คำประกาศสิทธิเด็ก หัวใจสำคัญของวันเด็กแห่งชาติ

วันนี้เป็นวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งในปีนี้ นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้คำขวัญวันเด็กเอาไว้ว่า “รู้หน้าที่ มีวินัย ใฝ่ความดี”

จุดเริ่มต้นของวันเด็กครั้งแรก เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา เมืองเชลซี,แมสซาชูเซตส์ วันเสาร์ที่สองของเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2400 โดยท่านสาธุคุณ ดร. ชาลส์ ลีโอนาร์ด จัดกิจกรรมสำหรับเด็กขึ้น ซึ่งท่านสาธุคุณ ตั้งชื่อว่า “วันดอกกุหลาบ” แต่ต่อมาถูกเปลี่ยนชื่อในภายหลังว่า “วันดอกไม้วันอาทิตย์” ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น “วันเด็ก”

อย่างไรก็ตาม ตุรกีเป็นประเทศแรกที่รับการประกาศให้วันเด็กเป็นวันหยุดแห่งชาติ เกิดขึ้นในวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2463 และใช้วันที่ 23 เมษายนเป็นวันเด็กมาจนถึงทุกวันนี้

4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2486 วันเด็กสากล ได้ถูกรับการประกาศครั้งแรกในเจนีวาระหว่างการประชุมโลกว่าด้วยสวัสดิการเด็ก และในวันที่ 1 มิถุนายน ได้รับการสถาปนาให้เป็นวันสากลเพื่อการคุ้มครองเด็กโดยสหพันธ์สตรีประชาธิปไตยระหว่างประเทศในกรุงมอสโก ซึ่งทำให้วันที่ 1 มิถุนายนถือเป็นวันเด็กในประเทศคอมมิวนิสต์และประเทศหลังคอมมิวนิสต์หลายแห่ง

สหประชาชาติพยายามรณรงค์ถึงความสำคัญของเด็ก สิทธิเด็ก และการคุ้มครองเด็กมาตั้งแต่นั้น รวมไปถึงการพัฒนาแนวคิดและอุดมคติในการคุ้มครองเด็ก จนกระทั่งในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502 สหประชาชาติให้คำประกาศรับรอง “คำประกาศสิทธิเด็ก” และประกาศให้ทุก ๆ วันที่ 20 พฤศจิกายน เป็นวันเด็กโลก เพื่อรำลึกถึงคำประกาศนี้

สำหรับในประเทศไทย เริ่มมีการประกาศวันเด็กแห่งชาติเป็นครั้งแรกในยุคจอมพล ป พิบูลสงคราม พ.ศ. 2498 และจอมพล ป เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ให้คำขวัญวันเด็กใน พ.ศ. 2499 โดยคำขวัญวันเด็กแรกของไทยคือ “จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม” และจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ริเริ่มการสร้างประเพณีการให้คำขวัญวันเด็กตั้งแต่ พ.ศ. 2502 และสืบเนื่องต่อมาจนปัจจุบัน

จากประวัติศาสตร์ที่ได้อธิบายไปแล้วในข้างต้น จะเห็นได้ว่า อุดมการณ์ และหัวใจสำคัญของวันเด็กทั่วโลกมาจาก “คำประกาศสิทธิเด็ก” ขององค์การสหประชาชาติ

ซึ่งอุดมคติของคำประกาศสิทธิเด็กมุ่งเน้นไปที่การให้ความสำคัญต่อการคงอยู่ของเด็ก, การให้ความช่วยเหลือเด็กอย่างเหมาะสม และให้การพัฒนาทั้งทางกายภาพและจิตวิญญาณเพื่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี สามารถสานต่อและพัฒนาความสงบสุขของโลกและสังคมได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ กลับมีบุคคลบางกลุ่มที่พยายามจะยัดเยียดอุดมคติที่ผิดเพี้ยนของตน โดยใช้วิชาชีพครูเพื่อบังหน้า และแอบอ้าง “เสรีภาพในการแสดงออกอย่างไร้ความรับผิดชอบ” ของตน โดยไม่สนใจผลกระทบต่อสังคม และสิทธิของเด็กที่องค์กรสหประชาชาติให้ความสำคัญ

การกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำนี่น่าละอาย ไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม อีกทั้งยังแอบอ้างเสรีภาพของตนเพื่อการเบียดเบียนสิทธิเด็ก นี่เป็นการกระทำที่น่าละอาย และน่าผิดหวังที่บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพครู กลับกระทำต่อเด็กในลักษณะนี้

ที่สำคัญคือบุคคลกลุ่มนี้ หลังจากที่ถูกเปิดโปง กลับใช้อำนาจหน้าที่ของตน และความเป็นผู้ใหญ่ เพื่อบีบบังคับให้เด็กยอมจำนน เป็นพฤติกรรมการใช้อำนาจโดยแอบอ้างเสรีภาพที่น่าละอาย

สังคมควรให้ความสนใจ และหามาตรการในการเฝ้าระวังป้องกันมิให้บุคคลเหล่านี้ แอบอ้างเสรีภาพที่ไร้ความรับผิดชอบในการบ่อนทำลายความมั่นคงของส่วนรวม ทำลายจิตวิญญาณที่ขาวบริสุทธิ์ของเด็ก ที่จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เป็นกำลังที่สำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ และสังคมโลกต่อไปในอนาคต

เด็ก และเยาวชน มีสิทธิเด็ก ที่องค์กรสหประชาชาติให้การรับรองและให้ความสำคัญ ผู้ใหญ่ควรที่จะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเด็ก เพื่อปกป้องอนาคตของสังคมเอาไว้ให้สงบสุขและยั่งยืน