‘สิทธิความเป็นมนุษย์’ ที่ชาวไทยอิสลามถูกลิดรอน ด้วยนโยบายรัฐนิยมของคณะราษฎร

นโยบาย “รัฐนิยม” ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วงแรก เป็นนโยบายที่เน้นความเป็นชาตินิยมในลักษณะที่รุนแรงสุดโต่ง จนสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นกับชนกลุ่มน้อยในประเทศไทยโดยเฉพาะชาวไทยมุสลิมภาคใต้ จากที่เคยได้รับการดูแลในฐานะพลเมืองไทยอย่างเท่าเทียมมาตั้งแต่ยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กลายมาเป็นถูกกดขี่และบีบคั้นทางด้านศาสนาอย่างไม่เป็นธรรม

ต่อมาหลังจากที่จอมพล ป. ลงจากตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. 2487 อันเนื่องมาจากร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดระเบียบบริหารราชการนครเพชรบูรณ์ และ ร่างพระราชบัญญัติพระราชกำหนดสร้างพุทธบุรีมณฑล ซึ่งแพ้คะแนนเสียงในสภาจนทำให้จอมพล ป. ต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรี ต่อมาได้เกิดการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างคณะราษฎรฝ่ายทหารและพลเรือน ผลปรากฏว่ากลุ่มคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนซึ่งนำโดยนายปรีดี พนมยงค์ ได้เข้ามามีอำนาจแทนในระหว่างปี พ.ศ. 2487 – 2491

โดยในช่วงนี้ ถือเป็นช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายในลักษณะผ่อนปรนมากกว่าช่วงแรก มีการประนีประนอมและเพิ่มสิทธิให้กับชาวไทยมุสลิมในการเข้ารับราชการ รวมถึงการยอมรับข้อเสนอต่างๆ ถือเป็นช่วงของการอุปถัมภ์ชาวอิสลามหลังจากที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมและรุนแรงจากรัฐบาลจอมพล ป. และส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศในกรณีเหตุการณ์กบฏดุซงญอ

รัฐบาลภายใต้การนำของนายปรีดีฯ ได้ประกาศใช้มาตรการหลายอย่างเพื่อลดกระแสความขัดแย้งที่อาจจะนำไปสู่การแบ่งแยกในที่สุด และเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 รัฐบาลได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติอุปถัมภ์ฝ่ายอิสลามขึ้น

แต่อย่างไรก็ดี มาตรการเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นการอุปถัมภ์และควบคุมไปพร้อมๆ กัน เพื่อหวังผลทางการเมือง

การเข้ามามีบทบาทของรัฐในขณะนั้น แยกออกได้เป็น 2 มุมมองคือ เป็นความพยายามในการลบภาพความรุนแรงที่เกิดจากนโยบายรัฐนิยมของจอมพล ป. ระหว่างปี พ.ศ. 2481 – 2487 และในอีกด้านคือ เป็นการเข้าไปควบคุมกิจการทางศาสนา หรือควบคุมบทบาทของผู้นำทางศาสนา ให้อยู่ในการดูแลชองรัฐบาลผ่านพระราชบัญญัติอุปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ. 2488 โดยใน พรบ.ฉบับนี้ ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทยขึ้น เพื่อเป็นสถาบันการศึกษาเกี่ยวกับศาสนาอิสลามของประเทศ รวมถึงแต่งตั้งตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ซึ่งถือเป็นผู้ทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงระหว่างชาวมุสลิมกับรัฐบาล

โดยการกำหนดนโยบายการศึกษาแบบอิสลามนั้น จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงศึกษาธิการ และตำแหน่งจุฬาราชมนตรีจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐมนตรีมหาดไทย

และพระราชบัญญัติอุปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม มาตรา 5, 6 และ 7 ยังได้กำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดขึ้น เพื่อให้คำแนะนำแก่รัฐบาลและกรรมการจังหวัดในข้อราชการที่เกี่ยวข้องกับชาวมุสลิมโดยตรง ซึ่งปรากฏว่า การแต่งตั้งถอดถอนตำแหน่งคณะกรรมการอิสลามนี้ จะต้องเป็นไปตามคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเช่นเดียวกัน ด้วยข้อกำหนดดังกล่าวผลที่ตามมาคือ ผู้นำทางศาสนาคนใดที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่มีความไว้วางใจก็จะไม่ได้รับการแต่งตั้ง และจะไม่มีบทบาทในการให้คำปรึกษา

ดังนั้น พรบ.ดังกล่าวจึงไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาให้ชาวบ้านอย่างแท้จริง หากแต่เป็นการมุ่งแก้ปัญหาชาตินิยมมลายูที่กำลังเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐในขณะนั้น อันเนื่องมาจากกระแสการเข้ามามีบทบาทของอังกฤษในมลายา

ความพยายามของรัฐบาลในการอุปถัมภ์ศาสนาอิสลามโดยออกพระราชบัญญัติขึ้นนั้น เป็นกรณีของเหรียญที่มี 2 ด้าน ด้านหนึ่งเป็นการลบภาพความรุนแรงแบบเก่าในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และในอีกด้านหนึ่ง เป็นการเข้าไปจัดการกิจการทางศาสนาให้มีโครงสร้างที่ชัดเจนและอยู่ในการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดของรัฐบาล

ผลที่ตามมาคือ ชาวบ้านต่างเกิดความรู้สึกว่ารัฐบาลไม่ได้ดูแลพวกเขาอย่างจริงใจ ทำให้เกิดความแปลกแยก และส่งผลให้เกิดการต่อต้านในรูปแบบต่างๆ ทั้งการเรียกร้องสิทธิการปกครองตนเอง การเข้าร่วมกับกองกำลังอังกฤษเพื่อหวังให้เป็นทางออกในการเข้าร่วมกับรัฐมลายา การปราศรัยในที่สาธารณะ และการอพยพย้ายถิ่นเข้าไปในมลายา

ต่อมารัฐบาลได้ยกร่างกฎหมายครอบครัวและมรดก พ.ศ. 2489 แทนที่การใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเนื้อหาที่ว่าด้วยครอบครัวในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้มีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2489 กฎหมายฉบับนี้นำมาซึ่งการไม่ยอมรับและไม่ให้ความร่วมมือจากผู้นำทางศาสนาอิสลาม และถูกมองว่าเป็นการเข้าไปก้าวก่ายกิจการทางศาสนาอิสลามของรัฐบาล

และจากปัญหาที่เกิดขึ้นจากกฎหมายฉบับนี้ได้ทำให้ ฮัจยีสุหลง อับดุลกอเดร์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีบทบาทโดดเด่นในการเคลื่อนไหวทางการเมืองและเป็นผู้ที่มีบทบาทในการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวมลายูมุสลิม ได้ออกมาคัดค้านกฎหมายดังกล่าว รวมถึงคัดค้านการแต่งตั้งดาโต๊ะยุติธรรมที่ไม่ได้รับการเห็นชอบจากอิหม่ามหรือผู้ที่มีความรู้ทางศาสนา

ฮัจยีสุหลง ได้ยื่นคำร้องทั้งหมด 7 ข้อ ต่อรัฐมนตรีมหาดไทย และต่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่คือ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2490 โดยมีรายละเอียดดังนี้

  1. ขอให้แต่งตั้งบุคคลคนหนึ่งซึ่งมีอำนาจเต็มมาปกครองใน 4 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล โดยให้มีอำนาจที่จะปลด ระงับ หรือโยกย้ายข้าราชการได้ บุคคลผู้นี้จะต้องถือกำเนิดในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งของ 4 จังหวัด และจะต้องได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนใน 4 จังหวัดนั้น
  2. ข้าราชการใน 4 จังหวัด จะต้องเป็นมุสลิมจำนวน 80%
  3. ให้ใช้ภาษามลายูและภาษาไทย เป็นภาษาราชการของ 4 จังหวัด
  4. ให้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษากลางของการสอนในโรงเรียนชั้นประถม
  5. ให้ใช้กฎหมายมุสลิมในศาลศาสนาแยกออกไปจากศาลจังหวัด ซึ่งเคยมีผู้พิพากษาเป็นมุสลิม (Kathi) นั่งพิจารณาร่วมด้วย
  6. ภาษีเงินได้และภาษีทั้งปวงที่เก็บจากประชาชนทั้งจังหวัด จะต้องใช้จ่ายเฉพาะใน 4 จังหวัดเท่านั้น
  7. ให้จัดตั้งคณะกรรมการมุสลิม มีอำนาจเต็มในการดำเนินการเกี่ยวกับคนมุสลิมทุกเรื่อง โดยให้อยู่ในอำนาจสูงสุดของผู้นำตามข้อ 1.

การเรียกร้องเหล่านี้เกิดขึ้นจากสาเหตุที่ราษฎรไทยมุสลิมในขณะนั้นต่างถูกเจ้าหน้าที่กดขี่อย่างหนัก หากมีอะไรที่สร้างความไม่พอใจแก่เจ้าหน้าที่ก็จะถูกใส่ร้ายในคดีผิดกฎหมาย บ้างก็ถูกจับกุมพาไปยิงทิ้งกลางทางด้วยข้อหาต่อสู้เจ้าหน้าที่ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับชาวบ้านแค่ 2-3 คน แต่เกิดขึ้นกับคนนับสิบในทุกๆ อำเภอ ที่หากไปเจรจาหรือขอร้องต่อหัวหน้าเจ้าหน้าที่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ที่ไปเจรจานั้นก็มักจะโดนใส่ร้ายด้วยข้อหาที่หนักขึ้น

สำหรับการรวมตัวกันต่อต้านรัฐเป็นครั้งแรกของชาวไทยมุสลิม เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “กบฏดุซงญอ” (Dusun Nyur Rebellion) ซึ่งเริ่มจากการที่ฮัจยีสุหลง (Haji Sulong หรือ Sulong Bin Abdul Kadir Mohammad el Patani) ประธานสภาอิสลามจังหวัดปัตตานีได้ก่อตั้ง “ขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาชนปัตตานี” ขึ้นในปี พ.ศ. 2490 และต่อมาเขาได้ถูกจับกุมในข้อหากบฏ

โดยก่อนหน้าการจับกุมนั้น ฮัจยีสุหลงได้มีความพยายามแต่งตั้งให้ เตงกู มะไฮยิดดิน เป็นตัวแทนไปเจรจากับทางรัฐบาล เพื่อให้เข้าใจในจุดประสงค์ของข้อเรียกร้องที่ชัดเจนขึ้น โดยเนื้อหาในจดหมายที่ฮัจยีสุหลงมีไปถึงเตงกู มะไฮยิดดิน เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2491 มีดังนี้ …

“เราชาวไทยอิสลามในการปกครองของสยาม ขอบอกแก่ท่านว่าเราไม่สามารถที่จะทนทานต่อความอยุติธรรม ความทุกข์เข็ญ การกดขี่ และการสูญเสียอิสรภาพส่วนบุคคลที่ข้าราชการและรัฐบาลสยามกระทำต่อเราได้อีกต่อไป แม้ว่าเราจะได้เคยวิงวอนต่อข้าราชการและรัฐบาลสยามมาหลายครั้งหลายหนแล้วให้มอบสิทธิเช่นมวลมนุษย์ทั้งหลายให้แก่เรา แต่เรากลับมิได้ข่าวที่น่าพึงพอใจเลย ไม่มีแม้แต่คำตอบ ดังนั้น เราขอมอบอำนาจเต็มตลอดจนสิทธิที่จะกระทำใดๆ ที่เป็นไปได้และที่เหมาะสมอันจะตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของเรา เพื่อว่าเราจะสามารถมีชีวิตอยู่เช่นมนุษย์ทั้งหลายในโลกนี้ มีอิสรภาพส่วนบุคคล ได้เชื้อชาติมลายูและศาสนาอิสลามกลับคืนมา ด้วยความมุ่งหมายและปรารถนาเช่นนี้ พวกเราแต่ละคนภายใต้ลายเซ็นหรือลายมือชื่อนี้ ขอแต่งตั้งท่านด้วยความเต็มใจให้เป็นตัวแทนข้างต้น”

จะเห็นได้ว่า แม้ข้อเรียกร้อง 7 ข้อ ของฮัจยีสุหลง อาจเป็นไปได้ยากในการบรรลุข้อตกลงเมื่อมองในมุมมองของรัฐบาล แต่หากพิจารณาให้ลึกลงไปโดยเฉพาะจดหมายข้างต้น ความต้องการของพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการขอสิทธิความเป็นมนุษย์ อิสรภาพ และอิสระในด้านเชื้อชาติ ซึ่งจริงๆ แล้วย่อมเป็นสิทธิโดยธรรมชาติที่ไม่มีผู้ใดสามารถพรากไปได้ ซึ่งจดหมายฉบับนั้นเป็นความพยายามที่จะเจรจากับรัฐบาลเพื่อขอในสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องขอ เพราะมันคือสิทธิมนุษยชนที่พึงได้รับจากรัฐอยู่แล้ว

และเนื้อหาในจดหมายยังได้สะท้อนอะไรบาอย่าง นั่นคือความพยายามในการใช้ทูตหรือการเจรจาเพื่อหาความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งหลายคนอาจเคยเห็นแค่ด้านของการใช้ความรุนแรงเข้าจัดการหรือเรียกร้องต่อรัฐบาล แต่จดหมายฉบับนี้ถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า มีความพยายามเจรจาร้องขอความยุติธรรมจากรัฐหลายครั้งหลายหนด้วยสันติวิธี ซึ่งถ้าหากรัฐบาลคณะราษฎรยอมประนีประนอมและแก้ปัญหาให้พวกเขาด้วยความจริงใจ ก็น่าจะทำให้ความบีบคั้นของชาวไทยมุสลิมที่เกิดจากนโยบายรัฐนิยม ได้คลี่คลายไปในทิศทางที่เหมาะสมกว่าที่เป็นอยู่

ที่มา :

[1] สุรินทร์ พิศสุวรรณ, “นโยบายประสมประสานชาวมาเลย์มุสลิมในประเทศไทยสมัยรัตนโกสินทร์”, หน้า 9
[2] กนกวรรณ อรรถการุณพันธ์, “การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้: กรณีศึกษากองอำนวยการเสรอมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภคใต้ (กอ.สสส.จชค.) ภายใต้การนำของ พลเอกสิริชัย ธัญญสิริ” หน้า 72
[3] อัลหะยีมูฮัมหมัด ฟะฎอนี, รวมแสงแห่งสันติ, (ปัตตานี : เซาดาราเปรสส์, 2501) หน้า 3
[4] สุรชาติ บำรุงสุข, “การก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย: ปัญหาและพัฒนาการ” หน้า 10
[5] Enclosed in Mahyiddin to B.W.Jone, Jones Papers

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้