเชื่อถือหรือไม่ ทั้งความเห็นดังกล่าวก็ยังไม่ปรากฏว่าเป็นที่ยอมรับกันเป็นการทั่วไปในหมู่ของนักวิชาการของวงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าว จึงไม่มีน้ำหนักให้น่ารับฟัง

ในประเด็นที่จำเลยนำสืบอ้างว่าส่งข้อความไม่เป็นและไม่ทราบว่าหมายเลขโทรศัพท์ของนายสมเกียรติ เป็นของใคร และไม่เคยนำซิมการ์ดหมายเลขอื่นมาใช้กับโทรศัพท์ของตน เป็นเพียงข้ออ้างที่จำเลยรู้เห็นเพียงคนเดียว ทั้งยังมีเอกสารระบุว่ามีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขของจำเลยในการส่งข้อความเป็นส่วนใหญ่ ทั้งยังมีการส่งข้อความจำนวนมาก พยานหลักฐานที่นำสืบมาจึงไม่น่าเชื่อถือ

แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบแสดงให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า จำเลยเป็นผู้ที่ส่งข้อความตามฟ้องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08-1349-3615 ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายสมเกียรติ โดยตรง แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะนำสืบด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากผู้ที่กระทำความผิดร้ายแรงย่อมจะต้องปกปิดการกระทำ จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลจากพยานแวดล้อม ซึ่งจากพยานแวดล้อมที่โจทก์นำสืบมาทั้งหมดนั้น ก็สามารถนำสืบแสดงให้เห็นถึงพฤติการณ์ทั้งหมดโดยไม่มีข้อพิรุธ จึงมีน้ำหนักว่าจำเลยเป็นผู้ส่งข้อความทั้งสี่ข้อความ

ศาลพิพากษาว่า ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ที่โจทก์ได้จาก DTAC และ TRUE นั้นเป็นหลักฐานที่ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องจัดเก็บโดยระบบคอมพิวเตอร์ตามที่กฎหมายกำหนด หากผู้ให้บริการจัดเก็บไม่ถูกต้องลูกค้าย่อมไม่เชื่อถือ อาจเสียประโยชน์ทางธุรกิจได้ ดังนั้นจึงถือว่าหลักฐานข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ที่ได้รับเป็นเอกสารที่น่าเชื่อถือ

สำหรับประเด็นสำคัญในคดีที่จำเลยตั้งประเด็นว่า หมายเลขอีมี่ หรือรหัสประจำเครื่องโทรศัพท์อาจถูกปลอมแปลงได้ แต่จำเลยไม่สามารถหาตัวผู้เชี่ยวชาญมายืนยันได้ ส่วนประเด็นที่ว่า เอกสารในสำนวนฟ้องที่หมายเลขอีมี่หลักที่ 15 ไม่ตรงกับหมายเลขอีมี่ในเครื่องโทรศัพท์ คือในเอกสารบางจุดแสดงว่าเป็นเลข 0 บางจุดแสดงว่าเป็นเลข 2000 ขณะที่ในเครื่องโทรศัพท์จริงๆ เป็นเลข 6  ศาลวิเคราะห์ว่า หมายเลขอีมี่ 14 หลักแรกเท่านั้นที่มีความสำคัญ ตามที่ พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา จากกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กล่าวและได้พิสูจน์ด้วยการใช้เว็บไซต์สำหรับตรวจสอบเลขอีมี่แสดงให้เห็นในศาลแล้วว่า เมื่อพิมพ์รหัส 14 หลักแรกตามด้วยรหัสสุดท้ายหมายเลข 6 เท่านั้นจึงปรากฏข้อมูลว่าเป็นเครื่องโทรศัพท์ยี่ห้อโมโตโรล่า แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นเลข 0-5 และ 7-9 ทั้งที่ควรปรากฏว่าเป็นเครื่องรุ่นอื่นแต่จากการทดสอบแล้วไม่ปรากฏว่าเป็นรุ่นใดเลย จึงยิ่งชี้ให้เห็นชัดว่าหมายเลข 14 หลักแรกเท่านั้นที่ใช้ในการระบุตัว ตามที่โจทก์กล่าวอ้าง

นอกจากนี้ เนื่องจากหมายเลขอีมี่ในคดีนี้ตรงกับหมายเลขอีมี่ของโทรศัพท์ยี่ห้อโมโตโรล่าที่นายอำพลใช้ และรับว่าใช้อยู่ผู้เดียว จึงยากที่จะมีผู้อื่นนำไปใช้ได้ และพบว่ามีการใช้โทรศัพท์เครื่องนี้กับซิมการ์ดสองเลขหมาย ซึ่งจากหลักฐานชี้ชัดว่า ซิมการ์ดทั้งสองหมายเลขถูกใช้ในเวลาที่ใกล้เคียงกัน แต่ไม่เคยถูกใช้งานในเวลาที่ซ้ำกัน จึงเชื่อได้ว่าผู้กระทำความผิดได้นำซิมการ์ดมาสลับใช้อย่างที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งสมมติฐานไว้ นอกจากนี้ข้อมูลการจราจรยังระบุว่าข้อความถูกส่งโดยเซลไซต์ จากย่านที่จำเลยพักอาศัยอยู่ด้วย

การที่จำเลยอ้างว่า โทรศัพท์มือถือของจำเลยเสียจึงนำไปซ่อมที่ร้านค้าในห้างอิมพีเรียลสำโรง ศาลเห็นว่าจำเลยให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน กล่าวคือ แจ้งในชั้นจับกุมว่าโทรศัพท์มือถือเคยเสียและนำไปซ่อมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 แต่แจ้งในศาลว่านำไปซ่อมเมื่อเดือนเมษายน 2553 อีกทั้งยังจำร้านที่นำโทรศัพท์ไปซ่อมไม่ได้ ทั้งที่การนำไปซ่อมต้องไปที่ร้านถึงสองครั้งคือตอนนำไปซ่อม และไปรับคืน จึงถือว่าข้อมูลส่วนนี้ไม่มีความน่าเชื่อถือ

ศาลเห็นว่า ข้ออ้างของจำเลยที่กล่าวอ้างว่า ส่ง SMS ไม่เป็น และไม่รู้จักเบอร์โทรศัพท์ของนายสมเกียรตินั้น มีแต่จำเลยเท่านั้นที่รู้เห็น เป็นการง่ายที่จะกล่าวอ้าง แม้โจทก์จะไม่สามารถนำสืบพยานให้เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นผู้ที่ส่งข้อความตามฟ้องจากโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องดังกล่าว ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข เลขานุการส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ แต่ก็เพราะเป็นการยากที่โจทก์จะสามารถนำสืบได้ด้วยประจักษ์พยาน เนื่องจากจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดดังกล่าวย่อมจะต้องปกปิดการกระทำของตนมิให้บุคคลอื่นได้ล่วงรู้ จึงจำเป็นต้องอาศัยเหตุผลประจักษ์พยานแวดล้อมที่โจทก์นำสืบเพื่อชี้วัดให้เห็นเจตนาที่อยู่ภายใน

การพิจารณาพิพากษาในคดีอาญาทุกคดี ศาลจะพิจารณาชั่งน้ำหนัก และให้ความสำคัญพยานหลักฐานตามลำดับ กล่าวคือศาลให้ความสำคัญ “พยานชั้นหนึ่ง” เป็นลำดับแรก (เช่น DNA / ภาพจากกล้องวงจรปิด / หลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือที่ได้จากวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น) ต่อมาพยานที่ศาลให้ความสำคัญรองลงมาคือ “พยานชั้นสอง” (พยานอื่นๆ ที่นำสืบแทนพยานชั้นหนึ่ง เช่น สำเนาเอกสาร) และลำดับสุดท้ายคือ “พยานแวดล้อม” (Circumstantial evidence)

คดีนี้ ศาลยิ่งได้พิจารณาพิพากษาถึงเหตุผลในการลงโทษไว้อย่างชัดเจน ถึงพยานหลักฐานทั้ง “พยานชั้นหนึ่ง” (Cell site แสดงพื้นที่ใช้โทรศัพท์ขณะกระทำความผิด / หมายเลข IMEI / รายการรับส่ง SMS จากเครือข่ายโทรศัพท์ ที่พยานโจทก์เบิกความได้สอดคล้องหนักแน่นโดยที่ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน) “พยานแวดล้อม” (คำรับของบุตรสาวจำเลยว่า จำเลยเป็นเจ้าของเครื่อง) และพิรุธในคำให้การจำเลย ที่ได้ให้การต่อศาลว่านำโทรศัพท์ไปซ่อมที่ร้าน แต่ไม่สามารถจำร้านได้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นโรคความจำเสื่อม รวมถึงการที่จำเลยแสดงหลักฐานว่าเลข IMEI สามารถปลอมแปลงได้ โดยที่เพียงแต่ Print out มาจากอินเทอร์เน็ต และไม่มีพยานผู้เชี่ยวชาญรับรองความถูกต้อง

ศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น พิพากษาให้จำเลยมีความผิดจำคุกทั้งสิ้น 20 ปี เนื่องจากจำเลยได้กระทำความผิด ต่างกรรมต่างวาระกันเป็นจำนวน 4 ครั้ง นั่นเอง กรณีเป็นการทำความผิดอย่างเดียวกันซ้ำซากถึง 4 ครั้ง จึงถูกลงโทษจำคุกกระทงละ 5 ปี รวมเป็น 20 ปี ทั้งๆ ที่ ศาลอาจจะลงโทษมากกว่านี้ก็ได้ เพราะความผิดตามมาตรา 112 มีโทษจำคุกระหว่าง 3-15 ปี หาก “อากง” ส่ง SMS เพียง 2 ครั้ง ก็จะติดคุกเพียง 10 ปี ถ้าส่งครั้งเดียว ก็ติด 5 ปี และหากอากงรับสารภาพ ก็จะได้รับการลดโทษกึ่งหนึ่ง และอาจจะได้รับการรอการลงโทษก็ได้ เหล่านี้คือ กระบวนการพิจารณาโทษตามปกติของศาล หาใช่การกลั่นแกล้งแต่อย่างใด

สำหรับกรณีที่มีผู้อ้างว่า “การพระราชทานอภัยโทษ คือการบีบรับสารภาพ โดยการตัดตอนการค้นหาความจริง”

จากคำกล่าวอ้างต่างๆ ดังนี้ …

“การที่ต้องรับสารภาพก่อนทำให้หลายคดีจำเลยตัดสินใจไม่สู้คดี รีบรับสารภาพและยื่นขอพระราชทานอภัยโทษโดยเร็วที่สุด ทั้งๆ ที่จำเลยเชื่อว่าตัวเองไม่ได้กระทำความผิด แต่ต้องเลือกวิธีนี้เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้ได้รับอิสรภาพเร็วกว่า”

“การยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ยังต้องแลกกับอิสรภาพระดับหนึ่งที่ไม่แน่นอน”

“สิ่งที่ปฏิบัติและเชื่อกัน คือ ระหว่างที่ขอคำสั่งอภัยโทษนั้น นักโทษต้องแสดงออกถึงความสำนึกผิด โดยการเลิกเคลื่อนไหวทางการเมือง เลิกกิจกรรมรณรงค์ หรือยอมทำตัวให้เงียบเพื่อแลกกับอิสรภาพนอกห้องขังนั่นเอง โดยมีข้อสังเกตว่ายิ่งคนที่เงียบเท่าไรก็ยิ่งได้รับอิสรภาพเร็วเท่านั้น”

ข้อความข้างต้นเหล่านี้ ถือเป็นการบิดเบือนกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้ระบุเกี่ยวกับกระบวนพิจารณาคดีอาญาเอาไว้อย่างละเอียด ไล่เรียงตั้งแต่สิทธิขั้นต้นในกระบวนการของจำเลย ขณะโดนตำรวจจับกุม ไปจนถึงสิทธิขั้นปลายกระบวนการ อย่างการที่ศาลมีอำนาจอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย จำเลยจะสู้คดี หรือจะยอมรับว่ากระทำผิดจริง ไม่มีผู้ใดขู่เข็ญบังคับตัวจำเลย เมื่อจำเลยเลือกที่จะยอมรับว่าทำผิดจริง กฎหมายก็ต้องบอกว่าจำเลยรับสารภาพ ดังนั้น ผู้พิพากษาไม่มีสิทธิพิจารณาพิพากษาเป็นอื่นไปได้

จำเลยมีสิทธิเลือกว่าจะต่อสู้คดี หรือรับสารภาพ ไม่มีใครสามารถบังคับจำเลยได้ ระบบศาลยุติธรรมของไทยมีทั้งหมด 3 ศาล คือ ชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ และชั้นฎีกา อรรถคดีต่างๆ ล้วนได้รับการแก้ไขโทษ กลับคำพิพากษาศาลล่างโดยศาลสูง มาแล้วนับหมื่นคดี ศาลชั้นต้นอาจพิพากษาว่าจำเลยผิดจริง แต่ศาลฎีกาอาจจะไม่เห็นเช่นนั้นก็ได้ ซึ่งผู้พิพากษาศาลฎีกาต่างเป็นผู้พิพากษาที่มีความช่ำชองในข้อกฎหมาย และสามารถมองเห็นความผิดพลาดบกพร่องของศาลล่างได้เสมอ เมื่อกติกาบอกไว้ และต่างคนต่างถือปฏิบัติมาโดยตลอด คดี ม.112 เป็นเพียงแค่มาตราหนึ่งในกฎหมายอาญาเท่านั้น ไม่มีอะไรพิเศษไปมากกว่าคดีอื่นทั้งสิ้น

ในส่วนของการขอพระราชทานอภัยโทษนั้น เราต้องแยกประเด็นพิจารณาในเรื่องของ การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป ซึ่งเป็นการดำเนินการของรัฐบาลโดยการออกเป็นกฎหมายเรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ” และการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการเฉพาะราย ซึ่งการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการเฉพาะรายนั้น ผู้ต้องโทษ ผู้มีส่วนได้เสีย (บิดา มารดา บุตร คู่สมรส) สามารถยื่นเรื่องต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจะเสนอเรื่องไปยังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมทั้งถวายความเห็นว่าควรพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ (ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 259-261)

ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 259 ได้ระบุชัดอยู่ในตัวบทแล้วว่า “ผู้ต้องคำพิพากษาอย่างใดๆ” หมายความว่า คดีอาญาใดก็สามารถขอพระราชทานอภัยโทษได้หมด ไม่จำกัดแต่เฉพาะคดี ม.112 เท่านั้น

จากหลักคิดที่ว่า ผู้ที่จะมีสิทธิขอพระราชทานอภัยโทษเป็นการเฉพาะรายนั้น ต้องเป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้รับโทษ ซึ่งแปลความหมายในตัวอยู่แล้วว่ามีความผิดตามกฎหมาย เมื่อคนที่กระทำความผิดตามกฎหมาย โดยหลักแล้ว บุคคลผู้นั้นต้องได้รับโทษ แต่น่าแปลกเหลือเกินว่าแทนที่จะต้องได้รับโทษ กลับมีบางกลุ่มบางคน กลับแสดงความเห็นไปในทำนองว่า “เหตุใดจึงได้รับพระราชทานอภัยโทษช้า” คนทำผิดสมควรต้องเจียมตัว ไตร่ตรองสำนึกในความผิดที่ได้ทำลงไป ไม่ใช่ต่อว่ากระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษที่ล่าช้า

คดีนี้ผ่านกระบวนการสอบสวน การกลั่นกรองจากอัยการ แล้วเปิดโอกาสให้จำเลยต่อสู้คดีในชั้นศาลอย่างเต็มที่ อันเป็นหลักการสากลและหลักกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อสู้คดีอย่างเสมอภาคเท่าเทียมและเป็นธรรม

ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า อากงหรือจำเลยมีความผิดเพราะศาลชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้วเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตามฟ้องของอัยการโจทก์จริง แต่ถ้าจำเลยไม่เห็นด้วยไม่พอใจในผลคำพิพากษา ก็ยังสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ ฎีกาได้ตามกฎหมาย ซึ่งในอดีตมีคดีที่ศาลสูงเห็นต่างจากศาลชั้นต้นพิพากษากลับหรือแก้คำพิพากษาศาลล่าง ก็ไม่น้อย

ที่ว่าเหตุใดศาลจึงพิพากษาลงโทษถึงจำคุก ปกติการกล่าวถ้อยคำหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นบุคคลธรรมดาที่เป็นการดูหมิ่นใส่ความทำให้ผู้เสียหายเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงเกียรติคุณอย่างร้ายแรง กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดมีโทษถึงจำคุก ศาลยุติธรรมก็เคยลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษมาแล้ว แม้สังคมทั่วไปจะเรียกจำเลยว่า “อากง” ฟังดูประหนึ่งว่าจำเลยชราภาพมากแล้ว แต่ตามฟ้องจำเลยอายุ 61 ปี มิได้แก่ชราจนต้องอยู่ในความอนุบาลดูแลของผู้ใด สามารถเข้าใจ และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ แสดงว่าเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ และมิได้แก่เฒ่าคราวปู่ทวดตามที่หลายคนเข้าใจกัน

เหตุการณ์ต่อเนื่อง

ภายหลังการเสียชีวิตของอากง “ป้าอุ๊” ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรมราชทัณฑ์ ข้อหาละเลย ล่าช้า ประมาทเลินเล่อ ในการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้สามีของเธอถึงแก่ความตาย เรียกร้องค่าเสียหาย ทั้งค่าปลงศพ ค่าเสียหายจากการไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข การรักษาพยาบาล การเฝ้าระวังด้านสุขภาพผู้ต้องขังได้อย่างมีมาตรฐาน และค่าเสียหายจากการละเมิดเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การคุมขังบุคคลโดยไม่ให้การรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ รวมแล้วกว่า 2 ล้านบาท แต่สุดท้ายศาลแพ่งยกฟ้อง

นั่นหมายความว่า เป็นข้อเท็จจริงซึ่งเป็นที่ยุติแล้วว่า “อากง” มิใช่ชายชราที่ถูกกระบวนการยุติธรรมกลั่นแกล้ง ไม่ใช่จำเลยที่ถูกใส่ความ ไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์ กรมราชทัณฑ์มิได้ขาดตกบกพร่องในหน้าที่ดูแลรักษาความเจ็บป่วย

หากอากงจะเป็นเหยื่อ อากงก็เป็นเหยื่อที่ถูกกระทำจากแกนนำทางการเมืองที่ขึ้นเวที ยุยงปลุกปั่นให้เกิดสถานการณ์บางอย่าง จนนำมาซึ่งการใช้สถานการณ์เหล่านั้นสร้างเป็นเงื่อนไขความรุนแรง สร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย หรือจะเรียกว่าเป็นการ “แห่ศพ” เพื่อหวังผลทางการเมืองก็ไม่เกินไปนัก นั่นเอง

[เปิดรายละเอียด ‘คดีอากง’ เหยื่อที่ถูกกระทำจากแกนนำทางการเมือง : ตอนที่ 1]

ที่มา :

[1] สำนวนคดีหมายเลขแดงที่ อ.4726/2554 ระหว่าง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์ นายอำพล ตั้งนพกุล จำเลย เรื่อง ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์