ตอนที่ 1 : กลยุทธถ่วงดุลชาติอาณานิคม กับการเดินทางครึ่งโลกของ รัชกาลที่ 5

ในปี พ.ศ. 2411 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้เป็นพระบรมชนกนาถของในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์และเหล่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ได้กราบบังคมทูลเชิญพระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม โดยมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 11 พฤศจิกายน ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ หรือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เนื่องจากทรงพระเยาว์ มีพระชนม์เพียง 15 พรรษา 10 วัน ที่ประชุมจึงแต่งตั้งให้ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นเวลา 5 ปี

ช่วงเวลา 5 ปีนี้ พระองค์ได้เสด็จประพาสสิงคโปร์ ชวา พม่า และอินเดีย โดยมีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรแบบอย่างที่เหมาะสม เพื่อนำมาปรับปรุงบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า ทรงทราบเป็นอย่างดีว่าประเทศเพื่อนบ้านของพระองค์ล้วนตกเป็นเมืองขึ้นแก่ชาติมหาอำนาจทั้งสิ้น กล่าวคือ ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และพม่า ตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษ (สหราชอาณาจักร) ส่วนประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนามได้ตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศฝรั่งเศสกันหมดแล้ว

แต่ด้วยพระปรีชาสามารถด้านภาษาและความเป็นผู้ทรงธรรม พระองค์จึงสามารถรวมใจชาวสยามให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ทำให้ประเทศรอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นในสมัยนั้น

ในปี พ.ศ. 2416 เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงบรรลุนิติภาวะ ทรงได้รับถวายพระราชอำนาจคืนในการบริหารประเทศ โดยพระองค์ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นเวลา 15 วัน ถือเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในราชวงศ์จักรีที่ทรงผนวชขณะเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ (องค์ที่ 2 คือ ในหลวงรัชกาลที่ 9)

เมื่อทรงลาสิกขาบทแล้ว ก่อนทรงเริ่มบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เอง ได้มีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 16 ตุลาคม และในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้เอง ได้มีสิ่งอันเป็นที่ประทับใจผู้ที่ได้เข้าร่วมก็คือ

“มีพระบรมราชโองการให้ขุนนางที่หมอบเฝ้าอยู่ในท้องพระโรงลุกขึ้นยืนเฝ้า เช่นเดียวกับชาวยุโรปที่ได้รับเชิญมาร่วมพระราชพิธี”

อาจกล่าวได้ว่า เป็นการยกเลิกประเพณีหมอบคลานกันตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นประเด็นสำคัญที่แสดงถึงพระราชประสงค์ของพระองค์ ที่ทรงต้องการพัฒนาประเทศให้ทันสมัยดั่งชาติตะวันตก เพราะการหมอบกราบเป็นการแสดงถึงความล้าสมัย ไม่เป็นสากลนิยมนั่นเอง

เมื่อทรงราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เองแล้ว ทรงเห็นว่าเดิมมีเสนาบดีบริหารงานเพียง 6 ตำแหน่ง ย่อมไม่เพียงพอกับกิจการบ้านเมืองที่เจริญก้าวหน้าขึ้นมาก ปัญหาอีกอย่างคือ ส่วนราชการมีงานที่สับสน บางกรมงานมาก บางกรมไม่มีงานทำ งานทหารกับพลเรือนปะปนกัน ฯลฯ

และด้วยทรงตระหนักว่าถ้าบริหารบ้านเมืองเพียงลำพัง “ก็จะไม่ใคร่สำเร็จไปได้ ถ้ามีผู้ช่วยกันคิดหลายปัญญาแล้ว การซึ่งรกร้างมาแต่เดิมก็ได้ปลดเปลื้องไปทีละน้อยๆ ความดีความเจริญก็จะบังเกิดแก่บ้านเมือง” ดังนั้น พระองค์จึงทรงปรับปรุงบ้านเมืองตามแนวพระราชดำริที่ทรงวางไว้

ในปี พ.ศ. 2417 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งสภาขึ้น 2 สภา คือ

  1. สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) มีหน้าที่ถวายคำปรึกษาและความเห็นต่างๆ แล้วออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ ต่อมาได้ทรงตราพระราชบัญญัติรัฐมนตรี ยกเลิกสภา ให้ใช้รัฐมนตรีสภาแทน
  2. สภาที่ปรึกษาในพระองค์ (Privy Council) มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาส่วนพระองค์ คอยเสนอความเห็นต่างๆ เป็นการส่วนพระองค์

ในปี พ.ศ. 2430 โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยา เทวะวงศ์วโรปการ เสด็จแทนพระองค์ไปงานฉลองราชสมบัติครบรอบ 50 ปี ของสมเด็จพระราชินีนาถวิคตอเรีย ประเทศอังกฤษ และรับสั่งให้พิจารณาแบบอย่างคณะเสนาบดีของชาติต่างๆ ในยุโรปมาด้วย

ในปี พ.ศ. 2431 ทรงเริ่มการทดลองปฏิรูปการปกครองแบบใหม่ขึ้น โดยยกเลิกแบบแผนการปกครองที่มีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ที่แบ่งงานเป็น 6 กรม แล้วปรับเป็น 12 กระทรวงแบบสากล ดำเนินงาน 4 ปี

ในปี พ.ศ. 2435 วันที่ 1 เมษายน โปรดเกล้าฯ ให้มีการปฏิรูปการปกครองอย่างถาวร ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น

ตลอดช่วงระยะเวลาหลายปี ในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้ทรงจัดตั้งเปลี่ยนแปลง ปฏิรูปบ้านเมืองไปมากมายหลายด้านสู่ความเป็นสากล ทั้งด้านกฎหมาย ศาล สาธารณสุข โรงพยาบาล เศรษฐกิจธนาคาร การคมนาคม การไปรษณีย์ โทรเลข การเกษตรชลประทาน การให้การศึกษาแก่ข้าราชการและราษฎร รวมถึงวัฒนธรรมเครื่องแต่งกาย เป็นต้น

จากที่กล่าวมาจะสังเกตได้ว่า การเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างมากมายในขณะนั้น สาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือ เพื่อให้รอดพ้นจากการถูกล่าอาณานิคมจากชาติมหาอำนาจตะวันตก แต่ที่สุดแล้ว ในปี พ.ศ. 2436 สยามก็มิอาจต้านทานการรุกรานอย่างหนักของฝรั่งเศส ที่ได้ล่วงล้ำอธิปไตยนำเรือรบเข้าปิดอ่าวไทยในที่สุด อันนำไปสู่การเจรจาต่อรองในเบื้องต้น โดยสยามได้ยอมเสียอาณาบริเวณบางส่วนของประเทศ เพื่อรักษาเอกราชและชีวิตของราษฎรไม่ให้ถูกผลกระทบและสูญเสียจากสงคราม

อย่างไรก็ตาม การรุกรานของฝรั่งเศสในครั้งนั้น ถือได้ว่าเป็นการรุกรานอย่างน่าสะพรึงกลัว อีกทั้งสยามยังต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการสู้รบเป็นจำนวนเงินถึง 2 ล้านฟรังก์ และต้องวางเงินประกันอีก 3 ล้านฟรังก์ การเสียเปรียบมากมายเหล่านี้ จึงนำไปสู่การตัดสินพระทัยครั้งสำคัญของในหลวงรัชกาลที่ 5

จากบทเรียนเรื่อง ร.ศ. 112 ตรง กับปี พ.ศ. 2436 ถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้พระองค์มีพระราชดำริที่จะ “คิดตั้งตัวใหม่” โดยมีพระราชหัตถเลขาของในหลวงรัชกาลที่ 5 ถึงพระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ลงวันที่ 3 กันยายน ร.ศ. 112 ความว่า …

“… เห็นการจำเป็นที่จะต้องไปประเทศยุโรปเสียแน่แท้ … เราจำเป็นต้องตั้งตัวทางโน้นแล้ว”

นี่คือจุดเริ่มต้นของการเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกของในหลวงรัชกาลที่ 5 ในดินแดนต่างทวีปซึ่งอยู่อีกซีกโลก เป็นเวลานานถึง 9 เดือน ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติพระราชกรณียกิจครั้งสำคัญในการดำเนินกุศโลบายป้องกันไม่ให้สยามตกเป็นเมืองขึ้นของเหล่ามหาอำนาจตะวันตกในขณะนั้น

ในตอนต่อไป พบกับเรื่องราวความสำเร็จในการเสด็จประพาสยุโรปของในหลวงรัชการที่ 5 เมื่อปี พ.ศ. 2440 ส่งผลให้สยามได้รับการยอมรับจากชาติตะวันตก และรอดพ้นจากอิทธิพลของลัทธิล่าอาณานิคมในเวลาต่อมา

ตอนที่ 2 : กลยุทธถ่วงดุลชาติอาณานิคม กับการเดินทางครึ่งโลกของ รัชกาลที่ 5

ที่มา :

[1] วัลลภ คล่องพิทยาพงษ์, เส้นทางบุญ 9 วัด 9 รัชกาล
[2] กองจดหมายเหตุ (2523) การเสด็จประพาสยุโรปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.ศ.116 เล่ม 1
[3] ประไพ รักษา, ผลของการเสด็จประพาสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีต่อการปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย (พ.ศ. 2411-2453.)
[4] พรสรรค์ วัฒนางกูร, ความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรสยามและราชสำนักยุโรปครั้งแรกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2440

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า