เปิดพงศาวดารย้อนจุดกำเนิดอาณาจักรปัตตานี และการขึ้นตรงต่อสยามมาแต่ครั้งอดีต

บทความโดย จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี

ปัจจุบันยังไม่ปรากฏหลักฐานอย่างแน่ชัดในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปัตตานีว่าเป็นไปในรูปแบบใดในช่วงยุคสุโขทัยหรือก่อนอยุธยา โดยหลักฐานส่วนหนึ่งที่ปรากฏ เป็นเพียงการทำศึกสงครามระหว่างสุโขทัยของสยามกับเมืองมลายู ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ อดีตเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงสันนิษฐานจากการอาศัยข้อมูลและตีความศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (ศิลาจารึกหลักที่ 1) โดยทรงเชื่อว่าอาณาจักรสุโขทัยมีราชอาณาเขตทางใต้แผ่ขยายไปถึงปลายคาบสมุทร (มลายู)

อย่างไรก็ดี พึงตระหนักว่าข้อสันนิษฐานนี้อาจตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดชาตินิยมสยาม ในยุคสมัยที่ต้องเผชิญกับภัยแห่งการล่าอาณานิคมจากประเทศมหาอำนาจ การเขียนประวัติศาสตร์แห่งชาติจึงจำเป็นต้องอ้างถึงเขตแดนในอดีต เพื่ออ้างสิทธิ์ในการปกครองเวลาปัจจุบัน อีกทั้งข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอกสารฝั่งมลายูอาจไม่ได้ถูกชนชั้นนำสยามนำมาเทียบเคียงกับเอกสารของฝั่งไทย เนื่องจากข้อจำกัดในด้านการเข้าถึงข้อมูล ด้วยเหตุนี้ ข้อสันนิษฐานของกรมพระยาดำรงฯ จึงต้องมีการตรวจสอบกับเอกสารอื่น ๆ เสียก่อน

ถึงกระนั้น จากหลักฐานที่พบมากขึ้นในปัจจุบัน เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า กรมพระยาดำรงฯ มิได้ทรงทึกทักไปเองฝ่ายเดียว เพราะหลักฐานจากทางจีนและมอญ ต่างระบุถึงช่วงเวลาที่กษัตริย์สยามแห่งกรุงสุโขทัยได้ทำศึกสงครามบริเวณเมืองต่าง ๆ ทางใต้ ซึ่งระบุตรงกันว่าสุโขทัยได้ขยายอิทธิพลลงไป จนกระทั่งอาณาจักรมลายูต้องร้องเรียนไปยังราชสำนักจีนในราว พ.ศ. 1838 เพื่อขอความคุ้มครองจากพระเจ้ากรุงจีนต่อการรุกรานของกองทัพสยาม

อย่างไรก็ดี ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับเมืองมลายู ทั้งมะละการวมถึงปัตตานีในช่วงอยุธยาตอนต้นนั้น เซอจาระห์ มลายู (Sejarah Melayu) หรือพงศาวดารมะละกา ให้รายละเอียดว่า เมื่อเจ้าชายปรเมศวรหลบหนีจากเกาะสุมาตรา ในเวลาต่อมาได้ทรงประทับยังเมืองเตมาสิค (สิงคโปร์ในปัจจุบัน) ที่นี่เจ้าชายได้ลงมือสังหารเจ้าเมืองท้องถิ่นที่สวามิภักดิ์ต่ออยุธยา ด้วยเหตุนี้ทางสยามจึงส่งกองทัพมาล้างแค้นใน พ.ศ. 1933 ทำให้เจ้าชายปรเมศวรถูกขับไล่จนต้องถอยหนีไปยังบริเวณที่ปัจจุบันเป็นเมืองมะละกา

สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับปัตตานี ในระยะที่เจ้าชายปรเมศวรแห่งมะละการุกรานเตมาสิค (เวลานั้นเตมาสิคขึ้นกับสยาม) ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 (พ.ศ. 1913-1931) โดยกษัตริย์อยุธยาพระองค์นี้ทรงได้ธิดาของขุนนางชาวปัตตานีเป็นพระสนม ที่ต่อมาปรากฏว่าพระธิดาอันเกิดจากสนมชาวปัตตานีกับกษัตริย์อยุธยา ได้สมรสกับผู้นำท้องถิ่นเตมาสิคผู้หนึ่ง ซึ่งได้ร่วมกับขุนนางปัตตานีที่ภักดีกับอยุธยาจับมือกับกองทัพสยาม เพื่อทำการขับไล่เจ้าชายปรเมศวรออกไปจากเมืองเตมาสิคดังที่กล่าวไปแล้ว

แต่หากจะกล่าวโดยเคร่งครัด เมืองที่ใช้ชื่อว่า “ปัตตานี” เป็นเมืองที่เกิดขึ้นสมัยหลังสุโขทัยไปแล้วคือช่วงราว พ.ศ. 2012 แต่การกล่าวถึงปัตตานีในช่วงเวลานี้ตามที่ปรากฏในเอกสารต่าง ๆ ย่อมหมายถึง “โกตามหลิฆัย” ซึ่งเป็นเมืองโบราณที่อาณาจักรปัตตานีสืบทอดอำนาจต่อมา หลังจากย้ายเมืองมาที่ริมทะเลในยุคหลัง

เมื่อพิจารณาจากการสืบสายโลหิตกษัตริย์แห่งโกตามหลิฆัย กล่าวได้ว่าราชวงศ์ศรีวังสานับว่า เป็นปฐมเชื้อพระวงศ์แห่งปัตตานีอย่างแท้จริง เพราะสุลต่าน อิสมาแอล ชาห์ กษัตริย์องค์แรกแห่งปัตตานี ทรงสืบเชื้อสายมาแต่พญาตุกุรุปมหาจันทรา ผู้เป็นกษัตริย์พระองค์หนึ่งของเมืองโกตามหลิฆัย ที่ทรงสืบเชื้อสายโลหิตจากพระยาฤทธิเทวา (เจศรีสุตตรา) มาอีกทอดหนึ่ง ซึ่งตามประวัติศาสตร์ทางนครศรีธรรมราช (ลิกอร์) ระบุว่า พระยาฤทธิเทวาเป็นเจ้าเมืองที่ตั้งขึ้นโดยพระพนมวังแห่งเมืองนครดอนพระ และถูกส่งไปปกครองเมืองปัตตานี ทั้งนี้ เมืองนครดอนพระมีสถานะขึ้นแก่อาณาจักรละโว้-อยุธยาอีกคำรบหนึ่ง

ทำให้สรุปได้ว่า ปัตตานีหรือโกตามหลิฆัยในสมัยนั้น เป็นเมืองที่ขึ้นต่อเมืองนครดอนพระที่ภาคใต้ตอนกลาง ซึ่งนครดอนพระก็ขึ้นต่ออาณาจักรละโว้ – อยุธยาอีกทอด แล้วยังปรากฏข้อมูลของมลายู ทั้งฝั่งปัตตานีและไทรบุรี ที่ต่างระบุตรงกันว่ากษัตริย์แห่งโกตามหลิฆัยเคยนำประชาชนไปช่วยพระเจ้าอู่ทอง (สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1) สร้างพระนครศรีอยุธยาระหว่างปี พ.ศ. 1890 – 1893 อีกด้วย

อย่างไรก็ดี ยังปรากฏหลักฐานอื่น ๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสยามในยุคสุโขทัยและปัตตานี (หรือโกตามหลิฆัยในสมัยนั้น) ซึ่งย้อนไปได้ไกลกว่ายุคสมัยการครองราชย์ของพระยาฤทธิเทวา แม้จะเป็นเอกสารที่ถูกเรียบเรียงขึ้นมาในชั้นหลัง (เขียนขึ้นในสมัยอยุธยา) และไม่มีความเกี่ยวข้องกับอาณาจักรสุโขทัยโดยตรง อาทิ ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งระบุถึงเมืองสิบสองนักษัตรที่ส่งบรรณาการแก่เมืองนครศรีธรรมราช โดยระบุถึงเมืองตานี เมืองสายบุรี เมืองกลันตัน และเมืองปาหัง ว่าเป็นเมืองบริวารในสิบสองนักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราชด้วย

หากก็น่าสนใจว่า เมืองมลายูเหล่านี้ในขณะนั้นยังเป็นเมืองที่นับถือพุทธศาสนา เพราะต้องส่งบรรณาการเพื่อไปบรรจุลงในพระธาตุเมืองนคร แต่ต่อมาได้หันมานับถือศาสนาอิสลามในช่วงเวลาเดียวกับที่อาณาจักรมะละกาเรืองอำนาจทางคาบสมุทรทางใต้ (นำโดยเจ้าชายปรเมศวรที่อพยพมาจากสุมาตรา)

จึงกล่าวได้ว่า ระบบความสัมพันธ์ระหว่างเมืองนครศรีธรรมราชต่อปัตตานี (โกตามหลิฆัย) ในเวลานั้น เป็นในลักษณะเมืองบริวารที่ต้องส่งบรรณาการ และเมื่อนครศรีธรรมราชตกเป็นเมืองขึ้นของสุโขทัยใน พ.ศ. 1837 ดังข้อความที่ปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่า“มีเมืองกว้างช้างหลายปราบเบื้องตะวันออก … เบื้องหัวนอนรอดคนที พระบางแพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว” เป็นผลให้เมืองนครศรีธรรมราชรวมถึงเมืองมลายูภายใต้การปกครองของเมืองนคร อาทิ ไทรบุรี ตรังกานู กลันตัน ปัตตานี (โกตามหลิฆัย) ย่อมตกเป็นหัวเมืองภายใต้อำนาจของอาณาจักรสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหงไปโดยปริยาย

กล่าวโดยสรุป ความสัมพันธ์ระหว่างสยามและปัตตานีในสมัยก่อนยุคอยุธยามีลักษณะคลุมเครือ เพราะไม่มีหลักฐานใดที่กล่าวถึงสถานภาพของปัตตานีกับสยามอย่างตรงไปตรงมาว่ามีลักษณะเป็นแบบใดกันแน่ อีกทั้งชื่อเมืองปัตตานีก็ยังไม่ปรากฏเพราะยังไม่ถูกสถาปนาเมืองขึ้นจนกระทั่ง พ.ศ. 2012 ทั้งนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 เมืองดังกล่าวเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะขึ้นตรงอย่างหลวม ๆ สลับไปมากับอย่างแนบแน่น ตามบริบทของความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำ สภาพแวดล้อมและสถานการณ์ในขณะนั้น ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วเมืองขนาดเล็กกว่าย่อมต้องสวามิภักดิ์ต่อเมืองขนาดใหญ่ ในกรณีนี้คือปัตตานี (โกตามหลิฆัย) กับเมืองนครศรีธรรมราช-สุโขทัย และต่อมาก็ต้องสวามิภักดิ์กับละโว้-อยุธยา ผ่านนครศรีธรรมราชอีกทอดหนึ่ง

อ้างอิง :

[1] พรรณงาม เง่าธรรมสาร. การผนวกดินแดนและการสถาปนาอำนาจสยามสมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น (เอกสารอัดสำเนา).
[2] ชาดา นนวัฒน์. สี่กษัตริยาแห่งปาตานี : อำนาจ การเมือง การค้าและโจรสลัดบนแผ่นดินใต้สายลม (กรุงเทพ : ยิปซีสำนักพิมพ์, 2557).
[3] ครองชัย หัตถา. ประวัติศาสตร์ปัตตานี สมัยอาณาจักรโบราณถึงการปกครอง 7 หัวเมือง (กรุงเทพ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์, 2552).
[4] Hikayat Patani.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า