เปิดโครงสร้างการปฏิรูปการศึกษาในสมัย รัชกาลที่ 5 หนึ่งในภารกิจอันยิ่งใหญ่ ในการวางรากฐานความรู้ให้แก่คนไทย : ตอนที่ 3

ภายหลังการทดลองจัดตั้งโรงเรียนในกรมทหารมหาดเล็กจนประสบความสำเร็จ นำไปสู่ขั้นตอนการปฏิรูปโรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งใช้เวลาดำเนินการอย่างรวดเร็วเพียง 2 ปีเท่านั้น ต่อมาการปฏิรูประบบการศึกษาของไทยจึงเข้าสู่ขั้นตอนระยะที่ 4 อันเป็นการปรับปรุงระบบต่างๆ ให้เหมาะสมมากขึ้น รวมถึงมีการพัฒนาด้านอาจารย์ผู้สอน และมีการศึกษาดูงานยังต่างประเทศเพื่อนำมาปรับปรุงระบบการศึกษาไทยให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น

ระยะที่ 4 หลังจาก พ.ศ. 2430 (หลังจัดตั้งกรมศึกษาธิการ)

จัดตั้ง “กรมศึกษาธิการ”

วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2430 มีการแยก “กรมโรงเรียน” ออกจากกรมทหารมหาดเล็กจัดตั้งเป็น “กรมศึกษาธิการ” ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เป็นผู้กำกับการกรมศึกษาธิการ ตามที่ปรากฏในหนังสือกราบบังคมทูลเรื่องการจัดตั้ง “กรมศึกษาธิการ” ดังนี้

“… มาบัดนี้ พอมีราชการซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จะให้จัดการทหารทั้งปวงขึ้น การโรงเรียนทั้งปวงบางอย่าง ที่ยังเกี่ยวข้องอยู่ในการทหาร จึ่งเป็นเหตุซึ่งจำเป็นในส่วนน่าที่ของการเล่าเรียนจะต้องคิดอ่านรีบจัดการบางอย่างนั้นให้สำเร็จเสียก่อน ที่จะจัดการเล่าเรียนเพิ่มเติมได้

การโรงเรียนทั้งปวง แต่แรกเมื่อทรงพระราชดำริห์ให้ข้าพระพุทธเจ้า จัดการขึ้นนั้น ต้องจัดการอาไศรยอยู่กับกรมทหารมหาดเล็กแทบทุกอย่าง …

จนบัดนี้ การเล่าเรียนก็เป็นแพนกหนึ่งต่างหากจากราชการอื่นๆ ทุกอย่างแล้ว เว้นแต่บางอย่าง คือ ตำแหน่งขุนนางที่รับราชการอยู่ในออฟฟิศที่จัดการเล่าเรียน

  • ยังต้องฝากอยู่ในกรมมหาดเล็ก (คือ ขุนวรการโกศล เป็นต้นนั้น) บ้าง
  • ต้องฝากไว้ในกรมอาลักษณ์ (คือ ขุนวิทยานุกูลกระจีเป็นต้นนั้น)
  • แลที่ยังลอย ๆ ไม่มีสังกัดกรม (คือ เปรียญแลอาจาริย์ทั้งหลาย) ก็มีมาก
  • แลเป็นคนยืมมาแต่ทหารมหาดเล็กยังไม่ขาดจากกรม (คือ หลวงสุรยุทธโยธาหาญ แลหม่อมเจ้าอัทยาเป็นต้น)

เพราะเหตุนี้ ข้าพระพุทธเจ้า จึ่งเห็นด้วยเกล้าว่า เวลานี้ถึงกำหนดที่จำเป็นจะต้องคิดอ่านแยกการโรงเรียนทั้งปวงออกขาดจากที่เกี่ยวข้องอยู่ในการทหาร ก่อนที่จะจัดราชการอย่างอื่นๆ ของราชการโรงเรียน

ก็ควรที่แยกออฟฟิศโรงเรียนออกจากที่เกี่ยวข้องกับการทหารข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า การศึกษาซึ่งได้จัดมาจนบัดนี้ ก็ได้เจริญขึ้นมาก พ้นจากความควรวิตกว่าจะเสื่อมถอยนั้นได้อยู่แล้ว อีกประการหนึ่งตามความเข้าใจของข้าพระพุทธเจ้ามาแต่เดิมนั้น

กระแสพระราชดำริห์ในการศึกษานี้ ก็มีพระราชประสงค์จะตั้งขึ้นในเวลาใดเวลาหนึ่งตามที่สมควรเป็นกรมหนึ่งในราชการต่างหากจากราชการกรมอื่นๆ …

กรมศึกษาถ้าจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นเป็นกรมหนึ่ง … ถ้าจัดอย่างคอมมิศชั่น ผู้เป็นอธิบดีเป็นคอมมิศชั่นเนอ ออฟเอดุเคชั่น (Commissioner of Education) เรียกว่า ข้าหลวงบัญชาการศึกษา อย่างนี้เป็นการสมควรกว่าอย่างอื่นทั้งสิ้น …

ข้าพระพุทธเจ้า ดำรงราชานุภาพ”

แผนการดำเนินงานครั้งแรกของ กรมศึกษาธิการ

วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ อธิบดีกรมศึกษาธิการ กราบบังคมทูลเรื่อง แผนการดำเนินงานครั้งแรกของกรมศึกษาธิการ ดังนี้

(ก) จะจัดการเรียบเรียงแบบเรียน อย่าง 1
(ข) จะจัดการตั้งโรงเรียนวิชาชั้นสูง อย่าง 1
(ค) จะจัดการขยายโรงเรียนสอนวิชาราษฎร อย่าง 1

“… แต่ก่อนได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาราธนาพระสงฆ์เรียบเรียงเรื่องต่างๆ ในการสาสนาบ้าง ฝ่ายวิชาภาษามคธบ้าง การที่เกณฑ์ก่อนนั้น สำเหร็จบ้างย้งค้างอยู่บ้าง ไม่สำเหร็จบ้าง ที่ไม่สำเหร็จคือที่เกณฑ์แปลธรรมบท … หนังสือบทมาลาภาษามคธ กรมหมื่น วชิรญาณก็ทรงแปลเรียบเรียงเกือบจะสำเหร็จ ได้ลงมือลงพิมพ์อยู่บ้างแล้ว นับว่าเป็นสำเหร็จได้ซักเรื่องหนึ่ง …

… ในส่วนแบบเรียนภาษาสยาม ซึ่งแจ้งอยู่ในบัญชีเกณฑ์เป็นหลายอย่างนั้น เป็นของทำสำเหร็จบ้างแล้ว กำลังเรียบเรียงอยู่บ้าง ที่เป็นของใหม่แก้อยู่ 2 อย่าง คือ ไวยากรณ์ภาษาสยาม อย่าง 1 (เรียบเรียงเป็นทำนองเดียวกับแกรมมาอังกฤศ) ดิกชันนารี อย่าง 1 … อักขรภิธานศรับที่หมอแบรดเลลงพิมพ์ไว้นั้น เป็นแค่ศรับท์พลาดโดยมาก …”

ส่งขุนวรการโกศล ศึกษาดูงานการศึกษาของประเทศญี่ปุ่น

วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2430 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ อธิบดีกรมศึกษาธิการ กราบบังคมทูลเรื่องส่งขุนวรการโกศล ศึกษาดูงานด้านการศึกษาของประเทศญี่ปุ่น มีรับสั่งให้ดูงาน 8 ข้อ ดังนี้

(1) การเล่าเรียนขั้นต้นของราษฎร
            (ก) โรงเรียนสอนวิชาขั้นต้นของราษฎร โรง 1 จุนักเรียนกี่คน
            (ข) เด็กผู้หญิงกับเด็กผู้ชายเรียนต่างกันอย่างไร
            (ฃ) กำหนดเด็กกี่คนต่ออาจารย์
            (ค) สอนวันละกี่ชั่วโมง แบ่งเวลาเรียนอย่างไร
            (ฅ) สอนวิชาอย่างใดบ้าง
            (ฆ) สอนให้เปล่าหรือเรียกค่าเรียนเท่าใด
            (ง) การรักษาโรงเรียนอย่างไรบ้าง
            (จ) มีเจ้าพนักงานตรวจสอบอย่างไร ตรวจปีละกี่ครั้ง
            (ฉ) เงินค่ารักษาโรงเรียนปีละเท่าไร ได้มาจากไหน
            (ช) เด็กเรียนประมาณคนละกี่ปีจึงเป็นหมดวิชาที่สอนในโรงเรียนนั้น
            (ซ) เมื่อเด็กจะออกจากโรงเรียน ต้องสอบซ้อมวิชาอย่างไร
            (ฌ) ข้อบังคับบัญชาในโรงเรียนนั้นเป็นอย่างไร

(2) การเล่าเรียนชั้นกลาง
            (ก) โรงเรียนชนิดนี้ เรียนเปล่าหรือต้องเสียเงิน
            (ข) การเรียนที่ยอมรับนักเรียนใหม่จัดอย่างไร
            (ฃ) การสอนในโรงเรียนชั้นปีจัดอย่างไร แบ่งเป็นกี่ชั้น
            (ค) สอนวิชาอะไรบ้าง วิชาอย่างไร สอนเพียงไร
            (ฅ) โรงเรียนชั้นนี้ เคาเวอแมน (Government) ได้ช่วยอย่างไรบ้าง
            (ฆ) ข้อบังคับโรงเรียนชั้นนี้ เป็นอย่างไร
            (ง) การที่อยู่แลรักษานักเรียนอย่างใด

(3) การเล่าเรียนชั้นสูง โรงเรียนชั้นนี้ยังไม่มีในกรุงสยาม ที่จะกะข้อให้ตรวจ กะไม่ได้ต้องตรวจเป็นสำเนาการ เหล่านี้
            (ก) โรงเรียนจัดอย่างไร รวมกันทีหลัง ใหญ่โตเท่าใด
            (ข) ธรรมเนียมในโรงเรียนนั้นอย่างไร
            (ฃ) ที่อยู่ของนักเรียนอย่างไร
            (ฅ) เรียนที่นี่ เรียนอย่างไร

(4) โรงเรียนอาจารย์
            (ก) โรงเรียนชนิดนี้คนชนิดใดมาเล่าเรียน
            (ข) เล่าเรียนอะไรบ้าง
            (ฃ) ธรรมเนียนเล่าเรียนเป็นอย่างไร
            (ค) นักเรียนออกไปประมาณปีละกี่คน
            (ฅ) นักเรียนคนหนึ่ง ต้องเสียปีละเท่าไร
            (ฆ) โรงเรียนจัดอย่างไร

(5) โรงเรียนสอนการต่างๆ โรงเรียนชั้นนี้ คือ โรงเรียนสอนวิชาหมอ 1 วิชากฎหมาย 1 การไร่นา 1 การค้าขาย 1 ต้องตรวจดูให้รู้ว่า
            (ก) จัดการอย่างไร
            (ข) นักเรียนคนชนิดใด
            (ฃ) เรียนรู้แล้วไปไหน
            (ค) โรงเรียนเหล่านี้ มีประโยชน์แก่เคาเวอแมน (Government) อย่างไรบ้าง
            (ฅ) ธรรมเนียมจัดการในโรงเรียนเป็นอย่างไร

(6) การโรงเรียนทั้งปวง ใช้คนต่างประเทศเป็นครูมากน้อยเท่าใด

(7) วิชาเพียงชั้นใดที่สอนด้วยภาษาญี่ปุ่น แลเพียงชั้นไรที่สอนด้วยภาษาต่างประเทศ

(8) หนังสือที่ใช้เล่าเรียน แลรูปถ่าย แลแปลนโรงเรียน ถ้าพอหาซื้อได้ ควรจะหาซื้อมาเป็นตัวอย่างๆ ละสิ่ง

ตั้ง “โรงเรียนฝึกหัดอาจาริย์” หรือ “นอมัลสกูล”

วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2431 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ อธิบดีกรมศึกษาธิการ กราบบังคมทูลเรื่องตั้ง “โรงเรียนฝึกหัดอาจาริย์” หรือ “นอมัลสกูล” ดังนี้

“… ด้วยความขัดข้องซึ่งมีแต่การศึกษาอยู่ 2 อย่าง คือ ที่ผู้เล่าเรียนมีน้อย แลไม่มีตำราเรียนนั้น ก็ค่อยบันเทาเบาขึ้นมาก … ในปีชวดสัมฤทธิศกนี้ก็คงจะได้เห็นผลที่ได้ลงมือทำมาใน 2 ปี ที่ล่วงแล้วนั้นหลายอย่าง ข้าพระพุทธเจ้าจึ่งเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ถึงการจะยังไม่พร้อมเพรียงเรียบร้อยทีเดียว ก็ควรลงมือจับจัดการอันเป็นชั้นสูง ต่อขึ้นไปในเวลานี้ได้

การศึกษาซึ่งจะจัดให้สูงขึ้นไปในตอนนี้ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า จะต้องจับจัดการฝึกหัดผู้ซึ่งจะเป็นอาจาริย์ ก่อนการฝึกหัดอย่างนี้เรียกโดยภาษาอังกฤษว่า นอมัลสกูล คือฝึกหัดผู้ซึ่งมีความรู้อยู่บ้างแล้ว ให้รู้วิชาต่างๆ ที่จะต้องการสอน แลรู้ทางที่จะสอน แลให้ได้ความรู้ทั้งปวงนั้นโดยเร็ว เมื่อรู้แล้วส่งแยกกลับไปสอนในโรงเรียนชั้นกลางแห่งหนึ่งฤๅหลายแห่งตามซึ่งต้องการจะให้มี ให้ฝึกหัดนักเรียนใช้โรงเรียน ให้รู้วิชาชั้นต้นที่จะไปเรียนยังยูนิเวอสิตีในภายหลัง

การนอมัลสกูลนี้ ถ้าได้จัดขึ้นได้คงจะเป็นทางที่จะมีโรงเรียนใหญ่คือ ปับบลิคสกูล แล ยูนิเวอสิตี ต่อไป ในภายหลังไม่ช้านัก

ที่จะจัดนอมัลสกูลขึ้นตามความเห็นในชั้นนี้ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ถ้าจะตั้งออกต่างหากคงจะเปลืองพระราชทรัพย์ แลได้ประโยชน์ช้ากว่าที่จะตั้งขึ้นในออฟฟิศกรมศึกษาธิการ เองทีเดียว ด้วยจะได้รับพระราชทานตรวจตรา ตั้งการเล่าเรียน แลที่จะแก้ไขตั้งตำราตั้งวิธีเรียน แลจัดการใหม่นี้ให้เห็นผลโดยเร็ว …”

… ส่วนวิชาที่จะสอนในโรงเรียนนอมัลสกูลนี้ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ในชั้นต้นนี้จะแบ่งเป็น 3 ส่วน ก่อน คือ

ฝ่ายวิชานักปราชญ์ ส่วน 1
ฝ่ายวิชาหนังสือ ส่วน 1
ฝ่ายวิชากฎหมาย ส่วน 1

(1) ในฝ่ายวิชานักปราชญ์ สอนวิชา 9 อย่าง คือ
            1 วิชายีโอครัฟฟี สอนด้วยแผนที่โลก – Geography
           
2 วิชาฟิซิแกลยีโอครัฟฟี สอนด้วยเหตุที่เกิดแก่โลก – Physical Geography
           
3 วิชาแมทมะติก สอนวิชาเลขชั้นสูง- Mathematic
           
4 วิชาแอสตรอนอมี สอนดาราศาสตร์- Astronomy
           
5 วิชาซูโอโลยี สอนพรรณแห่งสัตว์- Zoology
           
6 วิชาบอตะนี สอนพฤกษศาสตร์- Botany
           
7 วิชาบิโอโลยี สอนตำราปัดถวิธาตุ- Biology
           
8 วิชาฟิซิก สอนอาการธรรมดา- Physic
           
9 วิชาคิมมิศตรี สอนโลกธาตุ- Chemistry

(2) ในฝ่ายวิชาหนังสือ สอน 3 ภาษา คือ
            1 ภาษาไทย ที่จะเข้าใจกระบวนไวยากรณ์ แลวิชาหนังสือพงศาวดารด้วย
           
2 ภาษาบาฬี ที่จะเข้าใจกระบวนไวยากรณ์ แลแปลทั้งบาฬีเป็นไทย แลไทยเป็นบาฬีด้วย
           
3 ภาษาอังกฤษ ที่จะเข้าใจกระบวนไวยากรณ์ แลหัดแปล

(3) ในฝ่ายวิชากฎหมาย สอนด้วยกระบวนพระราชกำหนดกฎหมาย แลลักษณะพิจารณาความแลวิชาโปลิติคอลอิโคโนมีด้วย (Political Economy)

อาจารย์ซึ่งจะสอนในนอมัลสะกูลในชั้นแรกตั้งนี้ เป็นการลำบากที่จะเลือกหาเป็นอันมาก ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า จะต้องจัดให้มีอาจารย์สำหรับสอนส่วนละคน แลแบ่งนักเรียนให้เรียนส่วนละ 10 คน ในส่วนวิชานักปราชญ์นั้น ขอรับพระราชทานจ้าง มิสเตอร์ เฮน รี นิโกเล เดิมเป็นอาจารย์ในโรงเรียนกรมแผนที่ ภายหลังไปเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนคะเด็ด แลลาออกจากอาจารย์เสียแล้ว มาเป็นอาจารย์รับพระราชทานเงินเดือนๆ ละ 150 เหรียญ คน 1

ในส่วนวิชาภาษาไทย ขอรับพระราชทาน นายแพ เปรียญ 4 ประโยค นายเทษ เปรียญ 3ประโยค เป็นอาจารย์รับพระราชทานเงินเดือน 40 บาท คนหนึ่ง 30 บาท คนหนึ่ง

ในส่วน วิชากฎหมาย ขอรับพระราชทาน นายเปล่ง ช่วยมาเป็นอาจารย์ … เดือน 100 บาท … เพราะเป็นทั้งการสอนแลต้องทำตำราเรียนกฎหมายให้ด้วย …”

ตั้งโรงเรียนสำหรับสอนวิชาฝ่ายทหาร (โรงเรียนทหารสราญรมย์)

วันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2431 ตั้งโรงเรียนสำหรับสอนวิชาฝ่ายทหาร (หรือโรงเรียนทหารสราญรมย์) เป็นการปฏิรูปจัดตั้งโรงเรียนสอนวิชาทหารและวิชาสามัญรวมอยู่ในโรงเรียนเดียวกันเป็นครั้งแรก ซึ่งเดิมการสอนวิชาทหารแยกอยู่ในโรงเรียนคะเด็ด และการสอนวิชาสามัญอยู่ที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ อธิบดีกรมศึกษาธิการ กราบบังคมทูลเรื่องการตั้งโรงเรียนสำหรับสอนวิชาฝ่ายทหาร ดังความสำคัญบางตอน ดังนี้

อนึ่งในระหว่างนั้น กำลังข้าพระพุทธเจ้า ต้องเกี่ยวข้องติดราชการฝ่ายทหารติดพันอยู่ ได้ตกลงในฝ่ายกรมยุทธนาธิการว่า ควรจะจัดตั้งโรงเรียนสำหรับสอนวิชาเด็กนักเรียนที่เป็นทหารขึ้นอีก ข้าพระพุทธเจ้าจึ่งได้สั่งให้เลิกโรงเรียนสราญรมย์เสียโรงหนึ่ง เลิกโรงเรียนแผนที่อีกโรงเรียนหนึ่ง จัดที่โรงเรียนสราญรมย์ ตั้งขึ้นเป็นโรงเรียนสำหรับสอนวิชาฝ่ายทหาร จัดเอาพวกคะเด็ด แลนักเรียนเดิมในโรงเรียนแผนที่ ไปสมทบกันเล่าเรียน

ส่วนนักเรียนเก่าในโรงเรียนสราญรมย์ที่เลิกเสียนั้น ก็เข้ามาเล่าเรียนในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบบ้างไปเล่าเรียนตามโรงเรียนวัดต่างๆ บ้าง

ที่โรงเรียนสราญรมย์นั้นก็คงเป็นโรงเรียนสำหรับสอนพวกคะเด็ดต่อมา วิธีสอนวิชาที่สอน แลจำนวนนักเรียนในโรงเรียนคะเด็ดคงจะมีแจ้งในรายงานฝ่ายยุทธนาธิการนั้นแล้ว ด้วยเป็นการแพนก 1 ไปจากกรมศึกษาธิการ …”

ปรับปรุงการศึกษาตามแบบประเทศญี่ปุ่น

วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2431 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ อธิบดีกรมศึกษาธิการ กราบบังคมทูลเรื่องการปรับปรุงการศึกษาตามแบบประเทศญี่ปุ่น และบัญชีเครื่องเล่าเรียน พระราชทานให้ประเทศญี่ปุ่น ดังนี้

“… ราชการของกรมศึกษาธการในระหว่าง ๓ เดือนนี้ มีเหตุที่เกี่ยวข้องต้องจัดการแก้ไขเพิ่มเติมแลเปลี่ยนแปลงไปอีกหลายสิ่งหลายอย่าง ในส่วนที่เป็นสิ่งสำคัญ คือ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งพระยาภาษกรวงษ์ให้รับตำแหน่งยศเป็นเอกอรรคราชทูตวิเสศออกไป เจริญทางพระราชไมตรี ณ ประเทศยี่ปุ่นนั้น เป็นโอกาศของกรมศึกษาธิการ ที่จะได้มีเจ้าพนักงานออกไปตรวจตราดูการศึกษาต่างประเทศ มาสอบสวนเปรียบเทียบกับการศึกษาฝ่ายสยาม เพื่อจะได้เป็นทางที่จะจัดการแก้ไขให้เป็นการเพิ่มไปสู่ทางเจริญของกรมศึกษาธิการฝ่ายสยามต่อไป ข้าพระพุทธเจ้าได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต แลทำคำสั่งเป็นสำเนาข้อบังคับให้แก่เจ้าพนักงานผู้จะออกไปตรวจดูการศึกษาฝ่ายประเทศยี่ปุ่นนั้น ไปเป็นเค้าที่จะได้ตรวจการ สำเนาคำสั่งมีแจ้งอยู่ ดังที่ได้จักนำขึ้นทูลเกล้าถวาย …”

ตั้ง “มหาธาตุวิทยาลัย”

วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2431 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ อธิบดีกรมศึกษาธิการ กราบบังคมทูลดังนี้

“… ยกอาจารย์บอกพระไตรปิฎกในวัดพระศรีรัตนศาสดารามมารับเงินเดือนในกรมศึกษาธิการ แลให้กรมศึกษาธิการจัดการเลี้ยงเช้าเลี้ยงเพลพระภิกษุสามเณรที่มาเรียน แลจัดพนักงานมีปฏิบัติอยู่เสมอ การก็เรียบร้อยเจริญมาทุกที จนมีพระภิกษุสามเณรเล่าเรียนเกือบ 200 รูปเสมอแลเมื่อไล่หนังสือ ๒ คราวมา พระภิกษุสามเณรที่เล่าเรียนในนี้ก็เข้าไล่ได้เป็นเปรียญเป็นอันมาก เป็นพยานได้ว่าการที่ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดการแก้ไขขึ้นนี้เป็นประโยชน์แลเป็นคุณแก่พระสาสนา แลราชการบ้านเมืองในส่วนหนึ่ง ซึ่งควรจะคงอยู่ฤๅให้ยิ่งดีขึ้น มิให้เลิกถอยเสื่อมทรามไปได้อีก … เพราะฉะนั้น ข้าพระพุทธเจ้าจึงเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า การที่จะจัดแก้ไขนี้ ควรให้เป็นการคิดตั้งวิทยาไลยขึ้นสักแห่งหนึ่งตามอย่างที่จะให้มีในภายน่า นั้นทีเดียว … เห็นด้วยเกล้าฯ ว่าควรยกการบอกพระไตรปิฎกในวัดพระศรีรัตนศาสดารามออกไปตั้งในวิทยาไลยนั้น เรียกชื่อว่า “มหาธาตุวิทยาไลย” เมื่อภายน่าจะจัดขึ้นที่พระอารามอื่นๆ อีก ก็จะได้ชื่อพระอารามอยู่หน้าต่อคำวิทยาไลยเข้าข้างท้าย …”

ตั้งผู้กำกับการกรมธรรมการ

วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2432 ประกาศราชกิจจานุเบกษาความว่า

“กรมธรรมการนั้นเปนกรมใหญ่ แต่ก่อนเคยมีพระบรมวงศานุวงษ์กำกับการกรมนั้น บัดนี้ยังหามีผู้ใดกำกับการไม่ จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เปนผู้กำกับการกรมธรรมการ แต่วันที่ 5 เมษายน รัตนโกสินทร์ศก 108

ตั้งกระทรวงพระธรรมการ

พ.ศ. 2433 มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา “ประกาศตั้งตำแหน่งเสนาบดี 12 ตำแหน่ง” เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2435 กล่าวถึงที่มาการตั้งกระทรวงพระธรรมการ เมื่อ ร.ศ. 109 (ตรงกับ พ.ศ. 2433) ว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกกรมธรรมการและสังฆการีที่ขึ้นอยู่ในกรมมหาดไทย มารวมกับกรมศึกษาธิการเป็นกระทรวงหนึ่งต่างหากแล้ว ซึ่งในช่วงเวลาใกล้เคียงกันพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ อธิบดีกรมพยาบาลประชวรและสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2432 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เป็นอธิบดีบัญชาการ ทั้ง 3 กรม รวมกันยกขึ้นเป็นกระทรวงพระธรรมการ ในปี พ.ศ. 2433

“ประกาศตั้งตำแหน่งเสนาบดี

มีพระบรมราชโองการ … สั่งให้ประกาศให้ทราบทั่วกันว่า … ราชการบ้านเมืองย่อมจะเป็นที่เรียบร้อยได้ด้วยการจัดการแบ่งกระทรวงน่าที่พนักงานให้ทำการเปนหมวดเปนหมู่ … แลต้องแบ่งน่าที่ราชการให้เปนส่วนเปนแพนกตามกระทรวง ราชการทั้งปวงจึงจะสำเร็จไปได้ … จึงได้ทรงพระราชดำริห์แก้ไขธรรมเนียมกระทรวงของการที่เสียให้ดีขึ้นใหม่มาเป็นชั้นๆ ตามกาลแลสมัย …

แลในรัตนโกสินทร์ศก ๑๐๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมการโยธาต่างๆ ที่อยู่ในกระทรวงต่างๆ มาตั้งเป็นกระทรวงโยธาธิการขึ้น แลรวมกรมโทรเลขไปรสนีย์เข้าในกระทรวงโยธาธิการ แลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกกรมธรรมการและสังฆการีที่ขึ้นอยู่ในกรมมหาดไทย มารวมกับกรมศึกษาธิการเป็นกระทรวงหนึ่งต่างหากแล้ว เมื่อได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการมีกระทรวงใหญ่ ให้ประชุมกันปฤกษาราชการตามน่าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกันเปนที่ประชุมเสนาบดี 12 ตำแหน่ง เรียกว่า เสนาบดีสภา … จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สั่งว่าให้บันดาเสนาบดีทั้งปวงนี้ ให้มียศเสมอกันทั้งสิ้น ไม่ให้ถือว่าเปนอรรคมหาเสนาบดี ฤๅเปนจตุสดมภ์ ฤๅเป็นเสนาบดีตำแหน่งใหม่ แลพนักงานน่าที่ของกระทรวงต่าง ๆ ทั้งปวงนี้ จะได้มีพระราชบัญญัติออกต่อไปในภายหลังด้วย

…ประกาศมาแต่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
วันที่ 1 เมษายน ร.ศ. 111

โดยสรุปแล้ว นับตั้งแต่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ดำเนินการจัดการศึกษาภายในกรมทหารมหาดเล็ก เมื่อ พ.ศ. 2414 ไปพร้อมกับการตั้งโรงเรียนสอนภาษาไทย โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ และโรงเรียนคะเด็ดทหารมหาดเล็ก และตั้งเป็นแผนศึกษาธิการอยู่ในกรมทหารมหาดเล็ก ดำเนินการจัดการสนองพระราชดำริในด้านการจัดการศึกษา และให้มีอาจารย์สอนหนังสือไทยและเลขทุกพระอาราม โดยใช้สถานที่เรียนในวัด เมื่อ พ.ศ. 2418

ในปี พ.ศ. 2428 การจัดการศึกษามีการพัฒนาไปมาก มีการแต่งแบบเรียนเพิ่มขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมกับวิชาที่นักเรียนจำเป็นต้องใช้ การตั้งโรงพิมพ์ในการพิมพ์แบบเรียน การเสนอแนวคิดการจัดวางรูปการโรงเรียน จัดทำรายงานการโรงเรียนทูลเกล้าฯ ถวายทุก 3 เดือน การจัดสอบไล่วิชาความรู้ของนักเรียนครั้งแรก การกำหนดหลักสูตรและวิชา การจัดการมีระเบียบแบบแผนและดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน

การปฏิรูปการศึกษาไทยประสบความสำเร็จ จนสามารถจัดตั้งเป็นกรมศึกษาธิการในปี พ.ศ. 2430 ระบบราชการในการจัดการศึกษาแบบใหม่เจริญมั่นคงขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งเมื่อการทดลองจัดราชการในรูปแบบกระทรวง ที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทดลองจัดในกรมยุทธนาธิการเมื่อ พ.ศ. 2430 สามารถดำเนินการไปด้วยดีจึงทรงยก “กรมยุทธนาธิการ” ขึ้นเป็น “กระทรวงยุทธนาธิการ” และขยายการทดลองจัดตั้ง“กระทรวงแบบตะวันตก” ไปยังกระทรวงพลเรือนอื่นๆ ตามลำดับ อย่างกระทรวงพระธรรมการ และกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เป็นต้น

ครั้นการทดลองจัดตั้งหลายกระทรวงประสบความสำเร็จ ทั้งกระทรวงฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน จึงมีการปฏิรูประบบราชการทั้งประเทศในปี พ.ศ. 2435 มีการจัดตั้งกระทรวงและแต่งตั้งเสนาบดีครบ 12 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงนครบาล กระทรวงวังกระทรวงเกษตรพาณิชการ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพระคลัง กระทรวงยุทธนาการกระทรวงยุติธรรม กระทรวงพระธรรมการ กระทรวงโยธาธิการ กระทรวงมุรธาธร ต่อมากระทรวงพระธรรมการเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงศึกษาธิการ (และมีการเปลี่ยนนามกลับไปมาหลายครั้ง)

ส่วนระบบราชการแพทย์และสาธารณสุขแบบปัจจุบันของประเทศไทย ก็มีจุดเริ่มต้นจาก “แผนกโรงเรียน” ของกรมทหารมหาดเล็กเช่นกัน จนกระทั่งจัดตั้งเป็นกรมพยาบาล และได้เจริญเป็นกระทรวงการสาธารณสุขเมื่อ พ.ศ. 2485 ในสมัยรัชกาลที่ 8

นอกจากนี้ ยังมีการปฏิรูประบบการศึกษาของพระภิกษุสงฆ์ให้เป็นระบบตะวันตก โดย “มหาธาตุวิทยาลัย” ภายหลังได้เปลี่ยนเป็น “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” ในส่วนการศึกษาของทหาร เริ่มต้นจากโรงเรียนคะเด็ดซึ่งเป็นโรงเรียนสอนวิชาทหารอย่างเดียว ได้เจริญขึ้นเป็น “โรงเรียนสำหรับสอนวิชาฝ่ายทหาร” หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “โรงเรียนทหารสราญรมย์” ซึ่งได้จัดสอนทั้งวิชาสามัญและวิชาทหารรวมกันในโรงเรียนเดียว ต่อมาเจริญเป็น “โรงเรียนนายร้อยทหารบก” และ “โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนเตรียมทหาร” ในปัจจุบัน

กล่าวได้ว่า การทดลองจัดราชการแบบใหม่ที่เกิดขึ้นใน “กรมทหารมหาดเล็ก” รวมถึงการปฏิรูประบบการศึกษาทั่วทั้งประเทศในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ จุดกำเนิดของระบบราชการและระบบการศึกษาแบบใหม่ของประเทศไทยที่เรียกได้ว่าเป็นการ “พลิกประเทศหรือพลิกแผ่นดิน” (Revolution) ดังที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสไว้ และนำพาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้ามั่นคงมาจนถึงปัจจุบัน

เปิดโครงสร้างการปฏิรูปการศึกษาในสมัย รัชกาลที่ 5 หนึ่งในภารกิจอันยิ่งใหญ่ ในการวางรากฐานความรู้ให้แก่คนไทย : ตอนที่ 1

เปิดโครงสร้างการปฏิรูปการศึกษาในสมัย รัชกาลที่ 5 หนึ่งในภารกิจอันยิ่งใหญ่ ในการวางรากฐานความรู้ให้แก่คนไทย : ตอนที่ 2

ที่มา :

[1] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารรัชกาลที่ 5 มร 5 นก/82 หน้า 390 – 394
[2] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารรัชกาลที่ 5 มร 5 นก/82 หน้า 990 – 996
[3] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารรัชกาลที่ 5 มร 5 ศ/1 รายงานขุนวรการโกศล เรื่องการตรวจโรงเรียนในประเทศญี่ปุ่น จ.ศ. 1249 หน้า 1 – 5
[4] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารรัชกาลที่ 5 มร 5 นก/92 หน้า 535 – 539
[5] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารรัชกาลที่ 5 มร 5 นก/93 หน้า 97 – 109
[6] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารรัชกาลที่ 5 มร 5 นก/97 หน้า 75 – 83
[7] สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารรัชกาลที่ 5 มร 5 นก/99 หน้า 233 – 237 และมีในแทรกอยู่ใน “แจ้งความกระทรวงพระธรรมการ” ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 6 หน้า 300 – 301
[8] “ตั้งผู้กำกับการกรมธรรมการ” ราชกิจจานุเบกษา 6 แผ่นที่ 1 (7 เมษายน ร.ศ. 108), หน้า 2
[9] “ประกาศตั้งตำแหน่งเสนาบดี” ราชกิจจานุเบกษา 9 แผ่นที่ 4 (24 เมษายน ร.ศ. 111), หน้า 25 – 28’
[10] ประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขไทย หน้า 412-443

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า