ยิ่งกว่าพงศาวดาร “ฮิกายัต” กับความเป็นหลักฐานเชิงลึกของความสัมพันธ์สองแผ่นดิน และการนับถือที่ไทรบุรีมีต่อราชวงศ์จักรี

บทความโดย จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี

ไทรบุรี หรือ รัฐเคดาห์ (Kedah) เป็นเมืองมลายูตะวันตกที่มีความสัมพันธ์กับไทยมาตั้งแต่โบราณ ในแง่ปริมณฑลทางอำนาจของสยาม นั่นก็คือมีสถานะความเป็นเมืองขึ้นของสยามมาตั้งแต่เก่าก่อน อย่างน้อยในช่วงกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ก่อนที่จะเปลี่ยนสถานะไปเป็นรัฐมลายูในอาณานิคมของอังกฤษในช่วงปลายรัชสมัยของพระบาสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)

นอกจากการเป็นเมืองขึ้นของสยามแล้ว ไทรบุรียังถือว่าเป็นเมืองหนึ่งที่มีความสำคัญกับเมืองสยามทางปักษ์ใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองนครศรีธรรมราช ตามตำนานของเมืองนครฯ (สันนิษฐานว่าน่าจะประพันธ์ขึ้นในช่วงพุทธวรรษที่ 17-18) ซึ่งระบุว่าไทรบุรีเป็น 1 ในเมือง 12 นักษัตร โดยมีตราสัญลักษณ์ประจำเมืองเป็น “งูใหญ่” หรือ “มะโรง” ด้วย

อย่างไรก็ดี แม้ไทรบุรีจะเคยมีสถานะเป็นเมืองขึ้นของสยาม หากแต่เมืองแห่งนี้ก็เคยมีประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์เฉพาะของตนเอง เป็นความเข้าใจที่ผิดหากคิดว่าเมืองมลายูใดๆ ในคาบสมุทรนี้ก็เหมือน ๆ กันหมด เพราะไทรบุรีก็เช่นเดียวกับปัตตานี ปาหัง หรือกระทั่งมะละกา ที่มีสำเนียง วัฒนธรรม ขนบความเชื่อแตกต่างกันไปตามครรลองและประเพณีอันเป็นรากฐานคติชนของแต่ละเมือง

สำหรับไทรบุรีนั้น นักวิชาการในปัจจุบันยอมรับกันว่า หากจะศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวเมืองนี้ นอกจากบันทึกของนักเดินทางชาวตะวันตก รายงานของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ และหลักฐานลายลักษณ์อักษรข้างสยามหรือไทยแล้ว ยังมีวรรณกรรมประเภทพงศาวดารมลายู หรือที่เรียกกันในโลกมลายูว่า “ฮิกายัต” (Hikayat) ซึ่งมีบทบาทสำคัญและให้รายละเอียดเกี่ยวกับ “ตัวตน” (Identity) หรือ “มุมมอง” (perspective) ของชุมชนมลายูผู้จดบันทึกเอง

และในกรณีของไทรบุรี เอกสารดังกล่าวก็คือ “ฮิกายัต มะโรง มหาวังสา” (Hikayat Merong Mahawangsa) หรือในวงการภาคภาษาไทยรู้จักกันในชื่อ “ตำนานเมืองไทรบุรี – ฮิกายัต มะโรง มหาวงศ์” อันเป็นงานเขียนจากมุมมองและปากคำของราชสำนักไทรบุรีในสมัยจารีต ซึ่งยังปราศจากการปะปนของขนบงานเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบตะวันตกในยุคหลังคริสต์ศตวรรษที่ 20 ไปแล้ว

น่าสนใจว่าก่อนหน้านี้ “ฮิกายัต มะโรงฯ” ได้รับการดูถูกถากจากบรรดานักวิชาการเจ้าอาณานิคมชาวอังกฤษในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ว่า เป็นงานเขียนหรือวรรณกรรมที่ “เกินจริง ไร้สาระ และเต็มไปด้วยเรื่องราวปรัมปราดุจเทพนิยาย” พวกเขาปฏิเสธความน่าเชื่อของวรรณกรรมมลายูทั้งหมด เพราะไม่เชื่อว่าจะสามารถหาความจริงจากงานเขียนจารีตของมลายูได้ โดยเฉพาะจากฮิกายัตต่างๆ

ซึ่ง “ฮิกายัต มะโรงฯ” มีลักษณะการเล่าเรื่องที่เกินจริงและดุจเทพนิยายที่สุดในบรรดาตำนานมลายูอื่นๆ เป็นต้นว่า การที่เจ้าชายกรุงหรุ่มต่อสู้กับพญาครุฑ ซึ่งได้ลักพาตัวบุตรสาวของพระเจ้ากรุงจีนไปยังเกาะลังกาวี (ทั้งนี้ กรุงหรุ่ม คือ ‘ตุรกี’ ไม่ใช่ ‘กรุงโรม’ ในอิตาลีแบบที่แปลถอดเสียงผิดเพี้ยนกันในช่วงหลัง) การกล่าวถึงพระเจ้าสุไลมานตรัสกับพญาครุฑ หรือกระทั่งเรื่องอภินิหารเหนือจริงอื่นๆ อันเป็นรายละเอียดปลีกย่อยนอกเหนือไปจากเรื่องการสืบทอดราชบัลลังก์ของราชวงศ์ศรีวังสา (โดยไม่กล่าวถึงปีที่กษัตริย์แต่ละองค์ครองราชย์เลย) รวมถึงความสำคัญของระบอบกษัตริย์ที่ทรงคุณธรรม อันเป็นแกนหลักของเนื้อเรื่องจริงๆ

และด้วยสายตาอคติต่องานเขียนของชาวตะวันออกเช่นนี้ บรรดานักวิชาการตะวันตก จึงไม่ให้ค่าแก่ฮิกายัตฉบับนี้เลยมาเป็นเวลาเกือบร้อยปี ทำให้ “วงการมลายูศึกษา” ทั้งในอังกฤษ มาเลเซีย และสากลโลก ขาดมุมมอง หรือคำอธิบายของชนพื้นถิ่นเกี่ยวกับอัตลักษณ์และตัวตนของพวกเขาไปอย่างน่าเสียดาย

แต่ไม่นานมานี้ ได้มีงานเขียนของนักวิชาการผู้มีชื่อเสียงหลายท่าน อาทิ Anthony Milner (2008) ผู้เชี่ยวชาญด้านมลายูศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย หรือกระทั่งนักวิชาการชาวไทย เช่น ชุลีพร วิรุณหะ (2551) โดยนักวิชาการเหล่านี้ได้กลับมา “อ่าน” เอกสารมลายู “ใหม่” และได้ค้นพบความจริงที่ว่า แท้จริงแล้วเอกสารมลายูประเภทวรรณกรรมเช่นฮิกายัตนี้ หาใช่บรรจุแต่เรื่องไร้สาระ ปรัมปรา ชนิดที่ว่าหาความจริงไม่ได้เลยทีเดียว

พวกเขาเสนอว่า แทนที่จะตัดสินด้วยมุมมองอย่างชาวตะวันตกเจ้าอาณานิคม ที่มีพื้นฐานแนวคิดเรื่องการประพันธ์ประวัติศาสตร์นิพนธ์คนละแบบกับโลกมลายูในช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 19 “ฮิกายัต” ควรต้องอ่านด้วย “มุมมองแบบมลายู” จึงจะถูกต้องกว่า

ซึ่งบรรดานักวิชาการรุ่นหลังก็พบว่า งานประเภทนี้มีคุณค่าในตัวมันเอง นอกจากแฝงไปด้วยการอ้างสิทธิ์ความชอบธรรมของกษัตริย์ในราชวงศ์นั้นๆ แล้ว ยังกล่าวถึงธรรมเนียมประเพณีอย่างมลายูดั้งเดิม (adat) กระทั่งการแฝงถึงนัยหรือสัญญะทางอำนาจ ที่ผู้ประพันธ์หรือเรียบเรียงฮิกายัตไม่สามารถกล่าวถึงได้ตรงๆ เพราะเหตุผลทางการเมือง อาทิ นัยแฝงของ “ครุฑ” ที่“ฮิกายัต มะโรง” กล่าวถึง นั่นก็คือ “สยาม” ซึ่งก็พ้องกับราชวงศ์ไทรบุรีเองที่แทนตัวเองว่าเป็นราชวงศ์มะโรงหรือ “งูใหญ่” (สอดคล้องกับตำนานเมืองนครศรีธรรมราชที่กล่าวไปแล้วว่า ไทรบุรีมีสัญลักษณ์เป็นงูใหญ่)

นอกจากนั้น จุดประสงค์ของการเขียน  “ฮิกายัต มะโรงฯ” ก็ไม่ใช่แบบเดียวกับที่ประวัติศาสตร์นิพนธ์ตะวันตกทำกัน หากพิจารณาตามเนื้อหาแล้ว “ฮิกายัต มะโรงฯ” กำลังสื่อสารตำนานที่แฝงไปด้วยคำสอนแบบจารีตมลายูไปสู่ทั้งกับกษัตริย์ของไทรบุรี ขุนนางไทรบุรี และประชาชนไทรบุรี ในทำนองที่ว่า กษัตริย์จะต้องปกครองอย่างเป็นธรรม อาณาประชาราษฎร์จะได้รับความสันติสุข ส่วนบรรดาขุนนางก็สามารถถอดถอนกษัตริย์ได้หากทรงประพฤติชั่ว (เช่นกรณีรายาเบอริเซียง-รายาเขี้ยว) แต่ขุนนางก็ต้องห้ามตั้งตัวเป็นเจ้าเสียเอง และต้องหารัชทายาทในราชวงศ์ศรีวังสามาสืบต่อเป็นกษัตริย์เท่านั้น สำหรับประชาชนทั่วไปแล้ว มีหน้าที่ที่จะต้องจงรักภักดีกับกษัตริย์ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเพิ่งมาพบด้วยตัวเองจากการอ่าน “ฮิกายัต มะโรงฯ” ใหม่อีกรอบว่า วรรณกรรมชิ้นนี้ได้สื่อสารไปยังราชสำนักสยามในช่วงรัชกาลที่ 3-4 ด้วยว่า ราชวงศ์ไทรบุรีเคารพรักสยามมาก และจะถวายความจงรักภักดีนี้สืบไป (เนื้อหาจากตอนที่ไทรบุรีส่งบุหงามาสแก่สยาม) นอกจากนั้น สายตาของราชสำนักไทรบุรีใน “ฮิกายัต มะโรงฯ” ยังยกให้สยามเป็นบ้านพี่เมืองน้องกับไทรบุรี และเป็นผู้มีพระคุณกับพวกเขา (จากตอนที่กองทัพสยามและแม่ทัพอสูรของกษัตริย์สยามช่วยไทรบุรีปราบปรามทัพคนป่าและโจรสลัด) แต่ก็มีข้อแม้ว่า ราชสำนักสยามจะต้องแต่งตั้งให้เจ้าที่มาจากเชื้อสายศรีวังสาเท่านั้นขึ้นเป็นกษัตริย์ของไทรบุรีต่อไปได้

ดังนั้น การศึกษา “ฮิกายัต มะโรงฯ” ในฐานะงานเขียนประวัติศาสตร์และแนวคิดทางการเมืองในยุคจารีตของมลายูย่อมกระทำได้ และการใช้มุมมองแบบเจ้าอาณานิคมผิวขาวมาตัดสินดูถูกงานของชนพื้นถิ่น เห็นควรว่าจะเป็นที่ล้าสมัยไปแล้ว เช่น งานของ Sir Richard Winstedt (1938) หรืองานอันมีชื่อเสียงของ Paul Wheatley  ได้แก่ The Golden Khersonese (1961) โดยงานทั้ง 2 ชิ้น เป็นตัวอย่างของงานเขียนของคนผิวขาวที่ดูถูกภูมิความรู้ของชาวมลายูอย่างฉกรรจ์

เช่นนั้น การอ่านงาน “เก่าๆ” ด้วย “มุมมองใหม่ๆ” ก็ย่อมทำให้เราได้รับความรู้หรือแง่คิดบางอย่างที่นักวิชาการรุ่นก่อนเคยมองข้ามมาแล้วก็เป็นได้

อ้างอิง :

[1] พงศาวดารเมืองไทรบุรี (ตามฉบับที่มีอยู่ศาลาลูกขุน).
[2] ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช.
[3] ชุลีพร วิรุณหะ. บุหงารายา. (กรุงเทพฯ : ศักดิโสภาการพิมพ์). 2553
[4] พรรณงาม เง่าธรรมสาร. การปกครองหัวเมืองภาคใต้ทั้ง 7 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. วิทยานิพนธ์แผนกอักษรศาสตร์มหาบันทิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2519.
[5] ตำนานเมืองไทรบุรีและปัตตานี. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายวิจิตร นะมาตร์ ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริย์ริยาราม วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2509.
[6] Azhar Ibrahim. Historical imagination and cultural responses to colonialism : A critical Malay(sian) perspective. (Selangor : SIRD) 2017.
[7] Anthony Milner. Kerajaan: Malay Political Culture on the Eve of Colonial Rule. (2016)
[8] Fiction or facts: Hikayat Merong Mahawangsa (The Kedah Annals) in the view of current civilization value / Dr. Arba’iyah Ab. Aziz. International Journal of INTI. Vol.21 (2016).
[9] Paul Wheatley. The Golden Khersonese. (1961).

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า