เอธิโอเปีย ภาพจำความอดอยาก มรดกจากคอมมิวนิสต์และสงครามการเมือง

เมื่อนึกถึงความอดอยากอันแสนทุกข์ทรมานและภาพแทนของความยากลำบากในทวีปแอฟริกา หลายคนคงนึกถึง เอธิโอเปีย ประเทศที่เคยเกิดภาวะอดอยากครั้งใหญ่จนคร่าชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนมหาศาล และได้กลายเป็นภาพจำของทวีปแอฟริกา ที่สะท้อนภาพสังคมซึ่งมีแต่ความอดอยากและทุกข์ทรมาน แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะค่อย ๆ ทุเลาลงในภายหลังก็ตาม

แต่ไม่ใช่ว่าอยู่ ๆ ก็เกิดการอดอยากครั้งใหญ่ในประเทศเอธิโอเปีย ในทางตรงกันช้าม เหตุการณ์เหล่านี้ได้ค่อย ๆ ก่อตัวอย่างช้า ๆ จากการเข้ามาของกลุ่มการเมืองคอมมิวนิสต์ของเอธิโอเปียที่เข้ามายึดอำนาจและยุติระบอบกษัตริย์ในช่วงสงครามเย็นด้วยความโหดเหี้ยม และได้บ่อนทำลายศัตรูทางการเมืองโดยใช้ความรุนแรงเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการแบ่งแยกดินแดนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศด้วยความมุ่งหมายที่จะแยกตัวจากเอธิโอเปียและสถาปนาประเทศเอกราชใหม่ขึ้นมาแทนที่

ไม่เพียงเท่านั้น ในเวลาต่อมาเอธิโอเปียก็เกิดหายนะซ้ำซ้อน เมื่อสภาพแวดล้อมของประเทศมีความแห้งแล้งผิดปกติซึ่งทำให้ปริมาณน้ำฝนมีน้อยเกินกว่าที่จะทำการเพาะปลูกแบบปกติได้ ประกอบกับภัยสงครามทั้งการต่อสู้ทางอุดมการณ์ทางการเมือง การต่อสู้แบ่งแยกดินแดน และการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหมากกระดานใหญ่ระดับโลกอย่าง “สงครามเย็น” ในฐานะฝ่ายคอมมิวนิสต์ จึงทำให้ทั้งหมดกลายเป็นส่วนผสมที่นำไปสู่เหตุการณ์ “ภาวะความอดอยากครั้งใหญ่” และได้คร่าชีวิตผู้คนนับล้านจากเหตุการณ์นี้

จุดเริ่มต้นของความโหดเหี้ยมครั้งใหญ่นี้ เริ่มจากวิกฤตน้ำมันในปี ค.ศ.1973 ที่ทำให้ราคาพลังงานทั่วโลกสูงขึ้นหลายเท่าตัวและนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อในหลายประเทศซึ่งรวมทั้งประเทศเอธิโอเปียด้วย อีกทั้งกระแสความคิดแบบสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ ได้แพร่ขยายเข้าไปในทวีปแอฟริกาอย่างรุนแรง ภายใต้การสนับสนุนของสหภาพโซเวียต จึงทำให้ในปีถัดมา ได้เกิดการปฏิวัติในเอธิโอเปียโดยกลุ่มนายทหารที่มีหัวคิดแบบสังคมนิยม และทำการโค่นล้มระบอบจักรพรรดิภายใต้ราชวงศ์โซโลมอนในช่วงเวลาต่อมา

เมื่อการปฏิวัติเอธิโอเปียสำเร็จ ก็ได้มีการผลักดันนโยบายตามแนวทางสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์ มากมาย เช่น การปฏิรูปที่ดินภายใต้การจัดสรรของรัฐหรือ “นารวม” การยึดกิจการเอกชนให้เป็นของรัฐ การยกระดับการรู้หนังสือของประชาชนเพื่อซึมซับอุดมการณ์คอมมิวนิสต์จากระบบการศึกษาในประเทศ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างเหี้ยมโหดซึ่งต่อมาจะถูกเรียกว่า “ความสะพรึงแดง (Red Terror)” ซึ่งมักเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบอบการปกครองเก่า และยังมีการปราบปรามชนกลุ่มน้อยมากมายในประเทศเพื่อรวมศูนย์ทางอำนาจเข้ามาที่กลุ่มการเมืองคอมมิวนิสต์อีกด้วย

จุดนี้เองทำให้เอธิโอเปียเข้าสู่ภาวะสงครามกลางเมือง ระหว่างกลุ่มการเมืองคอมมิวนิสต์ที่มีฐานที่มั่นในเขตเมืองหลวงและกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ตั้งแต่ ค.ศ.1974 ที่คณะปฏิวัติเข้ามามีอำนาจ จนถึง ค.ศ.1991 ที่คณะปฏิวัติหมดอำนาจลง และแทนที่ด้วยรัฐบาลประชาธิปไตยพลเรือน

แต่ก็มีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงระหว่างการปกครองของรัฐบาลคอมมิวนิสต์เอธิโอเปีย เช่น สงครามโอกาเดน ช่วง ค.ศ.1977 – 1978 ที่เป็นความขัดแย้งทางการทหารระหว่างเอธิโอเปียและโซมาเลีย ซึ่งเป็นประเทศคอมมิวนิสต์เหมือนกัน แต่โซมาเลียมีจุดมุ่งหมายในการขยายดินแดนเข้าไปในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยของเอธิโอเปียโดยใช้ข้ออ้างในการปลดปล่อยการกดขี่ชนกลุ่มน้อยจากเอธิโอเปีย และแม้ว่าสุดท้ายแล้วเอธิโอเปียจะชนะสงครามด้วยการสนับสนุนของแกนนำประเทศคอมมิวนิสต์อย่างสหภาพโซเวียตก็ตาม แต่มูลค่าความสูญเสียมหาศาลที่ต้องแบกรับก็ได้ทำให้เศรษฐกิจของประเทศที่เสียหายอยู่แล้วจากการดำเนินนโยบายผิดพลาดของรัฐ ยิ่งสูญเสียหนักขึ้นไปอีก

รวมทั้งในบริบทที่เอธิโอเปียเผชิญกับสงครามกลางเมืองอย่างต่อเนื่อง ได้ทำให้เกิดภาวะอดอยากในประเทศ ที่ถูกกระหน่ำซ้ำด้วยสงครามกับโซมาเลียและนโยบายการทวงคืนที่ดินเป็นของรัฐ ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพการเพาะปลูกทางการเกษตรในประเทศลดลงจนซ้ำเติมการขาดแคลนปัจจัยการดำรงชีวิตให้รุนแรงยิ่งขึ้น และธรรมชาติก็ได้ซ้ำเติมให้ทุกอย่างเลวร้ายลงไปอีกด้วยเหตุการณ์ภัยแล้งครั้งใหญ่ในช่วงกลางทศวรรษ 80 จากปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ทางการเกษตรที่น้อยผิดปกติจนทำให้ผลผลิตทางเกษตรลดลง และทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากเหตุการณ์ภัยแล้งครั้งใหญ่

ซึ่งเรื่องราวนี้ได้จบลงในปี ค.ศ.1991 หลังจากผู้สนับสนุนรายใหญ่ของรัฐบาลคอมมิวนิสต์เอธิโอเปียอย่างสหภาพโซเวียตประกาศยกเลิกการสนับสนุนอย่างเป็นทางการ อีกทั้งเมื่อถูกกองทัพแบ่งแยกดินแดนภายใต้การนำของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ยกทัพเข้าเมืองหลวงของเอธิโอเปีย ก็ถือได้ว่าเป็นจุดจบของรัฐบาลคอมมิวนิสต์อย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีการกดดันทางการทูตจากสหรัฐอเมริกาต่อรัฐบาลคอมมิวนิสต์เอธิโอเปียให้ยอมจำนน จึงทำให้บรรดาแกนนำรัฐบาลคอมมิวนิสต์เอธิโอเปียทำการลี้ภัยไปยังประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกาที่ยอมรับการลี้ภัยดังกล่าว และมีผลให้ระบอบคอมมิวนิสต์ในประเทศสิ้นสุดลงพร้อมกับวิกฤตความอดอยากในประเทศที่ทุเลาลงไปด้วยความช่วยเหลือฉุกเฉินจากนานาประเทศ

นอกจากนี้ ผลพวงสำคัญจากเรื่องนี้คือ ได้เกิดการแยกส่วนหนึ่งของประเทศเอธิโอเปียออกมาเป็นประเทศเอกราชใหม่ คือ ประเทศเอริเทรีย ซึ่งเป็นแกนนำสำคัญในการต่อต้านการกดขี่ชาติพันธุ์ของรัฐบาลคอมมิวนิสต์เอธิโอเปียควบคู่กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ และได้ทำให้ประเทศเอธิโอเปียกลายเป็นประเทศที่ไม่มีพื้นที่ติดทะเลจนถึงปัจจุบัน

และเมื่อรัฐบาลพลเรือนประชาธิปไตยเข้ามามีอำนาจ ก็ได้มีการพิจารณาคดีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศเอธิโอเปีย และศาลสูงเอธิโอเปียได้ตัดสินให้แกนนำกลุ่มการเมืองคอมมิวนิสต์มีความผิดด้วยข้อหาร้ายแรงอย่าง “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” และได้มีการจับกุมบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการสูญเสียของคนนับล้านเป็นจำนวนมาก แม้ว่าแกนนำสำคัญหลายคนจะลี้ภัยออกนอกประเทศแล้วก็ตาม

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวน่าสะพรึง ที่ระบอบคอมมิวนิสต์ได้เริ่มต้นและซ้ำเติมความทุกข์ทรมานให้หนักหนายิ่งขึ้น และแม้ว่าจะมีวิกฤตภัยแล้งครั้งใหญ่ กลุ่มการเมืองคอมมิวนิสต์ก็เลือกที่จะซ้ำเติมปัญหาให้สาหัสกว่าเดิมเพื่อยังคงสนองอุดมการณ์และนโยบายการเมืองจนกลายเป็นตราบาปเลือดของคนนับล้านตลอดหลายสิบปีที่กลุ่มการเมืองคอมมิวนิสต์มีอำนาจในประเทศ ซึ่งหากไม่มีการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดรุนแรง เช่น การทวงคืนที่ดินเป็นของรัฐ การบังคับย้ายที่อยู่เกษตรกรแต่ไม่ได้เตรียมโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรไว้พร้อม ฯลฯ ความสูญเสียจากภัยแล้งก็ย่อมทุเลาลงได้แน่นอน และเรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นแบบชัด ๆ ว่า

“ลัทธิคอมมิวนิสต์โดยส่วนใหญ่ มักมีเครื่องหมายการค้าเป็นการทวงคืนที่ดินเป็นของรัฐและภาวะอดอยากครั้งใหญ่ที่นำไปสู่ความตายของคนนับล้านอยู่เสมอ”

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า