ความสำเร็จของระบอบ ‘เปรมาธิปไตย’ และข้อเท็จจริงกบฏเมษาฮาวายที่ ‘ล้มเหลวตั้งแต่เริ่มต้น’

จากการที่ ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับรัฐบาลยุคพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในบทความ “30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (1) : ความเป็นมาอภิมหาเรื่องเล่า และนักการเมืองชื่อเปรม” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 4 ปัจจัยที่ทำให้พลเอกเปรมสามารถดำรงอยู่ในวาระนายกรัฐมนตรียาวนานถึง 5 สมัยติดต่อกันในระยะเวลา 8 ปีเศษ (แต่ละครั้งดำรงตำแหน่งไม่ได้ครบ 4 ปี)

ธนาพล ได้กล่าวถึงปัจจัยทั้ง 4 ว่าได้แก่

  1. การมีประชาธิปไตยครึ่งใบที่ทหารและนักการเมืองทำงานร่วมกัน
  2. การมีเทคโนแครต (นักวิชาการข้าราชการ) ในการคิดและริเริ่มนโยบายพัฒนาระดับประเทศ
  3. การสนับสนุนของราชสำนัก
  4. ความอ่อนแอของพรรคการเมืองในขณะนั้น

ปัจจัย 2 ปัจจัยแรก (ประชาธิปไตยครึ่งใบและเทคโนแครต) เป็นสิ่งที่เสนอมาจาก อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ นักวิชาการจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วน 2 ปัจจัยสุดท้ายเป็นสิ่งที่ธนาพลคิดขึ้นมาเองจากข้อสันนิษฐานของเขา

ต้องกล่าวด้วยว่าปัจจัยแรกที่ว่าด้วยการเป็น “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” นั้น เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ในสภาวะการเมืองภายในและภายนอกของประเทศไทยในเวลานั้น ช่วงที่โลกทั้งใบต้องประสบกับภัยสงครามเย็นด้วยการแข่งขันกันระหว่างค่ายเสรีประชาธิปไตย (อเมริกา) และค่ายคอมมิวนิสต์ (จีน-รัสเซีย) การมีรัฐบาลที่เข็มแข็งที่พร้อมจะรับมือกับสงครามภายใน ได้แก่ การต่อสู้กับกองทัพปลดแอกประชาชนไทย (ทปท.) ภายใต้การชี้นำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) การต่อสู้กับโจรจีนคอมมิวนิสต์ทางใต้ที่สนับสนุนโดยพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (พคม.) และการต่อสู้กับขบวนการโจรก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดนชายแดนใต้ (บจก.) โดยเฉพาะประเทศไทยทางปักษ์ใต้นั้นรุนแรงกว่าที่อื่นๆ เพราะทางราชการไทยและมาเลเซียสืบพบข้อเท็จจริงร่วมกันว่า ทั้ง พคท. พคม. และ บจก. ได้ประสานความร่วมมือกันในการตอบโต้ทางการไทยและมาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ยะลาและสงขลา

จึงกล่าวได้ว่ารูปแบบการปกครอง “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” เป็นรูปแบบที่สมควรแก่กาลในสมัยนั้น ที่ต้องอาศัยทั้งความร่วมมือทางทหาร ฝ่ายการเมือง และเอกชน ในการประคับประคองประเทศให้รอดพ้นจากภัยคุกคามรอบด้าน รูปแบบประชาธิปไตยครึ่งใบเช่นนี้ พบได้ทั่วไปในประเทศอาเซียนในเวลานั้น ยกเว้นประเทศที่ปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์ไปแล้วเท่านั้น เช่น เวียดนาม รวมถึงลาวและกัมพูชาภายใต้การยึดครองของเวียดนาม-โซเวียต หรือมิฉะนั้นก็เป็นระบอบเผด็จการเต็มตัวไปเลย เช่น เผด็จการทหารของพม่า หรือเผด็จการพลเรือนของสิงคโปร์ จึงกล่าวได้ว่าประเทศในเวลานั้นไทยมีลักษณะ “เป็นกลาง” มากที่สุด

ด้วยเหตุนี้ การใช้มุมมองสถานการณ์ปัจจุบันไปตัดสินสถานการณ์ในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมควรและไม่มีนักวิชาการชาติไหนเขาทำกัน

ส่วนกรณี “เทคโนแครตนิยม” ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลชื่นชอบที่จะให้นักวิชาการที่เป็นข้าราชการหรือที่ปรึกษา เข้ามาคิดหรือริเริ่มนโยบายพัฒนาประเทศนั้น ถ้าจะกล่าวให้ถูกต้องและเป็นธรรมควรจะบอกว่า รัฐบาลพลเอกเปรมแทบไม่ได้เปลี่ยนนโยบายนี้มาตั้งแต่การปฏิวัติของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ในปี พ.ศ. 2500 การอาศัยมันสมองของปัญญาชนเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะการที่รัฐบาลของประเทศที่กำลังพัฒนามีที่ปรึกษาที่เป็นคนในชาตินั้นๆ ซึ่งมีคุณสมบัติจบมาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำเมืองนอกเข้ามาเป็น “กุนซือ” ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ว่าประเทศไหนก็ทำกัน เว้นเสียแต่ประเทศนั้นเกิดการพัฒนาเต็มที่แล้วและพรรคเมืองก็มีความเข้มแข็งในด้านการกำหนดนโยบายพัฒนา หากเป็นเช่นนั้น การใช้งาน “เทคโนแครต” ก็ย่อมหมดไป

แต่ประเทศไทยในวันนั้นที่มีพลเอกเปรมเป็นนายกฯ กำลังอยู่ใช่ยุคแห่งการต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ ที่มาพร้อมกับเหตุผลเรื่องความยากจนที่คอมมิวนิสต์ใช้เป็นข้ออ้างในการปลุกระดมผู้คน ดังนั้น การอาศัยมันสมองของนักวิชาการหรือที่ปรึกษาในการหาทางออกผ่านการพัฒนาบ้านเมืองทั้งในด้านกายภาพและคุณภาพ แม้ว่าจะเป็นการต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์โดยทางอ้อม แต่ก็เป็นการจี้ตรงจุดที่สุดนั่นก็คือ การแก้ไขปัญหาความยากจนที่คอมมิวนิสต์จะใช้เป็น “ข้ออ้าง” ได้

และจากงานวิชาการเรื่อง “กำเนิดประเทศไทยภายใต้เผด็จการ” เขียนโดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า ด้วยบทบาทของที่ปรึกษาทั้งไทยและต่างประเทศ (อเมริกา) และนโยบายการพัฒนาเพียงแค่ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คนเดียว ได้เปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทยไปเลย แม้กระทั่งในยุคคณะราษฎรก็มิอาจเทียบกับยุคจอมพลสฤษดิ์ได้ ดังจะเห็นได้จากการที่ไทยมีถนนตัดลงใต้ครั้งแรกในยุคหลัง พ.ศ. 2500 ไปแล้วหรือการดำริให้มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในภูมิภาค จากเดิมที่กระจุกตัวอยู่แค่ในกรุงเทพฯ แห่งเดียวมาตลอด แม้แต่ในยุคคณะราษฎรปกครองบ้านเมืองมาถึง 25 ปี (2475-2500)

ส่วนปัจจัยข้อที่ 3 ที่ธนาพลคิดขึ้นเองนั้น ย่อมปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ธนาพลพยายามยึดโยงความสัมพันธ์ระหว่างพลเอกเปรมกับราชสำนักของในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างเต็มที่ พูดอย่างชัดๆ ธนาพลพยายามยืนยันสมมติฐานที่มีอิทธิพลในหมู่นักวิชาการฝ่ายต่อต้านราชสำนักว่า “ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงแทรกแซงการเมือง” โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ธนาพลเองได้ยกเรื่องการรัฐประหารที่ล้มเหลวในยุคพลเอกเปรมถึง 2 ครั้ง นั่นก็คือ กบฏเมษาฮาวาย ในวันที่  1-3 เมษายน 2524 และกบฏ 9 กันยายน 2528

โดยเฉพาะกบฏเมษาฮาวาย (นำโดยทหารกลุ่มยังเติร์ก) ธนาพล ระบุว่า ทางฝ่ายก่อการรัฐประหารได้ควบคุมกำลังรบแทบทั้งหมดอยู่ในมือ แต่รัฐบาลพลเอกเปรมได้ทูลเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ให้ไปตั้งกองบัญชาการต้านรัฐประหารที่ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา จนทำให้รัฐประหารล้มเหลว เขาจึงยืนยันว่า “หากไม่มีกำลังสนับสนุนของราชสำนักแล้ว รัฐบาลเปรมคงสิ้นสุดในเดือนเมษายน 2524 ยากที่จะมีอายุยืนถึงปี 2531

อย่างไรก็ดี สมมติฐานของธนาพลในข้อนี้เป็นการวิเคราะห์จากปลายเหตุ ธนาพลจงใจละเลยปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐบาลพลเอกเปรมอยู่ยั้งยืนยงมากว่า 8 ปี และเป็นปัจจัยสำคัญที่รัฐบาลไหนๆ ทั้งก่อนหน้าและหลังจากนี้ไม่เคยมีองค์ประกอบดังกล่าว นั่นก็คือการประสานองคาพยพด้านการข่าวและความมั่นคงพลเรือนในชนิดที่ประวัติศาสตร์ไทยไม่เคยมีมาก่อน สื่อสมัยนั้นเรียกสภาวการณ์เช่นนี้ว่า “3 ป.” หรือ “3 P.” ซึ่งเป็นการย่อมาจาก ป. ปลา 3 ตัว นำหน้าชื่อขุนพลสำคัญได้แก่

P ตัวแรก คือ พลเอกประจวบ สุนทรางกูร รัฐมนตรีมหาดไทยและรองนายกรัฐมนตรี

P ตัวที่สองคือ พลตำรวจเอกเภา สารสิน อธิบดีกรมตำรวจ

และ P ตัวที่สามคือ นายปิยะ จักกะพาก ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

ต่อมามีการเพิ่ม P ตัวที่สี่ คือ นาวาอากาศโทประสงค์ สุ่นศิริ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และถ้าจะนับรวมพลเอกเปรมเข้าไปด้วย ก็จะมี ป. ถึง 5 ป.

“3 ป.” หรือพี่น้อง 3 ป. นี้เป็นเสมือนขุนศึกคู่ใจของพลเอกเปรม เป็นคณะบุคคลที่ได้รับการไว้วางใจมากที่สุด และขุนศึก 3 คนนี้แหละที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการระงับและแก้ไขปัญหาทางการเมืองได้อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อต้านการรัฐประหารที่น่ากลัวที่สุดในเวลานั้น นั่นก็คือ กบฏเมษาฮาวาย 1-3 เมษายน พ.ศ. 2524 ผลจากไหวพริบและเครือข่ายข่าวกรองพลเรือนภายใต้การกำกับดูแลของ 3 ป. ดังกล่าว ทำให้คณะรัฐประหารต้องคว้าน้ำเหลวในทุกๆ การเคลื่อนไหว ตั้งแต่การพลาดท่าในการจับตัวพลเอกเปรม กับรัฐมนตรีและข้าราชการคนสำคัญ เพราะคนเหล่านี้ได้รับการเตือนล่วงหน้าอย่างทันการณ์ มีเพียงแค่ข้าราชการและบุคคลที่ไม่ค่อยสำคัญเท่าใดในรัฐบาลพลเอกเปรมเท่านั้นที่ได้ไปรายงานตัวแก่คณะรัฐประหาร ส่วนบุคคลสำคัญทั้งสิ้นทั้งปวงรวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ได้รับการทูลเชิญจากรัฐบาลพลเอกเปรมไปประทับที่โคราช

กล่าวในทางรัฐศาสตร์แล้ว การรัฐประหารที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่มีน้ำยาที่จะทำให้คนในประเทศต้องกระทำตามคำสั่งของคณะรัฐประหาร มิพักรวมไปถึงความล้มเหลวในการควบคุมสถานการณ์ที่แสดงถึงการมีอำนาจเด็ดขาดของพวกตนในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่บรรดาข้าราชการคนสำคัญๆ ในหน่วยงานรัฐทยอยกลับไปสวามิภักดิ์ต่อรัฐบาลพลเอกเปรมที่ยังเป็นรัฐบาลโดยชอบธรรมและยังมีอำนาจบริหารอยู่

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ จึงสรุปได้เพียงอย่างเดียวว่า การรัฐประหารของกลุ่มยังเติร์กไม่มีสภาวะทางกฎหมายที่เรียกว่า “De Facto” เมื่อไม่มี “De Facto” ก็เท่ากับว่าคณะรัฐประหาร “ล้มเหลวตั้งแต่ก้าวแรกที่ขยับ”  แม้ว่าจะมีกองกำลังทหารในมือยิ่งใหญ่ขนาดไหนก็ตาม หากว่าดำเนินการผิดพลาดก็ถือว่าเป็นอันจบเกมตั้งแต่ต้น ไม่ต้องไปโทษว่าเป็นความผิดของในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่าทรงสนับสนุนพลเอกเปรม เพราะตามรูปแบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์ย่อมต้องอยู่ข้างรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นในนามของพระองค์ (รัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) เว้นเสียจะเกิด “De Facto” ซึ่งก็สามารถกระทำได้โดยรัฐบาลยึดอำนาจเสียเอง เช่นในยุคจอพล ป. (ยุคที่ 2) จนถึง สฤษดิ์-ถนอม-ประภาส หรือ สภาวะที่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้อย่างเบ็ดเสร็จและไม่มีการต่อต้านจากประชาชนโดยทั่วไป เช่นการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2476 2490 2549 และ 2557 เป็นต้น

จึงกล่าวได้ว่า ด้วยประสิทธิภาพของเครือข่ายด้านการข่าวของทั้ง 3 ป. นี่แหละ ที่ทำให้รัฐบาลพลเอกเปรมสามารถเอาตัวรอดจากเหตุการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานได้ถึง 2 ครั้ง การข่าวที่ดีของรัฐบาลพลเอกเปรมคือ “สาเหตุโดยตรง” ที่ทำให้รัฐบาลอยู่รอดปลอดภัย ไม่ใช่เรื่องที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเลือกประทับที่โคราชกับรัฐบาล ซึ่งควรจะเป็น “ผล” ที่สืบเนื่องมาจากประสิทธิภาพของเครือข่ายด้านการข่าวของทั้ง 3 ป. ที่สามารถระงับเหตุได้ทันการณ์มากกว่า ดังนั้น สมมติฐานของธนาพล อิ๋วสกุล ในประเด็นนี้จึงเป็นอันว่าตกไป เพราะมองข้าม “ปัจจัยภายใต้” ของรัฐบาลพลเอกเปรมและไปโฟกัสที่เรื่องภายนอกที่ไม่ได้สลักสำคัญเท่าใดเลย

อ้างอิง :

[1] ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. กำเนิดประเทศไทยภายใต้เผด็จการ. (กรุงเทพ : 2558). สำนักพิมพ์มติชน.
[2] บุญกรง ดงบังสถาน และคณะ. โลกสีขาวของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ. (นนทบุรี : 2547). สำนักพิมพ์ออฟ เซท เพรส.
[3] ภุมรัตน์ ทักษาดิพงศ์. บันทึกความจำ 39 ปี กับสำนักข่าวกรองแห่งชาติ. (กรุงเทพ : 2558). สำนักข่าวกรองแห่งชาติ.
[4] 30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (1) : ความเป็นมา อภิมหาเรื่องเล่า และนักการเมืองชื่อเปรม
[5] จาก ‘3P’ ถึง ‘3 ป.’ สมัยไหนก็มีมนต์ขลัง อย่าดูแคลนเด็ดขาด
[6] ตำนานรัฐบาล 3 ป. กับ พล.อ.เปรม รัฐบุรุษคู่แผ่นดิน

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า