‘ชาตินิยม’ สุดโต่งของจอมพล ป. ที่ทำลายรากเหง้าและจิตใจของคนในชาติ

ชาตินิยม” เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองที่เด่นชัดที่สุดในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งมีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัย พ.ศ. 2475 โดยความพยายามของคณะราษฎรที่จะสร้าง “รัฐธรรมนูญ” ให้เป็นสัญลักษณ์ของระบอบใหม่ แทน “พระมหากษัตริย์” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของระบอบเก่า เป็นการใช้สัญลักษณ์ทางการเมืองเพื่อสร้างคติความเชื่อใหม่ และลบล้างความเชื่อเก่า โดยการให้ความศักดิ์สิทธิ์แก่รัฐธรรมนูญแทน

นอกจากนี้ การปฏิวัติ 2475 ได้ทำให้จอมพล ป. ขึ้นมามีบทบาทในคณะราษฎรฝ่ายทหาร และมีบทบาทที่โดดเด่นอีกครั้งในช่วงกบฏบวรเดช ซึ่งต่อมาจอมพล ป. ได้ก้าวขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองด้วยการดำรงตำแหน่งสำคัญของประเทศนั่นคือนายกรัฐมนตรีในที่สุด

จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ใช้สัญลักษณ์เชิงอุดมการณ์ชาตินิยม ซึ่งแสดงให้เห็นการใช้ “ชาติ” แทน “พระมหากษัตริย์” อย่างชัดเจน และยังมีการใช้สัญลักษณ์ในรูปแบบอื่นๆ ในการปลุกเร้าอารมณ์ชาตินิยมของประชาชนเพื่อหันเหคติความเชื่อแบบเก่าที่ยังคงอยู่ให้ลดน้อยลง โดยสภาพการเมืองภายในที่มีบริบทเอื้อต่อการสร้างลัทธิชาตินิยม และสภาพการเมืองระหว่างประเทศที่กดดันให้มีการแสดงบทบาททางการเมืองไปในแนวนี้ จึงทำให้ลัทธิชาตินิยมของจอมพล ป. เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ และคงอยู่กับสังคมไทยมาจนถึงปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่า รัฐบาลในขณะนั้นได้ดำเนินนโยบายผสมกลมกลืน (Assimilation) ชนกลุ่มน้อยมาโดยตลอด โดยในสมัยจอมพล ป. มีนโยบายที่เน้นหนักไปในเรื่องชาตินิยม (Nationalism) ซึ่งพยายาม “กลืนชาติ” (Effacement) อย่างรุนแรง

การที่อุดมการณ์ชาตินิยมถูกนำมาใช้และให้ความสำคัญอย่างชัดเจน เป็นผลมาจากความล้มเหลวในการพยายามสร้างให้ “รัฐธรรมนูญ” เป็นสัญลักษณ์ใหม่ของประเทศแทนที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงฝั่งแน่นและได้รับความนิยมในจิตใจของคนไทย ดังนั้น จอมพล ป. จึงพยายามทำให้ประชาชนหันมาสนใจรัฐบาลแทนที่ระบอบเดิม โดยการนำเอาอุดมการณ์ชาตินิยมที่มีอยู่เดิมมาทำให้มีความชัดเจนมากขึ้น และเสริมแต่งปรับปรุงให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ทางการเมือง

อุดมการณ์ชาตินิยมในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม แบ่งได้เป็น 2 ช่วง ตามช่วงเวลาที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นรัฐบาล คือ อุดมการณ์ชาตินิยมช่วงแรกที่มีลักษณะรุนแรง ส่วนในช่วงที่สองคือช่วงที่ต้องการลบเลือนภาพความรุนแรงในอดีต ด้วยการพยายามอุปถัมภ์ทางศาสนา ประกอบกับอิทธิพลภายนอกประเทศที่มีผลต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายของรัฐบาล

ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้วิจารณ์อุดมการณ์ชาตินิยมว่าเป็นฐานสนับสนุนการปกครองแบบเผด็จการของจอมพล ป. หรือลัทธิชาตินิยมในสมัยจอมพล ป. เป็นเพียงเครื่องมือของลัทธิรัฐทหารนิยมแบบทหาร (Military Statism) ส่วน แถมสุข นุ่มนนท์ ได้วิจารณ์ว่าการสร้างชาติของจอมพล ป. เป็นไปในแนวทางเดียวกับ “ลัทธิผู้นำ” แบบฮิตเลอร์และมุสโสลินี ซึ่งเรียกว่า “ฟือเรอร์ ดูเช่”

เป้าหมายหลักของการปลุกลัทธิรัฐนิยมขึ้น ก็เพื่อให้เกิดความสำนึกในหมู่ชาวไทยด้วยกัน นอกจากนี้ ยังต้องการให้ชาวจีนซึ่งถือเป็นภัยคุกคามทางเศรษฐกิจและการเมือง เปลี่ยนมาสำนึกในความเป็นไทยด้วย โดยภัยคุกคามทางเศรษฐกิจที่ว่าก็คือ การที่ระบบการค้าส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของคนจีน และในทางการเมืองก็คือความวิตกว่า การที่ชาวจีนสามารถควบคุมเศรษฐกิจได้นั้น จะนำมาซึ่งการปูทางไปสู่การสร้างอำนาจทางการเมือง

ตัวอย่างหนึ่งของเครื่องมือที่สำคัญในการปลุกจิตสำนึกความเป็นไทยก็คือ การใช้อุดมการณ์ที่มีอยู่เดิมซึ่งมีความผูกพันฝังลึกในสังคมไทยคือศาสนาพุทธมาเป็นเครื่องมือ ผ่านการส่งเสริมพระพุทธศาสนา โดยคณะราษฎรได้มีการออกพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ซึ่งมีผลทำให้ชนกลุ่มน้อยชาวมลายูมุสลิมในประเทศไทยได้รับผลกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรง เนื่องจากมีการใช้พระพุทธศาสนาเป็นแกนกลางในทางราชการ มีการเปลี่ยนชื่อจากภาษามลายูหรือภาษาอาหรับเป็นภาษาไทย ห้ามสอนศาสนาอิสลามในโรงเรียน โดยเปลี่ยนให้มีการสอนพระพุทธศาสนาแทน สิ่งเหล่านี้ได้ส่งผลให้เกิดความรู้สึกว่ารัฐบาลต่อต้านชาวมลายูมุสลิมโดยตรง ในขณะที่รัฐบาลเน้นว่าต่อต้านชาวจีนนั่นเอง

นอกจากชาวจีนและมุสลิมแล้ว ชาวคริสต์ในประเทศไทยก็เป็นอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว โดยได้มีการทำลายโบสถ์ ข่มขู่ รวมถึงการสังหารผู้นับถือศาสนาคริสต์ด้วย ซึ่งเป็นผลมาจากการปลุกให้เกลียดชังฝรั่งเศส ทำให้ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ถูกมองว่าเป็นผู้นิยมฝรั่งเศสไปด้วย ซึ่งขัดต่อนโยบายการเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส

อาจกล่าวได้ว่า รัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องการให้ชนกลุ่มน้อยต่างๆ ในสังคมไทย กลืนมาเป็นส่วนหนึ่งของไทย ในขณะที่ความเป็นไทยในวิถีชีวิตแบบเดิมก็ยังต้องปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยแบบตะวันตก เช่น การแต่งกาย การห้ามกินหมาก การห้ามนุ่งโจงกระเบน การให้แต่งตัวแบบตะวันตก การให้สวมหมวก เป็นต้น

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า แม้แต่คนไทยเองก็ต่างได้รับผลกระทบจากรัฐนิยมของจอมพล ป. ไปด้วย แต่ชนกลุ่มน้อยชาวจีนและชาวมุสลิมเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด อันเนื่องมาจากช่องว่างทางวัฒนธรรมที่ต่างกันมากนั่นเอง

และในสมัยจอมพล ป. ได้มีความพยายามที่จะเผยแพร่วัฒนธรรมภาคกลางออกไป จนกระทั่งมีการลือกันว่า ภาษา การแต่งกาย อาหาร และศิลปะแบบกรุงเทพฯ เป็นลักษณะของวัฒนธรรมไทยอันแท้จริง ซึ่งการพยายามสร้างความทันสมัย (Modernization) ตามแบบอย่างตะวันตก (Westernization) แต่ในขณะเดียวกันก็เน้นย้ำความเป็นไทยหรือไทยนิยมไปด้วย จึงมีความขัดกันระหว่างความเป็นสมัยใหม่ และความเป็นไทยในตัวเอง

สำหรับต้นแบบที่สำคัญของการกำหนดนโยบายรัฐนิยม คือประเทศญี่ปุ่นและเยอรมัน ซึ่งจอมพล ป. ได้เอาประเทศเหล่านี้เป็นแบบอย่าง โดยการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญนั้น จอมพล ป. ได้ตระหนักดีว่า ค่านิยมในสังคมยังฝังรากลึกและผูกติดอยู่กับชนชั้นนำในระบอบเก่า ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงประเทศจำเป็นต้องทำลายโครงสร้างที่สำคัญ นั่นคือ การทำลายวัฒนธรรมเดิม เพื่อแทนที่ด้วยของใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Modernization หรือ Westernization หรือการเดินตามอย่างญี่ปุ่นที่เป็นมหาอำนาจในภูมิภาคนี้

จากเรื่องราวที่อธิบายมาข้างต้น จึงสามารถสรุปลักษณะสำคัญของนโยบายรัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ดังนี้

  1. ลัทธิชาตินิยมของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่เปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญ
  2. เป็นการพยายามแทนที่ด้วยการให้ความสำคัญต่อชาติในระบอบการปกครองแบบใหม่ แทนที่ความสำคัญของพระมหากษัตริย์ที่ยังคงอิทธิพลในสังคมไทย
  3. รักษาระบอบการปกครองแบบรัฐธรรมนูญให้เป็นแกนกลางในการปกครองประเทศ
  4. ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมในฐานะที่เป็นหัวใจในการเปลี่ยนแปลงสังคม
  5. ยึดถือแนวทางตามแบบประเทศญี่ปุ่น และเยอรมัน
  6. วัฒนธรรมเดิมบางอย่าง ถือเป็นสิ่งล้าสมัย จำเป็นต้องขจัดและแทนที่ด้วยของใหม่ที่เป็นแบบตะวันตก
  7. นโยบายรัฐนิยมมีลักษณะที่ไม่ต้องการให้มีความแตกต่างในด้านเชื้อชาติ และต้องการสร้างความเป็นบึกแผ่นอันหนึ่งอันเดียวกัน
  8. วัฒนธรรมไทยกลายมาเป็นแกนกลางหนึ่งเดียว ที่ทุกเชื้อชาติต้องยึดถือเป็นแบบอย่าง

สรุปแล้ว นโยบายรัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม คือการพยายามเร่งการปลูกฝังความเป็นชาตินิยมไทยสู่ประชาชน โดยยึดโยงกับสัญลักษณ์แห่งความเป็นชาติในทัศนะของจอมพล ป. เอง จนเกิดการกลืนชาติและทำลายรากเหง้าของคนกลุ่มน้อยในประเทศลง ซึ่งแตกต่างจากการปฏิรูปบ้านเมืองและปรับเปลี่ยนขนบประเพณีไปสู่ความทันสมัยของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่จะยึดโยงกับประชาชนเป็นสำคัญ และเป็นไปในระยะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ “ไม่มี” อยู่ในนโยบายรัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

ที่มา :

[1] มานิตย์ นวลละออ, การเมืองยุคสัญลักษณ์รัฐไทย หน้า 44, 96-97, 108

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า