ไขข้อข้องใจคำโต้แย้งกรณี “ปัตตานีไม่ใช่ลังกาสุกะ”

บทความ โดย จีรวุฒิ (อุไรรัตน์) บุญรัศมี

ตามที่คุณ Rozee ได้เขียนโต้แย้งในประเด็น “ปัตตานีไม่ใช่ลังกาสุกะ” ที่ผู้เขียนได้เขียนและเรียบเรียงลงในเว็บไซด์ ฤา นั้น (‘ปัตตานี’ ไม่ใช่ ‘ลังกาสุกะ’ คำยืนยันจากหลักฐานเก่าแก่แห่งพื้นถิ่นฯ) ผู้เขียนขอบคุณมากที่กรุณาโต้แย้งด้วยหลักการวิชาการ ที่มีการยกข้อมูลมาประกอบการให้เหตุผล

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนก็มิอาจจะคล้อยตามข้อมูลและความเห็นที่คุณ Rozee ยกขึ้นมาประกอบได้ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

ประเด็นที่ 1 – ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อความที่ปรากฏใน “ฮิกายัต มะโรง มหาวงศ์ – Hikayat Merong Mahawangsa” (พงศาวดารเมืองไทรบุรี-เคดาห์) นั้น ผู้เขียนยังยืนยันตามเดิมว่า เอกสารโบราณดังกล่าวได้ยืนยันหนักแน่นว่า “ลังกาสุกะ” ตั้งอยู่ในพื้นที่ของไทรบุรี (หรือรัฐเคดาห์) อย่างไม่ต้องสงสัย ดังข้อความที่ปรากฏใน “ฮิกายัต มะโรง มหาวงศ์” (ฉบับที่ปรากฏใน Journal of the Malayan Branch of the Royal Asiatic Society ปี พ.ศ. 2481) ว่า …

 “กษัตริย์มะโรง มหาวังษา ได้ขึ้นฝั่งที่แผ่นดินใหญ่ และทรงได้สถาปนาเมืองลังกาสุกะไว้ ณ พื้นที่ตรงข้ามกับปูเลาซะรี

และภายหลังที่กษัตริย์มะโรง มหาวังษา ได้พ่ายแพ้แก่บุตรคนโตของพระองค์ คือ มะโรง มหาโพธิสัตว์ ซึ่งต่อมาตำนานฉบับนี้ระบุว่าทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นกษัตริย์แห่งเมืองนี้ต่อจากพระราชบิดาที่เสด็จกลับเมืองโรม

มะโรง มหาโพธิสัตว์มีบุตรธิดาหลายพระองค์ ซึ่งต่อมาบุตรชายคนโตของมะโรง มหาโพธิสัตว์ได้รับการแต่งตั้งเป็นกษัตริย์แห่งสยาม ส่วนบุตรีได้ขึ้นเป็นราชินีแห่งปัตตานี (ปตานี) และท้ายที่สุด บุตรชายพระองค์ที่ 4 คือ ศรีมหาวังษา ก็ได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์แห่งไทรบุรี และต่อมาทรงได้ย้ายเมือง (ไทรบุรี) ออกจากลังกาสุกะอันเป็นพื้นที่ที่ห่างไกลจากทะเลไปยังพื้นที่อื่น

ทั้งนี้ “ฮิกายัต มะโรง มหาวงศ์” ฉบับดังกล่าว มีเนื้อหาสอดคล้องกับ  “ฮิกายัต มะโรง มหาวงศ์” ฉบับที่พอล เวตเลย์ คัดลอกมาอ้างอิงในปี พ.ศ. 2504 (ต้นฉบับตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษครั้งแรก พ.ศ. 2459) ได้ปรากฏข้อความว่า ภายหลังที่กษัตริย์มะโรงฯ ได้ขึ้นฝั่งบริเวณแหลมที่แวดล้อมด้วยเกาะต่าง ๆ อาทิ เกาะศรี (ปูเลาซะรี) เกาะชมพู่ (ปูเลา ยามู) และเกาะ ลาดา (ปูเลา ลาดา) แล้ว ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยให้ตั้งเมืองขึ้นในที่แห่งนี้ ต่อมาทรงขนานนามบาลาย (โถง) พระราชวัง แห่งนี้ว่า “ลังกาสุกะ” หลังจากนั้นกษัตริย์มะโรงฯก็เสด็จกลับไปกรุงโรม แต่ก่อนเสด็จก็ได้ทรงแต่งตั้งให้บุตรของพระองค์  (มะโรง มหาวังษา) เป็นพระมหากษัตริย์แทนและเรียกขานชื่อเมืองแห่งนี้ว่า “Kedah Zamin Dzuran” (หรือเมืองเคดาห์-ไทรบุรีนั่นเอง)

และเมื่อนำมาเทียบกับ “พงศาวดารเมืองไทรบุรี (ตามฉบับที่มีอยู่ศาลาลูกขุน)” ซึ่งได้จัดทำแปลขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะข้อความที่ระบุว่า …

เกดะนั้นเป็นภาษาแขกอาหรับแปลว่าจานดอกไม้ ที่ตั้งเมืองเรียกว่าลังกาซูก อยู่ทิศเหนือกวาลามุดา

เมื่อพิจารณาจากทั้ง 3 สำนวนนี้ควบคู่กันอย่างใจเป็นกลาง เป็นที่ชัดเจนจากปากคำของราชสำนักไทรบุรีโบราณว่า พวกเขามี “จิตสำนึกทางประวัติศาสตร์” (historical consciousness) ที่ว่า ไทรบุรีนอกจากทั้งเคยเป็นที่ตั้งของลังกาสุกะแล้ว ยังเป็น “รัฐโบราณ” ที่สืบทอดความชอบธรรม (legitimacy) และวงศาวิทยา (genealogy) มาจากปฐมกษัตริย์แห่งลังกาสุกะ (กษัตริย์มะโรง มหาวังษา) อย่างชัดเจนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉบับที่เวตเลย์อ้างถึงนั่นระบุไว้ชัดว่าลังกาสุกะเป็นชื่อของท้องพระโรง (บาลาย) ของเมืองไทรบุรีเก่า และด้วยเหตุนี้เมื่อมีการเท้าความถึงปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ไทรบุรี ก็จะต้องมีการ “สืบย่าน” ไปถึงปฐมกษัตริย์แห่งลังกาสุกะควบคู่กัน ทำนองเดียวกับที่กรุงรัตนโกสินทร์กล่าวอ้างการสืบทอดรัฐมาจากกรุงศรีอยุธยา หรือการที่กษัตริย์อยุธยาบางพระองค์อ้างว่าสืบทอดมาจากราชวงศ์อู่ทอง เป็นต้น ซึ่งกรณีกล่าวอ้างดังกล่าวไม่ปรากฏในตำนานหรือพงศาวดารของปัตตานี (ปตานี) แต่อย่างใด

นอกจากนั้น เว้นเสียจากที่ที่ตั้งของลังกาสุกะตามเอกสารนี้ระบุว่า ตั้งอยู่บริเวณปากน้ำมุดา (กวาลามุดา – กัวลามุดา – Kuala Muda) แล้ว เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า พื้นที่ตั้งของลังกาสุกะจะต้องเป็นพื้นที่ที่ปรากฏเกาะขนาดใหญ่ตั้งอยู่อย่างแน่นอน ทั้งเกาะปีนังและเกาะลังกาวีในไทรบุรี (เอกสารโบราณระบุชื่อว่าเกาะศรี เกาะชมพู่ เกาะลาดา)

อย่างไรก็ดี สภาพภูมิศาสตร์ของปัตตานีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันกลับไม่ปรากฏเกาะขนาดใหญ่พอที่จะอนุมานได้ว่าเป็น ปูเลาซะรี เกาะศรี” ได้เลย (ปูเลา – Pulau แปลว่า เกาะ)

อนึ่ง แม้ว่าบุตรีพระองค์หนึ่งของมะโรง มหาโพธิสัตว์จะได้เดินทางออกจากลังกาสุกะไปตั้งเมืองปัตตานี (ปตานี) อย่างไรก็ดี นี่ก็มิอาจนับได้ว่าเมืองปัตตานีจะเป็นรัฐสืบทอดจากลังกาสุกะเช่นไทรบุรีอ้างได้เลย เพราะทั้งราชสำนักปัตตานีและชาวเมืองกลับไม่มีจิตสำนึกทางประวัติศาสตร์ (historical consciousness) ในประเด็นดังกล่าว และเมืองโบราณเพียงเมืองเดียวที่ราชสำนักปัตตานีเท้าความหรืออ้างความเป็นรัฐสืบทอดถึง คือ เมืองโกตามหลิฆัยเท่านั้น

ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบจิตสำนึกทางด้านประวัติศาสตร์ที่ปรากฏจากตำนานประเภทพงศาวดารของรัฐมลายูทั้ง 2 รัฐ ระหว่างไทรบุรีกับปัตตานี ย่อมจะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่ารัฐใดมีความชอบธรรมที่จะเป็นทั้งรัฐสืบทอดและเป็นที่ตั้งของลังกาสุกะมากกว่ากัน ประเด็นนี้ผู้เขียนขอให้ผู้อ่านตัดสินใจเอาเอง

ประเด็นที่ 2 การที่คุณ Rozee ยกเรื่องการแบ่งลังกาสุกะเป็น 2 ฝั่ง ได้แก่ ชายฝั่งตะวันตก (ไทรบุรี) และตะวันออก (ปัตตานี) นั้น ผู้เขียนเห็นว่าเป็นการ “ตีความใหม่” ของนักวิชาการในช่วงหลัง พ.ศ. 2500 โดยเฉพาะงานของพอล เวตเลย์ (2504) เนื่องจากความอิหลักอิเหลื่อที่ไม่สามารถฟันธงได้ว่าที่ตั้งของเมืองลังกาสุกะตั้งอยู่ที่ใดกันแน่ ซึ่งในชั้นต้นเดิมก็เชื่อกันตามปากคำของฮิกายัตมะโรงฯ ของไทรบุรี แต่นักวิชาการฝรั่ง อาทิ เวลเลย์มีทัศนคติที่เป็นลบต่อเอกสารที่ชาวมลายูบันทึกเอง พวกเขามองว่าเอกสารการเดินเรือของจีนและอาหรับมีความถูกต้องแม่นยำกว่างานของพวกมลายู การแบ่งลังกาสุกะเป็น 2 ฝั่งจึงเริ่มมีหมุดหมายกำเนิดจากงานของเวตเลย์นั่นเองในห้วงหลัง พ.ศ. 2500 ลงมา

ต่อมาเมื่อมีการค้นพบเมืองเก่าที่บริเวณยะรัง จังหวัดปัตตานีขึ้น ทำให้ข้อถกเถียงเรื่อง “ลังกาสุกะตั้งอยู่ที่ใด” กลับมาเป็นประเด็นเผ็ดร้อนในห้วงที่ประเทศมาเลเซียกำลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ ในเวลานั้น นักวิชาการท้องถิ่นหลายท่าน อาทิ เสนีย์ มะดากะกุล และอับดุลเลาะห์ ลออแมน เชื่อว่าลังกาสุกะ คือเมืองเดียวกับ “หลั่งยะสิ่ว” ที่ปรากฏในเอกสารจีนในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-12 ต่อมาก็ตีความต่อไปว่าเป็นพื้นที่เดียวกับที่ตั้งเมืองปัตตานีในปัจจุบัน (ยะรัง) อย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี นักวิชาการฝ่ายไม่เห็นด้วยในเรื่องดังกล่าว อาทิ ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ได้แย้งว่าเมือง “หลั่งยะสิ่ว” นี้น่าจะเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ตะวันออกเฉียงใต้ของแคว้นศรีเกษตรในพม่า นั่นก็คือเมือง “นครชัยศรี” เนื่องจากเอกสารจีนของหลวงจีนอี้จิงระบุต่อไปว่า ทางทิศตะวันออกของหลั่งยะสิ่วคือเมืองทวาราวดี (โตโลโปตี) และหากหลั่งยะสิ่วตั้งอยู่ในปัตตานีจริง ทวาราวดี จามปา และอิสานปุระ ก็ต้องเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในทะเลเป็นแน่หากยึดตามตำแหน่งแห่งที่ที่ปรากฏในเอกสารจีนนี้ ดังนั้น ข้อสรุปข้างต้นของนักวิชาการฝ่ายดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ ผิดทิศผิดทางและขัดแย้งกับที่ปรากฏในเอกสารโบราณของหลวงจีนอี้จิง

ทั้งนี้ ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ถึงกับตัดพ้อถึงความละเลยต่อหลักฐานชั้นต้นดังกล่าวว่า ความเชื่อดังกล่าวนี้ (ว่าลังกาสุกะคือหลั่งยะสิ่ว) ได้รับการปลูกฝังให้ยึดถือว่าถูกต้องมาช้านานจนถึงทุกวันนี้

ส่วนเหตุผลที่นักวิชาการฝ่ายสนับสนุนการตีความว่า “ปัตตานี คือ ลังกาสุกะ และลังกาสุกะ คือ หลั่งยะสิ่ว” นั้น เพียงเพราะว่าในบริเวณอำเภอยะรัง มีการขุดพบร่องรอยของเมืองโบราณ แต่น่าเสียดายว่าทฤษฎีที่ว่านี้คงถูกปัดให้ตกไปเสียแล้ว เพราะการวิเคราะห์อายุของโบราณสถานเมืองเก่ายะรัง (ประแว) เป็นที่แน่ชัดแล้วว่ามีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ลงมาแล้ว หรือกล่าวสั้นๆ คือ หลักฐานทางวัตถุพยานกับเอกสารของหลวงจีนอี้จิง (พุทธศตวรรษที่ 11-12) กลับไม่สอดคล้องกันอย่างมีนัยสำคัญ

ดังนั้น เมื่อเมืองเก่ายะรังไม่สามารถเป็น “หลั่งยะสิ่ว” ได้ ผนวกกับที่ว่าไม่มีเอกสารใดที่ระบุเลยว่าเมืองเก่ายะรัง คือ “ลังกาสุกะ” ย่อมเป็นการหักล้างทฤษฎีที่เพิ่งสร้างขึ้นมาใหม่ว่าลังกาสุกะนั้นมี 2 ฝั่ง คือ ตะวันตกและตะวันออก ทั้งๆ ที่ไม่เคยปรากฏข้อมูลเช่นนี้ในเอกสารชิ้นใดเลย และหากเมื่อเปรียบเทียบโบราณสถานในเมืองเก่ายะรังกับเมืองเก่าเคดาห์ (ไทรบุรี) ในพื้นที่ลุ่มน้ำบูจาง (Bujang Velley) เขตกลัวลามูดา พบว่า ขณะที่เมืองเก่ายะรังมีทั้งขนาดที่เล็กกว่าและอายุน้อยกว่า กล่าวคือย้อนกลับไปเพียงพุทธศตวรรษที่ 18 แต่เมืองเก่าในเขตลุ่มน้ำบูจางและกลัวลามูลาในไทรบุรี อาทิ Candi Pengkalan Bujang กลับมีทั้งขนาด ความใหญ่โต ความอลังการ รวมทั้งมีอายุที่มากกว่า กล่าวได้ว่าอาจมีอายุเก่ากว่าพุทธศตวรรษที่ 17 เลยทีเดียว

ด้วยเหตุที่ว่ามานี้ ไม่ว่าจะในกรณีใดๆ ดูเหมือนว่าทฤษฎีที่ว่า “ลังกาสุกะตั้งอยู่ในปัตตานี” ยังเป็นรอง “ลังกาสุกะตั้งอยู่ในไทรบุรี” อยู่ทุกขุม แต่ถ้าอ้างว่าบรรยากาศ (sphere) ของลังกาสุกะอาจแพร่ขยายมาถึงปัตตานี (โบราณ) ได้ เช่นนี้อาจฟังได้ แต่ถึงอย่างไรลังกาสุกะย่อมไม่ใช่ปัตตานี ไม่ว่าจะมองด้วยแว่นแบบใดก็ตาม

ประเด็นที่ 3 สำหรับข้อความที่ว่า ผู้เขียน ปัตตานีไม่ใช่ลังกาสุกะฯ กล่าวแค่ว่า ลังกาสุกะตั้งอยู่ที่เคดะห์ อันนี้ถูกต้อง แต่กลับไม่พูดถึงว่า ชายฝั่งตะวันออกในบริเวณที่เป็นจังหวัดปัตตานี (รวมทั้งสงขลาและกลันตัน) ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของลังกาสุกะเช่นเดียวกันหากเราอิงตำนานมะโรงมหาวงศ์ ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ผู้เขียน ปัตตานีไม่ใช่ลังกาสุกะฯ ยังอ่าน เอกสารชั้นต้นไม่ครอบคลุม

ประเด็นนี้ขอตอบเพียงสั้นๆ ว่า ข้อความข้างต้นนี้ คุณ Rozee น่าจะทึกทักไปเอง เพราะถ้าคุณ Rozee อ่านเอกสารชั้นต้นทุกชิ้นจริงๆ ที่กล่าวถึงลังกาสุกะ จะพบว่ากรณีลังกาสุกะแบ่งเป็น 2 ฝั่งนี้ เป็นการวิเคราะห์และตีความของนักวิชาการช่วงหลัง พ.ศ. 2500 ไปแล้ว การกล่าวถึงพื้นที่ของสงขลาว่าเป็นของลังกาสุกะนี่เอามาจากไหน ผู้เขียนไม่เคยได้ยิน ทั้งนี้ การที่แบ่งลังกาสุกะออกเป็น 2 ฝั่ง อาจเพราะเหตุผลในเรื่องการออมชอมของนักวิชาการในสมัยนั้น (พ.ศ. 2510 ลงมา ซึ่งช่วงนั้นการวิเคราะห์อายุของเมืองเก่ายะรังยังไม่ปรากฏความชัดเจนหรือจะกรณีการเมืองใดๆ ก็ตามที หลักฐานดังกล่าวหาได้ปรากฏในปากคำของเอกสารชั้นต้นแต่อย่างใดว่าลังกาสุกะแบ่งเป็น 2 ฝั่งเช่นเดียวกับที่เกิดกับอาณาจักรเบแซนไทน์ในยุโรป

ประเด็นที่ 4 เมือง “โกตามหลิฆัย” ที่ปรากฏใน “ฮิกายัตปตานี – Hikayat Patani” (พงศาวดารราชสำนักปัตตานี) อาจเป็นเมืองเก่ายะรัง (ประแว) อันนี้เป็นสิ่งที่รับฟังได้ เนื่องจากเมื่อถอดรูปคำว่า “Kota Mahligai” ซึ่ง Kota มาจากคำว่า กุฎ ที่แปลว่า เมืองหรือป้อม ส่วน Mahligai หมายถึง วังหรือเมือง เมื่อรวมกันแล้ว มีความหมายตรงกับคำว่า “ประแว” ที่เป็นสำเนียงนายู (มลายู 3 จังหวัด) ที่กร่อนมาจากคำว่า “พระวัง/พระราชวัง” ในภาษาไทย

ในอีกด้านหนึ่ง อัมบราฮัม ชุรี ผู้เขียนหนังสือ “สยาเราะห์ เกอราจาอาน มลายู ปตานี” (ประวัติราชอาณาจักรมลายูปัตตานี) ให้ความเห็นว่าเมือง “โกตามหลิฆัย” น่าจะเป็นเมืองที่นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายานก็เป็นได้ และถึงแม้ว่าเมืองโกตามหลิฆัยอาจเป็นเมืองเก่ายะรัง (ประแว) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เมืองโกตามหลิฆัยจะเป็นเมืองเดียวกับที่ปรากฏในฮิกายัต มะโรง มหาวงศ์ หรือมีความเกี่ยวข้องกับเมืองลังกาสุกะในเอกสารของทางไทรบุรี ซึ่งการตีความฉาบฉวยเกินไปย่อมไม่เป็นผลดีต่อแนวทางการศึกษาประวัติศาสตร์

นอกจากนั้น ยังพบด้วยว่าหลักฐานโบราณบางชิ้นมองว่าลังกาสุกะกับโกตามหลิฆัย “เป็นคนละเมืองกัน” เช่น “จารึกตันชอร์” ในประเทศอินเดียได้กล่าวถึงเมือง “ไอลังกาสุกะ”(Ilangasuka) ไปพร้อมๆ กับเมืองที่อยู่ใกล้เคียง เช่น “ตามพรลิงค์” (Tamralinya) และ “ตาลัยตาโกลัม” (Talaitakkolam) ดังนั้น ในความเข้าใจของอินเดีย ย่อมมองว่าเมืองลังกาสุกะกับเมืองโกตามหลิฆัยเป็นคนละเมืองอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ น่าสนใจว่าใน “สยาเราะห์ มลายู” (Serjalah Melayu) หรือพงศาวดารราชสำนักมะละกา ซึ่งมีผู้วิเคราะห์ว่าน่าจะถูกเขียนขึ้นก่อนฮิกายัตอื่นๆ ในมลายู (รวมทั้งของปัตตานีและไทรบุรี) กลับระบุว่าผู้ปกครองเมืองโกตามหลิฆัยปฐมราชวงศ์ “เจ้าศรีวังสา” เป็น “เจ้าชายสยาม” ที่ถูกส่งมาโจมตีรายาสุไลมานเจ้าเมืองโกตามหลิฆัยคนเก่าจนสามารถยึดเมืองไว้ได้ และต่อมาเจ้าชายสยามปฐมราชวงศ์ศรีวังสาผู้นี้ได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม จะเห็นได้ว่าในมุมมองของราชสำนักมะละกาซึ่งน่าจะเชื่อถือได้กว่าใครเพื่อน เพราะเป็นเอกสารประเภทฮิกายัตที่เก่าแก่ที่สุด (คริสต์ศตวรรษที่ 15-16) มะละกาในฐานะต้นแบบของอาดัตรัฐมลายู (ธรรมเนียมลายู) มองว่าโกตามหลิฆัยไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกับลังกาสุกะอีก มิหนำซ้ำยังอ้างด้วยว่าปฐมราชวงศ์ศรีวังสาแห่งปัตตานีเป็นเจ้าชายสยาม!

ประเด็นที่ 5 กรณีที่ผู้เขียนยกหลักฐานจาก “พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ วัน วลิต”มาว่าลังกาสุกะตั้งอยู่ใน “อูลูปตานี” นั้น ผู้เขียนได้ “โควท” ไว้แล้วว่า แม้ตำนานบางเรื่องจะ “ดูเกินจริง” อาทิ ที่ว่าพระเจ้าอู่ทองเป็นจีนหรือที่ทรงสร้างเมืองลังกาสุกะ แต่ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่า ในจิตสำนึกหรือความเข้าใจของคนในสมัยอยุธยา (ที่วัน วลิต รับฟังมาอีกที) พวกเขาย่อมมีเข้าใจในขณะนั้นว่า ปัตตานี กับ ลังกาสุกะ เป็นคนละเมืองกัน เพราะมีการอ้างถึงลำดับการสร้างในชั้นหลัง และพวกเขาก็มีความเข้าใจด้วยว่าตัวเมืองลังกาสุกะนั้น ตั้งเข้าไปลึกตรงตอนในของแผ่นดินใน “เขตอูลูปตานี” (Oulou Van Ptanij) ซึ่งข้อความดังกล่าวก็ตรงกับฮิกายัต มะโรง มหาวงศ์ (ของไทรบุรี) ที่ระบุว่า เมืองลังกาสุกะเป็นพื้นที่ที่ห่างไกลจากทะเล (far from the sea)

และไม่ว่าจะตีความว่า “อูลูปตานี” ตั้งอยู่ที่ใด ย่อมเป็นที่ชัดเจนว่า พื้นที่ตั้งของลังกาสุกะย่อมตั้งเข้าไปตอนในของแผ่นดินในบริเวณที่เรียกว่า “อูลูปตานี” ซึ่งผู้เขียนต้องขอย้ำว่ามีน้ำหนักพอที่จะหมายถึง “สุไหงปตานี” (Sugai Petani) ในรัฐไทรบุรีได้อย่างแน่นอน (พ้องทั้งรูปทั้งคำ) เพราะเป็นลุ่มน้ำที่มีอาณาเขตกว้างขวางมาก

ควรกล่าวด้วยว่า แม่น้ำปัตตานีที่เรียกกันในปัจจุบันก็มีต้นน้ำมาจากแถบเทือกเขาสันการาคีรีไม่ไกลจากเขตไทรบุรีเก่าเท่าใดนัก ซึ่งพื้นที่ต้นน้ำตอนในของแผ่นดินในเขตอำเภอเบตง/บันนังสตา ของจังหวัดยะลานั้น จาการค้นคว้าของ อ. พรรณงาม เหง้าธรรมสาร พบว่า แม้แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งชาวไทย มลายู และอังกฤษเรียกดินแดนตอนในเทือกเขาสันการาคีรีบริเวณนี้ตรงกันว่า อูลูเปรัค – Hulu Perak  ดังนั้น ต้นน้ำปัตตานีในความหมายนี้จึงไม่มีทางเป็น อูลูปตานี – Hulu Patani แน่นอน

อีกทั้งข้อความที่ปรากฏในงานของวัน วลิต ยังมีความเชื่อมโยงกับข้อความที่ระบุว่า เขตกลัวลามูดาในไทรบุรีเป็นที่ตั้งของลังกาสุกะตามที่ปรากฏในพงศาวดารเมืองไทรบุรี อีกทั้งซากโบราณสถานในเขตลุ่มน้ำบูจางในไทรบุรีที่ยิ่งใหญ่กว่าทางยะรัง ก็ย่อมตอกย้ำสมมติฐานดั้งเดิมว่า “ลังกาสุกะอยู่ในไทรบุรี” เข้าไปใหญ่

จากที่กล่าวมานี้จะเห็นได้ว่า คุณ Rozee พยายามเอาทั้งข้อความจากเอกสารชั้นต้นและความเห็นนักวิชาการก่อนสมัยพิสูจน์อายุของเมืองเก่ายะรังได้ชัดเจน มาสนับสนุนข้อวิเคราะห์ทฤษฎีที่ว่า ลังกาสุกะคือปัตตานีอย่างไรก็ดี คุณ Rozee พยายามตีความอย่างแคบที่สุดให้เนื้อหา ข้อมูล หรือความเห็นเหล่านั้นเข้ารูปว่าจะต้องอยู่ในพื้นที่ปัตตานีให้ได้ จนบางครั้งก็หลงลืมที่จะยกข้อความที่เหลือมากล่าวให้หมด

และคุณ Rozee เอาทฤษฎี 3 ทฤษฎีมา “ยำ” รวมเป็นสิ่งเดียวกัน โดยไปทึกทักเอางานวิชาการบางชิ้นที่ตีความเอกสารหลวงจีนอี้จิงอย่างผิดเพี้ยนว่า หลังยะสิ่ว คือ ลังกาสุกะ และ ลังกาสุกะ คือ ยะรัง (ปัตตานี) มาผสมรวมกับความเห็นของนักวิชาการก่อนที่จะมีการพิสูจน์ถึงอายุที่แท้จริงของเมืองเก่ายะรังว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับ “หลังยะสิ่ว” ตามที่บรรดาผู้รู้บางคนพยามยัดเยียดให้เป็นให้ได้

นอกจากนั้น สำหรับเอกสาร ‘ตารีคปตานี’ ที่ผู้เขียนได้ตั้งคำถามถึงความจริงแท้ของเอกสาร (authenticness) ซึ่งคุณ Rozee ก็ได้ออกมาปกป้องแทนว่าเป็นเอกสารจริงแท้อย่างแน่นอน ในประเด็นตารีคดังกล่าว ผู้เขียนจะขอยกไปเขียนแยกในบทความต่อไป เพราะค่อนข้างจะยาวและมีหลายประเด็นที่น่าสงสัยเป็นอย่างมาก

อ้างอิง :

[1] พรรณงาม เหง้าธรรมสาร. การปกครองหัวเมืองภาคใต้ทั้ง 7 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. วิทยานิพนธ์แผนกอักษรศาสตร์มหาบันทิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2519.
[2] A. Teeuw and D.K. Wyatt. The Story of Patani (Hikayat Patani). 1970.
[3] ประวัติเมืองปัตตานี ฉบับรัชกาลที่ 7 พ.ศ. 2471 (เอกสารอัดโรเนียวของคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2515).
[4] อับราฮัม ชุกรี. ประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรมลายูปัตตานี (Sejarah Kerajaan Melayu Patani). 2549.
[5] ชุลีพร วิรุณหะ. บุหงารายา : ประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าของชาวมลายู. (กรุงเทพ : ศักดิโสภาการพิมพ์) 2551.
[6] สุจิตต์ วงษ์เทศ (บรรณาธิการ). รัฐปัตตานีในศรีวิชัย เก่ากว่ารัฐสุโขทัยในประวัติศาสตร์.(กรุงเทพ : สำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม.) 2547.
[7] “ราชอาณาจักรลังกาสุกะ” โดย เสนีย์ มาดากะกุล ใน วิกฤตการณ์ปัตตานี : หนังสือรายงาน 10 ปีสมาคมยุวชนมุสลิมแห่งประเทศไทย. (2519)
[8] วัน วลิต. พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับ วัน วลิต พ.ศ.2182. (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) 2523.
[9] Hiyakat Merong Mahawangsa. ใน Journal of the Malayan Branch of the Royal Asiatic Society Vol. 16, No. 2 (131) (December 1938)
[10] พงศาวดารเมืองไทรบุรีฉบับที่มีอยู่ในศาลาลูกขุน.
[11] Scientific Studies of Candi Pengkalan Bujang (Site 19) Ancient Bricks: Knowledge of Old Kedah Community’s in Usage of Local Raw Materials ใน Research Journal of Applied Sciences, Engineering and Technology 6(15): 2859-2864, 2013.
[12] อนันต์ วัฒนานิกร. แลหลังเมืองตานี. (ปัตตานี : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี). 2528.
[13] อันดายา บาร์บาร่า วัตสัน. . A History of Malaysia. (กรุงเทพ : มูลนิธิโครงการตำรา) 2551.
[14] Muhammad Haji Sakkeh. “Ayudhya In The Serjalah Melayu.” ใน Ayudhya and Asia: proceedings for the international workshop. Core University Program between Thammasat University and Kyoto University under a Scientific Cooperation Program by the National Research Council of Thailand and the Japan Society for Promotion of Science, 126 – 131. Bangkok: Printing House of Thammasat University. 1995.
[15] Paul Wheatley. The Golden Khersonese. (Kuala Lumpur : University of Malaya). 1961.

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า