‘สนามหลวง’ พื้นที่สาธารณะของคนกรุงเทพฯ ที่ทุกคนยังคงเข้าถึงได้ โดยไม่ต้อง ‘ทวงคืน’

ท้องสนามหลวง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ เป็นลานพื้นที่โล่งสำหรับกิจกรรมเอนกประสงค์ประจำเมืองมาตั้งแต่ก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ และส่วนมากมักถูกใช้เป็นที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญที่ต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น พระราชพิธีออกพระเมรุกลางเมืองสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง ซึ่งนานๆ ทีจะมีครั้ง แต่ทั้งนี้สนามหลวงก็ยังถูกใช้ทำกิจกรรมอื่นๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมเฉลิมฉลองของเมืองในโอกาสต่างๆ และกิจกรรมพระราชพิธีสำคัญอื่นๆ เช่น พระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน หรือการแห่สระสนานใหญ่ หรือในปัจจุบันคือการเดินสวนสนามของทหาร และรวมถึงพระราชพิธีพรุณศาสตร์ด้วย

ในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ลานดังกล่าว เป็นพื้นที่ท้องนาสำหรับปลูกข้าว เพื่อแสดงให้ชาวต่างชาติเห็นว่า ประเทศสยามมีความอุดมสมบูรณ์ถึงขนาดที่ว่า พื้นที่บริเวณใกล้ๆ พระบรมมหาราชวังก็ยังสามารถปลูกข้าวได้

เนื่องจากภาพจำของคนในอดีต มักจดจำงานใหญ่ที่สำคัญๆ ดังนั้น ท้องสนามหลวงจึงถูกจดจำในฐานะ “ทุ่งพระเมรุ” ในหลวงรัชกาลที่ 4 จึงทรงไม่โปรดกับการเรียกชื่ออันไม่เป็นมงคล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ ให้ท้องนาหน้าวัดมหาธาตุ (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์) มีชื่อเรียกว่า “ท้องสนามหลวง” อีกทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ ลานหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ว่า “ท้องสนามไชย” ไว้คู่กันอีกด้วย (ปัจจุบันคือสนามหญ้าหน้าทำเนียบองคมนตรี)

ท้องสนามหลวงได้ทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ในฐานะลานพื้นที่โล่งสำหรับกิจกรรมเอนกประสงค์ประจำเมือง เมื่อในหลวงรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ขยายสนามหลวงจากเดิมออกไปทางทิศเหนือบริเวณวังหน้า และรื้อพลับพลาต่างๆ ที่สร้างในรัชกาลก่อนๆ เพราะหมดความจำเป็นที่จะต้องทำนา พร้อมทั้งปลูกต้นไม้ล้อมรอบจนท้องสนามหลวงมีรูปลักษณ์ดังเช่นทุกวันนี้

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการใช้สนามหลวงเป็นที่ทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การฉลองพระนครครบ 100 ปี ในปี พ.ศ. 2425 หรืองานฉลองเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากยุโรป ในปี พ.ศ. 2440 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงใช้สนามหลวงเป็นที่ประกอบพระราชพิธีต่างๆ รวมทั้งใช้เป็นสนามแข่งม้า และสนามกอล์ฟอีกด้วย

สนามหลวงในสายธารประวัติศาสตร์ จึงทำหน้าที่คล้ายๆ กับลานจัตุรัสกลางเมืองซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ เหมือนดังจัตุรัสกลางเมืองประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เช่น Rynek we Wrocławiu ในเมืองวร็อดสวัฟ ประเทศโปแลนด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในจัตุรัสกลางเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรป หรือจัตุรัสเทียนอันเหมิน ในเมืองปักกิ่ง ประเทศจีน ซึ่งเป็นจัตุรัสกลางเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

เพราะฉะนั้น ท้องสนามหลวงจึงเป็นพื้นที่สาธารณะที่เปิดกว้างสำหรับกิจกรรมทั่วๆ ไป และไม่เปิดให้คนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเข้าใช้ประโยชน์เป็นพิเศษ ยกเว้นการจัดงานทางวัฒนธรรมโดยรัฐ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในปี พ.ศ. 2520

สนามหลวงได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ ด้วยงบประมาณกว่า 181 ล้านบาท ภายใต้งบฟื้นฟูเศรษฐกิจ โครงการไทยเข้มแข็ง ในปี พ.ศ. 2553 และกลับมาเปิดให้ใช้บริการได้ตามปกติอีกครั้งในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2554 หลังจากปิดปรับปรุงไปเป็นเวลา 10 เดือน

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา กรุงเทพมหานครในฐานะหน่วยงานที่ดูแลท้องสนามหลวง ได้มีการออกระเบียบว่าด้วยการใช้ การบำรุง และการดูแลรักษาพื้นที่ท้องสนามหลวง พ.ศ. 2555 โดยได้กำหนดให้มีการเปิดพื้นที่ท้องสนามหลวง ให้ประชาชนทั่วไปใช้เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ และออกกำลังกาย โดยมีการกำหนดเงื่อนไขห้ามเล่นกีฬาบางชนิด รวมถึงห้ามนำสัตว์และสิ่งของบางชนิดเข้ามาในบริเวณพื้นที่ด้วย และมีการกำหนดช่วงเวลาสำหรับการเปิดให้เข้าใช้พื้นที่ที่แน่นอน

จากระเบียบข้อบังคับข้อที่ 6 ที่กำหนดตายตัวว่า “พื้นที่ท้องสนามหลวง เปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ และออกกำลังกาย” ถือเป็นวัตถุประสงค์หลักของท้องสนามหลวง และนอกจากนี้สนามหลวงยังมีหน้าที่รองลงมา ซึ่งกำหนดไว้ในข้อบังคับ ข้อที่ 7 ว่า ให้ใช้พื้นที่สำหรับจัดงานดังต่อไปนี้ คือ งานพระราชพิธี งานรัฐพิธี งานประเพณีสำคัญของชาติที่จัดโดยหน่วยงานรัฐ และงานแข่งขันกีฬาไทยประจำปี

จะเห็นได้ว่า นอกจากการเปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้สนามหลวงเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ และออกกำลังกายแล้ว สนามหลวงยังมีไว้เพื่อจัดงานสำคัญๆ ในวาระต่างๆ อีกด้วย ตามข้อบังคับ ข้อที่ 7 ซึ่งกำหนดกิจกรรมที่อนุญาตให้จัดงานไว้ถึง 4 ประเภท

แต่เมื่อไม่นานมานี้ กลับมีสื่อหรือผู้ที่หวังผลทางการเมืองบางกลุ่ม ออกมาตัดตอนนำเสนอโดยบิดเบือนว่าระเบียบของกรุงเทพมหานครฉบับใหม่นี้ กำหนดให้สนามหลวงใช้ได้เฉพาะแต่สำหรับงานพระราชพิธีเท่านั้น

ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา พื้นที่ท้องสนามหลวง ยังคงเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีประชาชนเข้าใช้บริการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานกิจกรรมวันเด็ก งานวันพ่อแห่งชาติและวันแม่แห่งชาติ งานเทศกาลสงกรานต์ การเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานให้ประชาชนเข้าสักการะเป็นประจำทุกปี ตลอดจนกระทั่งงานกิจกรรมสำคัญทางศาสนา และงานประเพณีสำคัญต่างๆ

แม้กระทั่งในปี พ.ศ. 2559 ห้างสรรพสินค้าในเครือเซ็นทรัลร่วมกับกองทุนสัตว์ป่าโลก สำนักงานประเทศไทย (WWF-Thailand) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร ได้จัดแสดงกองทัพลูกหมี 1,600 ตัว ที่ผลิตจากกระดาษรีไซเคิล นำมาวางเรียงรายที่บริเวณท้องสนามหลวง ให้ประชาชนที่สนใจได้มาถ่ายภาพ เพื่อสร้างกิจกรรมที่กระตุ้นให้ตระหนักถึงการอนุรักษ์หมีแพนด้าที่กำลังจะสูญพันธุ์

ในส่วนของการดูแลรักษา แม้ว่าจะมีการจัดอัตรากำลังเทศกิจ 150 คน แบ่งเป็น 8 ชุด ผลัดเปลี่ยนดูแลความเรียบร้อยภายในเขตพระนคร แต่เนื่องจากสนามหลวงเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ ลำพังการจัดอัตรากำลังดูแลเขตพื้นที่เขตพระนครก็ไม่น่าจะเพียงพอ กรุงเทพมหานครจึงได้ตั้งทีมพิเศษอีก 50 คน สำหรับการดูแลสนามหลวงที่มีเนื้อที่เกือบ 80 ไร่ อีกด้วย ซึ่งก็ยังเป็นอัตรากำลังที่ไม่เพียงพอในการดูแลพื้นที่ทั้งหมดได้ ทางกรุงเทพมหานครจึงต้องจ้างพนักงานดูแลความปลอดภัยเพิ่มเติมอีก 68 นาย

และเพื่อให้การดูแลความเรียบร้อยเป็นไปอย่างทั่วถึง กรุงเทพมหานครยังได้ทำการสร้างรั้วล้อมรอบสนามหลวง เพื่อกำหนดจุดเข้าออก โดยมีการกำหนดให้เปิดเข้าใช้พื้นที่สนามหลวง ในระหว่างเวลา 05.00-22.00 น. แต่ทั้งนี้ พื้นที่ลานพื้นซีเมนต์ซึ่งผ่ากลางสนามหลวง ประชาชนสามารถเดินสัญจรผ่านไปมา ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสนามหลวงจะมีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น โดยมีการเพิ่มเจ้าหน้าที่รักษาความเรียบร้อยกว่าหนึ่งร้อยคน แต่ว่าการสร้างรั้วล้อมรอบกลับมีข้อบกพร่องในแง่ของการกำหนดจุดเข้าออก เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีการกำหนดจุดเข้าออกที่น้อยเกินไป และเปิดจุดเข้าออกไม่สม่ำเสมอ จนทำให้ผู้ที่เข้าใช้สนามหลวงนานๆ ครั้ง เกิดความสับสนและเข้าใจผิดไปว่าสนามหลวงถูกปิดการใช้งาน

นอกจากนี้การสร้างรั้วล้อมรอบสนามหลวง ยังมีการกำหนดแนวรั้วที่ไม่สอดคล้องกับการใช้งาน เนื่องจากการเว้นระยะระหว่างริมขอบถนนจนถึงแนวรั้ว ซึ่งยึดตามมาตรฐานกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่กำหนดให้ทางเดินเท้าริมถนนต้องมีพื้นที่ทางเท้ากว้างไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร

แต่ทว่าสำหรับท้องสนามหลวง ริมขอบสนามเป็นพื้นที่แนวต้นไม้ ซึ่งบริเวณโคนต้นมะขามได้รับการกำหนดให้ต้องเปิดหน้าดิน เพื่อให้ผิวดินบริเวณโคนต้นมีการถ่ายเทอากาศได้ ดังนั้นทางเดินเท้าจากริมขอบถนนจนถึงแนวรั้ว จึงถูกต้นมะขามยึดครองเป็นพื้นที่เมตรกว่าๆ เรียกได้ว่า ไม่เพียงแต่ประชาชนจะไม่สามารถเดินสวนกันได้ แม้กระทั่งเดินบนทางเท้าก็เดินได้ลำบาก ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นข้อบกพร่องที่กรุงเทพมหานครไม่ได้มองถึงมุมของประชาชนผู้ใช้งาน

อ้างอิง :

[1] ประชุมประกาศรัชกาลที่ 4
[2] ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน พ.ศ.2520
[3] ระเบียบ ว่าด้วย การใช้ การบำรุง และการดูแลรักษาพื้นที่ท้องสนามหลวง พ.ศ.2555
[4] คู่มือมาตรฐานกรมโยธาธิการและผังเมือง

TOP
y

Emet nisl suscipit adipiscing bibendum. Amet cursus sit amet dictum. Vel risus commodo viverra maecenas.

r

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณ เพื่อให้เราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมและความสนใจของคุณ

บันทึกการตั้งค่า