‘ศิลปาชีพ’ ความอยู่ดีกินดีที่ยั่งยืนของคนไทย จากมรดกหัตถกรรมชิ้นงามแห่งท้องถิ่น

ในปี พ.ศ. 2513 เกิดอุทกภัยที่จังหวัดนครพนม น้ำหลากล้นสองฝั่งแม่น้ำศรีสงครามเข้าท่วมไร่นาและบ้านเรือนของราษฎร ทำให้นาข้าวได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ราษฎรประสบความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส ความได้ทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ดังนั้น ทั้งสองพระองค์จึงได้เสด็จฯ โดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งไปยังจังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2513 เพื่อพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรที่ได้รับความทุกข์ยาก

ในครั้งนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชปรารภว่า การแจกของแก่ผู้ประสบภัยจะเปรียบเสมือนโยนก้อนหินเล็กๆ ลงแม่น้ำ เท่าใดจึงจะเพียงพอให้เขาได้อยู่รอด น่าจะหาอะไรให้เขาทำเพื่อมีรายได้สม่ำเสมอต่อไป

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงตระหนักในพระราชหฤทัยทันทีว่า คนเหล่านี้แม้ท่าทางจะยากจน แต่ก็ใส่ผ้าไหมมัดหมี่กันหมด จึงควรส่งเสริมให้ทำงานฝีมือที่เขาคุ้นเคย คือการทอผ้าไหมมัดหมี่ไว้เป็นอาชีพเสริมให้แก่ชาวบ้าน เนื่องจากเป็นสิ่งที่ชาวบ้านมีความสามารถอยู่ในตัวอยู่แล้ว และได้รับการสืบทอดมาแต่ครั้งปู่ย่าตายาย กับทั้งวัสดุอุปกรณ์ทั้งหลายเป็นของหาได้ในท้องถิ่นแทบไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติมแต่อย่างใด เพียงสนับสนุนและส่งเสริมให้ชาวบ้านทอมากขึ้นจนพอนำออกขายได้ จะช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวในยามที่ไร่นาประสบภัยแล้งหรือน้ำท่วม นาล่ม ทำนาไม่ได้ผล หรือในยามว่างจากการทำไร่ทำนาได้ หรือแม้แต่ผู้ที่ไม่มีไร่นา ก็สามารถประกอบอาชีพนี้อยู่กับบ้านเพื่อเพิ่มรายได้แก่ครอบครัวได้อีกด้วย

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงชักชวนให้ชาวบ้านเริ่มทอผ้าไหมมัดหมี่นับตั้งแต่วันนั้น และมีพระราชกระแสกับชาวบ้านว่า จะทรงใช้ผ้าที่ชาวบ้านทอด้วยพระองค์เอง

ต่อมาทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ติดต่อ นายประสาร กิติศรีวรพันธ์ ชาวอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นผู้ที่ทำหน้าที่อธิบายพระราชดำรัสเป็นภาษาท้องถิ่นให้ชาวบ้านเข้าใจชัดเจนในวันเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรผู้ประสบภัย ให้รวบรวมผ้าไหมจากชาวบ้านที่เดือดร้อนไปส่งที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน โดยให้ชาวบ้านเขียนราคาผ้าของตนติดไปกับผ้าทุกผืน แล้วพระราชทานเงินค่าผ้ามากับนายประสารฯ เพื่อนำไปมอบให้แก่เจ้าของผ้าต่อไป

ในสมัยนั้น ผ้าไหมมัดหมี่ที่ทรงรับซื้อไว้ยังไม่ค่อยมีคุณภาพนัก มักมีลักษณะแคบสั้น และส่วนใหญ่สีตก แต่ก็ทำด้วยไหมพื้นเมืองแท้ๆ ราคาที่ราษฎรตั้งมาเพียงผืนละ 80-130 บาท เท่านั้น และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับซื้อไว้ทุกผืน ซึ่งนายประสารฯ ได้ทำหน้าที่รับซื้อผ้าจากราษฎรอำเภอศรีสงคราม อำเภอท่าอุเทน อำเภอนาหว้า และอำเภอเรณูนคร มาส่งทุกๆ 1-2 เดือน เนื่องจากต้องให้เวลาชาวบ้านทอ แต่ละคราวก็ได้ผ้าไหมมัดหมี่จากราษฎรประมาณ 40-50 ราย บางครั้งก็มีเชิงผ้าซิ่นที่เรียกว่า “ตีนจก” ปนมาด้วย โดยการรับ-ส่งผ้า และนำเงินไปมอบให้ชาวบ้านนี้กระทำอยู่ประมาณ 2 ปี

ต่อมาในปลายปี พ.ศ. 2515 พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ นางสนองพระโอษฐ์ ออกไปติดต่อรับซื้อผ้าไหมมัดหมี่ถึงบ้านของชาวบ้านในหลายๆ จังหวัด เริ่มจากจังหวัดนครพนมเป็นจังหวัดแรก โดยราชเลขานุการในพระองค์ฯ จะรับซื้อผ้าไหมทุกระดับฝีมือและให้ราคาที่ชาวบ้านพอใจ โดยในสมัยนั้นเริ่มต้นให้ราคาผืนละ 180-200 บาท เพื่อจูงใจให้ชาวบ้านมีกำลังใจที่จะทอผ้าไหมต่อไป จากนั้นก็จะให้รวบรวมผ้าไหมให้ได้มากที่สุดเพื่อเก็บไว้เป็นตัวอย่าง แม้จะเป็นผ้าที่ชาวบ้านใช้แล้วจนเก่าขาดก็ให้ขอซื้อมาสะสมไว้ นอกจากนี้ ยังมีพระราชเสาวนีย์ให้เก็บรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ทอ จึงต้องมีการติดชื่อ อายุ และที่อยู่ของผู้ทอไว้ที่ผ้าทุกผืน

ไม่เพียงแต่ผ้าไหมมัดหมี่เท่านั้น ยังมีการรับซื้อผ้าโสร่งไหม ผ้าขาวม้าไหม ผ้าไหมพื้น ผ้าฝ้ายและผ้าทอมือประเภทต่างๆ ที่ชาวบ้านผู้ยากจนนำมาขายอีกด้วย เมื่อราชเลขานุการในพระองค์ฯ กลับถึงกรุงเทพฯ แต่ละครั้ง จะนำผ้าขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทอดพระเนตร สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถจะทรงคลี่ผ้าเหล่านั้นออกทอดพระเนตรทีละผืน และทรงติชมรวมทั้งพระราชทานคำแนะนำต่างๆ ให้ราชเลขานุการในพระองค์ฯ นำไปแจ้งแก่ชาวบ้านต่อไป

ด้วยวิธีการเช่นนี้ ผ้าไหมมัดหมี่จึงค่อยๆ พัฒนาคุณภาพดีขึ้นและสวยงามได้มาตรฐานเป็นที่ต้องการของประชาชนทั่วไปในเวลาต่อมา

โครงการส่งเสริมอาชีพศิลปหัตถกรรมที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงอำนวยการอยู่นี้ ได้ขยายการดำเนินงานกว้างขวางมากขึ้นเป็นอันมาก อีกทั้งต้องใช้จ่ายพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อโครงการเหล่านี้เป็นจำนวนมหาศาล ข้าราชบริพารและผู้มีจิตศรัทธาจึงได้รวมเงินจำนวนหนึ่งนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงใช้จ่ายในโครงการนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินารถ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งเป็นมูลนิธิขึ้น เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 และพระราชทานนามว่า “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในพระบรมราชินูปถัมภ์” (The Foundation for the Promotion of Supplementary Occupations and Related Techniques under the Royal Patronage of Her Majesty the Queen) และมีชื่อภาษาอังกฤษว่า “SUPPORT”

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับเป็นองค์ประธานมูลนิธิ ด้วยทรัพย์สินของมูลนิธิที่เริ่มจากเงินส่วนพระองค์จำนวน 1,000,000 บาท ที่พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เป็นทุนก่อตั้ง และต่อมามูลนิธิได้ขอพระราชทานแก้ไขชื่อใหม่เป็น “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ” (The Foundation for the Promotion of Supplementary Occupations and Related Techniques of Her Majesty Queen Sirikit of Thailand)

ต่อมารัฐบาลได้ประจักษ์ถึงคุณประโยชน์ของโครงการศิลปาชีพฯ จึงได้พิจารณาจัดตั้งกองศิลปาชีพขึ้นในสำนักราชเลขาธิการ เมื่อปี พ.ศ. 2528 เพื่อสนับสนุนงานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ โดยกองศิลปาชีพมีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินงานร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในการจัดหาอาชีพเสริมให้แก่ราษฎรที่ยากจนทั่วทุกภาคของประเทศ และฟื้นฟูศิลปหัตถกรรมไทยให้แพร่หลาย โดยดำเนินการสอนศิลปาชีพแขนงต่างๆ แก่สมาชิก ในโรงฝึกศิลปาชีพสวนจิตรลดา โรงฝึกศิลปาชีพตามพระราชฐาน และศูนย์ศิลปาชีพทั่วประเทศ

อีกทั้งยังได้จัดตั้งกลุ่มศิลปาชีพในชนบท เพื่อพิจารณารับราษฎรผู้ไม่มีรายได้แน่นอนเข้าเป็นสมาชิก และจัดส่งวัสดุอุปกรณ์ในการผลิตให้แก่สมาชิกที่ขาดแคลนกำลังทรัพย์ รวมถึงรับซื้อผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพจากสมาชิกและจัดหาตลาดรองรับอีกด้วย โดยดำเนินงานควบคู่ไปกับการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพให้ได้มาตรฐาน จัดทำสถิติข้อมูล เอกสารเผยแพร่ และจัดหาสื่อในการประชาสัมพันธ์ผลงานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพทุกชนิด

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ยังทรงให้ความสำคัญในด้านการติตดามผลและการประเมินเป็นอย่างมาก เช่น เมื่อพระองค์เสด็จฯ แปรพระราชฐานในแต่ละภูมิภาคของประเทศ จะทรงโปรดฯ ให้ราษฎรที่เป็นสมาชิกโครงการศิลปาชีพฯ เข้าเฝ้าเพื่อนำผลงานมาเสนอ โดยพระองค์จะทรงตรวจความก้าวหน้าและพระราชทานคำแนะนำเพิ่มเติม ซึ่งถือเป็นกระบวนการติตดามผลรูปแบบหนึ่ง

ในการประเมินผลงานที่ราษฎรทำขึ้นนั้น จะทรงประเมินด้วยความเข้าใจสภาพของราษฎรอย่างแท้จริง ตัวอย่างเช่น ผลงานที่ยังไม่ได้คุณภาพพอ จะทรงติชมพร้อมทั้งเสนอวิธีการแก้ไข ซึ่งพระองค์ทรงดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน ดังที่พระราชทานพระราโชบายว่า …

“เมื่อทีแรกให้เขาทำต้องให้กำลังใจ และต้องปล่อยให้เขาทำตามความสามารถที่มีอยู่ ผลงานที่ออกมาอย่าเพิ่งไปเร่งรัดในเรื่องคุณภาพมากนัก เพราะเขายังมีความกังวลในสภาพครอบครัวและเกี่ยวกับงาน เมื่อทุกอย่างเข้าที่แล้วจึงจะเร่งรัดเรื่องคุณภาพ”

การที่ทรงดำเนินการดังกล่าว ก็เพื่อให้ผลิตภัณฑ์จากโครงการศิลปาชีพมีมาตรฐานและคุณภาพเป็นที่ยอมรับ เพราะก่อนการจำหน่ายสินค้า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถจะทรงให้มีการตรวจสอบสินค้าทุกขั้นตอน งานใดที่ยังไม่มีคุณภาพเพียงพอ พระองค์ท่านจะไม่ให้ออกสู่ตลาดจนกว่าจะมีการแก้ไขจนเป็นที่พึงพอพระราชหฤทัยก่อน สำหรับผลงานฝึกหัดที่ยังไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐาน จะทรงโปรดให้มีการแยกประเภทของผลิตภัณฑ์ให้เป็นหมวดหมู่ โดยบอกรายละเอียดที่ชัดเจนแก่ผู้ซื้อว่าเป็นผลงานฝึกหัด หากมีผู้ที่สนใจซื้อก็ให้ขายได้ในราคาที่ยุติธรรม

ด้วยการดำเนินการดังกล่าวตลอดจนการพัฒนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ทำให้การทอผ้าไหมมัดหมี่กลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้สม่ำเสมอให้แก่ราษฎรหลายครัวเรือน อีกทั้งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถยังทรงเป็นแบบอย่าง ด้วยการฉลองชุดพระองค์ด้วยผ้าไหมไทยไปทุกหนแห่ง รวมทั้งการเสด็จเยือนต่างประเทศในทุกครั้ง จนกระทั่งความงดงามของผ้าไทยกลายเป็นที่รู้จักและสร้างชื่อเสียงไปทั่วโลก

ทั้งหมดนี้ นอกจากเป็นการช่วยเหลือ สนับสนุนส่งเสริมให้ชาวบ้านได้มีอาชีพ มีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืนแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความตั้งพระทัยมุ่งมั่นของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูหัตถกรรมแบบไทยซึ่งเป็นมรดกท้องถิ่น ให้ธำรงรักษาไว้และสืบทอดต่อไปสู่ลูกหลานในอนาคต

ที่มา :

[1] สำนักราชเลขาธิการ, เป้าหมายและแผนงานประจำปีงบประมาณ 2537 หน้า 412
[2] กรมการศึกษานอกโรงเรียน, สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ “นักการศึกษาพัฒนา” หน้า 25-31

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ