อยากให้เพื่อนตาสว่าง! เศรษฐกิจจะดีไม่ใช่เพราะแค่ ‘การเมืองดี’ ตีตก ‘วาทกรรมลวง’ ผ่านประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก

บทความโดย จิตรากร ตันโห

คำถามคลาสสิกหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นคำถามที่มักจะถูกถามทั้งในแวดวงทางการเมืองหรือในแวดวงเศรษฐศาสตร์นั่นก็คือ “ทำไมบางประเทศจึงมีเศรษฐกิจที่พัฒนา แต่บางกลับประเทศกลับทำไม่ได้?” ซึ่งนักวิชาการต่างก็พยายามหาคำตอบและมอบแนวทางกว้างๆ ในการพัฒนาเอาไว้ให้ [1] เราอาจจะคุ้นเคยเช่นว่า “ถ้าการเมืองดี” สิ่งต่างๆ ก็จะดีไปด้วย ซึ่งแนววิเคราะห์อาจกล่าวได้ว่าเป็นการวิเคราะห์แบบกลับด้านของ Karl Marx เพราะ Marx นั้นเสนอว่าเศรษฐกิจหรือโครงสร้างส่วนล่างนั้นจะมีอิทธิพลมากกว่าการเมืองอันเป็นโครงสร้างส่วนบน การจะเปลี่ยนจึงต้องเปลี่ยนที่พลังทางวัตถุ [2]

อย่างไรก็ดีการวิเคราะห์ไม่ว่าจะมองว่าเศรษฐกิจจะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งหรือ “ถ้าการเมืองดี” นั้นก็ล้วนกล่าวได้ว่าเป็นการกล่าวในเชิงลดทอน (Reductionism) และเสมือนว่ามีปัจจัยใดปัจจัยเดียวที่เป็นตัวกำหนดนำในการเปลี่ยนแปลงทั้งปวง (Overdeterminism) เพราะในโลกแห่งความจริงมีความซับซ้อนมากกว่านั้นและสามารถชี้ให้เห็นถึงปัจจัยที่สามารถก่อให้เกิดพลังในการเปลี่ยนแปลงออกเป็นหลายด้านได้ [3] ดังนั้นการพยายามหาคำตอบถึงคำถามใหญ่ข้างต้นนั้นจึงจำเป็นต้องอาศัยการศึกษาอย่างกว้างขวางที่สุดและลึกที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และในตอนนี้ได้เกิดความพยายามใหม่ขึ้นโดยนักวิชาการได้หันไปศึกษาหนึ่งปัจจัยที่มักถูกละเลยว่ามีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศหนึ่งๆ นั่นก็คือ ประวัติศาสตร์มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ!?

งานที่ศึกษาว่าประวัติศาสตร์มีผลอย่างไรต่อการพัฒนาเศรษฐกิจมีอยู่หลายชิ้น และหลายชิ้นเหล่านั้นก็เป็นงานชิ้นโตอย่างมาก การอธิบายโดยชี้ให้เห็นถึงความกว้างใหญ่ของงานทั้งหมดในที่นี้จึงเป็นสิ่งที่ยากมาก ดังนั้นบทความชิ้นนี้จึงเป็นเพียงการชี้ให้เห็นอย่างรวบรัด และจุดประเด็นหรือส่งแรงบันดาลใจกับผู้ที่สนใจสามารถศึกษาต่อไปได้ไม่ว่าจะในบริบทโลกหรือในบริบทของไทยเองก็ตาม

ทำไมประวัติศาสตร์จึงสำคัญ? [4]

ในทางเศรษฐศาสตร์เรามักจะคุ้นชินกับโมเดลของ Solow (Solow model) ซึ่งเขาเสนอว่าจะมีอยู่ค่าหนึ่งค่าที่เป็นสัดส่วนระหว่างทุนกับรายได้ต่อแรงงาน (steady-state) ที่จะเติบโตในระดับที่สม่ำเสมอกันหรือไปพร้อมกัน หากสัดส่วนนี้เกิดอะไรมากระทบเข้าก็จะเป็นการกระทบแต่เพียงชั่วคราวก่อนจะกลับเข้าไปสู่ค่าสมดุลในตัวมันเอง หากดูตามโมเดลของ Solow แล้วก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ประวัติศาสตร์จะมีผลอย่างไรต่อการพัฒนาเศรษฐกิจได้ แต่ในโลกที่เกิดจริงนั้นประวัติศาสตร์กลับมีผลได้ เพราะประวัติศาสตร์มิได้ส่งผลเพียงแค่ไม่ให้เกิดการกลับสู่สมดุลเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนจุดดุลยภาพไปจากเดิมอีกด้วย

ตัวอย่างหนึ่งที่โดดเด่นที่สุดนั่นก็คือเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในทัสมาเนียที่เปลี่ยนเส้นทางเศรษฐกิจไปตลอดกาล กล่าวคือมนุษย์แรกเริ่มนั้นอยู่ในบริเวณที่เรียกว่าทัสมาเนียราว 2 หมื่นปีก่อนซึ่งจะมีแผ่นดินเชื่อม (Land bridge) ระหว่างทัสมาเนียกับออสเตรเลียอยู่ แต่เมื่อถึงคราว 1.2 หมื่นปีก่อนน้ำทะเลมีระดับสูงขึ้นและท่วมแผ่นดินเชื่อมนี้ไปจนเกิดเป็นช่องแคบบาสก์ ผลจากการท่วมนี้ทำให้เทคโนโลยีที่ชาวทัสมาเนียเคยคิดค้นได้นั้นกลับค่อยๆ หายไป และคนทัสมาเนียก็ได้ลืมวิธีในการทำอุปกรณ์ต่างๆ ในการดำรงชีพไป นั่นก็เพราะว่าหลังจากที่เกิดน้ำท่วมนั้นประชากรก็ได้ลดลงอย่างมาก และประชากรที่ลดลงนี้ทำให้ประสิทธิภาพและความสามารถของประชากรนั้นหายไปด้วย นั่นหมายความว่าเหตุการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดหนึ่งเหตุการณ์สามารถที่จะเปลี่ยนวิถีทางในการพัฒนาไปได้ตลอดกาล

อีกประเด็นหนึ่งถัดมาก็คือเป็นเรื่องของสถาบันภายในประเทศว่าจะสามารถเอื้ออำนวยในการพัฒนาได้อย่างไร แต่ทั้งนี้สถาบันที่ว่านี้ก็รับผลมาจากประวัติศาสตร์อีกด้วย ตัวอย่างคือในอินเดียนั้นมีบางเมืองที่ความสัมพันธ์ระหว่างฮินดูกับมุสลิมนั้นไม่ได้เป็นไปในเชิงลบ คำถามคือทำไมจึงเป็นเช่นนั้น นักวิชาการได้พยายามไปค้นหาคำตอบมาและพบว่าการค้าที่ย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงยุคกลางนั้นมีผลต่อการมีความอดทนอดกลั้นต่อความหลากหลายทางศาสนา กล่าวคือในหัวเมืองท่าในอินเดียที่ใช้ค้าขายกับชาวมุสลิมนั้นทำให้ความเป็นไปได้ที่จะเกิดความรุนแรงของศาสนาความเชื่อนั้นลดลงมาก เพราะการเข้าถึงตลาดในตะวันออกกลางทำให้เกิดความร่วมมือกันในการทำงาน ทำให้มีการแลกเปลี่ยนและการดำรงอยู่ร่วมกันได้ หรือในกลุ่มประเทศแอฟริกานั้นก็พบว่าในพื้นที่ไหนที่มีการจับคนดำไปเป็นทาสมากที่สุดพื้นที่นั้นก็จะมีการพัฒนาในทางการเมืองและเศรษฐกิจน้อยลงไปด้วย

ประเด็นต่อมานั่นก็คือเรื่องของวัฒนธรรมซึ่งมีผลต่อการพัฒนาในทางเศรษฐกิจเช่นกัน โดยพื้นฐานแล้วในการกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเราก็จะต้องรู้ข้อมูลบางอย่างก่อน แต่ในสังคมจริงนั้นการรับรู้ข้อมูลทุกอย่างนั้นเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นแทนที่จะรู้ข้อมูลทุกอย่างก่อนตัดสินใจก็เกิดการพัฒนาวิธีในการตัดสินใจบางอย่างขึ้น หรือเป็นทางลัดในการตัดสินใจที่เชื่อว่าน่าจะถูกต้องในสถานการณ์หนึ่งๆ ประเด็นนี้ก็ได้วิวัฒนาการต่อมาเป็นวัฒนธรรมที่เชื่อว่าสิ่งหนึ่งถูกต้องท่ามกลางสภาพสังคมหนึ่ง ตัวอย่างก็คือในการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่สามารถเกิดขึ้นได้นั้นก็เพราะวัฒนธรรมสุภาพบุรุษที่เน้นความซื่อสัตย์ ความมุ่งมั่น และการทำงานร่วมกัน หรือในสหรัฐอเมริกา อเมริกาเหนือที่ผู้เข้ามาตั้งรกรากนั้นมีพื้นเพมาจากการทำนาทำไร่ ส่วนสหรัฐอเมริกาใต้นั้นมีพวกเคลต์มาตั้งรกรากซึ่งเป็นกลุ่มที่เน้นการเลี้ยงสัตว์เป็นฝูงมาก่อนและไม่เคยทำเกษตรกรรมขนาดใหญ่ ดังนั้นวัฒนธรรมของชาวเคลต์ที่มาจากประชากรที่น้อยและมีความเปราะบาง การปกป้องทรัพย์สินจึงตกเป็นหน้าที่ของบุคคลมากกว่าจึงทำให้เห็นความก้าวร้าวของชาวเคลต์มากกว่าในฐานะวิธีการปกป้องฝูงสัตว์ของตัวเองซึ่งยังคงอยู่ถึงทุกวันนี้

ปัจจัยที่สำคัญต่อมาคือเรื่องความรู้และเทคโนโลยี ปัจจัยนี้หลายคนน่าจะรู้ว่าสำคัญ แต่อาจจะยังไม่แน่ใจว่ามันสำคัญได้อย่างไร ตัวอย่างที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งคือการที่มันฝรั่ง (Potato) ถูกถ่ายทอดจากประเทศกลุ่ม New World (อเมริกา) ไปสู่กลุ่มประเทศ Old World (ยุโรป แอฟริกา และเอเชีย) เนื่องจากมันฝรั่งนั้นมีสารอาหารและพลังงานที่ดีกว่าข้าวสาลี ข้าวบาเลย์ ข้าวไรย์ และข้าวหอมมะลิ ดังนั้นกลุ่มประเทศ Old World ก็รับมันฝรั่งมาบริโภคซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนผ่านในเรื่องการทำเกษตรกรรมครั้งใหญ่และส่งผลต่อการเติบโตของประชากรเป็นอย่างสูง ดังนั้นจึงส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจแม้ว่าจะมีผลต่อมาในอีก 100 ปีให้หลังก็ตาม

เรื่องสุดท้ายนั้นคือภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ที่พัวพันกันอยู่ ซึ่งคำถามหนึ่งที่น่าสนใจก็คือทำไมยุโรปถึงประสบความสำเร็จในการขยายอำนาจไปทั่วโลก ในขณะที่ที่อื่นกลับไม่สำเร็จ ประเด็นนี้นั่นก็เพราะว่ายุโรปมีข้อได้เปรียบกว่าที่อื่นตรงที่ว่าพืชเกษตรและสัตว์นั้นถูกทำให้เลี้ยงได้ (Domesticated) ก่อนที่อื่นและหลากหลายมากกว่าที่อื่น ซึ่งการแพร่กระจายของพืชเกษตรและสัตว์นี้ได้กระจายในแนวขวางไปทางตะวันออกและตะวันตกเร็วมากกว่าการกระจายแบบเหนือลงใต้นั่นก็เพราะว่าอุณหภูมิและระยะเวลาของวันไม่ต่างกันมากทำให้การกระจายตัวนั้นจึงกระจายภายในเขตยุโรปก่อนจะไปถึงพื้นที่อื่น ผลที่ตามมาคือเกิดเชื้อโรคเกี่ยวกับสัตว์ขึ้นมา แต่ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ในยุโรปก็วิวัฒนาการต่อต้านขึ้นมาด้วย ดังนั้นเมื่อที่อื่นเจอเชื้อโรคจากยุโรปผู้คนจึงมักจะล้มตายกันเป็นจำนวนมาก การที่ยุโรปขึ้นมายิ่งใหญ่ได้จึงเป็นเพราะ (1) มีพืชพันธุ์และสัตว์ที่ทำให้เลี้ยงได้อย่างหลากหลายและก่อนที่อื่น (2) การแพร่กระจายของพืชเกษตรและสัตว์ที่เป็นแนวนอนไม่ใช่แนวตั้ง

อีกตัวอย่างหนึ่งคือพื้นที่ของแอฟริกาที่มีความยากลำบากในการเข้าถึง บางพื้นที่นั้นทำให้ผู้ค้าทาสไม่สามารถจับคนดำออกมาได้ ซึ่งเมื่อรอดพ้นจากการถูกจับไปเป็นทาสได้พื้นที่ตรงนั้นจึงมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระยะยาวที่ดีกว่า ผลจากภูมิศาสตร์อันส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในอดีตนั้นจึงส่งผลต่อมาโดยตรงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในตอนสุดท้ายด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นการอธิบายอย่างกระชับเพื่อชี้ให้เห็นว่าประวัติศาสตร์สามารถเปลี่ยนทิศทางของการพัฒนาทางเศรษฐกิจได้หากเงื่อนไขนั้นมากพอ และน่าสนใจว่าสยาม/ไทยที่มีลักษณะอยู่ใจกลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเผชิญกับแรงกดดันของมหาอำนาจ และพื้นที่ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มและอื่นๆ ผสมกันโดยมีอยุธยา/พระนครเป็นใจกลางนั้น มีผลในทางประวัติศาสตร์อย่างไรต่อมาที่ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจนั้นออกมาในรูปของปัจจุบัน ซึ่งต้องการการศึกษาอย่างลุ่มลึกต่อไป

อ้างอิง :

[1] Ian Goldin, “Why Do Some Countries Develop and Others Not?,” in Development in Turbulent Times: The Many Faces of Inequality Within Europe (ed.) Paul Dobrescu (Cham: Springer, 2019).
[2] Sheila Delany, “Substructure and Superstructure: The Politics of Allegory in the Fourteenth Century,” Science & Society Vol. 38, No. 3 (Fall, 1974): 257-280.
[3] A. Olu Oyinlade, David Finch and Zachary Christo, “The Multi-Institutional Substructure-Superstructure Model of Understanding Causal Relations among Social Structures,” Sociology Mind Vol. 10 No. 3 (July 2020): 149-164.
[4] เรียบเรียงจาก Nathan Nunn, “The Importance of History for Economic Development,” Annual Review of Economics Vol. 1 (September 2009): 65-92.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า